ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)
ว่าด้วยเทวดาชื่อคันธตินทุกะ
(พระโพธิสัตว์ครั้งเกิดเป็นรุกขเทวดาชื่อคันธตินทุกะ แสดงธรรมถวายพระราชาว่า) [๓๓๒] ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)

[๓๓๓] ความประมาทเกิดจากความมัวเมา ความเสื่อมเกิดจากความประมาท และเพราะความเสื่อมจึงเกิดการประทุษร้าย ท่านพระรตูสภะ ขอพระองค์อย่าได้ประมาทเลย [๓๓๔] แท้จริง กษัตริย์ทั้งหลายผู้ประมาทจำนวนมาก ย่อมเสื่อมทั้งประโยชน์ทั้งแคว้น แม้นายบ้านและลูกบ้านก็เสื่อม แม้บรรพชิตและคฤหัสถ์ก็เสื่อม [๓๓๕] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญ โภคะทั้งปวงในแคว้นของกษัตริย์ผู้ประมาทแล้วย่อมพินาศ ข้อนั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา [๓๓๖] ขอเดชะพระมหาราช นั่นหาใช่ธรรมไม่ พระองค์ทรงประมาทเกินขอบเขต พวกโจรจึงปล้นทำลายชนบทที่มั่งคั่งสมบูรณ์ [๓๓๗] พระราชบุตรผู้จะสืบสันตติวงศ์จักไม่มี ทรัพย์สินเงินทองจักไม่มี พระนครก็จักไม่มี เมื่อแคว้นถูกปล้นสะดม พระองค์ก็จะเสื่อมจากโภคะทั้งปวง [๓๓๘] พระญาติ มิตร และพระสหายย่อมไม่นับถือพระองค์ผู้เป็น กษัตริย์ซึ่งเสื่อมจากโภคะทั้งปวงในทางพระปรีชาสามารถ [๓๓๙] พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้าซึ่งอาศัยพระองค์เลี้ยงชีพ ย่อมไม่นับถือพระองค์ว่า เป็นพระราชาผู้ควรนับถือ [๓๔๐] สิริย่อมละคนโง่ผู้ไม่จัดแจงการงาน มีความคิดเลวทราม มีปัญญาทรามไปเหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้ง [๓๔๑] กษัตริย์ผู้ทรงจัดแจงการงานดี ทรงขยันตลอดกาล ไม่เกียจคร้าน โภคะทั้งปวงย่อมเจริญโดยยิ่ง เหมือนฝูงโคที่มีโคอุสภะเป็นจ่าฝูง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)

[๓๔๒] ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์ทรงเสด็จไป สดับตรับฟังเหตุการณ์ทั้งในแคว้นและชนบท ครั้นได้ทอดพระเนตรและสดับแล้ว พึงปฏิบัติไปตามนั้น (ชายแก่ชาวบ้านถูกหนามตำเท้าที่ประตูเรือน จึงนั่งกระโหย่งบ่งหนาม พลางด่าพระราชาว่า) [๓๔๓] ขอให้พระเจ้าปัญจาละจงถูกลูกศรเสียบแทงในสงคราม เสวยทุกขเวทนาเหมือนตัวข้าถูกหนามตำเสวยทุกขเวทนาในวันนี้ (พอราชปุโรหิตได้ยินคำด่าของชายแก่ จึงถามว่า) [๓๔๔] ลุงแก่แล้ว หูตามืดมัว มองเห็นไม่ชัด หนามจึงตำ ในข้อนี้ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอะไรด้วยเล่า (ชายแก่ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๓๔๕] ท่านพราหมณ์ ในข้อที่ข้าพเจ้าถูกหนามตำ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอย่างมาก เพราะพระองค์มิได้พิทักษ์คุ้มครอง ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม [๓๔๖] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่ ในแคว้นของพระราชาโกง คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก [๓๔๗] เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น พราหมณ์ พวกมาณพที่กลัวภัยจึงนำหนามในป่ามาแล้วสร้างที่หลบเร้น (หญิงชราผู้เก็บผักหักฟืนจากป่ามาเลี้ยงลูกสาวขึ้นพุ่มไม้ กำลังเก็บผักอยู่ พลัดตกลงมา เมื่อจะด่าพระราชาโดยแช่งให้ตาย จึงกล่าวว่า) [๓๔๘] ในแคว้นของพระเจ้าพรหมทัต หญิงสาวหาผัวไม่ได้ แก่ลงไป เมื่อไรหนอ พระเจ้าพรหมทัตจักสวรรคตเสียที {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)

(เมื่อราชปุโรหิตจะคัดค้านนาง จึงกล่าวว่า) [๓๔๙] แม่หญิงชั่วช้า ไม่เข้าใจเหตุผล เธอนะพูดไม่ดีเลย พระราชาเคยหาผัวให้พวกหญิงสาวที่ไหนกัน (หญิงชราได้ยินดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๓๕๐] ท่านพราหมณ์ ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าพูดไม่ดี ข้าพเจ้าเข้าใจเหตุผล เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้พิทักษ์คุ้มครอง ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม [๓๕๑] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่ ในแคว้นของพระราชาโกง คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก เมื่อความเป็นอยู่ลำบาก ภรรยาก็เลี้ยงได้ยาก ที่ไหนหญิงสาวจะมีสามีได้เล่า (เมื่อชาวนากำลังไถนา โคชื่อสาลิยะถูกผาลบาดล้มลง เขาเมื่อจะด่า พระราชาจึงกล่าวว่า) [๓๕๒] ขอให้พระเจ้าปัญจาละถูกหอกแทงล้มนอนกลิ้งในสงคราม เหมือนโคพลิพัทท์สาลิยะผู้น่าสงสารถูกผาลบาดล้มนอนกลิ้งอยู่ (เมื่อราชปุโรหิตจะคัดค้านชาวนานั้น จึงกล่าวว่า) [๓๕๓] เจ้าคนชาติชั่ว เจ้านะโกรธพระเจ้าพรหมทัตอย่างไม่ถูกต้อง เจ้าทำร้ายโคของตนเอง กลับมาสาปแช่งพระราชา (ชาวนาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๓๕๔] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าโกรธพระเจ้าพรหมทัตโดยธรรม เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้พิทักษ์คุ้มครอง ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม [๓๕๕] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่ ในแคว้นของพระราชาโกง คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)

[๓๕๖] แม่ครัวคงหุงใหม่แน่นอน จึงนำอาหารมาสาย ข้าพเจ้ามัวแลดูคนนำอาหารมา โคสาลิยะจึงถูกผาลบาด (คนรีดนมโคถูกแม่โคดีดล้มกลิ้งไปพร้อมกับนมสด เมื่อจะด่าพระราชา จึงกล่าวว่า) [๓๕๗] ขอพระเจ้าปัญจาละจงถูกฟันด้วยดาบเดือดร้อนอยู่ในสงคราม เหมือนเราถูกแม่โคนมดีดจนน้ำนมของเรากลิ้งหกในวันนี้ (ราชปุโรหิตกล่าวว่า) [๓๕๘] สัตว์เลี้ยงหลั่งน้ำนมทิ้งเอง เบียดเบียนคนเลี้ยงสัตว์เอง ในข้อนี้ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอะไรด้วยเล่า ท่านผู้เจริญไม่น่าจะติเตียนพระองค์ท่านเลย (เมื่อราชปุโรหิตกล่าวจบลง คนรีดนมได้กล่าวว่า) [๓๕๙] ท่านพราหมณ์ พระเจ้าปัญจาละควรจะถูกติเตียน เพราะพระเจ้าพรหมทัตไม่พิทักษ์คุ้มครอง ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม [๓๖๐] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่ ในแคว้นของพระราชาโกง คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก [๓๖๑] แม่โคตัวดุร้าย ปราดเปรียว เมื่อก่อนพวกเรามิได้รีดนมมัน บัดนี้ พวกเราถูกเจ้าหน้าที่ต้องการน้ำนมรบกวน จึงต้องรีดนมมันในวันนี้ (พวกเด็กชาวบ้านเห็นแม่โคนมที่ลูกถูกฆ่าไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำ เพียรร่ำร้อง หาลูกอยู่ เมื่อจะพากันด่าพระราชา จึงกล่าวว่า) [๓๖๒] ขอพระเจ้าปัญจาละจงพลัดพรากจากพระราชบุตร คร่ำครวญหม่นหมองเหมือนแม่โคผู้น่าสงสารตัวนี้ พลัดพรากจากลูกวิ่งพล่านคร่ำครวญอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)

(ลำดับนั้น ปุโรหิตกล่าวว่า) [๓๖๓] สัตว์เลี้ยงของคนเลี้ยงสัตว์พึงวิ่งไปมาหรือร้องคร่ำครวญ ในข้อนี้ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอะไรด้วยเล่า (ลำดับนั้น พวกเด็กชาวบ้านกล่าวว่า) [๓๖๔] ท่านพราหมณ์ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิด เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้พิทักษ์คุ้มครอง ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม [๓๖๕] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่ ในแคว้นของพระราชาโกง คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก ลูกโคที่ยังดื่มนมจึงถูกฆ่าเพราะต้องการหนังทำฝักดาบ (พระโพธิสัตว์บันดาลให้กบแช่งด่าพระราชาว่า) [๓๖๖] ขอพระเจ้าปัญจาละพร้อมทั้งพระโอรสจงถูกฆ่ากิน ในสนามรบเหมือนเราซึ่งเกิดในป่าถูกกาบ้านฆ่ากินในวันนี้ (ราชปุโรหิตได้ฟังดังนั้น จึงสนทนากับกบว่า) [๓๖๗] เจ้ากบ พระราชาทั้งหลายในมนุษยโลก จะจัดการพิทักษ์รักษาเหล่าสัตว์ทั้งปวงหาได้ไม่ พระราชาจะจัดว่าเป็นอธรรมจารีบุคคล เพราะเหตุเพียงกากินสัตว์เช่นท่านหามิได้ (กบได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า) [๓๖๘] ท่านเป็นพรหมจารีบุคคลผู้ไม่มีธรรม จึงกล่าวยกย่องกษัตริย์ เมื่อประชากรจำนวนมากถูกปล้นอยู่ ท่านก็ยังบูชาพระราชาผู้เลอะเลือนอยู่ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐) รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้

[๓๖๙] ท่านพราหมณ์ ถ้าแคว้นนี้พึงมีพระราชาที่ดีไซร้ ก็จะมั่งคั่ง เบ่งบาน ผ่องใส ฝูงกาก็จะได้กินก้อนข้าวที่ดีซึ่งเป็นพลีกรรม ไม่พึงกินสัตว์เช่นเราเลย
คันธตินทุกชาดกที่ ๑๐ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. กิงฉันทชาดก ๒. กุมภชาดก ๓. ชยัททิสชาดก ๔. ฉัททันตชาดก ๕. สัมภวชาดก ๖. มหากปิชาดก ๗. ทกรักขสชาดก ๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก ๙. สัมพุลาชาดก ๑๐. คันธตินทุกชาดก
ติงสตินิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๘๘-๕๙๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=27&siri=520              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=27&A=9984&Z=10074                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2419              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2419&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=6515              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2419&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=6515                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja520/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :