ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๒. ทวาทสกนิบาต]

๑. สีลวเถรคาถา

๑๒. ทวาทสกนิบาต
๑. สีลวเถรคาถา
ภาษิตของพระสีลวเถระ
(พระสีลวเถระแสดงธรรมด้วยคาถาเหล่านี้ว่า) [๖๐๘] กุลบุตรในสัตว์โลกนี้ผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาศีลนั่นแหละให้เป็นอันศึกษาดีแล้วในโลกนี้ เพราะศีลที่รักษาแล้ว ย่อมนำสมบัติทุกประเภทมาให้ได้ [๖๐๙] ผู้มีปัญญาเมื่อปรารถนาความสุข ๓ อย่าง คือ การสรรเสริญ ๑ การได้ความปลื้มใจ ๑ การตายไปแล้วบันเทิงในสวรรค์ ๑ ควรรักษาศีล [๖๑๐] เพราะผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก ส่วนผู้ทุศีล ประพฤติแต่ความชั่ว ย่อมแตกจากมิตร [๖๑๑] นรชนผู้ทุศีลย่อมได้รับการตำหนิและติเตียน นรชนผู้มีศีลย่อมได้รับความยกย่องชมเชยและสรรเสริญทุกเมื่อ [๖๑๒] ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย เป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ [๖๑๓] สังวรศีล เป็นเครื่องกั้นทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง และเป็นท่าสำหรับหยั่งลงมหาสมุทรคือนิพพาน ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ เพราะฉะนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๒. ทวาทสกนิบาต]

๒. สุนีตเถรคาถา

[๖๑๔] ศีลเป็นกำลังหาสิ่งเปรียบปานมิได้ เป็นอาวุธชั้นเยี่ยม เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะบังอย่างน่าอัศจรรย์ [๖๑๕] ศีลเป็นสะพานอันมีพลังมาก มีกลิ่นหอมอย่างยิ่ง เป็นเครื่องลูบไล้อย่างประเสริฐ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีล มีชื่อเสียง ระบือไปทั่วทุกทิศ [๖๑๖] ศีลเป็นกำลังที่ดีเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นยานพาหนะชั้นประเสริฐ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีลไปได้ทั่วทุกทิศ [๖๑๗] คนพาลมีใจไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการติฉินนินทาในโลกนี้ และตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป [๖๑๘] ธีรชนตั้งมั่นดีในศีล ย่อมได้รับชื่อเสียงในโลกนี้ และตายไปแล้ว ย่อมได้รับสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมได้รับสุขโสมนัสในที่ทั่วไป [๖๑๙] ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้ ส่วนผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดทั้งในหมู่มนุษย์และหมู่เทวดา ชัยชนะก็เพราะศีลและปัญญา


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๔๔๕-๔๔๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=26&siri=378              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=7120&Z=7147                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=378              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=378&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=5543              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=378&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=5543                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thag12.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :