ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต ๗. มหาวรรค ๕. ปาริฉัตตกสูตร

๕. ปาริฉัตตกสูตร
ว่าด้วยอริยสาวกเปรียบได้กับต้นปาริฉัตร
[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย ๑. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจกันว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ ปาริฉัตรมีใบเหลือง ไม่นานนัก เดี๋ยวใบก็จักร่วงหล่น’ ๒. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัดใบ สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรผลัดใบแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักผลิดอกออกใบ’ ๓. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลิดอก ออกใบ สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้ สวรรค์ชื่อปาริฉัตรผลิดอกออกใบแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักเป็น ช่อใบช่อดอก’ ๔. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นช่อใบ ช่อดอกแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้ สวรรค์ชื่อปาริฉัตรเป็นช่อใบช่อดอกแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักมี ดอกตูม’ ๕. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีดอกตูมแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ ปาริฉัตรมีดอกตูมแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักแย้ม’ ๖. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีดอกแย้มแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจว่า ‘บัดนี้ ต้นไม้สวรรค์ชื่อ ปาริฉัตรมีดอกแย้มแล้ว ไม่นานนัก เดี๋ยวก็จักบานสะพรั่ง’ ๗. สมัยใด ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ออกดอก บานสะพรั่งแล้ว สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างก็ดีใจ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ตลอด ๔ เดือนทิพย์ ณ โคนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๔๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗. มหาวรรค ๕. ปาริฉัตตกสูตร

เมื่อต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรออกดอกบานสะพรั่งแล้ว แผ่รัศมีไปได้ ๕๐ โยชน์ ในบริเวณรอบๆ ส่งกลิ่นโชยไปตามลมได้ ๑๐๐ โยชน์ นี้เป็นอานุภาพของต้นไม้สวรรค์ ชื่อปาริฉัตร ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน ๑. สมัยใด อริยสาวกคิดออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่มีใบ เหลือง ๒. สมัยใด อริยสาวกโกนผมและหนวด นุ่งห่มกาสาวพัสตร์ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้ สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ผลัดใบแล้ว ๓. สมัยใด อริยสาวกสงัดจากกามและอกุศลทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ๑- สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตร ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ผลิดอกออกใบแล้ว ๔. สมัยใด อริยสาวก เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตร ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่เป็นช่อใบช่อดอกแล้ว ๕. สมัยใด อริยสาวก เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวก จึงเปรียบเหมือนต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่มี ดอกตูมแล้ว ๖. สมัยใด อริยสาวก เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส ดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวกจึง เปรียบเหมือนต้นปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่มีดอกแย้มแล้ว @เชิงอรรถ : @ ความเต็มขององค์ฌานในสูตรนี้ ดูอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๑ หน้า ๒๒๒-๒๒๓ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๔๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗. มหาวรรค ๕. ปาริฉัตตกสูตร

๗. สมัยใด อริยสาวกทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ฯลฯ สมัยนั้น อริยสาวกจึงเปรียบเหมือนต้นไม้ สวรรค์ชื่อปาริฉัตรของเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ออกดอกบานสะพรั่งแล้ว ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น ภุมมเทวดากระจายข่าวว่า ‘ท่านรูปนี้มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของท่านผู้มีชื่อนี้ ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากบ้านหรือ นิคมชื่อโน้น ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้’ เทวดาชั้นจาตุมหาราชสดับเสียงของภุมมเทวดาแล้ว ได้กระจายข่าวต่อไป ฯลฯ เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทวดาชั้นชั้นยามา ฯลฯ เทวดาชั้นดุสิต ฯลฯ เทวดาชั้นนิมมานรดี ฯลฯ เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ เทวดาชั้นพรหมกายิกา สดับเสียงของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว ก็กระจาย ข่าวว่า ‘ท่านรูปนี้มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของท่านผู้มีชื่อนี้ ได้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต จากบ้านหรือนิคมชื่อโน้น ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วยประการ ฉะนี้ นี้เป็นอานุภาพของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ
ปาริฉัตตกสูตรที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๔๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๔๗-๑๔๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=23&siri=66              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=2460&Z=2511                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=66              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=66&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4544              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=66&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4544                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i062-e.php#sutta5 https://suttacentral.net/an7.69/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :