ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)
ว่าด้วยพญาช้างฉัททันต์
(พระราชาตรัสว่า) [๙๗] พระน้องนางผู้มีเรือนร่างเหลืองอร่ามดุจทองคำ ผิวพรรณผุดผ่อง นัยนาก็แจ่มใสกว้างขวาง ไยเล่าจึงเศร้าโศก ซูบซีดไปดังดอกไม้ที่ถูกขยี้ (พระนางสุภัทรากราบทูลว่า) [๙๘] ขอเดชะพระมหาราช หม่อมฉันแพ้ครรภ์ หม่อมฉันฝันเห็นนิมิต จึงแพ้ครรภ์ชนิดที่หาได้ไม่ง่ายเลย (พระราชาตรัสว่า) [๙๙] สมบัติอันน่าใคร่ชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของมนุษย์ ในโลกที่น่าเพลิดเพลินนี้ ทั้งหมดนั้นจำนวนมากของพี่ พี่ขอมอบให้พระน้องนางตามที่แพ้พระครรภ์ (พระนางสุภัทรากราบทูลว่า) [๑๐๐] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ ขอนายพรานทุกจำพวก ที่มีอยู่ในแคว้นของเจ้าพี่จงมาประชุมพร้อมกัน หม่อมฉันจักบอกความแพ้ครรภ์ของหม่อมฉัน แก่พวกพรานเหล่านั้นว่าเป็นเช่นไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)

(พระราชาตรัสบอกพรานเหล่านั้นแก่พระราชเทวีว่า) [๑๐๑] พระเทวี นายพรานเหล่านี้ล้วนมีความชำนาญ แกล้วกล้า ชำนาญป่าและรู้จักเนื้อดี ยอมสละชีวิตเมื่อพี่ต้องการ (พระราชเทวีตรัสกับพรานทั้งหลายว่า) [๑๐๒] บุตรนายพรานทั้งหลาย พวกท่านเท่าที่มาประชุมกัน ณ ที่นี่ ขอจงฟังข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ฝันเห็นพญาช้างเผือก งามีรัศมี ๖ ประการ๑- ข้าพเจ้าต้องการงาของมัน เมื่อไม่ได้ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ (พวกบุตรนายพรานได้กราบทูลว่า) [๑๐๓] ขอเดชะพระราชบุตรี พญาช้างที่งามีรัศมี ๖ ประการซึ่งพระนางได้ทรงสุบินเห็น บิดาของพวกข้าพระองค์ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยิน ปู่ของพวกข้าพระองค์ก็ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยิน ขอพระนางโปรดบอกพวกข้าพระองค์มาเถิดว่า พญาช้างนั้นเป็นเช่นไร (บุตรนายพรานเหล่านั้นกราบทูลต่อไปว่า) [๑๐๔] ทิศใหญ่ ๔ ทิศ ทิศน้อย ๔ ทิศ ทิศเบื้องบน และทิศเบื้องล่าง ๑๐ ทิศเหล่านี้ พญาช้างที่งามีรัศมี ๖ ประการ ซึ่งพระนางได้ทรงสุบินเห็น อยู่ทิศไหน (พระนางสุภัทราราชเทวีทรงเหยียดพระหัตถ์ตรงไปยังป่าหิมพานต์ ตรัสว่า) [๑๐๕] จากนี้ตรงไปทิศอุดร ข้ามภูเขาสูงใหญ่ ๗ เทือก ภูเขานั้นสูงใหญ่ ชื่อว่าสุวรรณปัสสคีรี มีพันธุ์บุปผชาติบานสะพรั่ง มีหมู่กินนรสัญจรไม่ขาดสาย @เชิงอรรถ : @ รัศมี ๖ ประการ คือ (๑) นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน (๒) ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง (๓) โลหิตะ @แดงเหมือนตะวันอ่อน (๔) โอทาตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน (๕) มัญเชฏฐะ สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่ง @หรือดอกหงอนไก่ (๖) ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)

[๑๐๖] ท่านจงขึ้นไปยังเสลบรรพต ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่กินนร แล้วจงมองลงไปเบื้องล่างเชิงเขา ทันใดนั้นท่านจะเห็นพญาไทรมีสีสันงาม เสมอเหมือนเมฆมีย่านไทรห้อยย้อยอยู่ ๘,๐๐๐ ย่าน [๑๐๗] ณ ใต้ต้นไทรนั้นพญากุญชรงามีรัศมี ๖ ประการ อาศัยอยู่ ยากที่ใครอื่นจะข่มขี่ได้ พญาช้างเผือกปลอดนั้น มีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก มีงางอนงามเหมือนงอนรถ วิ่งไล่ประหารปัจจามิตรเร็วปานลมพัด แวดล้อมรักษาอยู่ [๑๐๘] ช้างเหล่านั้นยืนหายใจเข้าออกน่าหวาดกลัว โกรธแม้ต่อลมที่มากระทบ ก็ถ้าเห็นมนุษย์ในที่นั้นต้องขยี้ให้เป็นเถ้าธุลี แม้ละอองธุลีก็มิให้แตะต้องพญาช้างนั้น (ครั้นได้ฟังดังนั้น โสนุตตรพรานตกใจกลัวความตาย จึงกราบทูลว่า) [๑๐๙] ขอเดชะพระเทวีของข้าพระพุทธเจ้า เครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำ แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ในราชสกุลก็มีอยู่มากมาย พระแม่เจ้าจะกระทำอะไรกับเครื่องประดับที่ทำด้วยงาช้าง พระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะให้ฆ่าพญาช้างงามีรัศมี ๖ ประการ หรือจะให้พญาช้างฆ่าบุตรนายพรานกันแน่ พระเจ้าข้า (ลำดับนั้น พระราชเทวีตรัสว่า) [๑๑๐] พ่อพราน เรานั้นมีทั้งความริษยาทั้งความน้อยใจ เมื่อหวนระลึกถึงความหลังขึ้นมาก็ตรอมใจ ท่านจงช่วยทำตามความประสงค์ของเรานั้นด้วยเถิด พ่อพราน เราจะให้หมู่บ้านแก่ท่าน ๕ ตำบล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)

(โสนุตตรพรานนั้นรับพระเสาวนีย์แล้วทูลถามว่า) [๑๑๑] พญาช้างอาศัยอยู่ที่ไหน เข้าไปยืนอยู่ที่ไหน หนทางไหนเป็นหนทางที่พญาช้างเดินไปอาบน้ำ ก็พญาช้างนั้นอาบน้ำอย่างไร ไฉนเล่าข้าพระพุทธเจ้าจะรู้ความเป็นไปของพญาช้างได้ (พระราชเทวีตรัสบอกถึงสถานที่ซึ่งจะพบช้างเผือกได้ว่า) [๑๑๒] ณ สถานที่ที่พญาช้างอาศัยอยู่นั่นแล มีสระโบกขรณีอยู่ไม่ไกล น่ารื่นรมย์ มีท่าน้ำสวยงาม ทั้งมีน้ำมาก มีดอกปทุมบานสะพรั่ง มีหมู่ภมรคลุกเคล้าเกษรอยู่เป็นอาจิณ พญาช้างนั้นลงอาบน้ำในสระโบกขรณีนี้แหละ [๑๑๓] พญาช้างเผือกชำระศีรษะแล้ว ทัดดอกอุบล มีร่างกายผิวพรรณผุดผ่องขาวราวกะดอกบุณฑริก รื่นเริงบันเทิงใจให้พระนางสุภัทรามเหสีเดินนำหน้าไปยังที่อยู่ของตน (พระศาสดาเมื่อจะทรงขยายความให้แจ้ง จึงตรัสว่า) [๑๑๔] นายพรานนั้นรับพระเสาวนีย์ของพระนางที่ปราสาทชั้นที่ ๗ นั้นแหละแล้วจึงถือกระบอกลูกเกาทัณฑ์และธนูคันใหญ่ไป พิจารณาคีรีบรรพตใหญ่ทั้ง ๗ เทือก จึงเห็นคีรีบรรพตสูงใหญ่ชื่อว่าสุวรรณปัสสคีรี [๑๑๕] แล้วจึงขึ้นไปยังเสลบรรพตซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่กินนร มองลงไปเบื้องล่างเชิงเขา ได้เห็นพญาไทรมีสีสันงาม เสมอเหมือนเมฆ มีย่านไทรห้อยย้อยอยู่ ๘,๐๐๐ ย่าน [๑๑๖] ณ ใต้ต้นไทรนั้น เขาได้เห็นพญากุญชร งามีรัศมี ๖ ประการ ยากที่ใครอื่นจะข่มขี่ได้ พญาช้างเผือกนั้นมีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก มีงางอนงามเหมือนงอนรถ วิ่งไล่ประหารปัจจามิตรเร็วปานลมพัด แวดล้อมรักษาอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)

[๑๑๗] อนึ่ง เขาได้เห็นสระโบกขรณีอยู่ไม่ไกล น่ารื่นรมย์ มีท่าน้ำสวยงาม ทั้งมีน้ำมาก มีดอกปทุมบานสะพรั่ง มีหมู่ภมรคลุกเคล้าเกษรอยู่เป็นอาจิณ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พญาช้างนั้นลงอาบน้ำ [๑๑๘] ครั้นได้เห็นความเป็นไป การยืน และหนทางที่พญาช้างนั้นเดินไปอาบน้ำแล้ว นายพรานผู้ชั่วช้าถูกพระนางสุภัทราเทวี ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งจิตทรงใช้มา จึงได้ไปขุดหลุม [๑๑๙] นายพรานผู้มีนิสัยทำกรรมหยาบช้า ครั้นขุดหลุมแล้ว จึงปิดด้วยแผ่นไม้กระดาน แล้วหย่อนตัวลงไป จับธนูยิงพญาช้างที่เดินมาข้างหลุมด้วยลูกเกาทัณฑ์ใหญ่ [๑๒๐] ก็แหละพญาช้างพอถูกยิงก็บันลือร้องก้องโกญจนาท ช้างทั้งหมดก็พากันบันลือเสียงอื้ออึง ต่างพากันวิ่งไปมารอบๆ ทั้ง ๘ ทิศ ทำหญ้าและไม้ให้แหลกเป็นจุรณ [๑๒๑] พญาช้างจับนายพรานนั้นด้วยหมายใจว่า เราจักฆ่ามัน ได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยแห่งฤๅษีทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ได้รับทุกขเวทนา ก็เกิดสัญญาขึ้นว่า บุคคลผู้ทรงธงชัยแห่งพระอรหันต์ สัตบุรุษไม่ควรฆ่า (พญาช้างกล่าวกับนายพรานนั้นว่า) [๑๒๒] ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดยังไม่หมดไป ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เลย [๑๒๓] ส่วนผู้ใดคลายกิเลสดุจน้ำฝาดได้แล้ว ตั้งมั่นด้วยดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)

(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๒๔] พญาช้างถึงถูกยิงด้วยลูกเกาทัณฑ์ใหญ่แล้ว ก็ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย ได้กล่าวกับนายพรานว่า เพื่อนรัก เพื่อนต้องการอะไรหรือ เพราะอะไร เพื่อนจึงฆ่าเรา หรือว่าใครใช้เพื่อนมา (นายพรานกล่าวว่า) [๑๒๕] พญาช้างผู้เจริญ พระมเหสีของพระเจ้ากาสี พระนางทรงพระนามว่าสุภัทรา ได้รับการยกย่องบูชาในราชสกุล ก็พระนางได้ทรงสุบินนิมิตเห็นท่าน ได้ตรัสบอกข้าพเจ้า และได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า มีความต้องการงาทั้งคู่ (พญาช้างกล่าวว่า) [๑๒๖] ความจริงคู่งาของบิดาและของปู่เราที่สวยงามมีเป็นจำนวนมาก พระนางทราบดี แต่พระราชบุตรีมีนิสัยทรงกริ้ว เป็นคนพาล ต้องการที่จะฆ่าเรา จึงได้จองเวร [๑๒๗] ลุกขึ้นเถิด นายพราน ท่านจงจับเลื่อยตัดงาคู่นี้ก่อนที่เราจะตาย จงกราบทูลพระราชบุตรีผู้มีนิสัยทรงกริ้วพระองค์นั้นว่า พญาช้างถูกข้าพระพุทธเจ้าฆ่าตายแล้ว เชิญเถิด งาคู่นี้เป็นงาของพญาช้างนั้น พระเจ้าข้า (พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๒๘] นายพรานนั้นลุกขึ้นจับเลื่อย ตัดงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ แล้วจึงนำงาทั้งคู่ซึ่งมีความสวยงามหาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี รีบหลีกไปจากที่นั้นโดยเร็ว [๑๒๙] ช้างเหล่านั้นถูกภัยคุกคาม เป็นทุกข์เพราะพญาช้างถูกฆ่า ต่างพากันวิ่งไปมาทั้ง ๘ ทิศ ไม่เห็นคนผู้เป็นปัจจามิตรต่อพญาช้าง จึงได้กลับมาหาพญาช้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)

[๑๓๐] ช้างเหล่านั้นต่างคร่ำครวญร้องไห้อยู่ ณ ที่นั้น โปรยฝุ่นลงที่ศีรษะของตน ทั้งหมดให้นางช้างตัวประเสริฐกว่า ช้างทั้งหมดเดินนำหน้าแล้วพากันกลับไปสถานที่อยู่ของตน [๑๓๑] นายพรานนั้นนำงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ ซึ่งมีความสวยงามหาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี ส่องรัศมีเปล่งปลั่งดังสายรุ้งทอง สว่างไสวไปทั่วไพรสณฑ์ เข้าไปยังกรุงกาสี แล้วน้อมงาทั้งคู่เข้าไปถวายพระราชกัญญา กราบทูลว่า พญาช้างถูกข้าพระพุทธเจ้าฆ่าแล้ว งาคู่นี้เป็นงาของพญาช้างนั้น [๑๓๒] เพราะทอดพระเนตรเห็นงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ ซึ่งเป็นภัสดาที่รักในชาติปางก่อน พระหฤทัยของพระนางก็ได้แตกทำลาย ณ สถานที่นั้นนั่นเอง พระนางผู้เป็นคนพาลได้สวรรคตเพราะเหตุนั้นนั่นแหละ (พระเถระผู้สังคายนาพระธรรมเมื่อจะพรรณนาคุณของพระทศพล จึงได้กล่าวว่า) [๑๓๓] ก็พระบรมศาสดาทรงบรรลุสัมโพธิญาณ ทรงมีอานุภาพมาก ได้ทรงแย้มท่ามกลางบริษัท ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้วพากันกราบทูลว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้กระทำการแย้มให้ปรากฏ ในเพราะสิ่งมิใช่เหตุไม่ [๑๓๔] เธอทั้งหลายจงดูกุมารีสาวซึ่งครองผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติเป็นผู้ไม่ครองเรือน ภิกษุณีนั้นได้เป็นพระนางราชกัญญาในครั้งนั้น ส่วนตถาคตได้เป็นพญาช้างในครั้งนั้น [๑๓๕] นายพรานผู้นำงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ ซึ่งมีความสวยงามหาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี เข้าไปยังกรุงกาสีในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๕. สัมภวชาดก (๕๑๕)

[๑๓๖] พระพุทธเจ้าทรงปราศจากความกระวนกระวาย ความโศกและกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์เอง ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้อันเป็นของเก่า ที่ไม่รู้จักสาบสูญตราบเท่าดวงอาทิตย์ยังไม่ดับ ซึ่งพระองค์ได้ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน เป็นบุรพจริยาทั้งสูงและต่ำว่า [๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย โดยกาลนั้น เราตถาคตได้มีอยู่ที่สระฉัททันต์นั้น เราตถาคตได้เป็นพญาช้างตัวประเสริฐในกาลนั้น เธอทั้งหลายจงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้
ฉัททันตชาดกที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๕๔-๕๖๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=27&siri=514              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=27&A=9415&Z=9524                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2327              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2327&items=25              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=4638              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2327&items=25              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=4638                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja514/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :