ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๗. อิทธิปาทสังยุต]

๒. ปาสาทกัมปนวรรค ๕. อุณณาภพราหมณสูตร

๕. อุณณาภพราหมณสูตร
ว่าด้วยอุณณาภพราหมณ์
[๘๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่ออุณณาภะเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถามท่าน พระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อ ต้องการอะไร” ท่านพระอานนท์ตอบว่า “พราหมณ์ เราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มี พระภาคเพื่อละฉันทะ” “ท่านอานนท์ มีมรรค มีปฏิปทาเพื่อละฉันทะนั้นอยู่หรือ” “พราหมณ์ มีมรรค มีปฏิปทาเพื่อละฉันทะนั้นอยู่” “ท่านอานนท์ มรรค เป็นอย่างไร ปฏิปทาเพื่อละฉันทะนั้น เป็นอย่างไร” “พราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิ- ปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ- ปธานสังขาร นี้แลคือมรรค นี้คือปฏิปทาเพื่อละฉันทะนั้น” “ท่านอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ฉันทะนั้นยังมีอยู่ มิใช่ไม่มี เป็นไปไม่ได้เลยที่ บุคคลจักละฉันทะด้วยฉันทะนั่นเอง” “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านพึงตอบเรื่องนั้น ตามที่ท่านพอใจเถิด พราหมณ์ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเบื้องต้นท่านได้มีฉันทะ (ความ พอใจ) ว่า ‘จักไปอาราม’ เมื่อท่านไปถึงอารามแล้ว ฉันทะที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนั้น ก็ระงับไปหรือ” “อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๔๐๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๗. อิทธิปาทสังยุต]

๒. ปาสาทกัมปนวรรค ๕. อุณณาภพราหมณสูตร

“ในเบื้องต้น ท่านได้มีวิริยะ (ความเพียร) ว่า ‘จักไปอาราม’ เมื่อท่านไปถึง อารามแล้ว วิริยะที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนั้นก็ระงับไปหรือ” “อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ” “ในเบื้องต้น ท่านได้มีจิตตะ (ความใส่ใจ) ว่า ‘จักไปอาราม’ เมื่อท่านไปถึง อารามแล้ว จิตตะที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนั้นก็ระงับไปหรือ” “อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ” “ในเบื้องต้น ท่านได้มีวิมังสา (ความไตร่ตรอง) ว่า ‘จักไปอาราม’ เมื่อท่าน ไปถึงอารามแล้ว วิมังสาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนั้นก็ระงับไปหรือ” “อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ” “พราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นในเบื้องต้น ได้มีฉันทะเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุอรหัตแล้ว ฉันทะที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนั้นก็ระงับไป ในเบื้องต้นได้มีวิริยะเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุอรหัตแล้ว วิริยะที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น นั้นก็ระงับไป ในเบื้องต้นได้มีจิตตะเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุอรหัตแล้ว จิตตะที่ เกิดขึ้นในเบื้องต้นนั้นก็ระงับไป ในเบื้องต้นได้มีวิมังสาเพื่อบรรลุอรหัต เมื่อบรรลุ อรหัตแล้ว วิมังสาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนั้นก็ระงับไป พราหมณ์ ท่านจะเข้าใจความ ข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นดังที่กล่าวมานี้ ฉันทะเป็นต้นนั้นยังมีอยู่ หรือมิใช่ไม่มี” “ท่านอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ฉันทะเป็นต้นนั้นยังมีอยู่แน่นอน มิใช่ไม่มี ท่านอานนท์ ภาษิตของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์ ภาษิตของท่าน ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือน บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่ มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ท่านอานนท์ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระ โคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านจงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็น อุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
อุณณาภพราหมณสูตรที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๔๐๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๔๐๐-๔๐๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=19&siri=269              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=6796&Z=6843                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1162              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=19&item=1162&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7327              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=19&item=1162&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7327                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn51/sn51.015.than.html https://suttacentral.net/sn51.15/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :