ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๑๖. สิริมาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางสิริมา
(พระวังคีสะประสงค์จะให้นางสิริมา๑- เทพธิดาประกาศบุญกรรมที่นางได้ทำไว้ใน ครั้งก่อนจึงถามนางด้วยคาถาเหล่านี้ว่า) @เชิงอรรถ : @ นางสิริมา เดิมเป็นหญิงโสเภณี ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าได้บรรลุโสดาบันจึงเลิกอาชีพโสเภณี ได้ตั้ง @สลากภัตร ๘ ที่ ถวายสงฆ์ทุกวัน ต่อมานางป่วยหนักเสียชีวิตแต่ยังสาว ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาอยู่ในวิมานนี้ @(ขุ.วิ.อ. ๑๓๗/๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๑. ปีฐวรรค ๑๖. สิริมาวิมาน

[๑๓๗] ม้าสำหรับเทียมรถของเธอ ตกแต่งด้วยเครื่องประดับชั้นดีเยี่ยม มีพลัง แคล่วคล่องว่องไว เหาะทะยานลงไป รถเทียมม้า ๕๐๐ คัน ที่บุญกุศลเนรมิตเพื่อเธอ และม้าเหล่านั้นเหมือนถูกนายสารถีกระตุ้นเตือน ย่อมแล่นตามเธอไป [๑๓๘] เธอประดับองค์ สถิตบนรถอันเลอเลิศ เปล่งรัศมีสว่างรุ่งเรืองอยู่ประดุจดวงไฟอันโชติช่วง เทพธิดาผู้มีรูปงาม น่าชม มองแล้วไม่เบื่อ อาตมาขอถามว่า “เธอมาจากเทพหมู่ไหนหนอจึงเข้ามาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งหาใครเลิศยิ่งกว่าไม่ได้แล้ว (สิริมาเทพธิดานั้นตอบพระเถระว่า) [๑๓๙] ถัดลงมาจากหมู่ปรนิมมิตวสวัตดีเทพ๑- ผู้ถึงความเป็นเลิศ ด้วยกามคุณ ที่บัณฑิตกล่าวชมว่ายอดเยี่ยมนั้น มีนิมมานรดีเทพซึ่งเนรมิตสมบัติได้เองแล้วชื่นชมอยู่ ดิฉันเป็นนางอัปสรจากหมู่นิมมานรดีเทพนั้น ซึ่งมีรูปร่างน่าพึงใจ ประสงค์จะนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งหาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ จึงมาสู่มนุษยโลกนี้ (พระเถระถามว่า) [๑๔๐] ชาติก่อนแต่จะมาเป็นเทพธิดานี้ เธอได้ประพฤติสุจริตกรรมอะไรไว้ เพราะบุญอะไรเธอจึงมีบริวารยศอยู่มากมาย เปี่ยมไปด้วยความสุข อนึ่ง เธอมีฤทธิ์ที่หาฤทธิ์ใดเทียมเท่ามิได้ เหาะไปในอากาศได้ ทั้งมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วสิบทิศ @เชิงอรรถ : @ เป็นชื่อของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นที่ ๖ (สวรรค์มี ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี @ปรนิมมิตวสวัตดี) เมื่อต้องการอะไรจะให้เทพชั้นที่ ๕ นิรมิตให้ (ขุ.วิ.อ. ๑๓๙/๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๑. ปีฐวรรค ๑๖. สิริมาวิมาน

[๑๔๑] เทพธิดา อนึ่ง เธอมีมวลเทพห้อมล้อม สักการะ เธอจุติมาจากคติ๑- ไหนจึงมาถึงสุคติภพนี้ หรือว่าเธอได้ทำตามคำสอนของพระศาสดาพระองค์ไหน หากเธอเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้าจริง ขอจงบอกอาตมาเถิด (สิริมาเทพธิดาตอบว่า) [๑๔๒] ดิฉันเป็นพระสนมของพระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ๒- มีพระสิริ อยู่ในพระนครซึ่งสถาปนาไว้เป็นอย่างดีท่ามกลางขุนเขา มีความชำนาญอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ ขับร้อง ชาวเมืองราชคฤห์ได้พากันเรียกขานดิฉันว่า สิริมา [๑๔๓] พระพุทธเจ้าทรงองอาจกว่าหมู่ผู้เป็นฤษี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ ได้ทรงแสดงทุกขสัจและสมุทัยสัจว่าเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง ทรงแสดงทุกขนิโรธสัจซึ่งปราศจากปัจจัยปรุงแต่งว่าเป็นสภาวะคงที่ และทรงแสดงมรรคสัจนี้ซึ่งเป็นทางไม่อ้อมค้อม เป็นทางตรง และเป็นทางปลอดโปร่งแก่ดิฉัน [๑๔๔] ดิฉันครั้นฟังธรรมอันเป็นทางไม่ตาย ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง เป็นคำสอนของพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ สำรวมในศีลทั้งหลายอย่างเคร่งครัดเป็นอันดี มั่นอยู่ในธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่านรชนทรงแสดงไว้แล้ว [๑๔๕] ครั้นรู้ทางที่ปราศจากกิเลสประดุจธุลีซึ่งปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง อันพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ทรงแสดงไว้แล้ว ได้สัมผัสสมถสมาธิ๓- ในอัตภาพนั้นเอง การได้สัมผัสสมถสมาธินั้นแหละ เป็นภาวะแน่นอนอย่างยิ่งสำหรับดิฉัน @เชิงอรรถ : @ คติ (ภพที่สัตว์ไปเกิด) ๕ คือ นรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรต มนุษย์ และสวรรค์ @ พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองกรุงราชคฤห์ (ขุ.วิ.อ. ๑๔๒/๙๐) @ สมถสมาธิ คือ โลกุตตรสมาธิที่ตัดกิเลสได้เด็ดขาด (ขุ.วิ.อ. ๑๔๕/๙๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๑. ปีฐวรรค ๑๖. สิริมาวิมาน

[๑๔๖] ดิฉันได้อมตธรรมอันประเสริฐ ที่ทำให้ต่างจากปุถุชน มีความเชื่อมั่น๑- บรรลุคุณวิเศษเพราะรู้แจ้ง๒- แล้ว หมดความลังเลสงสัย ได้รับการบูชาจากคนจำนวนมาก ความยินดีไม่น้อย [๑๔๗] ตามที่กราบเรียนมานี้ ดิฉันจึงเป็นเทพธิดาผู้เห็นอมตธรรม เป็นสาวิกาของพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ ได้เห็นธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคล ทุคติเป็นอันไม่มีแก่ดิฉันอีกแล้ว [๑๔๘] ดิฉันนั้นมาหมายจะถวายอภิวาท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ หมายจะนมัสการบรรดาภิกษุผู้น่าเลื่อมใส ซึ่งยินดีในกุศลธรรม๓- และหมายจะเข้าไปนั่งใกล้สมาคมของสมณะที่ปลอดภัย ดิฉันมีความเคารพพระธรรมราชา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสิริ [๑๔๙] ครั้นได้เห็นพระจอมมุนีแล้ว ดิฉันก็มีใจเบิกบาน เอิบอิ่ม จึงขอถวายอภิวาทพระองค์ผู้เป็นพระตถาคตเลิศกว่านรชน ฝึกคนที่ควรฝึก ทรงตัดตัณหาได้ ทรงยินดีในกุศลธรรม ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นจากทุกข์ได้ ทรงช่วยเหลือสัตว์โลกด้วยความเกื้อกูลอย่างยิ่ง
สิริมาวิมานที่ ๑๖ จบ
@เชิงอรรถ : @ เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย (ขุ.วิ.อ. ๑๔๖/๙๒) @ รู้แจ้งอริยสัจ (ขุ.วิ.อ. ๑๔๖/๙๒) @ นิพพาน (ขุ.วิ.อ. ๑๔๘/๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๒๓-๒๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=26&siri=16              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=402&Z=469                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=16              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=16&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=1753              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=16&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=1753                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/vv/vv.1.16.irel.html https://suttacentral.net/vv16/en/kiribathgoda



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :