ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๔. เขตตสูตร
ว่าด้วยนาดีและนาไม่ดี
[๓๔] ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีความชื่นใจมาก ไม่มีความเจริญมาก นาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นอย่างไร คือ นาในโลกนี้ ๑. เป็นที่ลุ่มและดอน ๒. เป็นที่มีหินและกรวด ๓. เป็นที่ดินเค็ม ๔. เป็นที่ไถลงลึกไม่ได้ ๕. เป็นที่ไม่มีทางน้ำเข้า ๖. เป็นที่ไม่มีทางน้ำออก ๗. เป็นที่ไม่มีเหมือง ๘. เป็นที่ไม่มีคันนา ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างนี้ ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีความชื่นใจมาก ไม่มีความเจริญมาก ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบ ด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่มีความแพร่หลายมาก สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นอย่างไร คือ สมณพราหมณ์ในโลกนี้ ๑. เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ๒. เป็นผู้มีมิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๘๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. ทานวรรค ๔. เขตตสูตร

๓. เป็นผู้มีมิจฉาวาจา (เจรจาผิด) ๔. เป็นผู้มีมิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด) ๕. เป็นผู้มีมิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด) ๖. เป็นผู้มีมิจฉาวายามะ (พยายามผิด) ๗. เป็นผู้มีมิจฉาสติ (ระลึกผิด) ๘. เป็นผู้มีมิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด) ภิกษุทั้งหลาย ทานที่ให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างนี้ ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่มีความแพร่ หลายมาก ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมมี ผลมาก มีความชื่นใจมาก มีความเจริญมาก นาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นอย่างไร คือ นาในโลกนี้ ๑. เป็นที่ไม่ลุ่มและดอน ๒. เป็นที่ไม่มีหินและกรวด ๓. เป็นที่ไม่มีดินเค็ม ๔. เป็นที่ไถลงลึกได้ ๕. เป็นที่มีทางน้ำเข้า ๖. เป็นที่มีทางน้ำออก ๗. เป็นที่มีเหมือง ๘. เป็นที่มีคันนา ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีความชื่นใจมาก มีความเจริญมาก ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน ทานที่ให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบ ด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความ แพร่หลายมาก สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นอย่างไร คือ สมณพราหมณ์ในโลกนี้ ๑. เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) ๒. เป็นผู้มีสัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ) ๓. เป็นผู้มีสัมมาวาจา(เจรจาชอบ) ๔. เป็นผู้มีสัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๙๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. ทานวรรค ๔. เขตตสูตร

๕. เป็นผู้มีสัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) ๖. เป็นผู้มีสัมมาวายามะ(พยายามชอบ) ๗. เป็นผู้มีสัมมาสติ(ระลึกชอบ) ๘. เป็นผู้มีสัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ) ภิกษุทั้งหลาย ทานที่ให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก พืชที่สมบูรณ์ถูกหว่านลงในนาที่สมบูรณ์ เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ธัญชาติจะงอกงามได้ เพราะไม่มีศัตรูพืช๑- มีความเจริญงอกงาม มีความไพบูลย์ มีผลสมบูรณ์เต็มที่ ฉันใด โภชนะที่สมบูรณ์๒- ที่บุคคลให้ ในสมณพราหมณ์ผู้มีศีลสมบูรณ์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมนำมาซึ่งกุศลอันสมบูรณ์ เพราะกรรมที่เขาทำไว้นั้นสมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้น บุคคลผู้หวังกุศลอันสมบูรณ์ จงเป็นผู้สมบูรณ์ในกุศลนี้ พึงคบท่านผู้มีปัญญาสมบูรณ์ บุญสัมปทาทั้งหลายย่อมสำเร็จได้อย่างนี้ คือ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๓- ได้ความสมบูรณ์แห่งจิตแล้ว ทำกรรมให้บริบูรณ์ ได้ประโยชน์ที่สมบูรณ์ รู้โลกตามความเป็นจริงแล้ว บรรลุทิฏฐิสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ) @เชิงอรรถ : @ ไม่มีศัตรูพืช ในที่นี้หมายถึงแมลงและหนอนเป็นต้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๔/๒๕๕) @ โภชนะที่สมบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงโภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ @(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๔/๒๕๕) @ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยวิชชา ๓ และจรณะ ๑๕ @(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๔/๒๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๙๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๔. ทานวรรค ๕. ทานูปปัตติสูตร

อาศัยมัคคสัมปทา๑- แล้ว มีใจบริบูรณ์ ย่อมบรรลุอรหัตตผลได้ กำจัดมลทินทั้งปวงแล้ว จะบรรลุนิพพานสัมปทาได้ การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น จัดเป็นสัพพสัมปทา
เขตตสูตรที่ ๔ จบ
๕. ทานูปปัตติสูตร
ว่าด้วยผลที่เกิดจากการให้ทาน๒-
[๓๕] ภิกษุทั้งหลาย ผลที่เกิดจากการให้ทาน ๘ ประการนี้ ผลที่เกิดจากการให้ทาน ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ หรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ก็หวังสิ่งนั้นตอบแทน เขาเห็นพวก ขัตติยมหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล๓- ผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมบำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ จึงมีความปรารถนาอย่างนี้ ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดร่วมกับพวกขัตติยมหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล’ เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐาน จิตนั้น เจริญจิตนั้นอยู่ จิตของเขาโน้มไปในทางต่ำ เจริญให้ยิ่งขึ้นไป ไม่ได้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในที่นั้น๔- หลังจากตายแล้ว เขาจึงเกิดร่วม กับพวกขัตติยมหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล ข้อนี้แล เรากล่าวไว้สำหรับผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับผู้ทุศีล ภิกษุทั้งหลาย มโนปณิธานของท่านผู้มีศีลย่อมสำเร็จได้เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ @เชิงอรรถ : @ มัคคสัมปทา หมายถึงโสดาปัตติมรรค (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๔/๒๕๕) @ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๗/๒๒๗-๒๒๙ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๖๖ หน้า ๑๓๕ ในเล่มนี้ @ เกิดในที่นั้น หมายถึงเกิดในสถานที่ที่ตนปรารถนาไว้ในขณะทำบุญ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๕/๒๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๙๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๘๙-๒๙๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=23&siri=107              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=4904&Z=4949                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=124              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=124&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5710              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=124&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5710                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i121-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/an8.34/en/sujato https://suttacentral.net/an8.34/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :