ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๑๐. โมฆราชเถราปทาน

๑๐. โมฆราชเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโมฆราชเถระ
(พระโมฆราชเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๒๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ เป็นพระมุนี มีพระจักษุ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๓๒๘] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้ ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๓๒๙] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์ ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล ๕ [๓๓๐] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล ว่างจากพวกเดียรถีย์ และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่ [๓๓๑] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- [๓๓๒] ขณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระชินสีห์พระองค์นั้น @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๑๐. โมฆราชเถราปทาน

ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๓๓๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ารับจ้างทำงานของบุคคลอื่นในตระกูลหนึ่ง ในกรุงหงสวดี ข้าพเจ้าไม่มีทรัพย์สินอะไรที่เป็นของตนเลย [๓๓๔] ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่ศาลาพักผ่อนที่เขาปรับพื้นไว้แล้ว ได้ก่อไฟขึ้นที่ศาลา พื้นศิลาจึงดำเพราะถูกไฟไหม้ [๓๓๕] ครั้งนั้น พระโลกนาถผู้ประกาศสัจจะ ๔ ได้ตรัสสรรเสริญสาวกผู้ทรงจีวรเศร้าหมองในที่ประชุมชน [๓๓๖] ข้าพเจ้าพอใจในคุณนั้นของพระองค์ จึงได้ปรนนิบัติพระตถาคต ปรารถนาตำแหน่งที่สูงสุดคือความเป็นผู้เลิศ กว่าภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง [๓๓๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ได้ตรัสกับสาวกทั้งหลายว่า จงดูบุรุษนี้ผู้มีผ้าห่มเศร้าหมอง ร่างกายผอมบาง [๓๓๘] แต่สีหน้าผ่องใสเพราะปีติ ประกอบด้วยทรัพย์คือ ศรัทธา มีโลมชาติชูชัน มีใจร่าเริง ไม่หวั่นไหว เหมือนหมู่ไม้สาละที่หนาแน่น๑- [๓๓๙] บุรุษนี้ผู้มีความพอใจในคุณของภิกษุชื่อสัจจเสนะ ผู้ทรงจีวรเศร้าหมองนั้น จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น [๓๔๐] ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้วเป็นผู้เบิกบาน ซบศีรษะลงถวายพระชินเจ้า กระทำแต่กรรมที่ดีงาม ในศาสนาพระชินเจ้าจนตลอดชีวิต @เชิงอรรถ : @ เหมือนหมู่ไม้สาละวนที่หนาแน่น ในที่นี้ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ @(องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๕๐/๒๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๑๐. โมฆราชเถราปทาน

[๓๔๑] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๓๔๒] ด้วยกรรมคือการใช้ไฟลนที่พื้นศาลาพักผ่อน ข้าพเจ้าจึงถูกทุกขเวทนาเบียดเบียน หมกไหม้ในนรกนับพันปี [๓๔๓] ด้วยวิบากกรรมที่ยังเหลืออยู่นั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์ จึงมีรอยตำหนิติดตัวมาตามลำดับตลอด ๕๐๐ ชาติ [๓๔๔] เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงเต็มไปด้วยโรคเรื้อน เสวยมหันตทุกข์ตลอด ๕๐๐ ชาติเหมือนกัน [๓๔๕] ในภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส จึงได้นิมนต์พระอุปริฏฐะผู้มียศ ให้ฉันบิณฑบาตจนอิ่มหนำ [๓๔๖] ด้วยผลกรรมอันวิเศษนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๓๔๗] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าได้เกิดในตระกูลกษัตริย์ เพียบพร้อมไปด้วยมหาสมบัติ เมื่อพระชนกสวรรคตไป [๓๔๘] ข้าพเจ้าถูกโรคเรื้อนรบกวน ในเวลากลางคืน ก็ไม่ได้รับความสุขในการนอน เพราะความสุขในรัชสมบัติกลายเป็นโมฆะไป ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ชื่อว่าโมฆราช {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๑๐. โมฆราชเถราปทาน

[๓๔๙] ข้าพเจ้าเห็นโทษของร่างกาย จึงบวชเป็นบรรพชิต มอบตัวเป็นศิษย์ ของพราหมณ์ผู้เลิศชื่อพาวรี [๓๕๐] ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้ทรงเป็นผู้นำแห่งนรชน พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก ได้ทูลถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้ง กับพระองค์ผู้มีวาทะประเสริฐ ผู้มีวาทะเป็นประโยชน์ว่า [๓๕๑] โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก และเทวโลก ข้าพระองค์ไม่ทราบถึงความเห็นของพระองค์ พระนามว่าโคดม ผู้มีพระยศ [๓๕๒] เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ ผู้ทรงเห็นล่วงสามัญชนว่า ข้าพระองค์พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะมองไม่เห็น [๓๕๓] โมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าเป็นอัตตาเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพึงข้ามพ้นมัจจุราชได้ [๓๕๔] เธอเมื่อพิจารณาเห็นโลกด้วยอุบายอย่างนี้ มัจจุราชจึงจะมองไม่เห็น พระพุทธเจ้า ผู้ทรงเยียวยาโรคได้ทุกชนิด ได้ตรัสกับข้าพเจ้าดังว่ามานี้ [๓๕๕] พร้อมกับเวลาจบคาถา ข้าพเจ้าปราศจากผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวะได้เป็นภิกษุและเป็นพระอรหันต์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๑๐. โมฆราชเถราปทาน

[๓๕๖] ข้าพเจ้าถูกโรคเบียดเบียน ถูกเขาพูดบีบคั้นว่า วิหารอย่าได้เสียหายเลย จึงไม่อยู่ในวิหารของสงฆ์ [๓๕๗] ข้าพเจ้าเก็บผ้ามาจากกองขยะ ป่าช้า และทางรถทางเกวียน แล้วทำผ้าสังฆาฏิจากผ้านั้น ใช้สอยจีวรที่เศร้าหมอง [๓๕๘] พระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ เป็นนายแพทย์ใหญ่ ทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้นของข้าพเจ้า จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุ ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ใช้สอยจีวรเศร้าหมอง [๓๕๙] ข้าพเจ้าสิ้นบุญและบาป หายจากโรคทุกชนิด ไม่มีอาสวะ ดับสนิท เหมือนเปลวไฟที่หมดเชื้อดับไป [๓๖๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๓๖๑] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๖๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระโมฆราชเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โมฆราชเถราปทานที่ ๑๐ จบ
กัจจายนวรรคที่ ๕๔ จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

รวมอปทานที่มีในวรรค

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มหากัจจายนเถราปทาน ๒. วักกลิเถราปทาน ๓. มหากัปปินเถราปทาน ๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน ๕. กุมารกัสสปเถราปทาน ๖. พาหิยเถราปทาน ๗. มหาโกฏฐิกเถราปทาน ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน ๙. ราธเถราปทาน ๑๐. โมฆราชเถราปทาน ในวรรคนี้ บัณฑิตนับคาถาได้ ๓๖๒ คาถา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๘๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๒๘๓-๒๘๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=33&siri=130              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=33&A=3359&Z=3433                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=130              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=130&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6422              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=130&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6422                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap542/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :