ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจูฬสุคันธเถระ
(พระจูฬสุคันธเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๒๗๒] ในภัทรกัปนี้ พระชินเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๒๗๓] พระองค์สมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- มีพระรัศมีล้อมรอบข้างละวา ทรงประกอบด้วยข่ายรัศมี [๒๗๔] ทรงทำหมู่สัตว์ให้ยินดีได้เหมือนดวงจันทร์ เปล่งพระรัศมีเหมือนดวงอาทิตย์ ทำหมู่สัตว์ให้เยือกเย็นได้เหมือนเมฆฝน เป็นบ่อเกิดแห่งคุณเหมือนทะเล(เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ) [๒๗๕] พระองค์เปรียบดังแผ่นดินโดยศีล เปรียบดังภูเขาหิมพานต์โดยสมาธิ เปรียบดังอากาศโดยปัญญา เป็นผู้ไม่ข้องเกี่ยว(กับอะไรๆ) เหมือนสายลม @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน

[๒๗๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลใหญ่ ที่มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย เป็นที่สั่งสมรัตนะต่างๆ ในกรุงพาราณสี [๒๗๗] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ซึ่งประทับนั่งอยู่กับบริวารจำนวนมาก ได้ฟังอมตธรรมที่นำมาซึ่งความยินดีแห่งจิต [๒๗๘] พระพุทธองค์ทรงมีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- เหมือนดวงจันทร์ซึ่งเป็นนักษัตรที่งาม ทรงสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ เหมือนต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง [๒๗๙] มีข่ายคือพระรัศมีแวดล้อม เหมือนสุวรรณบรรพตมีรัศมีรุ่งเรือง มีพระรัศมีล้อมรอบด้านละวา เหมือนดวงอาทิตย์มีรัศมีเป็นร้อย [๒๘๐] มีพระพักตร์เหมือนทองคำ เป็นพระชินเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นดังขุนเขาที่ให้เกิดความยินดี มีพระทัยเต็มด้วยพระกรุณา มีพระคุณดุจสาคร [๒๘๑] มีพระเกียรติปรากฏแก่ชาวโลก เหมือนภูเขาสิเนรุซึ่งเป็นขุนเขาสูงสุด มีพระยศแผ่ไป เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้มีความรู้ดังอากาศ [๒๘๒] มีพระหฤทัยไม่ข้องเกี่ยวในที่ทั้งปวงเหมือนสายลม ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ดังแผ่นดิน ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน

[๒๘๓] ไม่ถูกโลกธรรมแปดเปื้อน เหมือนดอกบัวไม่เปื้อนด้วยน้ำ ประทับอยู่ดังกองไฟที่เผาเสี้ยนตอคือวาทะชั่ว [๒๘๔] พระองค์ทรงเป็นเหมือนยาบำบัดโรค ในที่ทั้งปวง ทรงทำลายยาพิษคือกิเลสให้พินาศ ทรงประดับด้วยสุคนธชาติคือคุณ เหมือนยอดเขาคันธมาทน์ [๒๘๕] ทรงเป็นนักปราชญ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งคุณ ดังทะเลเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ และทรงเป็นผู้ประเสริฐกว่านรชน ดังม้าสินธพชาติอาชาไนย ทรงกำจัดมลทินคือกิเลส [๒๘๖] ทรงย่ำยีมารและเสนามารได้ เหมือนขุนพลผู้มีชัยโดยพิเศษ ทรงเป็นใหญ่เพราะรัตนะคือโพชฌงค์ ๗ ๑- เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นใหญ่ เพราะรัตนะ ๗ ประการ๒- ฉะนั้น [๒๘๗] ทรงเป็นผู้เยียวยาพยาธิคือโทสะเหมือนหมอใหญ่รักษาไข้ ทรงผ่าฝีคือทิฏฐิเหมือนศัลยแพทย์ผู้ประเสริฐ [๒๘๘] ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงส่องโลกให้สว่าง อันมนุษย์และเทวดาสักการะแล้ว เป็นดังดวงตะวันส่องแสงสว่างให้แก่นรชน ทรงแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท @เชิงอรรถ : @ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๓๐/๓๓๑ @ รัตนะ ๗ ประการ คือ (๑) จักกรัตนะ (จักรแก้ว) (๒) หัตถิรัตนะ (ช้างแก้ว) (๓) อัสสรัตนะ @(ม้าแก้ว) (๔) มณิรัตนะ (มณีแก้ว) (๕) อิตถีรัตนะ (นางแก้ว) (๖) คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว) @(๗) ปริณายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว) (ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๓/๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน

[๒๘๙] พระองค์ทรงพร่ำสอนอย่างนี้ว่า บุคคลจะเป็นผู้มีโภคสมบัติมากได้ก็เพราะการถวายทาน จะเข้าถึงสุคติได้ก็เพราะศีล จะดับกิเลสได้ก็เพราะการเจริญภาวนา [๒๙๐] บริษัททั้งหลายทั้งปวงฟังเทศนานั้นที่มีความเบาใจมาก ซึ่งไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด มีรสเลิศประหนึ่งน้ำอมฤต [๒๙๑] ข้าพเจ้าได้ฟังพระธรรมที่ไพเราะยิ่ง ก็เกิดความเลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า จึงถึงพระสุคตเป็นที่พึ่งนอบน้อมบูชาจนตลอดชีวิต [๒๙๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั้นได้ใช้คันธชาติ ๔ ชนิด๑- ทาพื้นพระคันธกุฎีของพระมุนีเดือนละ ๘ วัน [๒๙๓] โดยตั้งปณิธานให้สรีระที่ปราศจากกลิ่นหอมให้มีกลิ่นหอม ครั้งนั้น พระชินเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ ข้าพเจ้าผู้ต้องการได้กายมีกลิ่นหอมว่า [๒๙๔] นรชนใด ใช้ของหอมทาพื้นพระคันธกุฎีคราวเดียว ด้วยผลของกรรมนั้น นรชนนั้นเกิดในภพใดภพหนึ่ง [๒๙๕] นรชนนี้จักเป็นผู้มีกลิ่นกายหอมไปทุกๆ ชาติ จักเป็นผู้ประกอบด้วยกลิ่นคือคุณ ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน [๒๙๖] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ @เชิงอรรถ : @ คันธชาติ ๔ ชนิด คือ (๑) กลิ่นที่เกิดจากราก (๒) กลิ่นที่เกิดจากแก่น (๓) กลิ่นที่เกิดจากดอก @(๔) กลิ่นที่เกิดจากใบ (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๐/๓๐๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน

[๒๙๗] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลพราหมณ์ เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในครรภ์มารดา มารดาเป็นหญิงมีกายมีกลิ่นหอม [๒๙๘] และในเวลาที่ข้าพเจ้าคลอดจากครรภ์มารดานั้น กรุงสาวัตถีหอมฟุ้งเหมือนอบด้วยกลิ่นหอมทุกอย่าง [๒๙๙] ขณะนั้น ฝนดอกไม้ที่หอมหวล กลิ่นทิพย์ที่น่ารื่นรมย์ใจ และธูปมีค่ามากก็หอมฟุ้งไป [๓๐๐] ข้าพเจ้าเกิดในเรือนหลังใด เรือนหลังนั้น เทวดาได้ใช้ธูปและดอกไม้ ล้วนแต่มีกลิ่นหอมและเครื่องหอมมาอบ [๓๐๑] ในเวลาที่ข้าพเจ้ายังเยาว์และเจริญวัยดำรงอยู่ในปฐมวัย พระศาสดาผู้เป็นสารถีฝึกนรชน ทรงแนะนำบริษัทของพระองค์ที่เหลือแล้ว [๓๐๒] มีสาวกเหล่านั้นทั้งหมดแวดล้อมเสด็จมาถึงกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพุทธานุภาพนั้นแล้วจึงออกบวช [๓๐๓] ข้าพเจ้าเจริญธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม แล้วบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ [๓๐๔] ในคราวที่ข้าพเจ้าออกบวช ในคราวที่ข้าพเจ้าเป็นพระอรหันต์ และในคราวที่ข้าพเจ้าจักปรินิพพาน ได้มีฝนซึ่งมีกลิ่นหอม(ตกลงมา) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน

[๓๐๕] ก็กลิ่นกายที่ประเสริฐสุดของข้าพเจ้า ครอบงำจันทน์ ดอกจำปาและดอกอุบลซึ่งมีค่ามากได้ และข้าพเจ้าไปในที่ใดๆ ก็จะส่งกลิ่นฟุ้งไปทั่วเหนือกลิ่นหอมนอกนี้ได้ [๓๐๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๓๐๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๐๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระจูฬสุคันธเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จูฬสุคันธเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ภัททิยวรรคที่ ๕๕ จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

รวมอปทานที่มีในวรรค

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ลกุณฏกภัททิยเถราปทาน ๒. กังขาเรวตเถราปทาน ๓. สีวลีเถราปทาน ๔. วังคีสเถราปทาน ๕. นันทกเถราปทาน ๖. กาฬุทายีเถราปทาน ๗. อภยเถราปทาน ๘. โลมสติยเถราปทาน ๙. วนวัจฉเถราปทาน ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน ในวรรคนี้ บัณฑิตนับคาถาได้ ๓๑๖ คาถา
รวมวรรค
๑. กณิการวรรค ๒. ผลทายกวรรค ๓. ติณทายกวรรค ๔. กัจจายนวรรค ๕. ภัททิยวรรค บัณฑิตนับคาถาไว้แผนกหนึ่งรวมได้ ๙๘๔ คาถา และประกาศอปทานรวมได้ ๕๕๖ อปทาน พร้อมทั้งอุทานคาถา มีคาถารวม ๖,๒๑๘ คาถา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๓๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๒๘-๓๓๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=33&siri=140              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=33&A=3969&Z=4056                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=140              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=140&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=7129              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=140&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=7129                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap552/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap553/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap554/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap555/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap556/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap557/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap558/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap559/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap560/en/walters https://suttacentral.net/tha-ap561/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :