ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
๔. สรภสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าสรภะ
[๖๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ก็ สมัยนั้น สรภปริพาชกผู้ออกไปจากพระธรรมวินัยนี้ไม่นาน๑- เขากล่าวอย่างนี้ใน หมู่ชน ณ กรุงราชคฤห์อย่างนี้ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตรแล้ว ก็ เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตร เราจึงออกมา ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว เราคง ไม่ออกมาจากธรรมวินัยนั้น” ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวร เข้าไปยัง กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นได้ยินสรภปริพาชกกำลังกล่าวอย่างนี้ใน หมู่ชน ณ กรุงราชคฤห์อย่างนี้ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตรแล้ว เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตร เราจึงออกมา ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว เราคง ไม่ออกมาจากธรรมวินัยนั้น” @เชิงอรรถ : @ ออกไปจากพระธรรมวินัยไม่นาน หมายถึงบอกคืน(ลา)สิกขาไปได้ไม่นาน (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๕/๑๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๕๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๔. สรภสูตร

ครั้นต่อมา ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันเสร็จแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรภปริพาชกผู้ออกไปจากพระธรรมวินัยนี้ได้ไม่นาน กล่าวในหมู่ชน ณ กรุงราชคฤห์อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตร ก็เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตร เราจึงออกมา ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว เราคง ไม่ออกมาจากธรรมวินัยนั้น’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มี พระภาคเสด็จไปยังอารามของปริพาชก ณ ริมฝั่งแม่น้ำสัปปินิกา ได้โปรดอนุเคราะห์ เสด็จไปหาสรภปริพาชกด้วยเถิด” พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จไปยัง อารามปริพาชก ณ ริมฝั่งแม่น้ำสัปปินิกา เสด็จเข้าไปหาสรภปริพาชกถึงที่อยู่แล้วนั่ง บนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสกับสรภปริพาชกดังนี้ว่า “สรภะ ทราบว่า ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากย- บุตรแล้ว ก็เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตร เราจึงออกมา ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว เราคงไม่ออกมาจากธรรมวินัยนั้น’ จริงหรือ” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สรภปริพาชกได้นิ่งเงียบ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสรภปริพาชกดังนี้ว่า “(สรภะ เราเองบัญญัติธรรมไว้สำหรับเหล่าสมณศากยบุตร) สรภะ จงกล่าวเถิด ท่านรู้ทั่วถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตรว่าอย่างไร ถ้าความรู้ของท่านยังไม่บริบูรณ์ เราจักช่วยทำให้บริบูรณ์ แต่ถ้าความรู้ของท่านบริบูรณ์ เราจักพลอยยินดีด้วย” แม้ครั้งที่ ๓ สรภปริพาชกก็ยังนิ่ง ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกับสรภปริพาชกดังนี้ว่า “ท่านสรภะ พระ สมณโคดมจะปวารณาพระองค์เองทุกครั้งที่ท่านขอ ท่านสรภะ จงกล่าวเถิด ท่านรู้ทั่ว ถึงธรรมของเหล่าสมณศากยบุตรว่าอย่างไร ถ้าความรู้ของท่านยังไม่บริบูรณ์ พระ สมณโคดมจักช่วยทำให้บริบูรณ์ แต่ถ้าความรู้ของท่านบริบูรณ์ พระสมณโคดมจัก พลอยยินดีด้วย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๕๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๔. สรภสูตร

เมื่อปริพาชกเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว สรภปริพาชกนิ่งเงียบ เก้อเขิน นั่ง คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่สามารถจะโต้ตอบได้ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทราบว่าสรภปริพาชกนิ่งเงียบ เก้อเขิน นั่งคอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่สามารถจะโต้ตอบได้ จึงได้ตรัสกับปริพาชกเหล่านั้นดังนี้ว่า ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัม- พุทธเจ้าปฏิญญาตนอยู่ ยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ เราพึงไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงผู้นั้น ในธรรมนั้นตามหลักเหตุผล” เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้นั้นเมื่อถูกเราไต่ถามซักไซ้ไล่เลียง ตามหลักเหตุผลจะไม่เข้าถึงฐานะอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานะ ๓ อย่าง คือ (๑) พูดกลบ เกลื่อนหรือพูดนอกเรื่อง (๒) แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ (๓) นิ่งเงียบ เก้อเขิน นั่งคอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่สามารถจะโต้ตอบได้เหมือนสรภปริพาชก ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า “อาสวะเหล่านี้ของท่านผู้ ปฏิญญาตนว่าเป็นพระขีณาสพยังไม่สิ้นไปเลย เราพึงไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงผู้นั้นใน ธรรมนั้นตามหลักเหตุผล” เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้นั้นเมื่อถูกเราไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงตาม หลักเหตุผลจะไม่เข้าถึงฐานะอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานะ ๓ อย่าง คือ (๑) พูดกลบ เกลื่อนหรือพูดนอกเรื่อง (๒) แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ (๓) นิ่งเงียบ เก้อเขิน นั่งคอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่สามารถจะโต้ตอบได้เหมือนสรภปริพาชก ปริพาชกทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า “ท่านแสดงธรรมเพื่อ ประโยชน์ใด ธรรมที่ท่านแสดงนั้นไม่อำนวยประโยชน์นั้นเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ แก่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น เราพึงไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงผู้นั้นในธรรมนั้นตามหลักเหตุผล” เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้นั้นเมื่อถูกเราไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงตามหลักเหตุผลจะไม่เข้าถึง ฐานะอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานะ ๓ อย่าง คือ (๑) พูดกลบเกลื่อนหรือพูดนอกเรื่อง (๒) แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และอาการไม่พอใจ (๓) นิ่งเงียบ เก้อเขิน นั่งคอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่สามารถจะโต้ตอบได้เหมือนสรภปริพาชก ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง ณ อารามปริพาชก ที่ริมฝั่งแม่น้ำสัปปินิกาแล้วทรงเหาะหลีกไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๕๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๕. เกสปุตติสูตร

ต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ปริพาชกพากันใช้ปฏักคือ วาจาทิ่มแทงสรภปริพาชกรอบด้านว่า “ท่านสรภะ สุนัขจิ้งจอกแก่ในป่าใหญ่คิดว่า จักร้องเหมือนเสียงราชสีห์ แต่ก็ร้องเป็นสุนัขจิ้งจอกอยู่นั่นเอง ร้องไม่ต่างจากสุนัข จิ้งจอกเลยแม้ฉันใด ท่านสรภะ ตัวท่านเองก็ฉันนั้นเหมือนกัน คิดว่า ‘นอกจากพระ สมณโคดมแล้ว เราก็บันลือสีหนาทได้’ กลับบันลือได้เหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่ บันลือไม่ ต่างจากสุนัขจิ้งจอกเลย ท่านสรภะ ลูกไก่ตัวเมียคิดว่าจักขันให้ได้เหมือนพ่อไก่ กลับ ขันได้อย่างลูกไก่ตัวเมียเท่านั้น แม้ฉันใด ท่านสรภะ ตัวท่านเองก็ฉันนั้นเหมือนกัน คิดว่า ‘นอกจากพระสมณโคดมแล้ว เราก็จักขันเหมือนพ่อไก่ได้’ กลับขันได้เหมือน ลูกไก่ตัวเมีย ท่านสรภะ โคผู้เข้าใจว่าตนร้องได้อย่างลึกซึ้งในโรงโคที่ว่าง แม้ฉันใด ท่านสรภะ ตัวท่านเองก็ฉันนั้นเหมือนกัน เข้าใจว่าตนร้องได้อย่างลึกซึ้ง” ครั้งนั้น ปริพาชกเหล่านั้นพากันใช้ปฏักคือวาจาทิ่มแทงสรภปริพาชกรอบด้าน
สรภสูตรที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๒๕๒-๒๕๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=20&siri=109              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=4855&Z=4929                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=504              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=20&item=504&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=4447              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=20&item=504&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=4447                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i501-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/an3.64/en/sujato https://suttacentral.net/an3.64/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :