ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๕. กุมารกัสสปเถราปทาน

๕. กุมารกัสสปเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุมารกัสสปเถระ
(พระกุมารกัสสปเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๕๐] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ เป็นนักปราชญ์ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๑๕๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีชื่อเสียงเลื่องลือ เรียนจบไตรเพท เที่ยวพักสำราญในเวลากลางวัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๑๕๒] กำลังทรงประกาศสัจจะ ๔ ช่วยมนุษย์พร้อมด้วยเทวดาให้ตรัสรู้ กำลังสรรเสริญสาวกของพระองค์ ผู้กล่าวธรรมีกถาอย่างวิจิตรอยู่ในหมู่มหาชน [๑๕๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเบิกบานใจจึงทูลนิมนต์พระตถาคต แล้วประดับมณฑปด้วยผ้าที่ย้อมด้วยสีต่างๆ [๑๕๔] ให้โชติช่วงด้วยรัตนะต่างๆ ทูลนิมนต์พระตถาคต พร้อมทั้งพระสงฆ์ให้เสวยและฉันโภชนะ มีรสเลิศต่างๆ ตลอด ๗ วัน ในมณฑปนั้น [๑๕๕] ได้บูชาพระตถาคตพร้อมทั้งสาวก ด้วยดอกไม้อันสวยงามนานาชนิด แล้วหมอบลงแทบพระบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้น [๑๕๖] ครั้งนั้น พระมุนีผู้ประเสริฐ ทรงมีพระกรุณา ได้ตรัสว่า ‘จงดูพราหมณ์ผู้ประเสริฐนี้ ผู้มีปากและดวงตาเหมือนดอกปทุม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๕. กุมารกัสสปเถราปทาน

[๑๕๗] ผู้มากด้วยความปรีดาปราโมทย์ มีโลมชาติชูชันและมีใจฟูขึ้น มีนัยน์ตากลมโต นำความร่าเริงมา มีความอาลัยในศาสนาของเรา [๑๕๘] ผู้มีใจดี มีผ้าผืนเดียวหมอบอยู่แทบเท้าของเรา เขาปรารถนาตำแหน่งคือการกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรนั้น [๑๕๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๑๖๐] ผู้นี้จักมีนามว่ากุมารกัสสปะ เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น [๑๖๑] เพราะอานุภาพแห่งดอกไม้และผ้า อันวิจิตรและรัตนะทั้งหลาย เขาจักถึงความเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร’ [๑๖๒] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๖๓] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เหมือนตัวละครเต้นรำหมุนเวียนอยู่กลางเวที ข้าพเจ้าเป็นลูกของเนื้อชื่อสาขะ ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของแม่เนื้อ [๑๖๔] ครั้งนั้น เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในครรภ์ ถึงวาระที่จะต้องถูกฆ่า มารดาของข้าพเจ้าถูกเนื้อชื่อสาขะทอดทิ้ง จึงยึดเนื้อชื่อนิโครธเป็นที่พึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๕. กุมารกัสสปเถราปทาน

[๑๖๕] มารดาของข้าพเจ้าได้พญาเนื้อชื่อนิโครธนั้น สละชีวิตของตนช่วยให้พ้นจากความตายแล้ว ตักเตือนข้าพเจ้าผู้เป็นลูกของตนในครั้งนั้นอย่างนี้ว่า [๑๖๖] ‘ควรคบแต่เนื้อชื่อนิโครธเท่านั้น ไม่ควรเข้าไปคบหาเนื้อชื่อสาขะ การตายในสำนักของเนื้อชื่อนิโครธยังประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่ในสำนักของเนื้อชื่อสาขะ จะประเสริฐอย่างไร๑- [๑๖๗] ข้าพเจ้า มารดาของข้าพเจ้าและพวกเนื้อนอกนี้ ได้เนื้อชื่อนิโครธผู้เป็นนายฝูงนั้นพร่ำสอน อาศัยโอวาทของเนื้อชื่อนิโครธนั้น จึงได้ไปยังที่อยู่อาศัยคือสวรรค์ชั้นดุสิตที่รื่นรมย์ ประหนึ่งว่าได้ไปยังเรือนของตนที่ทิ้งจากไป [๑๖๘] เมื่อศาสนาของพระกัสสปธีรเจ้า กำลังถึงความสิ้นไป ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปยังภูเขา บำเพ็ญเพียรตามคำสอนของพระชินเจ้า [๑๖๙] ก็บัดนี้ เกิดในตระกูลเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ มารดาของข้าพเจ้ามีครรภ์ ออกบวชเป็นบรรพชิต [๑๗๐] ภิกษุณีทั้งหลายรู้ว่ามารดาของข้าพเจ้ามีครรภ์ จึงนำไปหาพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นกล่าวว่า ‘จงนาสนะภิกษุณีชั่วรูปนี้เสีย’ [๑๗๑] แม้ในบัดนี้ มารดาผู้ให้กำเนิดของข้าพเจ้า อันพระชินเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ทรงอนุเคราะห์ไว้ จึงได้มีความสุขอยู่ในสำนักของภิกษุณี @เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา.(แปล) ๒๗/๑๒/๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๕. กุมารกัสสปเถราปทาน

[๑๗๒] พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าโกศล ได้ทรงทราบเรื่องนั้นแล้วจึงทรงชุบเลี้ยงข้าพเจ้าไว้ ด้วยเครื่องบริหารพระกุมาร และตัวข้าพเจ้าก็มีชื่อว่ากัสสปะ [๑๗๓] เพราะอาศัยท่านพระมหากัสสปเถระ ข้าพเจ้าจึงมีชื่อว่ากุมารกัสสปะ เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า กายเช่นกับจอมปลวก [๑๗๔] จากนั้นจิตของข้าพเจ้าก็หลุดพ้น ไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ก็เพราะทรมานพระเจ้าปายาสิ [๑๗๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๗๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๗๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระกุมารกัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุมารกัสสปเถราปทานที่ ๕ จบ
ภาณวารที่ ๒๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๖๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๒๕๘-๒๖๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=33&siri=125              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=33&A=3008&Z=3064                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=125              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=125&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6077              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=125&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6077                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap537/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :