ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๒. อุปวาณเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปวาณเถระ
(พระอุปวาณเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๕๒] พระสัมพุทธชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงถึงความสำเร็จ๑- แห่งธรรมทั้งปวง รุ่งเรืองดังกองไฟ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว [๕๓] มหาชนมาประชุมกันบูชาพระตถาคต สร้างจิตกาธานอย่างงดงามแล้วช่วยกันยกสรีระขึ้นวางไว้ [๕๔] ชนเหล่านั้นทั้งหมดพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ทำพระสรีรกิจแล้วได้รวบรวมพระธาตุ พากันสร้างพระพุทธสถูปไว้ ณ ที่นั้น [๕๕] สถูปชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองคำ ชั้นที่ ๒ ทำด้วยแก้วมณี ชั้นที่ ๓ ทำด้วยเงิน ชั้นที่ ๔ ทำด้วยแก้วผลึก @เชิงอรรถ : @ ถึงความสำเร็จ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๕๒/๔๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๒. อุปวาณเถราปทาน

[๕๖] ที่พระสถูปนั้น ชั้นที่ ๕ ทำด้วยแก้วทับทิม ชั้นที่ ๖ ทำด้วยแก้วลาย ชั้นบนทำด้วยรัตนะทุกอย่าง [๕๗] ร่างร้านทำด้วยแก้วมณี แท่นไพทีทำด้วยรัตนะ พระสถูปทำด้วยทองคำล้วนสูง ๑ โยชน์ [๕๘] ครั้งนั้น หมู่เทวดาได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นั้นว่า แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระโลกนาถผู้คงที่บ้าง [๕๙] พระสารีริกธาตุ ไม่แยกกัน คือรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน พวกเราจักสร้างพระสถูปครอบไว้ที่พระพุทธสถูปนี้ [๖๐] หมู่เทวดาได้ขยายพระสถูป ให้สูงขึ้นไปอีกหนึ่งโยชน์ด้วยแก้ว ๗ ประการ พระสถูปนั้นจึงมีความสูง ๒ โยชน์ ซึ่งส่องแสงสว่างขจัดความมืดได้ [๖๑] พวกนาคได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นี้ว่า มนุษย์และเทวดาเหล่านั้นได้สร้างพระพุทธสถูปแล้ว [๖๒] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย พวกมนุษย์กับเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระโลกนาถผู้คงที่บ้าง [๖๓] พวกนาคเหล่านั้นพากันรวบรวมแก้วอินทนิล แก้วมหานิล และแก้วมณีโชติ ช่วยกันประดับพระพุทธสถูปไว้ [๖๔] พระพุทธเจดีย์ประมาณเท่านั้น สร้างด้วยแก้วมณีล้วนสูง ๓ โยชน์ ส่องแสงสว่างไสวในเวลานั้น [๖๕] ฝูงครุฑได้มาร่วมประชุมปรึกษากันในครั้งนั้นว่า มนุษย์ เทวดา และนาคเหล่านั้นได้สร้างพระพุทธสถูปแล้ว [๖๖] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๒. อุปวาณเถราปทาน

แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้คงที่บ้าง [๖๗] ฝูงครุฑแม้เหล่านั้นได้สร้างพระสถูป สำเร็จด้วยแก้วมณีล้วน และผ้าคลุมก็เหมือนกัน ได้สร้างพระพุทธเจดีย์ต่อขึ้นไปให้สูงอีก ๑ โยชน์ [๖๘] พระพุทธสถูปสูงขึ้นไป ๔ โยชน์ รุ่งเรืองอยู่ ส่องทิศทั้งปวงให้สว่างไสว เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น [๖๙] ครั้งนั้น พวกกุมภัณฑ์ได้มาร่วมประชุมปรึกษากันว่า พวกมนุษย์ เทวดา นาค และครุฑก็เป็นเหมือนกันหมด ต่างก็ได้พากันสร้างพระสถูปที่อุดม บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด [๗๐] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง จักใช้รัตนะทั้งหลายประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไป [๗๑] พวกกุมภัณฑ์แม้เหล่านั้น ได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก ๑ โยชน์ ในครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๕ โยชน์ สว่างไสวอยู่ [๗๒] ครั้งนั้น พวกยักษ์ได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นั้นว่า พวกมนุษย์ เทวดา นาค กุมภัณฑ์ และครุฑ [๗๓] ต่างได้พากันสร้างสถูปที่ประเสริฐที่สุด บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด พวกเราอย่าได้ประมาทเลย พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๒. อุปวาณเถราปทาน

[๗๔] แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง นำแก้วผลึกมาประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก [๗๕] ยักษ์แม้เหล่านั้นได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก ๑ โยชน์ ครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๖ โยชน์ สว่างไสวอยู่ [๗๖] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์มาร่วมประชุมปรึกษากันว่า พวกมนุษย์ เทวดา นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ และยักษ์ก็เหมือนกัน [๗๗] พวกเขาทั้งหมดได้พากันสร้างพระพุทธสถูปแล้ว ในเรื่องพระสถูปนี้ พวกเรายังไม่ได้สร้างเลย แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง [๗๘] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์เหล่านั้น ได้สร้างแท่นไพที ๗ แห่ง จนถึงทางเดิน พวกคนธรรพ์สร้างพระสถูปด้วยทองคำล้วน [๗๙] ในครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๗ โยชน์ ส่องแสงสว่างไสว จนไม่รู้กลางคืนหรือกลางวัน เพราะมีแสงสว่างตลอดเวลา [๘๐] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์พร้อมทั้งดวงดาว ครอบงำรัศมีของพระสถูปนั้นไม่ได้ ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ แม้ประทีปก็ไม่โชติช่วง [๘๑] โดยกาลนั้น มนุษย์พวกใดพวกหนึ่งจะบูชาพระสถูป พวกเขาไม่ต้องขึ้นพระสถูป เพียงโยนเครื่องสักการะขึ้นไปบนอากาศ [๘๒] ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าอภิสัมมตะ ที่พวกเทวดาแต่งตั้งไว้ คอยรับธงหรือพวงดอกไม้ไปบูชาให้ยิ่งขึ้น [๘๓] ชนเหล่านั้นมองไม่เห็นยักษ์ตนนั้น เห็นแต่พวงดอกไม้ของยักษ์ที่ลอยไปอยู่ ครั้นเห็นเช่นนี้แล้วจึงไป มนุษย์ทั้งหมดย่อมไปเกิดยังสุคติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๒. อุปวาณเถราปทาน

[๘๔] พวกมนุษย์ที่ไม่เชื่อในคำสอน และพวกที่เลื่อมใสในศาสนา มีความต้องการจะเห็นปาฏิหาริย์ จึงพากันบูชาพระสถูป [๘๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างอยู่ในกรุงหงสวดี เห็นชนพากันรื่นเริงบันเทิงใจ จึงคิดอย่างนี้ในครั้งนั้นว่า [๘๖] ชุมชนเหล่านี้ พากันดีใจ ไม่อิ่มถึงสักการะที่ควรทำ ซึ่งปรากฏที่เรือนแห่งพระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้ยิ่งใหญ่ [๘๗] แม้เราก็จักทำสักการะแด่พระโลกนาถ ผู้คงที่ จักเป็นธรรมทายาทของพระองค์ในอนาคต [๘๘] ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าห่มของข้าพเจ้าที่ช่างย้อมซักไว้อย่างดี คล้องไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วยกเป็นธงไว้ในท้องฟ้า [๘๙] ยักษ์อภิสัมมตะจับธงของข้าพเจ้านำไปในท้องฟ้า ข้าพเจ้าเห็นแต่ธงถูกลมสะบัดได้ทำให้เกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง [๙๐] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในธงนั้นแล้ว เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นสมณะรูปหนึ่ง อภิวาทท่านแล้วได้สอบถามถึงผลในการถวายธง [๙๑] ภิกษุรูปนั้นกล่าวถึงการที่ข้าพเจ้า เกิดความเอิบอิ่มใจในการถวายธงให้ข้าพเจ้าฟังว่า ท่านจักได้เสวยวิบากแห่งการถวายธงนั้นในกาลทุกเมื่อ [๙๒] กองทัพ ๔ เหล่า คือพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายธง [๙๓] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น กลองที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แวดล้อมท่านเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายธง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๒. อุปวาณเถราปทาน

[๙๔] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง ล้วนประดับตกแต่งอย่างสวยงาม สวมใส่ผ้าอาภรณ์อันงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี [๙๕] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายธง [๙๖] ท่านจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป จักเกิดเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ [๙๗] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๙๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๙๙] ท่านจุติจากเทวโลกแล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน ประกอบด้วยบุญกรรม จักเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ [๑๐๐] ท่านจักละสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ ทั้งทาสและกรรมกรจำนวนมาก บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม [๑๐๑] ท่านจักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว เป็นสาวกมีนามว่าอุปวาณะ ของพระศาสดา [๑๐๒] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้ ข้าพเจ้าพ้นดีแล้ว (จากกิเลส) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน

ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่หลุดจากแล่งไปดีแล้ว ฉะนั้น เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว [๑๐๓] เมื่อข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ ธงทั้งหลายจักตั้งขึ้นรอบๆ ตลอด ๓ โยชน์ ในกาลทุกเมื่อ [๑๐๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายธง [๑๐๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระอุปวาณเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปวาณเถราปทานที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๑๒๙-๑๓๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=32&siri=24              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=32&A=1591&Z=1683                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=24              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=24&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=976              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=24&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=976                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap24/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :