ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

๒๐. สัตตตินิบาต
๑. กุสชาดก (๕๓๑)
ว่าด้วยพระเจ้ากุสะหลงรูปโฉมนางประภาวดี
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์กราบทูลพระมารดาว่า) [๑] เสด็จแม่ นี้แคว้นของเสด็จแม่ มีทรัพย์สมบัติ ยานพาหนะ เครื่องประดับ สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง ขอเสด็จแม่ทรงปกครองราชสมบัติของเสด็จแม่นี้เถิด หม่อมฉันจะไปยังนครที่พระนางประภาวดี ผู้เป็นที่รักประทับอยู่ (พระนางประภาวดีกราบทูลว่า) [๒] พระองค์มีพระทัยไม่ซื่อตรง ทรงหาบคอนหาบใหญ่ จักทรงเหน็ดเหนื่อย ทั้งกลางวัน กลางคืน และดึกดื่นเที่ยงคืน ข้าแต่พระเจ้ากุสะ ขอเชิญพระองค์ รีบเสด็จกลับกรุงกุสาวดีโดยพลันเถิด หม่อมฉันไม่ประสงค์จะให้พระองค์ ผู้ทรงมีผิวพรรณทรามประทับอยู่ ณ ที่นี้ (พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๓] พี่จะไม่จากที่นี้ไปกรุงกุสาวดี น้องประภาวดี พี่ลุ่มหลงในความงามของเธอ จึงยินดีอยู่ในที่ประทับอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้ามัททะ พี่ยินดีพอใจที่จะเห็นเธอ จึงละทิ้งแคว้นมา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๔] น้องประภาวดี พี่ลุ่มหลงในผิวพรรณของเธอ จึงซมซานท่องเที่ยวไปสู่เมทนีดล ไม่รู้จักทิศว่า เรามาจากไหน มัวแต่มัวเมาหลงใหลในตัวเธอ ผู้มีดวงตาประดุจตาลูกน้อยเนื้อทราย [๕] น้องนางผู้มีสะโพกอันผึ่งผาย ทรงผ้าขลิบทอง เครื่องประดับทองคำ พี่ไม่มีความต้องการราชสมบัติ เพราะปรารถนาตัวเธอ (พระนางประภาวดีกราบทูลว่า) [๖] ข้าแต่พระราชาผู้เจริญ ผู้ใดปรารถนาบุคคลที่เขาไม่ปรารถนา ผู้นั้นย่อมไม่มีความเจริญ พระองค์ต้องการบุคคลที่เขาไม่ต้องการ ปรารถนารักใคร่บุคคลที่เขาไม่รักใคร่ (พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๗] คนใดได้คนที่ไม่ต้องการตนก็ตาม ที่ต้องการตนก็ตามมาเป็นคนรัก เราสรรเสริญการได้ในความรักนี้ของคนนั้น การไม่ได้ในความรักนั้นซิเป็นความโชคร้าย (พระนางประภาวดีกราบทูลว่า) [๘] พระองค์ทรงปรารถนาหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนาพระองค์ เปรียบเสมือนพระองค์ทรงใช้ไม้กรรณิการ์ขุดเพชร (หรือ) ทรงใช้ตาข่ายดักลม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๙] หินคงถูกฝังไว้ในพระหทัยอันมีลักษณะ อ่อนละมุนละไมของพระนางเป็นแน่ เพราะหม่อมฉันมาจากชนบทบ้านนอก ยังมิได้ประสบความแช่มชื่นจากพระนางเลย [๑๐] เมื่อใด พระราชบุตรีหน้านิ่ว ทอดพระเนตรหม่อมฉัน เมื่อนั้นหม่อมฉันก็ยังคงเป็นคนครัวภายในเมืองของพระเจ้ามัททะ [๑๑] เมื่อใด พระราชบุตรีทรงแย้มสรวลทอดพระเนตรหม่อมฉัน เมื่อนั้น หม่อมฉันไม่ใช่คนครัว เมื่อนั้น หม่อมฉันเป็นพระเจ้ากุสะ (พระนางประภาวดีกราบทูลว่า) [๑๒] ก็ถ้าว่า คำทำนายของโหรทั้งหลายจักเป็นความจริงว่า พระองค์ไม่ใช่พระสวามีของหม่อมฉันแน่นอน ขอชนทั้งหลายจงสับหม่อมฉันให้เป็น ๗ ท่อนเถิด (พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๑๓] ก็ถ้าว่า คำทำนายของพวกโหรอื่น หรือของหม่อมฉันจักเป็นความจริงไซร้ คนอื่นนอกจากพระเจ้ากุสะผู้มีพระสุรเสียงดังราชสีห์ ไม่ใช่พระสวามีของพระนางแน่นอน (พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ทรงหยอกล้อหญิงค่อม พระพี่เลี้ยงพระนางประภาวดีว่า) [๑๔] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง จะพึงเหลียวมองดูเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๑๕] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง จะพึงเจรจากับเรา [๑๖] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง จะพึงทรงยิ้มแย้มให้เรา [๑๗] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง จะพึงทรงพระสรวลกับเรา [๑๘] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง จะพึงทรงจับต้องเราด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒ (นางค่อมไปกราบทูลพระนางประภาวดีว่า) [๑๙] ก็พระราชบุตรีพระองค์นี้คงจะไม่ประสบ แม้ความสำราญพระทัยในพระเจ้ากุสะ ผู้เป็นคนครัว คนรับใช้ คนเลี้ยงดู ซึ่งไม่ทรงประสงค์ค่าจ้างอย่างแน่แท้ (พระนางประภาวดีตรัสว่า) [๒๐] ก็นางค่อมคนนี้คงยังไม่ได้ถูกมีดคมตัดลิ้นแน่นอน จึงยังกล่าวชั่วช้าอย่างนี้อยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

(นางค่อมประกาศความดีของพระโพธิสัตว์ว่า) [๒๑] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระยศใหญ่ แล้วทำความรักในความงามเถิด [๒๒] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีทรัพย์มากมาย แล้วทำความรักในความงามเถิด [๒๓] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระกำลังมาก แล้วทำความรักในความงามเถิด [๒๔] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า พระองค์ทรงมีพระราชอาณาจักรกว้างใหญ่ แล้วทำความรักในความงามเถิด [๒๕] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงเป็นมหาราช แล้วทำความรักในความงามเถิด [๒๖] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระสุรเสียงดังราชสีห์ แล้วทำความรักในความงามเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๒๗] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ แล้วทำความรักในความงามเถิด [๒๘] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงหยดย้อย แล้วทำความรักในความงามเถิด [๒๙] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงหวานจับใจ แล้วทำความรักในความงามเถิด [๓๐] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะอ่อนหวาน แล้วทำความรักในความงามเถิด [๓๑] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า พระองค์ทรงมีศิลปะนับเป็นร้อยๆ อย่าง แล้วทำความรักในความงามเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๓๒] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ แล้วทำความรักในความงามเถิด [๓๓] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงพระนามว่าพระเจ้ากุสะ แล้วทำความรักในความงามเถิด (เหล่าอำมาตย์กราบทูลพระเจ้ามัททะว่า) [๓๔] พระราชาผู้ประเสริฐเหล่านี้ทรงกระด้างยิ่งนัก ทั้งหมดสวมเกราะประทับยืนตระหง่านอยู่ ก่อนที่พระราชาเหล่านั้นจะทรงทำลายกำแพง ขอพระองค์จงทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า ขอพระราชาทั้งหลายจงนำเอาพระธิดาประภาวดีไปเถิด (พระเจ้ามัททะตรัสว่า) [๓๕] เราจักสับลูกหญิงประภาวดีนั้นให้เป็น ๗ ท่อนแล้ว ถวายให้แก่พระราชาทั้งหลายที่เสด็จมาเพื่อฆ่าเรา ณ ที่นี้ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๓๖] พระราชบุตรีผู้มีผิวพรรณดุจทอง ทรงผ้าไหมสีขลิบทอง พระเนตรทั้ง ๒ นองไปด้วยพระอัสสุชล มีหมู่นางทาสีห้อมล้อมได้เสด็จลุกขึ้นแล้ว (พระนางประภาวดีทรงคร่ำครวญว่า) [๓๗] ดวงหน้าหม่อมฉันที่ลูบไล้ด้วยแป้ง ส่องดูที่กระจกเงาด้ามงาอันงดงาม มีดวงตาคมคายผุดผ่องเป็นยองใยไม่มีไฝฝ้านั้น จักถูกพวกกษัตริย์โยนทิ้งไว้ในป่าเป็นแน่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๓๘] เส้นผมทั้งหลายของหม่อมฉันที่ดำสนิท มีปลายงอน อ่อนละมุนละไม ที่ลูบไล้ด้วยน้ำมันแก่นจันทน์เหล่านั้น นกแร้งทั้งหลายจะพากันใช้เท้าทั้ง ๒ ตะกุยคุ้ยเขี่ย ให้ยุ่งเหยิงในท่ามกลางป่าช้าเป็นแน่ [๓๙] แขนทั้ง ๒ ของหม่อมฉันอ่อนนุ่ม มีเล็บมือแดง มีขนละเอียดอ่อนซึ่งลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์เหล่านั้น จะถูกพวกกษัตริย์ตัดทิ้งไว้ในป่า นกกาก็จะคาบเอาไปตามความต้องการเป็นแน่ [๔๐] ถันทั้ง ๒ ของหม่อมฉันยังไม่หย่อนยาน เปรียบปานได้กับผลตาล ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์แดงจากแคว้นกาสีเหล่านั้น สุนัขจิ้งจอกเห็นเข้าแล้วจักยื้อดึงถันทั้ง ๒ ของหม่อมฉัน เหมือนลูกอ่อนอันเกิดแต่ตนยื้อดึงถันทั้ง ๒ ของมารดาเป็นแน่ [๔๑] สะโพกอันกลมกลึงผึ่งผาย ที่ผูกห้อยประดับ ด้วยสายสร้อยรัดเอวทองคำของหม่อมฉันซึ่งถูกตัด ที่พวกกษัตริย์โยนทิ้งไว้ในป่านั้น ฝูงสุนัขจิ้งจอกจะยื้อแย่งเป็นแน่แท้ [๔๒] ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอก และสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่นใดที่มีอยู่ พวกมันได้กัดกินเจ้าหญิงประภาวดีเป็นภักษาหารแล้ว คงจักไม่แก่ชราเป็นแน่ [๔๓] ข้าแต่ทูลกระหม่อมแม่ หากกษัตริย์ทั้งหลายผู้เสด็จไปสู่หนทางไกล ได้ทรงนำเอาชิ้นเนื้อของหม่อมฉันไป ขอเสด็จแม่โปรดทรงขอกระดูกไว้แล้วเผามันทิ้งเสียในระหว่างทาง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๔๔] ทูลกระหม่อมแม่ ขอเสด็จแม่โปรดให้สร้างเป็นสวน แล้วให้ปลูกต้นกรรณิการ์ไว้ในเขตนี้ เมื่อใด ต้นกรรณิการ์เหล่านั้นมีดอกบานสะพรั่ง ในคราวหิมะตกแห่งฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น เสด็จแม่พึงรำลึกถึงหม่อมฉันว่า ลูกประภาวดีของแม่มีผิวพรรณอย่างนี้ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๔๕] นางกษัตริย์ผู้มีผิวพรรณดังเทพอัปสร ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าหญิงประภาวดีนั้น ทอดพระเนตรเห็นดาบและเขียง ภายในบุรีของพระเจ้ามัททะ จึงเสด็จลุกขึ้น (พระมารดาของพระนางประภาวดี ทรงรำพันว่า) [๔๖] ข้าแต่เสด็จพี่มัททะ พระองค์จักทรงประหาร พระธิดาเอวบางร่างน้อยซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยพระแสงดาบนี้แล้วประทานให้แก่กษัตริย์ทั้งหลายแน่ละหรือ [๔๗] ลูกหญิง ลูกไม่ทำตามคำของแม่ผู้หวังประโยชน์ ลูกนั้นจะมีเลือดโซมกายไปสู่สำนักพญายมในวันนี้ [๔๘] คนใดแลไม่ทำตามคำของผู้หวังเกื้อกูล และบ่งชี้ประโยชน์ทั้งหลาย คนนั้นย่อมต้องลำบากอย่างนี้ และต้องประสบความชั่วร้ายยิ่งกว่า [๔๙] ก็ถ้าวันนี้ลูกหญิงมีพระกุมารทรงโฉมงดงาม ประดุจฉาบไว้ด้วยทอง เป็นกษัตริย์ทรงกำเนิดกับพระเจ้ากุสะ สวมใส่สร้อยสังวาลทองคำประดับแก้วมณี ที่หมู่พระญาติทรงบูชาแล้ว ก็จะไม่ต้องไปสู่นิเวศน์พญายม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๕๐] กลองบันลือเสียงสนั่น ช้างก็ร้องเสียงดังกึกก้อง ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น [๕๑] ม้าศึกคะนองร้องคำรามอยู่ที่พระทวาร กุมารร้องรำทำเพลงอยู่ ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น [๕๒] ตระกูลของกษัตริย์ทั้งหลาย มีเสียงร้องดังกึกก้องของเหล่านกยูงและนกกระเรียน และมีเสียงร้องเสนาะไพเราะแห่งเหล่านกดุเหว่า ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น (พระมารดาของพระนางประภาวดี ตรัสกับพระนางประภาวดีแล้วตรัสว่า) [๕๓] พระเจ้ากุสะพระองค์ใดทรงมีพระปรีชาอันโอฬาร ย่ำยีศัตรูปราบปรามแคว้นของพระราชาพระองค์อื่น จะพึงปลดเปลื้องพวกเราจากความทุกข์ได้ พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ (พระนางประภาวดีกราบทูลว่า) [๕๔] พระเจ้ากุสะพระองค์ใดทรงมีพระปรีชาอันโอฬาร ย่ำยีศัตรู ปราบปรามแคว้นของพระราชาพระองค์อื่น จักทรงกำจัดกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้ พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า (พระมารดาตรัสว่า) [๕๕] เจ้าเป็นบ้าหรือ จึงพูดออกมาเหมือนเด็กไร้เดียงสาพูด ถ้าพระเจ้ากุสะพึงเสด็จมา ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระองค์เล่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า) [๕๖] พระเจ้ากุสะคือคนครัวนั่น ทรงหยักรั้งอย่างมั่นคง กำลังก้มล้างหม้ออยู่ระหว่างตำหนักเจ้าหญิงทั้งหลาย (พระมารดาตรัสบริภาษว่า) [๕๗] เจ้าเป็นช่างถาก เป็นหญิงจัณฑาล หรือเป็นคนทำลายวงศ์ตระกูล เจ้าเกิดในวงศ์ตระกูลของพระเจ้ามัททะ ไฉนจึงทำพระสวามีให้เป็นทาส (พระนางประภาวดีกราบทูลว่า) [๕๘] หม่อมฉันมิใช่ช่างถาก มิใช่หญิงจัณฑาล และมิใช่คนทำลายวงศ์ตระกูล ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ พระเจ้ากุสะนั้นคือพระราชบุตรของพระเจ้าโอกกากราช เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส (พระนางประภาวดีทรงสรรเสริญพระเกียรติยศของพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า) [๕๙] พระราชาพระองค์ใดทรงเชื้อเชิญพราหมณ์ ๒๐,๐๐๐ คน ให้บริโภคทุกเมื่อ ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส [๖๐] เจ้าพนักงานตระเตรียมช้าง ๒๐,๐๐๐ เชือกไว้ทุกเมื่อ เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส [๖๑] เจ้าพนักงานตระเตรียมม้า ๒๐,๐๐๐ ตัวไว้ทุกเมื่อ เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๖๒] เจ้าพนักงานตระเตรียมราชรถ ๒๐,๐๐๐ คันไว้ทุกเมื่อ เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส [๖๓] เจ้าพนักงานรีดน้ำนมแม่โค ๒๐,๐๐๐ ตัวไว้ทุกเมื่อ เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส (พระเจ้ามัททะทรงตำหนิพระธิดาว่า) [๖๔] โอ ลูกหญิงผู้โง่เขลา เจ้านั้นชั่วช้าเหลือเกิน ที่ไม่บอกถึงองค์กษัตริย์ผู้ทรงพลังมหาศาลดุจพญาช้าง แปลงเป็นกบเสด็จมา ณ ที่นี้ (พระเจ้ามัททะทรงแสดงโทษของพระองค์ว่า) [๖๕] ข้าแต่มหาราชผู้จอมทัพ ขอพระองค์โปรดงดโทษแก่หม่อมฉัน ที่ไม่ทราบว่าทรงปลอมพระองค์เสด็จมา ณ ที่นี้ (พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๖๖] การที่หม่อมฉันเป็นคนครัวนั้นไม่เป็นการปกปิด สำหรับคนเช่นหม่อมฉันเลย ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์ทรงเลื่อมใสหม่อมฉันต่างหาก การกระทำผิดของพระองค์ไม่มี (พระเจ้ามัททะส่งพระนางประภาวดีไปขอโทษว่า) [๖๗] นี่ลูกหญิงผู้โง่เขลา เจ้าจงไปขอให้พระเจ้ากุสะ ผู้ทรงพลังมหาศาลทรงงดโทษเสีย พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นผู้ที่เจ้าให้งดโทษแล้ว จะประทานชีวิตให้เจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๖๘] เจ้าหญิงประภาวดีผู้มีผิวพรรณดุจเทพอัปสร ทรงสดับพระดำรัสของพระปิตุราชแล้วทรงซบพระเศียร กอดพระบาทพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล (พระนางประภาวดีกราบทูลว่า) [๖๙] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ราตรีทั้งหลายเหล่านี้ใดล่วงเลยไป ราตรีทั้งหลายเหล่านี้นั้นเว้นจากพระองค์ล่วงเลยไปแล้ว หม่อมฉันขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า ข้าแต่พระจอมทัพ ขอพระองค์โปรด อย่าทรงกริ้วหม่อมฉันเลย พระเจ้าข้า [๗๐] หม่อมฉันขอถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระองค์ ขอเดชะมหาราช โปรดสดับคำของหม่อมฉัน หม่อมฉันจะไม่กระทำความชิงชังต่อพระองค์อีกต่อไป [๗๑] ถ้าพระองค์ไม่ทรงโปรดกระทำตาม คำของหม่อมฉันผู้ทูลวิงวอนอยู่อย่างนี้ พระราชบิดาก็จักทรงเข่นฆ่าหม่อมฉัน แล้วประทานให้แก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้ (พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า) [๗๒] เมื่อพระน้องนางอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไฉนพี่จะไม่กระทำตามคำของพระน้องนางเล่า แม่ประภาวดีผู้เลอโฉม พระน้องนางอย่าทรงกลัวไปเลย พี่ไม่โกรธพระน้องนางหรอก [๗๓] พี่ขอให้สัตย์ปฏิญาณต่อพระน้องนาง พระราชบุตรีโปรดทรงสดับคำของพี่เถิด พี่จะไม่กระทำความชิงชังต่อพระน้องนางอีกต่อไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๗๔] แม่ประภาวดีผู้มีสะโพกผึ่งผาย ความจริง พี่สามารถที่จะย่ำยีตระกูลกษัตริย์มัททราชมากมาย ให้ย่อยยับแล้วนำพระนางไป แต่เพราะความรักพระนาง จึงยอมสู้ทนอดกลั้นความทุกข์อย่างล้นเหลือ (พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ให้ขัตติยมานะเกิดขึ้น แล้วตรัสว่า) [๗๕] ข้าหลวงทั้งหลาย จงตระเตรียมราชรถ ที่วิจิตรไปด้วยเครื่องอลังการต่างๆ และม้าที่ฝึกฝนดีแล้ว ต่อแต่นั้น ท่านทั้งหลายจงดูความเร็วของเรา ผู้กำลังกำจัดศัตรูเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๗๖] หญิงทั้งหลายภายในบุรีของพระเจ้ามัททะ พากันมองดูพระเจ้ากุสะนั้น กำลังทรงเยื้องกรายดุจราชสีห์ ปรบพระหัตถ์ เสวยพระกระยาหารเป็นสองเท่า ณ ที่นั้น [๗๗] พระเจ้ากุสะเสด็จขึ้นทรงคอช้าง และโปรดให้พระนางประภาวดีขึ้นประทับด้วย ทรงหยั่งลงสู่สงครามบันลือสีหนาท [๗๘] กษัตริย์ทั้งหลายนอกนี้ทรงสดับพระสุรสีหนาท ของท้าวเธอผู้ทรงบันลืออยู่ ถูกความหวาดกลัวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้ากุสะคุกคาม จึงพากันเสด็จหนีไป เหมือนหมู่เนื้อหวาดกลัวต่อเสียงราชสีห์แล้วพากันหนีไป [๗๙] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ถูกความหวาดกลัวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้ากุสะคุกคาม ต่างพากันฟาดฟันกันเอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

[๘๐] ในสงครามสำคัญครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงมีพระหฤทัยร่าเริงชื่นชมยินดี จึงได้พระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์ดวงหนึ่งแด่พระเจ้ากุสะ [๘๑] พระราชาพระองค์นั้นครั้นทรงชนะสงครามนั้นแล้ว ได้รับพระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์ ประทับบนคอช้าง เสด็จเลียบบุรีนคร [๘๒] ทรงจับเป็นกษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ แล้วทรงพันธนาการ ให้น้อมนำเข้าไปถวายต่อพระสัสสุระ (พ่อตา) ด้วยพระดำรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ [๘๓] พวกศัตรูทั้งหมดที่จะกำจัดพระองค์ ก็ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ทรงทำตามพระประสงค์เถิด จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้นก็ตามพระทัยเถิด (พระเจ้ามัททะตรัสว่า) [๘๔] กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ต่างหาก มิใช่เป็นศัตรูของหม่อมฉันเลย ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้น ก็ตามพระทัยเถิด (พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๘๕] พระธิดาทั้ง ๗ ของพระองค์เหล่านี้ ทรงเลอโฉม อุปมาดังเทพกัญญา ขอพระองค์โปรดพระราชทาน พระราชธิดาแต่ละพระองค์แด่กษัตริย์เหล่านั้น ขอกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นพระราชบุตรเขยของพระองค์เถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐. สัตตตินิบาต]

๑. กุสชาดก (๕๓๑)

(พระเจ้ามัททะตรัสกับพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า) [๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน กว่าธิดาของหม่อมฉันเหล่านั้น และกว่าหม่อมฉันทั้งปวง ขอพระองค์ทรงพระราชทานธิดาทั้งหลายของหม่อมฉัน แด่กษัตริย์เหล่านั้นตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๘๗] ในกาลนั้น พระเจ้ากุสะ ผู้ทรงมีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์ ได้พระราชทานพระธิดาของพระเจ้ามัททะ แด่กษัตริย์เหล่านั้นพระนางละองค์ [๘๘] กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ต่างพากันเอิบอิ่มพระทัย ด้วยการได้นั้น ทรงมีพระทัยยินดีในพระเจ้ากุสะ ผู้มีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์ ต่างฝ่ายต่างเสด็จกลับสู่แคว้นของตนทันที [๘๙] ส่วนพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล ทรงพาเจ้าหญิงประภาวดีและแก้วมณี อันไพโรจน์งดงามเสด็จกลับยังกรุงกุสาวดี [๙๐] เมื่อพระราชาและพระราชเทวีทั้ง ๒ พระองค์นั้น เสด็จไปในราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้าไปยังกรุงกุสาวดี ทรงมีพระฉวีวรรณและพระรูปโฉมทัดเทียมกัน มิได้ทรงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่ากันและกันเลย [๙๑] ในกาลนั้น พระราชมารดาได้ทรงพบ พระราชบุตรและพระชายา พระบิดาและพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงสมัครสมานกัน ครอบครองแผ่นดินกุสาวดีให้รุ่งเรืองแผ่ไพศาลสืบมา
กุสชาดกที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๗๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๕๕-๗๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=28&siri=6              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=28&A=733&Z=942                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=94              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=94&items=40              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=2635              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=94&items=40              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=2635                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja531/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :