ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)
ว่าด้วยนกดุเหว่า
เล่ากันมาอย่างนี้ ได้ฟังตามกันมาอย่างนี้ว่า ที่ประเทศหิมพานต์อันทรงไว้ซึ่ง แผ่นดินมีโอสถทุกชนิด ดารดาษไปด้วยดอกไม้และพวงดอกไม้มากมายหลายชนิด เป็นที่สัญจรไปมาแห่งช้าง โคลาน กระบือ กวาง จามรี เนื้อฟาน แรด ระมาด สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า เสือดาว นาก ชะมด เสือปลา กระต่าย วัวกระทิง เป็นที่อาศัยแห่งโขลงช้างใหญ่และช้างพลายตระกูลมหานาค เกลื่อนกล่น อยู่ทั่วปริมณฑลอันราบเรียบ มีค่าง ลิง อีเห็น ละมั่ง เนื้อสมัน อีเก้ง ยักษิณี หน้าลา กินนร ยักษ์ และรากษสอาศัยอยู่ร่วมกัน ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้มากมาย หลายพันธุ์มีทั้งดอกยังตูม ทั้งกำลังออกช่อ ทั้งดอกที่บานสะพรั่ง และดอกที่บาน ตลอดยอด มีฝูงนกเขา นกโพระดก นกหัสดีลิงค์ นกยูง นกดุเหว่า นกยาง นกกระสา ส่งเสียงร้องกึกก้องระงมไพร เป็นภูมิประเทศประดับแน่นไปด้วยแร่ธาตุหลายร้อย ชนิดเป็นต้นว่าอัญชัน มโนศิลา หรดาล มหาหิงคุ์ ทอง เงิน และทองคำ ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าตัวหนึ่งชื่อ กุณาละ อาศัยอยู่ เป็นนกที่สวยงาม มีขนและปีกงดงามยิ่งนัก ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า นกดุเหว่าตัวนั้นมีนางนกดุเหว่าเป็นนางบำเรอ ถึง ๓,๕๐๐ ตัว ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่า ๒ ตัวใช้ ปากคาบท่อนไม้ให้นกกุณาละนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนนกกุณาละนั้นเลย” นาง นกดุเหว่า ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้านกกุณาละนี้พลัดตกจากคอน พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้” นางนก ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผานก กุณาละนั้นเลย” นางนกฝูงละ ๕๐๐ ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่า ได้ถูกต้องนกกุณาละนั้นเลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

นางนก ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้ ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวด ทำร้ายนก กุณาละนั้นเลย นกกุณาละนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย” นางนก ๕๐๐ ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้เงียบเหงาอยู่บนคอนเลย” นางนก ๕๐๐ ตัวพากันบินไปยังทิศต่างๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่างๆ จากต้นไม้ หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย” ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่าเหล่านั้นพาเอานกกุณาละ นั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่าน้ำไปยังท่าน้ำ จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวนต้นหว้าไปยัง สวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวนมะพร้าวไปยัง สวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นกกุณาละผู้มีนางนกเหล่านั้น ห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน ก็ยังด่าอย่างนี้ว่า “ถอยออกไป พวกเจ้าอีนกถ่อย พวกเจ้า จงฉิบหาย อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตน เองเหมือนลม๑-” ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ด้านทิศตะวันออกแห่งภูเขาหิมพานต์ นั้นแล มีแม่น้ำที่เกิดแต่ภูเขาอันสุขุมละเอียดอ่อน มีสีเขียว ไหลบ่าออกมา เป็น @เชิงอรรถ : @ ถ่อย หมายถึงชั่ว เลว ทราม โจร ในที่นี้หมายถึงเป็นตัวล้างผลาญทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นในเรือน @นักเลง ในที่นี้หมายถึงเป็นสัตว์มีมายามาก เผอเรอ หมายถึงเสียสติ ใจเบา หมายถึงมีใจไม่มั่นคง @เนรคุณคน ในที่นี้หมายถึงเป็นส้ตว์ก่อความพินาศ เพราะประทุษร้ายมิตร ตามใจตนเองเหมือนลม @หมายถึงไปตามชอบใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

ภูมิประเทศที่สมควรรื่นรมย์ใจ ชื่นใจ ด้วยกลิ่นหอมแห่งดอกอุบล ดอกปทุม ดอกโกมุท ดอกบัวขาว ดอกสัตบุศย์ ดอกจงกลนี และดอกบัวเผื่อน ซึ่งงอกงามขึ้นในบัดนั้น เป็นดังป่าหมู่ไม้นานาพันธุ์ คือ ต้นโกฐคำ ต้นจิก ต้นลำเจียก ต้นย่านทราย ต้นอ้อยช้าง ต้นบุนนาค ต้นพิกุล ต้นหมากหอม ต้นประดู่ ต้นขมิ้น ต้นรัง ต้นสน ต้นจำปา ต้นอโศก ต้นกากะทิง ต้นหงอนไก่ ต้นเสม็ด ต้นโลดทะนง และต้น จันทน์แดง เป็นป่าชัฏที่ดาษดื่นไปด้วยต้นกฤษณาดำ ต้นบัวบก ต้นประยงค์ ต้น เทพพารุ และต้นกล้วย เป็นภูมิภาคที่สะพรั่งไปด้วยพวงช่อดอกไม้แห่งต้นรกฟ้า ต้นอัญชัน ต้นปรู ต้นสัก ต้นคนทีสอ ต้นกรรณิการ์ ต้นหางช้าง ต้นคัดเค้า ต้นทองหลาง ต้นทองกวาว ต้นโยธกา ต้นมะลิป่า ต้นหงอนไก่ อันปราศจากมลทิน ไม่มีโทษ และต้นขานางอันสวยงามยิ่ง อันดารดาษไปด้วยพุ่มและกอแห่งต้นมะลิซ้อน ต้นนมแมว ต้นแคธนู ต้นเปราะหอม ต้นกฤษณา และต้นแฝกหอม เป็นประเทศ ที่ดารดาษประดับไปด้วยเครือเถาดอกไม้ที่เบ่งบานสวยงามน่าพอใจยิ่งนัก มีฝูงหงส์ นกนางนวล นกกาน้ำ และนกเป็ดน้ำส่งเสียงกึกก้องร้องระงม เป็นที่สถิตอยู่แห่ง หมู่วิทยาธร นักสิทธิ์ สมณะ และดาบส เป็นประเทศที่สัญจรไปมาเป็นอาจิณแห่ง หมู่เทพยดา ยักษ์ รากษส ทานพ คนธรรพ์ กินนร และพญานาค ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนก ดุเหว่าขาวอีกตัวหนึ่งชื่อปุณณมุขะ อาศัยอยู่ มีสำเนียงไพเราะยิ่งนัก มีนัยน์ตางดงาม มีดวงตาแดงเหมือนคนเมา ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นแลมีนางนก เป็นบริวาร ๓๕๐ ตัว ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนก ๒ ตัวใช้ปากคาบท่อนไม้ให้ ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความเหน็ด เหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย” นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้าปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ พลัดตกจากคอน พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้” นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผา ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

นางนกฝูงละ ๕๐ ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่าได้ ถูกต้องปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย” นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้ ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวดทำร้าย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย” นางนก ๕๐ ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ อย่าเงียบเหงาอยู่ บนคอนเลย” นางนก ๕๐ ตัวพากันบินไปยังทิศต่างๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่างๆ จากต้นไม้ หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้อย่าได้ลำบากเพราะความ หิวเลย” ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกเหล่านั้นพาเอาปุณณมุขนก ดุเหว่าขาวนั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่า น้ำไปยังท่าน้ำ จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวน ต้นหว้าไปยังสวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวน มะพร้าวไปยังสวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวผู้มีนางนก เหล่านั้นห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน จึงสรรเสริญอย่างนี้ว่า “ดีละ ดีละ แม่น้องหญิง ทั้งหลาย การที่พวกเธอพึงปฏิบัติบำเรอภัสดา นั่นเป็นการสมควรแก่เธอทั้งหลาย ผู้เป็นกุลธิดา” ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ในกาลต่อมา ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้เข้า ไปหาพญานกกุณาละจนถึงที่อยู่ พวกนางนกผู้เป็นนางบำเรอของพญานกกุณาละ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

ได้เห็นปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นกำลังบินมาแต่ไกล จึงพากันเข้าไปหาแล้ว กล่าวว่า นกปุณณมุขะเพื่อนรัก นกกุณาละตัวนี้เป็นนกหยาบช้า มีวาจาหยาบ คายเหลือเกิน ไฉนพวกข้าพเจ้าจะพึงได้วาจาอันน่ารักเพราะอาศัยท่านบ้าง นก ปุณณมุขะจึงกล่าวตอบว่า “บางทีจะได้บ้าง น้องหญิงทั้งหลาย” แล้วจึงเข้าไปหา นกกุณาละจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัมโมทนียกถากับนกกุณาละแล้ว จับอยู่ ณ ที่สมควร ครั้นแล้วปุณณมุขนกดุเหว่าขาว จึงได้กล่าวกับนกกุณาละนั้นว่า กุณาละเพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุไร เพื่อนจึงปฏิบัติอย่างผิดๆ ต่อนางนกผู้มีชาติเสมอกัน เป็นกุลธิดาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเล่า กุณาละเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลาย แม้จะพูดถ้อยคำที่ไม่น่าพอใจ บุคคลก็ควรจะพูดถ้อยคำที่น่าพอใจแก่พวกเธอ จะ กล่าวไปไยถึงพวกหญิงที่พูดถ้อยคำที่น่าพอใจเล่า” เมื่อนกปุณณมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว นกกุณาละได้รุกรานปุณณมุขนกดุเหว่าขาว นั้นอย่างนี้ว่า “จงฉิบหาย จงพินาศเสียเถิดเจ้า เจ้าเพื่อนลามก เจ้าเพื่อนถ่อย จะมีใครที่ฉลาดเหมือนผู้ปราบเมียได้เล่า” ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวถูกรุกรานอย่างนี้แล้วจึงได้กลับจากที่นั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า โดยสมัยอื่นต่อมา โดยการล่วงไปไม่นานนัก ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้เกิดความไม่สบายอย่างหนักขึ้น ถ่ายเป็นเลือด เกิดเวทนา กล้าแข็งปางตาย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกทั้งหลายผู้เป็นนางบำเรอของ ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ไม่สบาย หนักนัก ไฉนจะพึงหายจากความไม่สบายนี้ได้ จึงพากันละทิ้งไว้ตัวเดียวไม่มีเพื่อน แล้วเข้าไปหานกกุณาละจนถึงที่อยู่ นกกุณาละได้เห็นนางนกเหล่านั้นกำลังโผบินมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับนางนก เหล่านั้นอย่างนี้ว่า “นางนกถ่อยทั้งหลาย ผัวของพวกเจ้าไปไหนเสียเล่า” “กุณาละเพื่อนเอ๋ย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวไม่สบายหนักนัก ไฉนจะพึงหาย จากความไม่สบายนั้นได้เล่า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

เมื่อนางนกเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นกกุณาละได้รุกรานนางนกเหล่านั้น อย่างนี้ว่า “อีนกถ่อย พวกเจ้าจงฉิบหาย จงพินาศ อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตนเองเหมือนลม” ครั้นกล่าวแล้วจึงได้เข้าไปหา ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกับปุณณมุขนก ดุเหว่าขาวตัวนั้นอย่างนี้ว่า “ยังอยู่ดีหรือ ปุณณมุขะเพื่อน” “ยังอยู่ดี กุณาละเพื่อน” ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ลำดับนั้น นกกุณาละได้ใช้ปีกทั้ง ๒ และจะงอย ปากประคองให้ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นลุกขึ้นแล้วกรอกเภสัชต่างๆ ให้ดื่ม ได้ยินว่า ครั้งนั้น ความไม่สบายของปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นก็ระงับไป แล้วแล ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ลำดับนั้น นกกุณาละได้กล่าวกับปุณณมุข นกดุเหว่าขาวตัวหายจากไข้ซึ่งหายจากความป่วยไข้ไม่นานนั้นอย่างนี้ว่า “เราได้เห็นมา แล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย เราได้เห็นนางกัณหา มีบิดา ๒ คน๑- มีผัว ๕ คน๒- ยังมี จิตปฏิพัทธ์ในชายคนที่ ๖ ซึ่งเป็นคนเปลี้ย เหมือนผีหัวขาด ก็แลในเรื่องนี้ ยังมี คำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า [๒๙๐] ครั้งนั้น นางล่วงละเมิด (นอกใจ) สามีทั้ง ๕ คน เหล่านี้ คือ ๑. ท้าวอัชชุนะ๓- ๒. ท้าวนกุละ ๓. ท้าวภีมเสน ๔. ท้าวยุธิฏฐิละ ๕. ท้าวสหเทพ แล้วได้กระทำลามกกับชายเตี้ยค่อม @เชิงอรรถ : @ มีบิดา ๒ คน คือพระเจ้ากาสีและพระเจ้าโกศล พระเจ้ากาสีรบชนะพระเจ้าโกศล ได้ราชสมบัติและมเหสี @ผู้ทรงครรภ์มาด้วย พระองค์ได้ตั้งพระมเหสีนั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ต่อมา พระนางประสูติพระ @ราชธิดาให้ชื่อว่า กัณหา (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๕๐-๓๕๑) @ มีผัว ๕ คน คือ ท้าวอัชชุนะเป็นต้น พระราชกุมารทั้ง ๕ เป็นโอรสของพระเจ้าปัณฑุราช จบการศึกษา @จากเมืองตักกสิลา เดินทางผ่านมาทางเมืองพาราณสี ถูกพระราชธิดากัณหาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกเป็น @พระสวามีทั้ง ๕ พระองค์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๕๑) @ ท้าวอัชชุนะ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย นางสมณีชื่อปัญจตปาวี อาศัยอยู่ ท่ามกลางป่าช้า ยังพรตคือการอดอาหาร ๔ วันแล้วจึงจะบริโภคให้ผันแปรไป ได้กระทำลามกกับนักเลงสุรา๑- เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย พระเทวีนามว่ากากวดี อยู่ ณ ท่าม กลางมหาสมุทร เป็นภรรยาของพญาครุฑนามว่าเวนเตยยะ๒- ได้กระทำลามกกับ คนธรรพ์นามว่านฏกุเวร เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย เจ้าหญิงขนงามนามว่ากุรุงคเทวี ผู้ทำให้เอฬิกกุมาร๓- มีความรักใคร่ ได้กระทำลามกกับฉฬังคกุมารเสนาบดีและ ธนันเตวาสี ความจริง เรื่องนั้นเราได้รู้มาอย่างนี้ พระมารดาของพระเจ้าพรหมทัตทรง ทอดทิ้งพระเจ้าโกศลแล้วได้ทรงกระทำลามกกับปัญจาลจัณฑพราหมณ์๔- [๒๙๑] หญิงทั้ง ๕ คนเหล่านี้ก็ดี หญิงเหล่าอื่นก็ดี ได้กระทำกรรมอันลามกแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจ ไม่สรรเสริญหญิงทั้งหลาย แผ่นดินคือภูมิเป็นที่เป็นไปแห่งเหล่าสัตว์ อันทรงไว้ซึ่งรัตนะต่างๆ เป็นที่รองรับทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี มีความยินดีเสมอกัน ทนทานได้ทุกอย่าง ไม่ดิ้นรน ไม่โกรธ ฉันใด หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรวางใจหญิงทั้งหลายเหล่านั้น @เชิงอรรถ : @ นักเลงสุรา เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๕๖) @ พญาครุฑ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับกากวตีชาดก ชาดกที่ ๓๒๗ ใน @จตุกกนิบาต (เล่ม ๒๗/๑๐๕/๑๐๙) (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๕๖) @ เอฬิกกุมาร เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๕๙) @ ปัญจาลจัณฑพราหมณ์ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๖๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๒๙๒] สิงโตซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย กินเลือดและเนื้อเป็นอาหาร มีอาวุธ ๕ อย่าง๑- เป็นสัตว์หยาบช้า ชอบในการเบียดเบียนสัตว์อื่น ข่มขี่สัตว์ทั้งหลายกินฉันใด หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน๒- เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรวางใจหญิงทั้งหลายเหล่านั้น ปุณณมุขะผู้สหาย นัยว่า หญิงทั้งหลายไม่ใช่หญิงแพศยา ไม่ใช่หญิงงามเมือง ไม่ใช่หญิงคณิกา เพราะหญิงเหล่านั้นจะชื่อว่าเป็นหญิงบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ที่แท้ หญิง เหล่านี้เป็นหญิงเพชฌฆาต หญิงทั้งหลายโพกผมเหมือนพวกโจร มีพิษร้ายเหมือนสุราเจือยาพิษ พูด โอ้อวดเหมือนพ่อค้า กลับกลอกบิดพลิ้วเหมือนนอแรด ลิ้นมีสองแฉกเหมือนงู ปกปิดความชั่วเหมือนหลุมคูถ ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล ให้ยินดีได้ยากเหมือน นางรากษส นำไปส่วนเดียวเหมือนพญายม กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพา ไปทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตามใจตนเองเหมือนลม ไม่กระทำอะไรให้วิเศษ เหมือนภูเขาสิเนรุ ผลิตผลอยู่เป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ ก็ในเรื่องนี้ยังมีคำกล่าว เป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า [๒๙๓] หญิงทั้งหลายเหมือนโจร เหมือนสุรามีพิษร้าย พูดโอ้อวดเหมือนพ่อค้า กลับกลอกบิดพลิ้วเหมือนนอแรด มีลิ้นสองแฉกเหมือนงู [๒๙๔] ปกปิดความชั่วเหมือนหลุมคูถ ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล ให้ยินดีได้ยากเหมือนนางรากษส นำไปส่วนเดียวเหมือนพญายม @เชิงอรรถ : @ อาวุธ ๕ อย่าง ได้แก่ ปาก ๑ และเท้าทั้ง ๔ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๒/๓๖๑) @ หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมายถึงใช้อาวุธ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส @จับบุรุษให้อยู่ในอำนาจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๒/๓๖๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๒๙๕] กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพาไปเหมือนแม่น้ำ มีความประพฤติตามขอบเขตแห่งความใคร่เหมือนลม ไม่มีความวิเศษอะไรเหมือนภูเขาสิเนรุ ผลิตผลอยู่เป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ หญิงทั้งหลายมักกระทำอันตรายแก่รัตนะทั้งหลาย ยังโภคสมบัติในเรือนให้พินาศ ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ทรัพย์ ๔ อย่างเหล่านี้บัณฑิตไม่ควรให้อยู่ในสกุลอื่น คือ ๑. โคผู้ ๒. แม่โคนม ๓. ยานพาหนะ ๔. ภรรยา บัณฑิตไม่ควรให้ทรัพย์ทั้ง ๔ อย่างเหล่านี้พลัดพรากไปจากเรือน [๒๙๖] ๑. โคผู้ ๒. แม่โคนม ๓. ยานพาหนะ ๔. ภรรยา บัณฑิตไม่ควรให้อยู่ในสกุลแห่งญาติ เพราะญาติทั้งหลายผู้ไม่มียานพาหนะจะใช้สอยรถ จะฆ่าโคตัวผู้เพราะการใช้ลากเข็นจนเกินกำลัง จะฆ่าลูกโคเพราะการรีดนมโค และภรรยาจะประทุษร้าย (นอกใจ) ในสกุลแห่งญาติ ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ของ ๖ อย่างเหล่านี้ เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้นแล้ว ย่อมใช้ ประโยชน์อะไรไม่ได้ คือ [๒๙๗] ๑. ธนูไม่มีสาย ๒. ภรรยาอยู่ในสกุลแห่งญาติ ๓. เรืออยู่ฝั่งโน้น ๔. ยานเพลาหัก ๕. มิตรอยู่แดนไกล ๖. เพื่อนชั่ว เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้นแล้ว ย่อมใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ ๑. เพราะความเป็นคนจน ๒. เพราะความเป็นคนป่วยกระเสาะกระแสะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

๓. เพราะความเป็นคนแก่ชรา ๔. เพราะความเป็นนักเลงสุรา ๕. เพราะความเป็นคนโง่เซอะ ๖. เพราะความเป็นคนมัวเมาในกามคุณ ๗. เพราะคล้อยตามกิจการงานทั้งปวง ๘. เพราะหาทรัพย์ทั้งปวงเพิ่มเติมไม่ได้ ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการ เหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า [๒๙๘] หญิงย่อมดูหมิ่นสามี ๑. ผู้ยากจน ๒. ผู้ป่วยกระเสาะกระแสะ ๓. ผู้แก่ชรา ๔. ผู้เป็นนักเลงสุรา ๕. ผู้มัวเมาในกามคุณ ๖. ผู้เป็นคนโง่เซอะ ๗. ผู้โง่เขลาในกิจการงานทั้งปวง ๘. ผู้ย่อหย่อนเพราะหาทรัพย์ที่ให้ความใคร่ทั้งปวงเพิ่มเติมไม่ได้ ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีด้วยเหตุ ๙ ประการ คือ ๑. ไปสวนดอกไม้เป็นประจำ ๒. ไปอุทยานเป็นประจำ ๓. ไปท่าน้ำเป็นประจำ ๔. ไปตระกูลญาติเป็นประจำ ๕. ไปตระกูลคนอื่นเป็นประจำ ๖. ส่องกระจกและประกอบการตบแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าเป็นประจำ ๗. ชอบดื่มน้ำเมาเป็นประจำ ๘. เยื้องมองทางหน้าต่างเป็นประจำ ๙. ชอบยืนอวดทรวดทรงอยู่ที่ประตูเป็นประจำ ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีด้วย เหตุ ๙ ประการเหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๒๙๙] ก็หญิงใด ๑. ไปสวนดอกไม้ ๒. ไปอุทยาน ๓. ไปท่าน้ำ ๔. ไปตระกูลญาติ ๕. ไปตระกูลคนอื่นเป็นประจำ ๖. ส่องกระจกและประกอบการตบแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าเป็นประจำ ๗. ชอบดื่มน้ำเมาเป็นประจำ [๓๐๐] ๘. เยื้องมองทางหน้าต่างเป็นประจำ ๙. ชอบยืนอวดทรวดทรงอยู่ที่ประตูเป็นประจำ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามี ด้วยเหตุ ๙ ประการเหล่านี้ ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการ คือ ๑. บิดกาย ๒. ก้มลง ๓. เยื้องกราย ๔. ทำละอาย ๕. เอาเล็บถูกัน ๖. เอาเท้าเหยียบกัน ๗. เอาไม้ขีดแผ่นดิน ๘. ให้เด็กกระโดด ๙. เล่นเอง ให้เด็กเล่น ๑๐. จูบเด็ก ให้เด็กจูบ ๑๑. บริโภคเอง ให้เด็กบริโภค ๑๒. ให้ของเด็ก ๑๓. ขอของเด็ก ๑๔. ทำตามที่เด็กกระทำ ๑๕. ทำเสียงสูง ๑๖. ทำเสียงต่ำ ๑๗. พูดเปิดเผย ๑๘. พูดปกปิด ๑๙. ทำซิกซี้ด้วยการฟ้อนรำ ๒๐. ด้วยการขับร้อง ๒๑. ด้วยการประโคมดนตรี ๒๒. ด้วยการร้องไห้ ๒๓. ด้วยการกรีดกราย ๒๔. ด้วยการแต่งกาย ๒๕. จ้องมอง ๒๖. ส่ายสะเอว ๒๗. ส่ายของลับ ๒๘. เปิดขาอ่อน ๒๙. ปิดขาอ่อน ๓๐. เปิดถันให้ดู ๓๑. เปิดรักแร้ให้ดู ๓๒. เปิดสะดือให้ดู ๓๓. หลิ่วตา ๓๔. ยักคิ้ว ๓๕. เม้มปาก ๓๖. แลบลิ้น ๓๗. ทำผ้านุ่งหลุด ๓๘. กลับนุ่งผ้า ๓๙. สยายผม ๔๐. เกล้าผม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการ เหล่านี้ ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงประทุษร้ายสามี บัณฑิตพึงทราบได้ด้วย เหตุ ๒๕ ประการ คือ ๑. สรรเสริญการจากไปของสามี ๒. สามีจากไปแล้วไม่ระลึกถึง ๓. สามีกลับมาก็ไม่ยินดี ๔. พูดติเตียนสามี ๕. ไม่พูดสรรเสริญสามี ๖. ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามี ๗. ไม่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสามี ๘. กระทำกิจอันไม่สมควรต่อสามี ๙. ไม่กระทำกิจอันสมควรต่อสามี ๑๐. นอนคลุมโปง ๑๑. นอนหันหลังให้ ๑๒. นอนพลิกไปพลิกมาเป็นโกลาหล ๑๓. ทอดถอนหายใจยาว ๑๔. นอนกระสับกระส่ายเป็นทุกข์ ๑๕. ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ่อยๆ ๑๖. ประพฤติตรงข้าม ๑๗. ได้ยินเสียงชายอื่นเงี่ยหูฟัง ๑๘. ล้างผลาญโภคทรัพย์ ๑๙. ทำความสนิทสนมกับชายบ้านใกล้เรือนเคียง ๒๐. ชอบออกนอกบ้าน ๒๑. ชอบเที่ยวตามตรอกซอกซอย ๒๒. ประพฤตินอกใจ ไม่เคารพสามี คิดประทุษร้ายอยู่เป็นนิตย์ ๒๓. ยืนอยู่ที่ประตูเนืองๆ ๒๔. เปิดรักแร้ อวัยวะและถันให้ดู ๒๕. เที่ยวสอดส่องเพ่งมองไปยังทิศต่างๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงประทุษร้ายสามี บัณฑิตพึงทราบได้ด้วย เหตุ ๒๕ ประการเหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า [๓๐๑] ๑. สรรเสริญการจากไปของสามี ๒. ไม่โศกเศร้าถึงการจากไปของสามี ๓. เห็นสามีกลับมาไม่ยินดี ๔. ไม่เคยกล่าวคำสรรเสริญสามีสักคราวเดียว หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้ [๓๐๒] ๕. ไม่มีความสำรวม ประพฤติแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามี ๖. ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสามีให้เสื่อมสูญ ๗. กระทำกิจอันไม่สมควรต่อสามี ๘. นอนคลุมโปง ๙. นอนหันหลังให้ หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้ [๓๐๓] ๑๐. นอนพลิกไปพลิกมาเป็นโกลาหล ๑๑. ถอนหายใจยาว ๑๒. นอนกระสับกระส่ายเป็นทุกข์ ๑๓. ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ่อยๆ หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้ [๓๐๔] ๑๔. ประพฤติตรงข้าม ๑๕. ไม่กระทำกิจอันสมควรต่อสามี ๑๖. เมื่อชายอื่นพูดเงี่ยหูฟัง ๑๗. ล้างผลาญโภคทรัพย์ ๑๘. กระทำความเชยชมกับชายชู้ หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้ [๓๐๕] ๑๙. ทำทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่สามีหามาได้ด้วยความลำบาก หามาได้ด้วยความฝืดเคือง เก็บรวบรวมสะสมไว้ด้วยความยากให้พินาศ ๒๐. ทำความสนิทสนมกับชายบ้านใกล้เรือนเคียง หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๐๖] ๒๑. ชอบออกนอกบ้าน ชอบเที่ยวตามตรอกซอกซอย ๒๒. ประพฤตินอกใจ ไม่เคารพสามี คิดประทุษร้ายอยู่เป็นนิตย์ หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้ [๓๐๗] ๒๓. ยืนอยู่ใกล้ประตูเนืองๆ ๒๔. เปิดถันและรักแร้ให้เห็น ๒๕. มีจิตพลุกพล่านเพ่งมองไปยังทิศต่างๆ หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้ [๓๐๘] แม่น้ำทุกสายไหลไปคดเคี้ยว ป่าไม้ทุกแห่งล้วนดาษดื่นไปด้วยต้นไม้ หญิงทั้งปวงพึงกระทำความชั่ว เมื่อได้โอกาสหรือที่ลับ [๓๐๙] ถ้าว่า พึงได้โอกาสหรือที่ลับ หรือว่าพึงได้สถานที่ปิดบังเช่นนั้น หญิงทั้งปวงพึงกระทำความชั่วแน่นอน ไม่ได้ชายอื่นที่สมบูรณ์ ก็พึงกระทำกับชายง่อยเปลี้ย [๓๑๐] ก็ในบรรดานารีที่หลายใจ ไม่มีใครข่มขี่ได้ ผู้สร้างความอภิรมย์ยินดีให้แก่ชายทั้งหลาย แม้หากเธอผู้ใดจะไม่พึงกระทำความปลื้มใจในที่ทั้งปวง บัณฑิตก็ไม่ควรวางใจ เพราะนารีเปรียบเสมอท่าน้ำ [๓๑๑] ก็บัณฑิตเห็นเหตุการณ์ของเจ้ากินนรี และพระนางกินนราเทวีแล้วพึงทราบเถิดว่า หญิงทั้งปวงจะยินดีในเรือนของสามีเท่านั้นก็หาไม่ พระนางกินนราเทวีได้เห็นชายอื่น ถึงเป็นคนง่อยเปลี้ย ก็ยังทรงทอดทิ้งคนเช่นกับเจ้ากินนรีนั้นไปได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๑๒] พระมเหสีของพระเจ้าพกะและพระเจ้าพาวริยะ ผู้ทรงหมกมุ่นในกามจนเกินไป ได้ทรงประพฤติอนาจารกับคนใช้ใกล้ชิด ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนา ชายคนอื่นนั้น ใครหรือหญิงจะไม่พึงประพฤตินอกใจด้วย [๓๑๓] พระนางปิงคิยานี ผู้เป็นพระมเหสีสุดที่รัก ของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง ได้ทรงประพฤติอนาจารกับคนเลี้ยงม้า ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนา นางผู้มีความใคร่ในกามไม่ได้ประสบความใคร่ทั้ง ๒ แม้นั้น [๓๑๔] บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิง ไม่ควรจะเชื่อถือหญิงทั้งหลาย ผู้หยาบช้า ใจเบา ไม่รู้คุณคน มักประทุษร้ายมิตรเลย [๓๑๕] หญิงเหล่านั้นไม่รู้อุปการะที่คนอื่นกระทำแล้วแก่ตน ไม่รู้กิจที่ตนควรกระทำ ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง เป็นผู้ไม่ประเสริฐ ล่วงละเมิดธรรมอยู่เสมอ เป็นไปตามอำนาจจิตของตนอย่างเดียว [๓๑๖] สามีสุดที่รัก ที่น่าพอใจ แม้อยู่ด้วยกันมานาน เป็นผู้อนุเคราะห์ แม้เสมอเหมือนกับชีวิต พวกนางยังพากันทอดทิ้งไปได้ในคราวเกิดอันตราย และในคราวมีกิจจะต้องกระทำ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย [๓๑๗] เพราะว่าจิตของหญิงทั้งหลายเหมือนจิตของวานร ลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนเงาต้นไม้ ดวงใจของหญิงทั้งหลายนั้นหวั่นไหวไปมา กลับกลอกเหมือนกงล้อ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๑๘] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งเห็นทรัพย์ ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้ เมื่อนั้น พวกเธอจะใช้วาจาอันอ่อนหวานชักพาเอาบุรุษนั้นไป เหมือนชาวกัมโพชะใช้สำรับลวงม้า๑- [๓๑๙] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งไม่เห็นทรัพย์ ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้ เมื่อนั้น พวกเธอจะเหินห่างทอดทิ้งบุรุษนั้นไปทุกด้าน เหมือนคนข้ามฝั่งพอถึงฝั่งแม่น้ำแล้ว ก็ละทิ้งแพสำหรับข้ามไป [๓๒๐] จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นอุปมาได้กับสิ่งผูกพัน กินทุกอย่างเหมือนไฟ มีมายากล้าแข็งเหมือนแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว ย่อมคบหาได้ทั้งชายที่เป็นคนรัก และไม่ใช่คนรัก เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น [๓๒๑] หญิงเหล่านั้นมิใช่เป็นสมบัติชายคนเดียวหรือสองคน เหมือนร้านตลาดที่แบของวางขาย ชายใดพึงสำคัญหญิงเหล่านั้นว่าเป็นของเรา ชายนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย [๓๒๒] ๑. แม่น้ำ ๒. ทางเดิน ๓. ร้านเครื่องดื่ม ๔. สภา ๕. บ่อน้ำ เป็นฉันใด ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลกนี้ก็ฉันนั้น ขอบเขตย่อมไม่มีสำหรับพวกเธอ @เชิงอรรถ : @ ใช้สำรับลวงม้า หมายถึงชาวกัมโพชะต้องการม้าป่า เขาจะกั้นคอกแห่งหนึ่งแล้วทำประตูให้ดี เอาน้ำผึ้งทา @สาหร่ายที่ลอยอยู่บนน้ำที่พวกม้าป่าเคยกิน แล้วทอดสาหร่ายจนถึงประตูคอก ทาน้ำผึ้งตลอด ม้าป่ามากินน้ำ @กินหญ้า กินสาหร่ายที่มีรสหวาน ติดใจในรสก็จะเดินเข้าคอกไปโดยไม่รู้ตัว (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๘/๓๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๒๓] หญิงทั้งหลายเหล่านี้เสมอกับไฟที่กินเปรียง อุปมาได้กับหัวงูเห่า๑- ย่อมเลือกกินแต่ของดีๆ เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดีๆ ในภายนอกเท่านั้น [๓๒๔] ๑. ไฟกินเปรียง ๒. ช้างสาร ๓. งูเห่า ๔. พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๕. หญิงทั้งปวง บุคคลทั้ง ๕ เหล่านี้ นรชนพึงคบหาโดยความระมัดระวังเป็นนิตย์ เพราะว่าภาวะที่เป็นจริงของบุคคลเหล่านั้นรู้ได้ยากนัก [๓๒๕] ชายไม่พึงคบหา ๑. หญิงผู้มีผิวพรรณงดงามนัก ๒. หญิงผู้ที่ชายหมู่มากรักใคร่ ๓. หญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง ๔. หญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น ๕. หญิงผู้คบหาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ หญิงทั้ง ๕ ประเภทเหล่านี้ชายไม่พึงคบหาเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกแร้งชื่ออานนท์ รู้แจ้งชัด ซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของนกกุณาละ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า [๓๒๖] ถ้าบุรุษจะพึงยกแผ่นดินแม้ที่เต็มไปด้วยทรัพย์ผืนนี้ ให้แก่หญิงผู้ที่ตนยกย่องไซร้ หญิงนั้นได้โอกาสแล้วก็จะพึงดูหมิ่นบุรุษแม้นั้น เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ยอมตกไปสู่อำนาจของหญิงเหล่านั้นผู้ที่ไม่ใช่คนดี @เชิงอรรถ : @ หมายถึงหญิงอุปมาได้กับหัวงูเห่า เพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ คือ (๑) เพราะเป็นสัตว์มักโกรธ (๒) เพราะเป็น @สัตว์มีพิษร้าย (๓) เพราะเป็นสัตว์มีลิ้นสองแฉก (๔) เพราะเป็นสัตว์ผูกโกรธ (๕) เพราะเป็นสัตว์ประทุษ- @ร้ายมิตร ในเหตุ ๕ อย่างที่สตรีชื่อว่ามีพิษร้าย พึงทราบได้เพราะความที่เธอมีราคะมาก ชื่อว่ามีลิ้นสองแฉก @เพราะเธอมักพูดส่อเสียด ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร เพราะเธอมักประพฤตินอกใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๓/๓๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๒๗] สามีหนุ่มผู้มีความหมั่นขยัน มีพฤติการณ์ไม่หดหู่ น่ารัก และน่าพอใจ พวกเธอยังพากันทอดทิ้งเขาไปได้ในคราวเกิดอันตราย และในคราวมีกิจที่ต้องกระทำ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย [๓๒๘] บุรุษไม่พึงวางใจว่า หญิงนี้ต้องการเรา ไม่พึงวางใจว่า หญิงนี้ร้องไห้อยู่ในที่อยู่ของเรา จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นย่อมคบหาได้ ทั้งชายที่เป็นคนรักและมิใช่คนรัก เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น [๓๒๙] ๑. บุคคลไม่พึงวางใจเครื่องลาดที่ทำด้วยกิ่งไม้เก่า ๒. ไม่พึงวางใจโจรผู้เคยเป็นมิตรเก่าแก่ ๓. ไม่พึงวางใจพระราชาว่า เป็นเพื่อนของเรา ๔. ไม่พึงวางใจหญิงซึ่งเป็นแม่ของลูกตั้ง ๑๐ คน [๓๓๐] ไม่พึงวางใจในนารีทั้งหลาย ผู้สร้างความรื่นรมย์ยินดีให้ ผู้ล่วงละเมิดศีล ไม่มีความสำรวม ถึงภรรยาจะพึงมีความรักอย่างแน่นแฟ้น ก็ไม่พึงวางใจ เพราะว่านารีทั้งหลายเสมอเหมือนกับท่าน้ำ [๓๓๑] หญิงทั้งหลายพึงฆ่าชายเสียเองก็มี ตัดอวัยวะของชายเสียเองก็มี ให้ผู้อื่นตัดก็มี เชือดลำคอแล้วดื่มเลือดกินก็มี เพราะเหตุนั้น ชายอย่าพึงทำความสนิทสนมในหญิงทั้งหลาย ผู้มีความใคร่อันเลวทราม ผู้ไม่สำรวม เปรียบได้กับท่าน้ำที่แม่น้ำคงคา [๓๓๒] หญิงเหล่านั้นกล่าวคำเท็จเหมือนกับคำสัตย์ กล่าวคำสัตย์เหมือนกับคำเท็จ พวกเธอเลือกกินแต่ของดีๆ เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดีๆ ในภายนอกเท่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๓๓] พวกหล่อนประเล้าประโลมชาย ด้วยการเดินบ้าง ด้วยการจ้องมองบ้าง ด้วยการหัวเราะบ้าง ด้วยการนุ่งห่มไม่เรียบร้อยบ้าง และด้วยการกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานบ้าง [๓๓๔] เพราะว่าหญิงทั้งหลายเหล่านั้น เป็นนางโจร มีจิตใจหยาบกระด้าง โหดร้าย เจรจาอ่อนหวานเหมือนน้ำตาลกรวด การล่อลวงอย่างใดอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์ พวกเธอจะไม่รู้ไม่มีเลย [๓๓๕] ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลก เป็นคนชั่วร้าย ไม่มีขอบเขต กำหนัดจัด และคึกคะนอง กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ [๓๓๖] ธรรมดาว่าบุรุษเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี เพราะว่าหญิงทั้งหลายย่อมคบบุรุษได้ ทั้งที่เป็นคนรักและมิใช่คนรัก เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น [๓๓๗] ธรรมดาว่าบุรุษเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี เพราะว่าหญิงทั้งหลายมีความต้องการทรัพย์ จึงยอมพัวพันด้วย เหมือนเถาวัลย์ที่เกี่ยวพันต้นไม้ [๓๓๘] ชายที่มีทรัพย์จะเป็นควาญช้าง คนเลี้ยงม้า คนเลี้ยงโค คนจัณฑาล สัปเหร่อ หรือคนล้างส้วมก็ตาม นารีทั้งหลายจะติดตามเขาไป [๓๓๙] หญิงสาวทั้งหลายย่อมทอดทิ้งชาย แม้ที่เป็นบุตรคนมีตระกูล ซึ่งไม่มีทรัพย์อะไรๆ ไป เหมือนเช่นกับซากศพ แต่กลับคอยติดตามชายไปเนืองๆ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นารทเทวพราหมณ์รู้แจ้งชัดซึ่งคาถา ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของอานนท์พญาแร้ง จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า [๓๔๐] นี่แน่ะ พญานก ท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า ผู้จะกล่าวถึงสิ่ง ๔ อย่าง ที่ไม่รู้จักเต็มเหล่านี้ คือ ๑. ทะเล ๒. พราหมณ์ ๓. พระราชา ๔. หญิง [๓๔๑] แม่น้ำสายใดสายหนึ่งซึ่งอาศัยแผ่นดิน ย่อมไหลไปสู่สาคร แม่น้ำเหล่านั้นก็ทำสมุทรให้เต็มไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่ [๓๔๒] ส่วนพราหมณ์สาธยายพระเวท มีประวัติศาสตร์เป็นที่ ๕ ได้แล้ว ก็ยังปรารถนาการศึกษาแม้ให้ยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่ [๓๔๓] ส่วนพระราชาเล่าทรงชนะแล้ว ครอบครองแผ่นดินทั้งหมดพร้อมทั้งสมุทร และภูเขาอันสั่งสมรัตนะไว้หาที่สุดมิได้ ก็ยังทรงปรารถนาสมุทรฝั่งโน้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่ [๓๔๔] แต่หญิงถึงแม้จะพึงมีสามีคนละ ๘ คน ซึ่งเป็นคนแกล้วกล้ามีพลัง สามารถนำรสแห่งความใคร่ทั้งปวงมาให้ได้ เธอก็ยังคงทำความพอใจในชายคนที่ ๙ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๔๕] หญิงทั้งปวงกินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพาเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปเหมือนแม่น้ำ เกาะเกี่ยวเหมือนเรียวหนาม ย่อมคบหาชายเพราะเหตุแห่งทรัพย์ [๓๔๖] ก็นรชนใดปลงใจเชื่อหญิงทุกสิ่งทุกอย่าง นรชนนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย วิดน้ำทะเลด้วยฝ่ามือข้างเดียว ปรบมือข้างเดียวของตนให้เกิดเสียง ก็รู้ได้ยาก [๓๔๗] ภาวะของหญิงที่เป็นนางโจร รู้มาก หาความจริงได้ยาก เป็นการลำบากที่จะหยั่งรู้เหมือนรอยทางปลาในน้ำ [๓๔๘] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้จักพอ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน เต็มได้ยาก เหมือนแม่น้ำย่อมทำให้ล่มจม ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล [๓๔๙] หญิงทั้งหลายยั่วยวนให้ลุ่มหลง มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ ย่อมทำให้ล่มจมเสียหาย ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล [๓๕๐] ก็หญิงทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปคบหาชายใด ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม ก็ติดตามเผาผลาญชายนั้นโดยทันที เหมือนไฟป่าเผาผลาญสถานที่ของตน ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกกุณาละรู้แจ้งชัดซึ่งคาถาทั้ง เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของนารทเทวพราหมณ์ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ใน เวลานั้นว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๕๑] บัณฑิตพึงเจรจากับคนผู้ถือดาบอันคมกริบ พึงเจรจาแม้กับปีศาจผู้ดุร้าย พึงเข้าไปนั่งใกล้งูตัวที่มีพิษร้ายแรง แต่อย่าพึงเจรจากับหญิงตัวต่อตัว [๓๕๒] เพราะว่านารีทั้งหลายเป็นผู้ย่ำยีจิตของชาวโลก มีการฟ้อนรำขับร้อง เจรจา และการแย้มยิ้มเป็นอาวุธ ย่อมเบียดเบียนชายผู้มีสติไม่มั่นคง เหมือนหมู่นางรากษสบนเกาะเบียดเบียนพวกพ่อค้า [๓๕๓] หญิงเหล่านั้นไม่มีวินัย ไม่สังวร พวกเธอยินดีในน้ำเมาและเนื้อสัตว์ ไม่มีความสำรวม ย่อมฮุบเอาทรัพย์ที่ชายหามาได้ เหมือนปลาติมิงคละกลืนกินมังกรในสาคร [๓๕๔] หญิงทั้งหลายมีกามคุณทั้ง ๕ อันน่าพอใจเป็นเหยื่อล่อ มีจิตฟุ้งซ่านไม่แน่นอน ไม่มีความสำรวม ย่อมแล่นเข้าไปหาชายผู้มีความมัวเมา เหมือนแม่น้ำทั้งหลายย่อมไหลไปสู่ทะเล [๓๕๕] หญิงทั้งหลายประเล้าประโลมชายใดเพราะความพอใจ เพราะความยินดีหรือเพราะทรัพย์ก็ตาม ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าชายนั้นด้วยราคะ โทสะ ย่อมเผาผลาญชายเช่นนั้นให้เป็นแม้ดังเช่นไฟ [๓๕๖] หญิงทั้งหลายรู้ว่า ชายใดเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ย่อมแล่นเข้าไปหา ย่อมผูกมัดชายนั้นผู้มีจิตกำหนัดยินดีไว้ด้วยเรือนร่างของตน เหมือนเถาย่านทรายรัดรึงต้นสาละในป่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๕๗] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นประดับร่างกายและใบหน้า จนงามวิจิตรแล้วเข้าไปหาชาย ด้วยความพอใจมีประการต่างๆ ทำยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ มีความฉลาดในมายาตั้งร้อยเหมือนนักมายากล [๓๕๘] หญิงทั้งหลายประดับสวมใส่ทองคำ แก้วมณี แก้วมุกดา มีคนสักการะและรักษาอยู่แล้วในตระกูลสามี ก็ยังประพฤตินอกใจสามี เหมือนหญิงผู้ซบอยู่แนบทรวงอกประพฤตินอกใจอสูร [๓๕๙] จริงอยู่ นรชนถึงจะมีเดช มีปัญญาเห็นประจักษ์ เป็นที่สักการะบูชาของชนเป็นอันมาก ตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย ก็จะไม่รุ่งเรือง เหมือนดวงจันทร์ที่ถูกราหูเข้าไปบดบัง [๓๖๐] จอมโจรผู้มีจิตโหดร้าย โกรธขึ้นแล้ว พึงกระทำ ความพินาศอันใดให้จอมโจรผู้เป็นคู่อริ ซึ่งมาประจันหน้ากัน นรชนผู้ยังมีการเพ่งเล็ง มีตัณหา ตกอยู่ในอำนาจหญิงทั้งหลาย ย่อมประสบความพินาศยิ่งกว่านั้น [๓๖๑] จริงอยู่ หญิงเหล่านั้นถึงจะถูกชายที่เลวทราม คุกคามด้วยการจิกผมจนยุ่งเหยิง และการหยิกข่วนด้วยเล็บ ทุบตีด้วยเท้า ฝ่ามือ และท่อนไม้ ก็ยังเข้าไปหาชายคนเลวทรามนั่นแหละ เหมือนหมู่แมลงวันย่อมยินดีในซากศพ [๓๖๒] นรชนผู้มีดวงตาคือปัญญา ปรารถนาความสุข พึงเว้นหญิงเหล่านั้นซึ่งเป็นประดุจบ่วงและข่ายของมาร ที่เขาขึงดักไว้ในตระกูลในระหว่างทางเดิน ในราชธานีหรือว่าในนิคมทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)

[๓๖๓] ผู้ใดสลัดทิ้งคุณคือตบะอันเป็นกุศลแล้ว ประพฤติการประพฤติอันมิใช่ของพระอริยะ ผู้นั้นจากเทวโลกย่อมเข้าถึงนรก เหมือนพ่อค้าถือหม้อแตก [๓๖๔] เขาผู้นั้นถูกติเตียนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า มีความคิดที่ชั่ว ถูกกรรมของตนเข้าไปบั่นทอน ย่อมพลัดพรากจากเทวโลกบ้าง มนุษยโลกบ้าง โดยไม่แน่นอน เหมือนรถที่เทียมด้วยลาโกงย่อมพาไปนอกทาง [๓๖๕] เขาผู้นั้นจึงเข้าถึงนรกอันเร่าร้อนและนรกป่าไม้งิ้ว มีหนามแหลมเหมือนหอกเป็นหลักแล้ว มาอยู่ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน และไม่พ้นเปรตและจอมอสูร [๓๖๖] หญิงทั้งหลายย่อมทำลายการเล่นหัว และความรื่นรมย์ยินดีอันเป็นทิพย์ในนันทวันเทวอุทยาน และจักรพรรดิสมบัติในหมู่มนุษย์ของชายผู้มัวเมาทั้งหลาย ให้พินาศและยังเขาให้ถึงทุคติอีกด้วย [๓๖๗] การเล่นหัวและความรื่นรมย์ยินดีก็ดี จักรพรรดิสมบัติในมนุษย์ก็ดี นางเทพอัปสรผู้อยู่วิมานทองก็ดี อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่ หาได้ไม่ยากเลย [๓๖๘] คติที่ล่วงเลยกามภูมิก็ดี การสมภพในรูปภูมิก็ดี การเข้าถึงวิสัยแห่งผู้ปราศจากราคะก็ดี อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่ หาได้ไม่ยากเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]

๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)

[๓๖๙] นิพพานอันปลอดโปร่งพ้นทุกข์ทั้งปวง ไม่หวั่นไหวอย่างแท้จริง ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่ มีกิเลสอันตนดับได้แล้ว เป็นผู้สะอาด หาได้ไม่ยากเลย ดังนี้ (พระศาสดาทรงประมวลธรรมเทศนา ได้ตรัสพระคาถาประชุมชาดกว่า) [๓๗๐] ในกาลนั้น เราผู้ตถาคตได้เป็นพญานกกุณาละ อุทายีได้เป็นพญานกดุเหว่าขาว อานนท์ได้เป็นพญานกแร้ง สารีบุตรได้เป็นนารทดาบส และพุทธบริษัทได้เป็นบริษัทนกทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล
กุณาลชาดกที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๑๓๔-๑๕๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=28&siri=11              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=28&A=1897&Z=2257                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=296              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=296&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=6718              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=296&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=6718                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja536/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :