ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๑๖. สิทธัตถพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระสิทธัตถพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าธัมมทัสสี ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง(ปรากฏ) เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย [๒] แม้พระองค์ทรงบรรลุสัมโพธิญาณแล้ว ทรงช่วยหมู่มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาให้ข้ามพ้น ทรงบันดาลฝนคือธรรมให้ตก ช่วยชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้เย็น [๓] สาวกแม้ของพระองค์ผู้มีพระเดชไม่มีอะไรเปรียบเทียบ ได้มีการบรรลุธรรม ๓ ครั้ง เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ [๔] ต่อมา ในกาลที่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงลั่นอมตเภรีที่ภีมรัฏฐนคร เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๙๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๒ [๕] ในกาลที่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นนระผู้สูงสุด ทรงแสดงธรรมที่เวภารบรรพต เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๙๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๖. สิทธัตถพุทธวงศ์

[๖] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ ๓ ครั้ง [๗] ได้มีการประชุมของพระขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน ๓ ครั้งเหล่านี้ คือพระขีณาสพประมาณ ๑๐๐ โกฏิ ๑ ครั้ง พระขีณาสพประมาณ ๙๐ โกฏิ ๑ ครั้ง พระขีณาสพประมาณ ๘๐ โกฏิ ๑ ครั้ง [๘] สมัยนั้น เราเป็นดาบสมีชื่อว่ามงคล มีเดชรุ่งเรือง ข่มได้ยาก ทั้งประกอบด้วยอภิญญาและพละ [๙] เราได้นำผลหว้ามาถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ พระองค์ทรงรับแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า [๑๐] จงดูชฎิลดาบสผู้มีตบะแก่กล้านี้ ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป ชฎิลดาบสนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๑] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๖. สิทธัตถพุทธวงศ์

พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๖. สิทธัตถพุทธวงศ์

มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๑๒] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป [๑๓] กรุงชื่อว่าเวภาระ กษัตริย์พระนามว่าอุเทนเป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าสุผัสสาเป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๔] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือโกกาสปราสาท อุปลปราสาท และโกกนุทปราสาท [๑๕] มีนางสนมกำนัล ๔๘,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าสุมนา พระราชโอรสพระนามว่าอนุปมะ [๑๖] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงวอทองออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๑๗] พระมหาวีระพระนามว่าสิทธัตถะทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนระ ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรที่มฤคทายวัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๖. สิทธัตถพุทธวงศ์

[๑๘] พระสัมพลเถระและพระสุมิตตเถระ เป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าเรวตะเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๙] พระสีวลาเถรีและพระสุรามาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นกรรณิการ์ [๒๐] สุปปิยอุบาสกและสมุททอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก รัมมาอุบาสิกาและสุรัมมาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๑] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก ทรงงดงามดังทองคำที่ล้ำค่า รุ่งเรืองไปทั่วหมื่นจักรวาล [๒๒] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน มีพระคุณนับไม่ได้ ไม่มีบุคคลเปรียบ ผู้มีพระจักษุ ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ในโลกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี [๒๓] พระองค์ทรงแสดงพระรัศมีอย่างกว้างขวาง ทรงทำสาวกทั้งหลายให้เบิกบาน ทรงเยื้องกรายงดงามด้วยสมาบัติ พร้อมทั้งสาวกเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว [๒๔] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะทรงเป็นมุนีผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อโนมาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ ที่อโนมารามนั้น สูงถึง ๔ โยชน์ ฉะนี้แล
สิทธัตถพุทธวงศ์ที่ ๑๖ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๗๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๗๐-๖๗๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=33&siri=208              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=33&A=8045&Z=8091                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=197              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=197&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=7158              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=197&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=7158                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :