ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๒๖. พราหมณวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์
๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เลื่อมใสมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๘๓] พราหมณ์๓- เธอจงพยายามตัดกระแส๔- ให้ขาด จงบรรเทากามทั้งหลายให้ได้ เธอรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว ก็จะรู้แจ้งสภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้๕- @เชิงอรรถ : @ หมายถึงให้โลกคือขันธ์ ๕ สว่างไสวด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๐) @ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๓/๔๘๔ @ พราหมณ์ ตามหลักพุทธศาสนาในวรรคนี้หมายถึงพระขีณาสพทั้งหลาย แต่มีบ้างที่ตรัสหมายเอา @พราหมณ์โดยชาติกำเนิด เช่น ในธรรมบทข้อ ๓๙๒ หน้า ๑๕๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒) @ กระแส หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒) @ สภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓. มารวัตถุ

๒. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๓๐ รูป ดังนี้) [๓๘๔] เมื่อใด พราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งสอง๑- เมื่อนั้น สังโยคะ๒- ทั้งหมดของเขาผู้รู้อยู่ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
๓. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้ถามเรื่องฝั่ง ดังนี้) [๓๘๕] ผู้ใดไม่มีฝั่งนี้๓- ไม่มีฝั่งโน้น๔- หรือไม่มีทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น เราเรียกผู้นั้นซึ่งปราศจากความกระวนกระวาย ปลอดจากกิเลสแล้วว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ธรรมทั้งสอง หมายถึงสมถะ และวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๓) @ สังโยคะ หมายถึงโยคะ(สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ) มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา @(ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๓) และดูความหมายของคำว่า “โยคะ” ใน ขุ.ธ.อ. ๒/๖๕, ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๑ ประกอบ @ ไม่มีฝั่งนี้ หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายใน ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ว่า “เรา” หรือ @“ของเรา” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๔) @ ไม่มีฝั่งโน้น หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ @ธรรมารมณ์) ว่า “เรา” หรือ “ของเรา” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๕. อานันทเถรวัตถุ

๔. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้) [๓๘๖] ผู้เพ่งพินิจ ปราศจากธุลี อยู่ตามลำพัง ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ บรรลุประโยชน์สูงสุด๑- เราเรียกว่า พราหมณ์
๕. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้) [๓๘๗] ดวงอาทิตย์ส่องสว่างเฉพาะกลางวัน ดวงจันทร์ส่องสว่างเฉพาะกลางคืน กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้ว จึงสง่างาม พราหมณ์เพ่งพินิจ จึงสง่างาม แต่พระพุทธเจ้าทรงสง่างามด้วยพระเดช๒- ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน @เชิงอรรถ : @ ประโยชน์สูงสุด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๕) @ พระเดช ในที่นี้หมายถึงเดช ๕ อย่าง คือ เดชแห่งศีล เดชแห่งคุณ เดชแห่งปัญญา เดชแห่งบุญ และ @เดชแห่งธรรม (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๗. สารีปุตตเถรวัตถุ

๖. อัญญตรปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง
(นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ท่านหนึ่ง ถามพระผู้มีพระภาค เรื่องบรรพชิต พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้) [๓๘๘] ผู้ที่ลอยบาปได้ เราเรียกว่า พราหมณ์ เพราะประพฤติสงบ๑- เราเรียกว่า สมณะ ฉะนั้น ผู้ที่กำจัดมลทิน๒- ของตนให้หมดไปได้ เราจึงเรียกว่า บรรพชิต
๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตรซึ่งถูกพราหมณ์ทำร้าย จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๘๙] พราหมณ์ไม่พึงทำร้ายพราหมณ์ ไม่พึงจองเวรพราหมณ์ผู้ทำร้ายนั้น น่าตำหนิพราหมณ์ผู้ทำร้ายพราหมณ์ พราหมณ์ที่จองเวรตอบนั้น น่าตำหนิยิ่งกว่า [๓๙๐] ข้อที่พราหมณ์ห้ามใจจากอารมณ์อันเป็นที่รัก๓- ทั้งหลายได้ เป็นความประเสริฐไม่น้อยเลย ใจที่มีความเบียดเบียน กลับจากวัตถุใดๆ ความทุกข์ก็ย่อมสงบระงับจากวัตถุนั้นๆ @เชิงอรรถ : @ ประพฤติสงบ หมายถึงประพฤติปฏิบัติให้อกุศลธรรมทั้งหมดสงบ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๘) @ มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๘) @ อารมณ์อันเป็นที่รัก หมายถึงการเกิดขึ้นแห่งความโกรธของผู้มักโกรธ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๐. ชฏิลพราหมณวัตถุ

๘. มหาปชาปตีโคตมีวัตถุ
เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้) [๓๙๑] ผู้ไม่มีกรรมชั่ว๑- ทางกาย วาจา และใจ สำรวมระวังได้ครบทั้ง ๓ ทวาร เราเรียกว่า พราหมณ์
๙. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตร นอบน้อมทิศที่พระอัสสชิเถระอยู่ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๙๒] บุคคลรู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว จากอาจารย์ใด ควรนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์๒- นอบน้อมไฟที่บูชา ฉะนั้น
๑๐. ชฏิลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ชฎิล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ชฎิลผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้) [๓๙๓] คนเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่เพราะเกล้าชฎา ไม่ใช่เพราะโคตร ไม่ใช่เพราะชาติกำเนิด แต่สัจจะ๓- และธรรม๔- มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้น เป็นผู้สะอาด และผู้นั้น เป็นพราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ กรรมชั่ว หมายถึงกรรมที่มีโทษ มีทุกข์เป็นกำไร นำสัตว์ให้ตกไปในอบาย (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๓) @ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์โดยชาติกำเนิด (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๔) @ สัจจะ หมายถึงสัจญาณอันหยั่งรู้สัจจะ ๔ โดยอาการ ๑๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๕) @ ธรรม หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๒. กิสาโคตมีวัตถุ

๑๑. กุหกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์โกหก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพราหมณ์โกหกมีวัตรดังค้างคาว ตรัสพระคาถานี้ แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๙๔] เจ้าคนมีปัญญาทราม การเกล้าชฎา การครองหนังเสือ จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเจ้า ภายนอกของเจ้าเปล่งปลั่งเกลี้ยงเกลา แต่ภายในของเจ้ารกรุงรัง๑-
๑๒. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนางกิสาโคตมีจึงตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพ ดังนี้) [๓๙๕] ผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ซูบผอม มีเส้นเอ็นปรากฏทั่วร่าง เพ่งพินิจอยู่ในป่าผู้เดียว เราเรียกว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ รกรุงรัง หมายถึงรกรุงรังด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑/๑๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๔. อุคคเสนวัตถุ

๑๓. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้) [๓๙๖] เราไม่เรียกบุคคลผู้ถือกำเนิด เกิดในครรภ์มารดาว่า พราหมณ์ ถ้าเขายังมีกิเลสเครื่องกังวลอยู่ เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที๑- เท่านั้น เราเรียกผู้หมดกิเลสเครื่องกังวล หมดความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์๒-
๑๔. อุคคเสนวัตถุ
เรื่องนายอุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๙๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง๓- ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง๔- ได้ ผู้ปราศจากโยคะ๕- เราเรียกว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ โภวาที หมายถึงบุคคลผู้มีปกติเที่ยวร้องเรียกตนเองว่า “เป็นผู้เจริญ” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๐) @ ม.ม. (แปล) ๑๓/๔๕๗/๕๗๗ @ ไม่สะดุ้ง หมายถึงไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๑) @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๗. สารีปุตตเถรวัตถุ

๑๕. เทฺวพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ ๒ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้) [๓๙๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน๑- พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก๒- เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว เราเรียกว่า พราหมณ์
๑๖. อักโกสกภารทวาชวัตถุ
เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๓๙๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า การฆ่า และการจองจำได้ มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล เราเรียกว่า พราหมณ์
๑๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย เราเรียกว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ชะเนาะ หมายถึงความโกรธ เชือกหนัง หมายถึงตัณหา เงื่อน หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๒) @ สายรัด หมายถึงอนุสัยกิเลส ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๐. เขมาภิกขุนีวัตถุ

๑๘. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๑๙. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้) [๔๐๒] ผู้ใดในศาสนานี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๐. เขมาภิกขุนีวัตถุ
เรื่องพระเขมาภิกษุณี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเทวดาทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นปราชญ์ ฉลาดในทางและมิใช่ทาง๑- บรรลุประโยชน์สูงสุด เราเรียกว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ฉลาดในทางและมิใช่ทาง หมายถึงรู้ว่าธรรมนี้เป็นทางไปทุคติ ธรรมนี้เป็นทางไปสุคติ ธรรมนี้เป็นทาง @ไปนิพพาน และรู้ว่าธรรมนี้มิใช่ทาง (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๓. สามเณรวัตถุ

๒๑. ปัพภารวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ที่เงื้อมเขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๔] ผู้ไม่คลุกคลี๑- กับคน ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย เราเรียกว่า พราหมณ์
๒๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง๒- และสัตว์ที่มั่นคง๓- ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๓. สามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น เราเรียกว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ คลุกคลี ในที่นี้หมายถึงการคลุกคลีทางกายคือการเห็น การฟัง การเจรจาปราศรัย การร่วมกิน ร่วมดื่ม @(ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๓) @ สัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง หมายถึงสัตว์ที่ยังมีตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕) @ สัตว์ที่มั่นคง หมายถึงสัตว์ที่หมดตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๖. อัญญตรภิกขุวัตถุ

๒๔. มหาปันถกเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาปันถกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป๑- เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๕. ปิลินทวัจฉเถรวัตถุ
เรื่องพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้ เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ขัดเคือง เราเรียกว่า พราหมณ์
๒๖. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๐๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ตกไป หมายถึงไม่ให้ตั้งอยู่ในใจ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๙. เรวตเถรวัตถุ

๒๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๐] ผู้ใดไม่มีความหวัง๑- ในโลกนี้และโลกหน้า ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๘. มหาโมคคัลลานวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย๒- หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด หยั่งลงสู่อมตะ๓- บรรลุแล้ว เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๒๙. เรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๒] ผู้ใดในโลกนี้ ละบุญและบาปทั้งสองได้ พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ความหวัง (อาสา) หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔๔) @ อาลัย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔๕) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๑. สีวลิเถรวัตถุ

๓๐. จันทาภเถรวัตถุ
เรื่องพระจันทาภเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว๑- เป็นผู้สิ้นความเพลิดเพลินในภพ๒- เราเรียกว่า พราหมณ์
๓๑. สีวลิเถรวัตถุ
เรื่องพระสีวลีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม๓- ทางหล่ม๔- สงสาร๕- และโมหะได้แล้ว ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ ไม่ขุ่นมัว หมายถึงปราศจากมลทินคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๕๑) @ ความเพลิดเพลินในภพ หมายถึงตัณหาในภพทั้ง ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๕๑) @ ทางอ้อม หมายถึงราคะ @ ทางหล่ม หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๕๒) @ สงสาร หมายถึงสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๕๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๔. โชติกเถรวัตถุ

๓๒. สุนทรสมุททเถรวัตถุ
เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๕] ผู้ใดในโลกนี้ ละกามได้แล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้สิ้นกามและภพ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๓๓. ชฏิลวัตถุ
เรื่องพระชฎิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๖] ผู้ใดในโลกนี้ ละตัณหาได้ขาด ออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๓๔. โชติกเถรวัตถุ
เรื่องพระโชติกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๖] ผู้ใดในโลกนี้ ละตัณหาได้ขาด ออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๖. ทุติยนฏปุพพกเถรวัตถุ

๓๕. ปฐมนฏปุพพกเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ ๑
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้๑- ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากโยคะ๒- ทั้งปวง เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
๓๖. ทุติยนฏปุพพกเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ ๒
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๘] ผู้ละทั้งความยินดี๓- และความไม่ยินดี๔- เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส ครอบงำโลกทั้งหมด๕- เป็นผู้แกล้วกล้า เราเรียกว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ กิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ หมายถึงอายุและกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) @อันเป็นของมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๘๒) @ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้ @ ความยินดี หมายถึงความยินดีในกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๘๓) @ ความไม่ยินดี หมายถึงความระอาในการอยู่ป่า (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๘๓) @ ครอบงำโลกทั้งหมด หมายถึงครอบงำโลกคือขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๘๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๘. ธัมมทินนาเถรีวัตถุ

๓๗. วังคีสเถรวัตถุ
เรื่องพระวังคีสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๑๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง เราเรียกผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง ไปดีแล้ว และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์ [๔๒๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ ก็รู้ไม่ได้ เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์
๓๘. ธัมมทินนาเถรีวัตถุ
เรื่องพระธัมมทินนาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่วิสาขอุบาสก อดีตสามีของพระธัมมทินนาเถรี ดังนี้) [๔๒๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๑- ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์ @เชิงอรรถ : @ กิเลสเครื่องกังวล หมายถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา (๘/๑๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๔๐. เทวหิตพราหมณวัตถุ

๓๙. อังคุลิมาลเถรวัตถุ
เรื่องพระองคุลิมาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๔๒๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และตรัสรู้แล้ว เราเรียกว่า พราหมณ์
๔๐. เทวหิตพราหมณวัตถุ
เรื่องเทวหิตพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวหิตพราหมณ์ ดังนี้) [๔๒๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้๑- เห็นสวรรค์และอบาย บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด๒- หมดภารกิจ๓- เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
พราหมณวรรคที่ ๒๖ จบ
@เชิงอรรถ : @ ระลึกอดีตชาติได้ หมายถึงมีทิพยจักษุญาณเห็นสวรรค์ ๒๖ ชั้น และอบายภูมิ ๔ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑) @ ภาวะที่สิ้นสุดการเกิด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑) @ หมดภารกิจ หมายถึงหมดหน้าที่กำหนดรู้(ปริญญากิจ) หมดหน้าที่ละ(ปหานกิจ) และหมดหน้าที่ทำ @ให้แจ้ง(สัจฉิกิริยากิจ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท รวมวรรคในธรรมบท

รวมวรรคในธรรมบท
๑. ยมกวรรค ๒. อัปปมาทวรรค ๓. จิตตวรรค ๔. ปุปผวรรค ๕. พาลวรรค ๖. ปัณฑิตวรรค ๗. อรหันตวรรค ๘. สหัสสวรรค ๙. ปาปวรรค ๑๐. ทัณฑวรรค ๑๑. ชราวรรค ๑๒. อัตตวรรค ๑๓. โลกวรรค ๑๔. พุทธวรรค ๑๕. สุขวรรค ๑๖. ปิยวรรค ๑๗. โกธวรรค ๑๘. มลวรรค ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๒๐. มัคควรรค ๒๑. ปกิณณกวรรค ๒๒. นิรยวรรค ๒๓. นาควรรค ๒๔. ตัณหาวรรค ๒๕. ภิกขุวรรค ๒๖. พราหมณวรรค รวมเป็น ๒๖ วรรค อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท รวมพระคาถาในธรรมบท

รวมพระคาถาในธรรมบท
ยมกวรรค มี ๒๐ คาถา อัปปมาทวรรค มี ๑๒ คาถา จิตตวรรค มี ๑๑ คาถา ปุปผวรรค มี ๑๖ คาถา พาลวรรค มี ๑๖ คาถา ปัณฑิตวรรค มี ๑๔ คาถา อรหันตวรรค มี ๑๐ คาถา สหัสสวรรค มี ๑๖ คาถา ปาปวรรค มี ๑๓ คาถา ทัณฑวรรค มี ๑๗ คาถา ชราวรรค มี ๑๑ คาถา อัตตวรรค มี ๑๐ คาถา โลกวรรค มี ๑๒ คาถา พุทธวรรค มี ๑๘ คาถา สุขวรรค มี ๑๒ คาถา ปิยวรรค มี ๑๒ คาถา โกธวรรค มี ๑๔ คาถา มลวรรค มี ๒๑ คาถา ธัมมัฏฐวรรค มี ๑๗ คาถา มัคควรรค มี ๑๗ คาถา ปกิณณกวรรค มี ๑๖ คาถา นิรยวรรค มี ๑๔ คาถา นาควรรค มี ๑๔ คาถา ตัณหาวรรค มี ๒๖ คาถา ภิกขุวรรค มี ๒๓ คาถา พราหมณวรรค มี ๔๑ คาถา รวมพระคาถาทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงไว้ ในนิบาต ในธรรมบทนี้ ๔๒๓ พระคาถา
ธรรมบท จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๗๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๕๒-๑๗๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=25&siri=35              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=1301&Z=1424                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=36              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=36&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=2016              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=36&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=2016                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i036-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i036-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.26.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.26.budd.html https://suttacentral.net/dhp383-423/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp383-423/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp383-423/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :