ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๑. กณิการวรรค]

๑. ตีณิกณิการปุปผิยเถราปทาน

๕๑. กณิการวรรค
หมวดว่าด้วยกรรณิการ์วิมานเป็นต้น
๑. ตีณิกณิการปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตีณิกณิการปุปผิยเถระ
(พระตีณิกณิการปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- ตรัสรู้เอง ทรงประสงค์วิเวก จึงเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์ [๒] ครั้นเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์แล้ว พระองค์ผู้เป็นมุนี ผู้เลิศ ทรงประกอบด้วยพระกรุณา เป็นบุรุษผู้สูงสุด ก็ประทับนั่งขัดสมาธิ [๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นวิทยาธรสัญจรไปในอากาศ ข้าพเจ้าถือหอกอันคม ซึ่งทำไว้ดีแล้ว เหาะไปในท้องฟ้า [๔] พระพุทธเจ้าทรงทำป่าใหญ่ให้สว่างไสว เหมือนไฟบนยอดภูเขา เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ และเหมือนต้นพญาไม้สาละซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง [๕] ข้าพเจ้าเห็นพุทธรังสี มีสีคล้ายเปลวไฟ ที่ไหม้ไม้อ้อ พวยพุ่งออกจากป่า จึงทำจิตให้เลื่อมใส [๖] ข้าพเจ้าเลือกเก็บดอกไม้อยู่ ได้เห็นดอกกรรณิการ์ที่มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นทิพย์ จึงเก็บมา ๓ ดอก ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๑. กณิการวรรค]

๑. ตีณิกณิการปุปผิยเถราปทาน

[๗] ครั้งนั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า ดอกไม้ของข้าพเจ้าทั้ง ๓ ดอก กลับขั้วขึ้นหันกลีบดอกลงทำเป็นร่มเงาเพื่อพระศาสดา [๘] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๙] ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น มีวิมานสูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์ ซึ่งบุญกรรมสร้างขึ้นอย่างสวยงามเพื่อข้าพเจ้า รู้จักกันว่ากรรณิการ์วิมาน [๑๐] ปราสาท ๗ ชั้น สูง ๑,๐๐๐ ชั่วลูกธนู สะพรั่งไปด้วยธง พราวไปด้วยแก้วมณีสีเขียว และป้อม ๑๐๐,๐๐๐ ป้อม ปรากฏในวิมานของข้าพเจ้า [๑๑] บัลลังก์ทองคำ บัลลังก์แก้วมณี บัลลังก์แก้วทับทิม และบัลลังก์แก้วผลึก เกิดขึ้นตามปรารถนาตามประสงค์ [๑๒] ที่นอนมีราคามาก ยัดด้วยนุ่น มีลวดลายต่างๆ มีขนตั้งขึ้นด้านเดียวและหมอนพร้อม [๑๓] ข้าพเจ้ามีหมู่เทวดาห้อมล้อม ออกจากวิมานเที่ยวจาริกไปในเทวโลก ในเวลาที่ปรารถนาจะไป [๑๔] ยืนอยู่ภายใต้ดอกไม้ ข้าพเจ้ามีดอกไม้เป็นเครื่องมุงบังอยู่เบื้องบน สถานที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์มุงบังไปด้วยดอกกรรณิการ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๑. กณิการวรรค]

๑. ตีณิกณิการปุปผิยเถราปทาน

[๑๕] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น บรรเลงกล่อมข้าพเจ้า ทั้งเช้าและเย็น ไม่หยุดหย่อน แวดล้อมข้าพเจ้าเป็นนิตย์ ตลอดคืนตลอดวัน [๑๖] ในวิมานนั้นข้าพเจ้ารื่นรมย์ด้วยการฟ้อน การขับร้อง การเคาะกังสดาล และการประโคม เป็นผู้หมกมุ่นในกาม บันเทิงอยู่ด้วยความยินดีในการเล่น [๑๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบริโภคและดื่มอยู่ในวิมานนั้น บันเทิงอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยหมู่นางอัปสรบันเทิงอยู่ในวิมานอันอุดม [๑๘] ข้าพเจ้าครองเทวสมบัติตลอด ๕๐๐ ชาติ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๐๐ ชาติ และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๑๙] เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมได้โภคะมากมาย ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๐] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพ คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์ คติอื่นข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๑] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน ๒ ตระกูล คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลต่ำข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๑. กณิการวรรค]

๑. ตีณิกณิการปุปผิยเถราปทาน

[๒๒] ยานคือช้าง ยานคือม้า วอ และคานหาม ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๓] หมู่ทาสหญิง ทาสชาย และเหล่านารี ที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๔] ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๕] ผ้าใหม่ ผลไม้ใหม่ โภชนะที่มีรสเลิศใหม่ๆ ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๖] (คำเชื้อเชิญเช่นนี้ว่า) เชิญเคี้ยวกินสิ่งนี้ เชิญบริโภคสิ่งนี้ เชิญนอนบนที่นอนนี้ ข้าพเจ้าก็ได้รับมาครบถ้วน นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๗] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เขาบูชาในที่ทุกสถาน มียศสูงส่ง มีพวกมาก มีบริวารไม่แตกแยกกันทุกเมื่อ บรรดาญาติทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๒๘] ข้าพเจ้าไม่รู้จักความหนาว ความร้อน ทั้งไม่มีความเร่าร้อน อนึ่ง ทุกข์ทางใจก็ไม่มีในหทัยของข้าพเจ้า [๒๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๑. กณิการวรรค]

๑. ตีณิกณิการปุปผิยเถราปทาน

ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๓๐] ข้าพเจ้าถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว จุติจากเทวโลก มาเกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลที่มั่งคั่งในกรุงสาวัตถี [๓๑] ข้าพเจ้าได้ละกามคุณ ๕ ออกบวชเป็นบรรพชิต มีอายุได้ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๓๒] พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงทราบคุณวิเศษของข้าพเจ้า จึงให้ข้าพเจ้าอุปสมบท ข้าพเจ้ายังมีอายุน้อยก็ได้เป็นปูชนียบุคคล นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๓๓] ทิพยจักษุของข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ข้าพเจ้าฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จในอภิญญา นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๓๔] ข้าพเจ้าบรรลุปฏิสัมภิทา ฉลาดในอิทธิบาท ถึงความสำเร็จในพระสัทธรรม นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๓๕] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า [๓๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๑. กณิการวรรค]

๒. เอกปัตตทายกเถราปทาน

[๓๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระตีณิกณิการปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตีณิกณิการปุปผิยเถราปทานที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๑๘๔-๑๘๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=33&siri=91              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=33&A=2115&Z=2180                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=91              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=91&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=91&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap503/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :