ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๓. อานนทเถรคาถา
ภาษิตของพระอานนทเถระ
(พระอานนทเถระ เมื่อสังคายนาพระธรรมได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๐๑๗] บัณฑิตไม่พึงทำความเป็นสหายกับคนพูดส่อเสียด ๑ คนมักโกรธ ๑ คนตระหนี่ ๑ คนชอบใจที่จะให้ผู้อื่นพินาศ ๑ เพราะการสมาคมกับคนชั่วเป็นความเลว ๑ [๑๐๑๘] บัณฑิตพึงทำความเป็นสหายกับคนที่มีศรัทธา ๑ มีศีลเป็นที่รัก ๑ มีปัญญา ๑ เป็นพหูสูต ๑ เพราะการสมาคมกับคนดีทั้งหลายเป็นความเจริญ [๑๐๑๙] ขอเชิญดูอัตภาพที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้นทำให้วิจิตร มีกายเป็นแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง กระสับกระส่าย ที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๓. อานนทเถรคาถา

[๑๐๒๐] ขอเชิญดูอัตภาพที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหูแต่งให้วิจิตร ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมเสื้อผ้า [๑๐๒๑] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๑๐๒๒] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๑๐๒๓] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ๆ ที่งดงาม ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง แต่ไม่สามารถทำคนแสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้ [๑๐๒๔] พระอานนทเถระผู้โคตมโคตร เป็นพหูสูต กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร เป็นพุทธอุปัฏฐาก ปลงภาระได้แล้ว พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ พอเอนกายลงนอน [๑๐๒๕] สิ้นอาสวะ พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ ล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ดับกิเลสได้สนิท ถึงฝั่งแห่งความเกิดและความตาย ยังทรงร่างกาย ซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่ [๑๐๒๖] ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์ ตั้งอยู่เฉพาะในบุรุษพิเศษใด บุรุษพิเศษนั้น คือพระอานนทโคตมโคตร ยังดำรงอยู่ในหนทางเป็นที่ดำเนินไปสู่นิพพาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๓. อานนทเถรคาถา

[๑๐๒๗] เราได้เรียนมาจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จากภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จึงรวมธรรมที่เราช่ำชองคล่องปากได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ [๑๐๒๘] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท๑- เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่ [๑๐๒๙] ผู้ที่มีการศึกษามาก กลับดูหมิ่นผู้ที่มีการศึกษาน้อย เพราะการศึกษาเป็นเหตุ ย่อมปรากฏแก่เรา เหมือนคนตาบอดถือดวงประทีปไป [๑๐๓๐] บุคคลพึงเข้าไปนั่งใกล้ท่านผู้เป็นพหูสูต ทั้งไม่ควรทำสุตะ๒- ให้เสื่อมสูญไป เพราะความเป็นพหูสูตนั้นเป็นรากเง่าของพรหมจรรย์ ฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม [๑๐๓๑] บุคคลรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายภาษิต รู้อรรถแห่งภาษิต ฉลาดในนิรุตติ และในบท๓- เรียนธรรมให้รู้ให้เข้าใจดีและพิจารณาเนื้อความ [๑๐๓๒] เขาก็ทำความพอใจด้วยความอดทน พยายามพิจารณาไตร่ตรองถึงนามรูปนั้น เริ่มตั้งความเพียรในเวลา(ที่ควรประคองจิตเป็นต้น) จึงจะพึงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีในภายในได้ [๑๐๓๓] ผู้หวังความรู้แจ้งธรรมพึงคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวกเช่นนั้น @เชิงอรรถ : @ โคถึกที่มีกำลัง (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๒๘/๔๖๖) @ ความเป็นผู้มีการศึกษามากด้วยการเล่าเรียน (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๓๐/๔๖๗) @ ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ คือในนิรุตติปฏิสัมภิทาและในปฏิสัมภิทา ๓ ที่เหลือ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๓๑/๔๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๓. อานนทเถรคาถา

[๑๐๓๔] บุคคลผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้นเป็นดวงตาและเป็นปูชนียบุคคล ของชาวโลกทั้งมวล [๑๐๓๕] ภิกษุมีธรรม๑- เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่ ก็ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม [๑๐๓๖] ภิกษุผู้หนักในความตระหนี่กาย เมื่อกายและชีวิตเสื่อมไปอยู่ เธอไม่ขยันหมั่นเพียร ยังติดความสุขทางกาย จะมีความอยู่ผาสุกด้วยความเป็นสมณะได้แต่ที่ไหน [๑๐๓๗] ทิศทุกทิศ ไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่เรา เมื่อพระธรรมเสนาบดีซึ่งเป็นกัลยาณมิตร นิพพานเสียแล้ว โลกนี้ทั้งหมดปรากฏเหมือนกับว่ามืดมิด [๑๐๓๘] กัลยาณมิตรเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ปราศจากสหาย ผู้มีพระศาสดาล่วงลับหมือนกายคตาสติ [๑๐๓๙] มิตรเก่า ก็ล่วงลับไป จิตของเราไม่ยอมสมาคมกับมิตรใหม่ วันนี้เรานั้น ขอเข้าฌานอยู่คนเดียว เหมือนกับนกเข้าอยู่ประจำรังในฤดูฝน (พระศาสดาได้ตรัสกับพระอานนทเถระด้วยพระพุทธภาษิตว่า) [๑๐๔๐] เธออย่าได้ห้ามชนหมู่มากผู้เป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น ที่พากันมาไม่ทันพบเรา ชนเหล่านั้นซึ่งมุ่งฟังธรรม จงเข้าพบเราได้ นี้แหละเป็นเวลาเข้าพบเรา @เชิงอรรถ : @ สมถะและวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. ๑๐๓๕/๔๖๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

๓. อานนทเถรคาถา

(พระอานนทเถระได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้ว ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๐๔๑] พระศาสดาผู้มีพระจักษุทรงประทานพระวโรกาส ไม่ทรงห้ามชนหมู่มากซึ่งเป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น ที่พากันมาไม่ทันเข้าเฝ้า [๑๐๔๒] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี กามสัญญา๑- มิได้เกิดขึ้น ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม [๑๐๔๓] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี โทสสัญญา๒- มิได้เกิดขึ้น ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม [๑๐๔๔] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตากายกรรม ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี [๑๐๔๕] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตาวจีกรรม ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี [๑๐๔๖] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตามโนกรรม ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี [๑๐๔๗] เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจงกรม เราได้จงกรมตามเบื้องพระปฤษฎางค์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ญาณได้เกิดขึ้นแก่เรา [๑๐๔๘] เรายังเป็นเสขะมีกิจที่ต้องทำ ยังไม่ได้บรรลุอรหัต แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์เรา ปรากฏว่าปรินิพพานเสียแล้ว [๑๐๔๙] เวลานั้น(เรา)ได้มีความสะพรึงกลัว และขนพองสยองเกล้า ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระคุณอย่างประเสริฐ โดยอาการทั้งปวง เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว @เชิงอรรถ : @ ความกำหนดหมายในความใคร่ @ ความกำหนดหมายในความโกรธ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต]

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต

(พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายเมื่อจะสรรเสริญพระอานนทเถระ จึงได้ กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๐๕๐] พระอานนทเถระ เป็นพหูสูต ทรงธรรม รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของชาวโลกทั้งมวล ปรินิพพานเสียแล้ว [๑๐๕๑] พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของชาวโลกทั้งมวล กำจัดความมืดในโลกที่มืดมนได้ [๑๐๕๒] พระอานนทเถระ มีคติ๑- มีสติ มีธิติ๒- แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ และทรงพระสัทธรรมไว้ ได้เป็นบ่อเกิดรัตนะ๓- (พระอานนทเถระก่อนจะปรินิพพาน ได้กล่าวภาษิตสุดท้ายว่า) [๑๐๕๓] เราได้ปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปลงภาระที่หนักเสียได้ บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
ติงสนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระปุสสเถระ ๒. พระสารีบุตรเถระ ๓. พระอานนทเถระ ในติงสนิบาตนี้ มีพระเถระที่ระบุไว้ ๓ รูป และมี ๑๐๕ ภาษิต ฉะนี้แล @เชิงอรรถ : @ ญาณคือความหยั่งรู้ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑) @ ปัญญาเครื่องทรงจำ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑) @ พระสัทธรรม (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๑๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๕๐๖-๕๑๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=26&siri=397              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=8134&Z=8214                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=397              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=397&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=10494              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=397&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=10494                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.17.03.olen.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.17.03.hekh.html https://suttacentral.net/thag17.3/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :