ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๓. อานันทวรรค ๔. นิคัณฐสูตร

๔. นิคัณฐสูตร
ว่าด้วยนิครนถนาฏบุตร
[๗๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุง เวสาลี สมัยนั้น เจ้าอภัยลิจฉวีและเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีพากันเข้าไปหาท่านพระ อานนท์ถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร เจ้าอภัยลิจฉวีผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียน ถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครนถนาฏบุตรเป็นสัพพัญญู(ผู้รู้ทุกสิ่ง) มองเห็นทุกอย่าง ปฏิญญาญาณทัสสนะโดยไม่เหลือว่า ‘เมื่อเราเดิน ยืน หลับ และตื่น ญาณทัสสนะ๑- ก็ปรากฏเป็นนิตย์’ เขาบัญญัติว่ากรรมเก่าสิ้นสุดเพราะตบะ(การบำเพ็ญเพียรอย่าง หนัก) บัญญัติการกำจัดเหตุได้เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ด้วยเหตุนี้ เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงสิ้นไป เพราะทุกข์สิ้นไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจัก เป็นอันสลายไป การล่วงพ้นทุกข์ทั้งสิ้นย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ซึ่งประจักษ์ชัดด้วยตนเองนี้ ด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในเรื่องนี้พระผู้มี พระภาคตรัสไว้อย่างไร” ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ท่านอภัย ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ๓ ประการนี้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์ เองโดยชอบ ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงพ้น ความโศก ความร่ำไร เพื่อความสิ้นทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำ พระนิพพานให้แจ้ง ความบริสุทธิ์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอไม่ทำกรรมใหม่ และรับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ทำให้กิเลสสิ้น ไป ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” @เชิงอรรถ : @ ญาณทัสสนะ หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๕/๒๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๙๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๓. อานันทวรรค ๕. นิเวสกสูตร

๒. ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีล สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานที่ไม่ มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอไม่ทำกรรมใหม่ และ รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ทำให้กิเลสสิ้นไป ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” ๓. ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ เพียบพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติที่ไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เธอไม่ทำกรรมใหม่และรับผล กรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะ พึงเห็นชัดด้วยตนเอง ทำให้กิเลสสิ้นไป ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียก ให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ๓ ประการนี้แลอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงพ้นความโศก ความร่ำไร เพื่อความสิ้น ทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว เจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีได้กล่าวกับเจ้า อภัยดังนี้ว่า “อภัยเพื่อนรัก ทำไมท่านจึงไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดย ความเป็นคำสุภาษิตเล่า” เจ้าอภัยตอบว่า “บัณฑิตกุมารเพื่อนรัก ไฉนเราจักไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระ อานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า ความคิดของผู้ที่ไม่ชื่นชมคำที่ท่าน พระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิต พึงเสื่อมแน่นอน”
นิคัณฐสูตรที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๒๙๗-๒๙๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=20&siri=119              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=5809&Z=5853                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=514              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=20&item=514&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=5233              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=20&item=514&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=5233                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i511-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/an3.74/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :