ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
ว่าด้วยท้าวสักกะลักเหง้าบัวเพื่อลองใจฤๅษี
(อุปกัญจนดาบสสาบานว่า) [๗๘] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอผู้นั้นจงได้ม้า โค เงิน ทอง และภรรยาที่น่าพอใจในโลกนี้ และจงเป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยบุตรภรรยามากหลาย (ดาบสผู้น้องชายคนที่ ๒ เมื่อจะชำระตนให้หมดจด จึงสาบานว่า) [๗๙] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอผู้นั้นจงทัดทรงระเบียบดอกไม้ นุ่งห่มผ้าแคว้นกาสี ลูบไล้จุรณแก่นจันทน์ และเขาจงมีบุตรมากๆ อนึ่ง จงทำความเยื่อใยอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต]

๕. ภิสชาดก (๔๘๘)

(ดาบสน้องชายที่เหลือต่างกล่าวสาบานว่า) [๘๐] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ผู้นั้นเป็นกสิกร จงมีข้าวเปลือกมากมาย เป็นคฤหัสถ์ จงมียศ มีบุตรมากหลาย มีทรัพย์ มีวัตถุที่น่าใคร่ทั้งปวง อย่าได้เห็นความเสื่อม อยู่ครองเรือนเถิด [๘๑] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอผู้นั้นจงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เป็นพระราชายิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลาย ทรงมีพลัง ประกอบด้วยพระอิสริยยศ ทรงครอบครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตเถิด [๘๒] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ จงอย่าได้คลายความยินดี(ในตำแหน่ง) เชี่ยวชาญในคลองแห่งฤกษ์ยามและนักษัตร เจ้าผู้ครองแคว้นผู้ทรงยศ จงบูชาเขาเถิด [๘๓] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอชาวโลกทั้งปวงจงสำคัญผู้นั้นว่า เป็นครูสอนเวทมนต์ทุกชนิด มีตบะ ขอชาวชนบทจงมุ่งไปบูชาเขาพร้อมๆ กัน [๘๔] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอผู้นั้นจงเก็บกินบ้านส่วยที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ๑- เหมือนท้าววาสวะประทานให้ จงอย่าได้คลายความกำหนัดจนกระทั่งตาย @เชิงอรรถ : @ สมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) ด้วยผู้คน เพราะมีผู้คนคับคั่ง (๒) ด้วยข้าวเปลือก เพราะมี @ข้าวเปลือกมากมาย (๓) ด้วยฟืนที่หาได้ง่าย (๔) ด้วยน้ำ เพราะมีน้ำสมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๔/๒๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต]

๕. ภิสชาดก (๔๘๘)

[๘๕] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอผู้นั้นจงเป็นผู้ใหญ่บ้าน บันเทิงใจอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้องในท่ามกลางหมู่สหาย จงอย่าได้รับความพินาศอะไรๆ จากพระราชาเลย [๘๖] ท่านพราหมณ์ หญิงใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอองค์เอกอัครราชาทรงปราบปรามศัตรูทั่วพื้นปฐพี จงสถาปนาหญิงนั้นในตำแหน่งที่ยอดกว่าหญิงพันๆ คน และประเสริฐกว่าหญิงภายในขอบขัณฑสีมา [๘๗] ท่านพราหมณ์ หญิงใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอหญิงนั้นอย่าได้หวาดหวั่นท่ามกลางนางทาสีทั้งหลาย ที่มาประชุมพร้อมกัน พึงบริโภคของอร่อย จงประพฤติโอ้อวดเพราะลาภอยู่เถิด [๘๘] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอผู้นั้นจงเป็นผู้ปฏิบัติที่อยู่ในมหาวิหาร จงเป็นนักก่อสร้างในกชังคลนคร จงกระทำหน้าต่างตลอดวัน๑- [๘๙] ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอช้างเชือกนั้นจงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อยที่อวัยวะ ๖ แห่ง๒- จงถูกนำออกจากป่าอันน่ารื่นรมย์ไปยังราชธานี จงถูกขอสับ ถูกปฏักแทง [๙๐] ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป ขอลิงตัวนั้นจงสวมใส่พวงดอกรักขาว ถูกเจาะหู ห้อยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยเรียวไม้ เข้าไปใกล้ปากงู จงถูกล่ามโซ่ตระเวนเที่ยวไปตามตรอกเถิด @เชิงอรรถ : @ คำว่า ทำตลอดวัน ในที่นี้หมายถึงทำให้เสร็จภายในวันเดียวเท่านั้น (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๘/๒๙๕) @ อวัยวะ ๖ แห่ง คือ เท้าทั้ง ๔ คอ และสะเอว (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๙/๒๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต]

๕. ภิสชาดก (๔๘๘)

(พระโพธิสัตว์สาบานว่า) [๙๑] ผู้ใดแลกล่าวถึงสิ่งที่ไม่หายว่าหาย หรือว่าผู้ใดสงสัยใครๆ ก็ตาม ขอผู้นั้นจงได้ประสบและซ่องเสพกามทั้งหลาย ท่ามกลางเรือนจนกระทั่งตาย (ท้าวสักกะถามพระโพธิสัตว์ว่า) [๙๒] กามเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก และน่าพอใจ ของเทวดาและมนุษย์เป็นจำนวนมากในชีวโลกนี้ ที่สัตว์ทั้งหลายเที่ยวแสวงหาอยู่ในโลก ทำไมฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามทั้งหลาย (พระโพธิสัตว์แก้ปัญหาของท้าวสักกะว่า) [๙๓] เพราะกามทั้งหลายแล สัตว์ทั้งหลายย่อมฆ่ากัน และย่อมจองจำกัน เพราะกามทั้งหลายจึงเกิดทุกข์ เกิดภัย ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ เพราะกามทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจึงประมาท ทำกรรมชั่วเพราะโมหะ [๙๔] สัตว์เหล่านั้นผู้มีธรรมชั่วก็ประสบสิ่งที่ชั่ว เมื่อตายไปก็ตกนรก เพราะฉะนั้น ฤๅษีทั้งหลายเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงไม่สรรเสริญกามทั้งหลาย (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๙๕] โยมเมื่อจะทดลองฤๅษีทั้งหลาย จึงหยิบเอาเหง้าบัวซึ่งวางไว้ที่ริมฝั่งแล้วไปฝังไว้บนบก พระคุณเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย ฤๅษีทั้งหลายอยู่อย่างบริสุทธื์ ไม่มีผู้ชั่วช้า นี้เหง้าบัวของท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต]

๕. ภิสชาดก (๔๘๘)

(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า) [๙๖] ฤๅษีทั้งหลายไม่ใช่นักฟ้อนสำหรับพระองค์ และไม่ใช่บุคคลที่จะพึงล้อเล่น ไม่ใช่ญาติ และไม่ใช่สหายของพระองค์ ขอถวายพระพร ท้าวสหัสสนัยน์เทวราช อาศัยเหตุอะไร พระองค์จึงได้ล้อเล่นกับฤๅษีทั้งหลาย (ท้าวสักกะขอขมาพระโพธิสัตว์ว่า) [๙๗] ท่านพราหมณ์ ขอพระคุณเจ้าจงเป็นทั้งอาจารย์ และบิดาของโยม ข้อนี้ขอจงเป็นที่พึ่งแก่โยมผู้พลั้งพลาดไปแล้ว ท่านผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ขอท่านจงงดโทษสักครั้งหนึ่งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือโกรธ (พระโพธิสัตว์งดโทษต่อท้าวสักกะแล้วให้หมู่ฤๅษียกโทษให้ว่า) [๙๘] คืนเดียวที่พวกฤๅษีอยู่ในป่าก็นับว่าอยู่ดีแล้ว เพราะพวกเราได้เห็นท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ ขอพระคุณเจ้าทั้งปวงจงพอใจ เพราะพราหมณ์ได้เหง้าบัวคืนมา (พระศาสดาได้ตรัสคาถาประมวลชาดกว่า) [๙๙] ในกาลนั้น ตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะ และอานนท์ ทั้ง ๗ เป็นพี่น้องกัน [๑๐๐] ในกาลนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตราเป็นทาสี จิตตคหบดีเป็นทาส สาตาคิระเป็นยักษ์ [๑๐๑] ในกาลนั้น ปาลิเลยยะได้เป็นช้าง วานรที่ถวายน้ำผึ้งได้เป็นวานรตัวประเสริฐ กาฬุทายีได้เป็นท้าวสักกะ พวกเธอจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้
ภิสชาดกที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๓๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๔๓๕-๔๓๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=27&siri=488              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=27&A=7429&Z=7503                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1921              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=1921&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=5826              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=1921&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=5826                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja488/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :