ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๔. จูฬโคปาลสูตร
อุปมาด้วยนายโคบาล
[๓๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองอุกกเวลา แคว้นวัชชี. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.
อุปมานายโคบาลกับสมณพราหมณ์
[๓๘๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวมคธรัฐ เป็นชาติปัญญาเขลา มิได้พิจารณาในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝน มิได้ พิจารณาฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้ามโดยสถานที่มิใช่ท่าไปสู่ฝั่งข้างโน้นซึ่งเป็นฝั่งเหนือ แห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ฝูงโคว่ายไปเข้าวนในกระแสกลางแม่น้ำ คงคา ถึงความพินาศในแม่น้ำนั้น นั่นเป็นเพราะอะไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นเพราะนาย โคบาลชาวมคธรัฐนั้น มีปัญญาเขลา มิได้พิจารณาในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝน มิได้พิจารณา ฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้ามโดยสถานที่มิใช่ท่าไปสู่ฝั่งข้างโน้นซึ่งเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ ชนชาววิเทหรัฐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่ไม่ฉลาดในโลกนี้ ไม่ฉลาดในโลกหน้า ไม่ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมาร ไม่ฉลาดในนวโลกุตร ธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมาร ไม่ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ไม่ฉลาดในนวโลกุตร ธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมัจจุ ชนเหล่าใด นับถือถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นว่าเป็น ถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ฉันนั้นนั่นแล. [๓๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวมคธรัฐเป็นชาติมีปัญญา พิจารณาในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝน พิจารณาฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้ามโดย สถานที่เป็นท่าไปสู่ฝั่งข้างโน้นซึ่งเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐ นายโคบาลนั้น ให้เหล่า โคที่เป็นพ่อฝูงนำฝูงข้ามไปก่อน โคเหล่านั้น ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไปได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ต่อนั้น จึงให้เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ข้ามไป โคเหล่านั้น ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ต่อนั้น จึงให้เหล่าโคหนุ่มโคสาวข้ามไป โคเหล่านั้น ว่ายตัดกระแสแม่น้ำ คงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ต่อนั้น จึงให้พวกลูกโคที่มีกำลังยังน้อยข้ามไป ลูกโคเหล่านั้น ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้น ลอยไปตามเสียงโคเมียที่เป็นแม่ แม้ลูกโคนั้น ก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำ คงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี นั่นเป็นเพราะอะไร? เพราะนายโคบาลนั้นเป็นคนฉลาด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างนายโคบาลชาวมคธรัฐนั้นเป็นชาติมีปัญญา พิจารณาในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝน พิจารณาฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้ามโดยสถานที่เป็นท่าไปสู่ฝั่ง ข้างโน้นซึ่งเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ พวกใดพวกหนึ่ง ที่ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในเตภูมิธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ฉลาด ในนวโลกุตรธรรม อันไม่เป็นแก่งแห่งมัจจุ ชนเหล่าใด นับถือถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์ พวกนั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือของชนเหล่านั้น จักเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน ฉันนั้นนั่นแล.
อุปมาภิกษุตัดกระแสมารเหมือนโคตัดกระแสน้ำ
[๓๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นพ่อฝูง เป็นผู้นำฝูง ว่ายตัดกระแสแม่น้ำ คงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่เป็นอรหันต์ มี อาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีกิเลสเครื่องประกอบไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ทั่วถึง โดยชอบ พวกภิกษุแม้นั้น ว่ายตัดกระแสมารขวางไป ถึงฝั่งแล้วโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่ง โดยสวัสดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการทั้งหมด สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่ต้องเวียนกลับมาจากโลกนั้น แม้ภิกษุพวก นั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคหนุ่มและโคสาว ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีสัญโญชน์ ๓ หมดสิ้นไป และมีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง เป็นสกทาคามีบุคคล มาสู่โลกนี้คราวเดียว ก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุพวกนั้น ก็ชื่อว่า ตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าลูกโค ที่มีกำลังยังน้อย ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีสัญโญชน์ ๓ หมดสิ้นไป เป็นโสดาบัน มีความเป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า แม้พวกภิกษุนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวาง ไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้น ลอย ไปตามเสียงโคเมียที่เป็นแม่ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่เป็นมัคคสมังคีบุคคลชั้นต้น ที่เป็นธัมมานุสารี และที่เป็นสัทธานุสารี แม้พวกภิกษุนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดย สวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราแล เป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดใน โลกหน้า ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็น แก่งแห่งมาร ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็น แก่งแห่งมัจจุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใด จักนับถือถ้อยคำของเรานั้นว่า เป็นถ้อยคำ อันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข ตลอดกาลนาน. พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า โลกนี้และโลกหน้า เราผู้รู้อยู่ ประกาศดีแล้ว เราเป็นผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดซึ่งสรรพโลก ทั้งที่เป็นโลกอันมารถึงได้ ทั้งที่เป็นโลกอัน มัจจุถึงไม่ได้ด้วยความรู้ยิ่ง จึงได้เปิดอริยมรรคอันเป็นประตูแห่งอมตะ เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม กระแสแห่งมารอันลามก เราตัดแล้ว กำจัดแล้ว ทำให้ปราศจากความเหิมแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจง เป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ ปรารถนาถึงธรรมอันเป็นแดนเกษมเถิด ดังนี้.
จบ จูฬโคปาลสูตร ที่ ๔.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๗๒๔๗-๗๓๒๒ หน้าที่ ๒๙๖-๒๙๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7247&Z=7322&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=34              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=388              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [388-391] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=12&item=388&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=4410              The Pali Tipitaka in Roman :- [388-391] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=12&item=388&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=4410              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i388-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.034x.olen.html https://suttacentral.net/mn34/en/sujato https://suttacentral.net/mn34/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :