ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๕. โพธิราชกุมารสูตร
เรื่องโพธิราชกุมาร
[๔๘๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามิคทายวัน เขตนครสุงสุมารคิระ ใน ภัคคชบท. ก็สมัยนั้น ปราสาทชื่อโกกนุท ของพระราชกุมารพระนามว่าโพธิ สร้างแล้วใหม่ๆ สมณพราหมณ์หรือมนุษย์คนใดคนหนึ่งยังไม่ได้อยู่. ครั้งนั้น โพธิราชกุมารเรียกมาณพนามว่า สัญชิกาบุตรมาว่า มานี่แน่ เพื่อนสัญชิกาบุตร ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจงถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามพระผู้มีพระภาค ผู้มีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า มีพระกำลัง ทรงพระสำราญ ตามคำ ของเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพธิราชกุมารถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงพระผู้มีพระภาคผู้มีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้ กระเปร่า มีพระกำลัง ทรงพระสำราญ และจงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี- *พระภาคกับภิกษุสงฆ์ จงรับภัตตาหารเพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ของโพธิราชกุมารเถิด. มาณพสัญชิกา- *บุตรรับสั่งโพธิราชกุมารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๔๘๗] ครั้นมาณพสัญชิกาบุตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โพธิราชกุมารถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้าและรับสั่งถามถึง พระโคดมผู้เจริญ ผู้มีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงมีพระกำลัง ทรงพระสำราญ และรับสั่งมาอย่างนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญกับพระภิกษุสงฆ์ จงรับภัตตาหาร เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ของโพธิราชกุมารเถิด. พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณีภาพ. ครั้งนั้น มาณพสัญชิกาบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าโพธิราชกุมารแล้วทูลว่า เกล้ากระหม่อมได้กราบทูลพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ตาม รับสั่งของพระองค์แล้ว และพระสมณโคดมทรงรับนิมนต์แล้ว. พอล่วงราตรีนั้นไป โพธิราชกุมาร รับสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอย่างประณีตในนิเวศน์ และรับสั่งให้เอาผ้าขาวปูลาดโกกนุท- *ปราสาทตลอดถึงบันไดขั้นสุด แล้วตรัสเรียกมาณพสัญชิกาบุตรมาว่า มานี่แน่ เพื่อนสัญชิการบุตร ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับแล้ว จงกราบทูลภัตกาลว่า ได้เวลาแล้ว พระเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว. มาณพสัญชิกาบุตรรับสั่งโพธิราชกุมารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังที่ประทับ กราบทูลภัตกาลว่า ได้เวลาแล้ว พระโคดมผู้เจริญ ภัตตาหารสำเร็จแล้ว.
พระพุทธเจ้าไม่ทรงเหยียบผ้าขาว
[๔๘๘] ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของโพธิราชกุมาร. สมัยนั้น โพธิราชกุมารประทับยืนคอยรับเสด็จ พระผู้มีพระภาคอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู. ได้ทรงเห็นพระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมาแต่ไกล จึง เสด็จออกต้อนรับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วเสด็จนำหน้าเข้าไปยังโกกนุทปราสาท. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคหยุดประทับอยู่ที่บันไดขั้นสุด. โพธิราชกุมารจึงกราบทูลว่า ขอเชิญ พระผู้มีพระภาคทรงเหยียบผ้าขาวไปเถิด พระเจ้าข้า ขอเชิญพระสุคตเจ้าทรงเหยียบผ้าขาวไปเถิด พระเจ้าข้า ข้อนี้จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนาน. เมื่อ โพธิราชกุมารกราบทูลเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่งเสีย. แม้ครั้งที่สอง โพธิราชกุมารก็ กราบทูลว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคทรงเหยียบผ้าขาวไปเถิด พระเจ้าข้า ขอเชิญสุคตเจ้าทรงเหยียบ ผ้าขาวไปเถิด พระเจ้าข้า ข้อนี้จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอด กาลนาน. เมื่อโพธิราชกุมารทูลเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่งเสีย แม้ครั้งที่สาม โพธิราชกุมาร ก็กราบทูลว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคทรงเหยียบผ้าขาวไปเถิด พระเจ้าข้า ขอเชิญพระสุคตเจ้า ทรงเหยียบผ้าขาวไปเถิด พระเจ้าข้า ข้อนี้จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่หม่อมฉัน ตลอดกาลนาน. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทอดพระเนตรท่านพระอานนท์. ท่านพระอานนท์ ได้ถวายพระพรว่าดูกรพระราชกุมาร จงเก็บผ้าขาวเสียเถิด พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยียบแผ่นผ้า พระตถาคตเจ้าทรงแลดูประชุมชนผู้เกิดในภายหลัง. โพธิราชกุมารรับสั่งให้เก็บผ้าแล้วให้ปูลาด อาสนะที่โกกนุทปราสาทชั้นบน. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จขึ้นโกกนุทปราสาท แล้วประทับ นั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. โพธิราชกุมารทรงอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุขให้อิ่มหนำเพียงพอ ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์. ครั้นพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว. โพธิราชกุมารถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยความสุขไม่มี ความสุขอันบุคคล จะพึงถึงได้ด้วยความทุกข์แล.
การเข้าไปหาอาฬารดาบส
[๔๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ก่อนแต่ตรัสรู้ แม้เมื่ออาตมภาพยังไม่ได้ ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็มีความคิดเห็นว่า ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยความสุขไม่มี ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยทุกข์แล ดูกรราชกุมาร สมัยต่อมา เมื่ออาตมภาพยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยวัยกำลังเจริญ เป็นปฐมวัย เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนา (จะให้บวช) ร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ ได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต. ครั้นบวชอย่างนี้แล้ว แสวงหาว่าอะไรจะเป็นกุศล ค้นคว้าสันติวรบทอันไม่มีสิ่งอื่นยิ่งขึ้น ไปกว่า จึงได้เข้าไปอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านกาลามะ ข้าพเจ้า ปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพกล่าวเช่นนี้แล้ว อาฬารดาบส กาลามโคตรได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ท่านจงอยู่เถิด ธรรมนี้เป็นเช่นเดียวกับธรรม ที่บุรุษผู้ฉลาด พึงทำลัทธิของอาจารย์ตนให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วบรรลุไม่นานเลย อาตมภาพเล่าเรียนธรรมนั้นได้โดยฉับพลันไม่นานเลย. กล่าวญาณวาทและเถรวาทได้ด้วยอาการ เพียงหุบปากเจรจาเท่านั้น อนึ่ง ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นปฏิญาณได้ว่าเรารู้เราเห็น. อาตมภาพนั้น มีความคิดว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร จะประกาศได้ว่า เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงศรัทธาเท่านั้น ดังนี้ ก็หาไม่ ที่จริงอาฬารดาบส กาลามโคตร รู้เห็นธรรมนี้อยู่. ครั้นแล้วอาตมภาพเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วได้ถามว่า ดูกรท่าน กาลามะ ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุแล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียง เท่าไรหนอ? เมื่ออาตมภาพกล่าวเช่นนี้แล้ว อาฬารดาบส กาลามโคตรได้ประกาศอากิญจัญญาย- *ตนะ. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้น มีศรัทธาหามิได้ ถึงเรา ก็มีศรัทธา อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้น มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา หามิได้ ถึงเราก็มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา อย่ากระนั้นเลย เราพึงตั้งความเพียรเพื่อทำ ธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว เข้าถึงอยู่นั้น ให้แจ้งเถิด. อาตมภาพนั้นทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วบรรลุธรรมนั้นโดยฉับพลัน ไม่นานเลย. ครั้นแล้วได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านกาลามะ ท่านทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนี้ประกาศให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ? อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล. อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส แม้เราก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุ ธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภของเราทั้งหลายหนอ เราทั้งหลาย ได้ดีแล้ว ที่เราทั้งหลายได้พบท่านสพรหมจารีเช่นท่าน เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมใดแล้วประกาศให้ทราบ ท่านก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนั้นอยู่ ท่านทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมใด เราก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนั้นแล้วประกาศให้ทราบ ดังนี้ เรารู้ธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด เราก็รู้ธรรมนั้น ดังนี้ เราเช่นใด ท่านก็เช่นนั้น ท่านเช่นใด เราก็เช่นนั้น ดังนี้ ดูกรอาวุโส บัดนี้ เราทั้งสองจงมาอยู่ช่วยกันบริหารหมู่คณะเถิด. ดูกรราชกุมาร อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นอาจารย์ของอาตมภาพ ยังตั้งให้อาตมภาพผู้เป็นอันเตวาสิกไว้เสมอ ตน และยังบูชาอาตมภาพด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ด้วยประการฉะนี้. อาตมภาพนั้นมีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงให้อุปบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น. อาตมภาพ ไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นแล้วหลีกไปเสีย.
การเข้าไปหาอุทกดาบส
[๔๙๐] ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพแสวงหาอะไรเป็นกุศล ค้นคว้าสันติวรบทอันไม่มี สิ่งอื่นยิ่งไปกว่า จึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนา จะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. เมื่ออาตมภาพกล่าวเช่นนี้แล้ว อุทกดาบส รามบุตรได้ กล่าวว่า อยู่เถิดท่าน บุรุษผู้ฉลาดพึงทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ไม่นานเลยก็บรรลุลัทธิ ของอาจารย์ตนแล้ว อยู่ในธรรมใด ธรรมนี้เช่นนั้น. อาตมภาพเล่าเรียนธรรมนั้นได้โดยฉับพลัน ไม่นานเลย. กล่าวญาณวาทและเถรวาทได้ด้วยอาการเพียงหุบปากเจรจาเท่านั้น อนึ่ง ทั้งอาตมภาพ และผู้อื่นปฏิญาณได้ว่า เรารู้เราเห็น. อาตมภาพมีความคิดเห็นว่า ท่านรามบุตรจะได้ประกาศว่า เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนี้ด้วยอาการเพียงศรัทธาเท่านั้น ดังนี้ ก็หาไม่ ที่จริงท่านรามบุตรรู้เห็นธรรมนี้อยู่. ครั้นแล้วอาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร แล้วได้ ถามว่า ดูกรท่านรามะ ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุแล้วประกาศให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ. เมื่ออาตมภาพกล่าวเช่นนี้ อุทกดาบส รามบุตรได้ประกาศเนวสัญญา- *นาสัญญายตนะ. อาตมภาพมีความคิดเห็นว่าท่านรามะเท่านั้นมีศรัทธาหามิได้ ถึงเราก็มีศรัทธา ท่านรามะเท่านั้น มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญาหามิได้ ถึงเราก็มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา อย่ากระนั้นเลย เราพึงตั้งความเพียรเพื่อทำธรรมที่ท่านรามะประกาศ ว่า ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วบรรลุธรรมนั้นให้แจ้งเถิด. อาตมภาพได้ทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วบรรลุธรรมนั้นโดยฉับพลัน ไม่นานเลย. ครั้นแล้วอาตมภาพเข้าไปหา อุทกดาบส รามบุตรแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านรามะ ท่านทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุ ธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ? อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุ ธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส แม้เราก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึง ธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายได้ดีแล้ว ที่เราทั้งหลายได้พบท่านสพรหมจารีเช่นท่าน รามะทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึง ธรรมใดแล้วประกาศให้ทราบ ท่านก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนั้นอยู่ ท่าน ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมใด รามะก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนั้นแล้วประกาศให้ทราบ ดังนี้ รามะรู้ยิ่งธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด รามะก็รู้ยิ่งธรรมนั้น ดังนี้ รามะเช่นใด ท่านก็เช่นนั้น ท่านเช่นใด รามะก็เช่นนั้น ดังนี้ ดูกรอาวุโส บัดนี้เชิญท่านมาบริหารหมู่คณะนี้เถิด. ดูกรราชกุมาร อุทกดาบสรามบุตรเป็นเพื่อน สพรหมจารีของอาตมภาพ ตั้งอาตมภาพไว้ในตำแหน่งอาจารย์ และบูชาอาตมภาพด้วยการบูชา อย่างยิ่ง. อาตมภาพ มีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ สนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงให้อุปบัติใน เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมเท่านั้น. อาตมภาพไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นหลีกไป. [๔๙๑] ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพแสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นคว้าสันติวรบท อันไม่มีสิ่งอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า เที่ยวจาริกไปในมคธชนบทโดยลำดับ บรรลุถึงอุรุเวลาเสนานิคม. ณ ที่นั้น อาตมภาพได้เห็นภาคพื้นน่ารื่นรมย์ มีไพรสณฑ์น่าเลื่อมใส มีแม่น้ำไหลอยู่ น้ำเย็นจืด สนิท มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ และมีโคจรคามโดยรอบ. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ภาคพื้นน่ารื่นรมย์หนอ ไพรสณฑ์ ก็น่าเลื่อมใส แม่น้ำก็ไหล น้ำเย็นจืดสนิท ท่าน้ำก็ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ และโคจรคามก็โดยรอบ สถานที่เช่นนี้สมควรเป็นที่ตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการ ความเพียรหนอ ดูกรราชกุมาร อาตมภาพนั่งอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง ด้วยคิดเห็นว่า สถานที่เช่นนี้ สมควรเป็นที่ทำความเพียร.
อุปมา ๓ ข้อ
[๔๙๒] ดูกรราชกุมาร ครั้งนั้น อุปมาสามข้ออันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่ได้เคยฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแก่อาตมภาพ. ๑. เปรียบเหมือนไม้สดชุ่มด้วยยางทั้งตั้งอยู่ในน้ำ. ถ้าบุรุษพึงมาด้วยหวังว่า จักถือเอา ไม้นั้นมาสีให้เกิดไฟ จักทำไฟให้ปรากฏ ดังนี้. ดูกรราชกุมาร พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความ ข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้สดชุ่มด้วยยางทั้งตั้งอยู่ในน้ำมาสีไฟ พึงให้ไฟเกิด พึงทำไฟให้ ปรากฏได้บ้างหรือ? โพธิราชกุมารทูลว่า ข้อนี้ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม้ยังสด ชุ่มด้วยยางทั้งตั้งอยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็จะพึงเหน็ดเหนื่อยลำบากกายเปล่า. ดูกรราชกุมาร ข้อนี้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งก็ฉันนั้น มีกาย ยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหาย ในกาม ยังมีความเร่าร้อนเพราะกาม ยังละไม่ได้ด้วยดี ยังให้สงบระงับไม่ได้ด้วยดีในภายใน. ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ถึงจะไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ก็ไม่ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่หนึ่งนี้แล อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแก่อาตมภาพ. [๔๙๓] ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่สอง อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแก่อาตมภาพ. เปรียบเหมือนไม้สดชุ่มด้วยยางตั้งอยู่บนบกไกลน้ำ. ถ้าบุรุษพึงมาด้วย หวังว่า จะเอาไม้นั้นมาสีให้เกิดไฟ จักทำไฟให้ปรากฏ. ดูกรราชกุมาร พระองค์จะเข้าพระทัย ความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้สดชุ่มด้วยยางตั้งอยู่บนบกไกลน้ำมาสีไฟ พึงให้ไฟเกิด พึงทำไฟให้ปรากฏได้บ้างหรือ? ข้อนี้ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม้นั้นยังสดชุ่มด้วยยาง แม้จะตั้ง อยู่บนบกไกลน้ำ บุรุษนั้นก็จะพึงเหน็ดเหนื่อยลำบากกายเปล่า. ดูกรราชกุมาร ข้อนี้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจาก กาม แต่ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม มีความกระหายในกาม มีความเร่าร้อนเพราะกาม ยังละไม่ได้ด้วยดี ยังให้สงบระงับไม่ได้ด้วยดีในภายใน. ท่านสมณ- *พราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ถึงแม้ จะไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ก็ไม่ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า. ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่สองนี้ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแก่อาตมภาพ. [๔๙๔] ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่สาม อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแก่อาตมภาพ เปรียบเหมือนไม้แห้งเกราะทั้งตั้งอยู่บนบกไกลน้ำ. ถ้าบุรุษพึงมาด้วย หวังว่า จักเอาไม้นั้นมาสีให้ไฟเกิด จักทำไฟให้ปรากฏ ดังนี้. ดูกรราชกุมาร พระองค์จะเข้า พระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้แห้งเกราะทั้งตั้งอยู่บนบกไกลน้ำนั้นมาสีไฟ พึงให้ไฟ เกิด พึงทำให้ไฟปรากฏได้บ้างหรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม้นั้นแห้งเกราะ และทั้งตั้งอยู่บนบก ไกลน้ำ. ดูกรราชกุมาร ข้อนี้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นแล มีกาย หลีกออกจากกามแล้ว ไม่มีความพอใจในกาม ไม่เสน่หาในกาม ไม่หลงอยู่ในกาม ไม่ระหาย ในกาม ไม่เร่าร้อนเพราะกาม ละได้ด้วยดี ให้สงบระงับด้วยดีในภายใน ท่านสมณพราหมณ์ เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ถึงจะไม่ได้ เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ก็ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อปัญญา เครื่องตรัสรู้ อันไม่มีกรรมอื่นยิ่งกว่าได้. ดูกรราชกุมาร อุปมาข้อที่สามนี้อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ ฟังมาในกาลก่อนนี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ. ดูกรราชกุมาร อุปมาสามข้ออันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่ เคยได้ฟังมาในกาลก่อนเหล่านี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ.
ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา
[๔๙๕] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพมีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงกดฟันด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่น ให้ร้อนจัด. แล้วอาตมภาพก็กดฟันด้วยฟัน กดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่น ให้ร้อนจัด. เมื่ออาตมภาพกดฟันด้วยฟัน กด เพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่น ให้เร่าร้อนอยู่ เหงื่อก็ไหลจากรักแร้. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังพึงจับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วกดบีบไว้ให้เร่าร้อน ก็ฉันนั้น เหงื่อไหลออกจากรักแร้. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้ว จะย่อ หย่อนก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้แล้ว จะฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่การที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ ผู้อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นแลเสียดแทง กระสับกระส่ายไม่สงบระงับ. [๔๙๖] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพก็กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก. เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก เสียงลมที่ออกทางช่องหูทั้งสอง ดังเหลือประมาณ. เปรียบเหมือนเสียงสูบของช่างทองที่กำลังสูบอยู่ดังเหลือประมาณ ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากและทางจมูก เสียงลมที่ออกทางช่องหู ทั้งสองก็ดังเหลือประมาณ ฉันนั้น. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้วจะย่อ หย่อนก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้แล้วจะได้ฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ ผู้อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว. [๔๙๗] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและ ทางช่องหู. เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ลมกล้า ยิ่งย่อมเสียดแทงศีรษะ. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังพึงเชือดศีรษะด้วยมีดโกนอันคม ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ลมกล้ายิ่ง ย่อมเสียดแทงศีรษะ ฉันนั้น. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อน ก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้แล้วจะได้ฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ ผู้ อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว. [๔๙๘] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและ ทางช่องหู. เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็ปวด ศีรษะเหลือทนที่ศีรษะ. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังรัดศีรษะด้วยเชือกอันเขม็ง ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็ปวดศีรษะ เหลือทนที่ศีรษะ ฉันนั้น. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หา มิได้ สติที่ตั้งไว้จะได้ฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ ผู้อันความ เพียรที่ทนได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว. [๔๙๙] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและ ทางช่องหู. ลมกล้าเหลือประมาณ ย่อมเสียดแทงท้อง. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนนายโคฆาต หรือลูกมือนายโคฆาตผู้ขยัน พึงเชือดท้องโคด้วยมีดเชือดโคอันคม ฉันใด เมื่ออาตมภาพ กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ลมกล้าเหลือประมาณ ย่อมเสียด แทงท้อง ฉันนั้น. ดูกรราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้จะได้ฟั่นเฟือนก็หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพผู้อันความเพียรที่ทน ได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว. [๕๐๐] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงเพ่งฌานอันไม่มี ลมปราณเป็นอารมณ์เถิด. แล้วอาตมภาพจึงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและ ทางช่องหู. เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มี ความร้อนในกายเหลือทน. ดูกรราชกุมาร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังสองคน ช่วยกันจับบุรุษมี กำลังน้อยที่แขนคนละข้าง ย่างรมไว้ที่หลุมถ่านเพลิง ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมอัสสาสะ- *ปัสสาสะ ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีความร้อนในกายเหลือทน ฉันนั้น. ดูกร ราชกุมาร ก็ความเพียรที่อาตมภาพปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หามิได้ สติที่ตั้งไว้จะได้ฟั่นเฟือนก็ หามิได้ แต่กายที่ปรารภความเพียรของอาตมภาพ ผู้อันความเพียรที่ทนได้ยากนั้นและเสียดแทง ไม่สงบระงับแล้ว. [๕๐๑] ดูกรราชกุมาร โอ เทวดาทั้งหลายเห็นอาตมภาพแล้ว กล่าวกันอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทำกาละเสียแล้ว. เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ทำกาละ แล้ว แต่กำลังทำกาละ. เทวดาบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ทำกาละแล้ว กำลัง ทำกาละก็หามิได้ พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ความอยู่เห็นปานนี้ นับว่าเป็นวิหารธรรม ของพระอรหันต์. [๕๐๒] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงปฏิบัติเพื่อตัด อาหารเสียโดยประการทั้งปวงเถิด. ครั้งนั้น เทวดาเหล่านั้นเข้ามาหาอาตมภาพแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าปฏิบัติเพื่อตัดอาหารเสียโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติเพื่อ ตัดอาหารเสียโดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าทั้งหลายจักแทรกโอชาอันเป็นทิพย์ตามขุมขนของท่าน ท่านจักได้ยังชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยโอชาอันเป็นทิพย์นั้น. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า เราเองด้วย พึงปฏิญาณการไม่บริโภคอาหารโดยประการทั้งปวง เทวดาเหล่านี้ด้วยพึงแทรกโอชาอันเป็นทิพย์ ตามขุมขนของเรา เราพึงยังชีวิตให้เป็นไปด้วยโอชาอันเป็นทิพย์นั้นด้วย ข้อนั้นพึงเป็นมุสา แก่เรา ดังนี้. อาตมภาพบอกเลิกกะเทวดาเหล่านั้น จึงกล่าวว่าอย่าเลย. แล้วอาตมภาพได้มี ความคิดเห็นว่า ถ้ากระไร เราพึงบริโภคอาหารลดลงวันละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อ ถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง. อาตมภาพจึงบริโภค อาหารลดลงวันละน้อย คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อ ถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง. เมื่อบริโภคอาหารลดลงวันละน้อยๆ คือ วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง กายก็ผอม เหลือเกิน. [๕๐๓] เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นเอง อวัยวะน้อยใหญ่ของอาตมภาพย่อมเป็น เหมือนเถาวัลย์มีข้อมาก หรือเถาวัลย์มีข้อดำ ฉะนั้น. ตะโพกของอาตมภาพเป็นเหมือนเท้าอูฐ ฉะนั้น. กระดูกสันหลังของอาตมภาพผุดระกะ เปรียบเหมือนเถาวัฏฏนาวฬี ฉะนั้น. ซี่โครง ของอาตมภาพขึ้นนูนเป็นร่องๆ ดังกลอนศาลาเก่ามีเครื่องมุงอันหล่นโทรมอยู่ ฉะนั้น. ดวงตา ของอาตมภาพถล่มลึกเข้าไปในเบ้าตา ประหนึ่งดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำลึก ฉะนั้น. ผิวศีรษะ ของอาตมภาพที่รับสัมผัสอยู่ก็เหี่ยวแห้ง ดุจดังผลน้ำเต้าที่ตัดมาสดๆ อันลมและแดดกระทบอยู่ ก็เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น. อาตมภาพคิดว่า จะลูบผิวหนังท้องก็จับถูกกระดูกสันหลัง คิดว่า จะลูบ กระดูกสันหลังก็จับถูกผิวหนังท้อง. ผิวหนังท้องกับกระดูกสันหลังของอาตมภาพติดถึงกัน. เมื่อ อาตมภาพคิดว่าจะถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ ก็เซซวนล้มลงในที่นั้นเอง. เมื่อจะให้กายนี้แลมี ความสบาย จึงเอาฝ่ามือลูบตัว. เมื่ออาตมภาพเอาฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายมีรากเน่าก็หล่นตก จากกาย. มนุษย์ทั้งหลายเห็นอาตมภาพแล้วกล่าวกันอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมดำไป. มนุษย์ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ดำเป็นแต่คล้ำไป. มนุษย์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า จะ ว่าพระสมณโคดมดำไปก็ไม่ใช่ จะว่าคล้ำไปก็ไม่ใช่ เป็นแต่พร้อยไป. ดูกรราชกุมาร ฉวีวรรณ อันบริสุทธิ์ผุดผ่องของอาตมภาพ ถูกกำจัดเสียแล้ว เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นเอง. [๕๐๔] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียง เท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคต จักได้เสวยทุกขเวทนา อันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ จักไม่ยิ่งไปกว่านี้. สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน ได้เสวยอยู่ซึ่งทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ จะไม่ยิ่งไปกว่านี้. แต่เราก็ไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณ- *ทัสสนวิเสส (ความรู้ความเห็นของพระอริยะอันวิเศษอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์) ด้วย ทุกกรกิริยาที่เผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางเพื่อรู้อย่างอื่นกระมังหนอ.
กลับเสวยพระกระยาหารหยาบ
[๕๐๕] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า เราจำได้อยู่ เมื่องานวัปปมงคล ของท้าวศากยะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้าอันเยือกเย็น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้แลหนอ พึงเป็นทางเพื่อ ตรัสรู้. อาตมภาพได้มีความรู้สึกอันแล่นไปตามสติว่าทางนี้แหละ เป็นทางเพื่อตรัสรู้. อาตมภาพ ได้มีความคิดเห็นว่า เราจะกลัวแต่สุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมหรือ. และมี ความคิดเห็นต่อไปว่า เราไม่กลัวแต่สุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมละ. การที่ บุคคลผู้มีกายผอมเหลือเกินอย่างนี้ จะถึงความสุขนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงบริโภค อาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมสดเถิด. อาตมภาพจึงบริโภคอาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมสด. ก็สมัยนั้น ปัญจวัคคีย์ภิกษุ บำรุงอาตมภาพอยู่ด้วยหวังว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใด ก็จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย. นับแต่อาตมภาพบริโภคอาหารหยาบคือข้าวสุก ขนมสด. ปัญจวัคคีย์ภิกษุก็พากันเบื่อหน่ายจากอาตมภาพหลีกไปด้วยความเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้ มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากไปเสียแล้ว. ครั้นอาตมภาพบริโภคอาหาร หยาบมีกำลังขึ้นแล้ว ก็สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี วิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขผู้ได้ฌานเกิดแต่สมาธิอยู่. มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ตติยฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข. บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
ได้ญาณ ๓
[๕๐๖] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. อาตมภาพนั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ อาตมภาพนั้น ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วย ประการฉะนี้. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่หนึ่งที่อาตมภาพได้บรรลุแล้ว ในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่ อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่. [๕๐๗] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ ทั้งหลาย อาตมภาพนั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่สองที่อาตมภาพ ได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่. [๕๐๘] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่ออาตมภาพนั้น รู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่สาม ที่อาตมภาพได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืด ถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไป แล้วอยู่.
ทรงมีความขวนขวายน้อย
[๕๐๙] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพนั้นได้มีความคิดเห็นว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็น ธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึก เป็นธรรมละเอียด อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง. ก็หมู่สัตว์นี้ มีความอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในความอาลัย บันเทิงนักในความอาลัย. ก็การที่หมู่สัตว์ผู้มี ความอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในความอาลัย บันเทิงนักในความอาลัย จะเห็นฐานะนี้ได้โดยยาก คือ สภาพที่อาศัยกันเกิดขึ้นเพราะความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย. แม้ฐานะนี้ก็เห็นได้ยาก คือ สภาพ เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความปราศจากความ กำหนัด ความดับโดยไม่เหลือ นิพพาน. ก็เราจะพึงแสดงธรรม และสัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่รู้ ทั่วถึงธรรมของเรา นั้นจะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นความลำบากเปล่าของเรา. ดูกรราชกุมาร ที่นั้น คาถาอันอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้ง กะอาตมภาพว่า บัดนี้ ยังไม่สมควรจะประกาศธรรมที่เราบรรลุได้โดยยาก ธรรม นี้อันสัตว์ทั้งหลาย ผู้ถูกราคะ โทสะครอบงำ ไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ทั้งหลาย อันราคะย้อมแล้ว อันกองมืดหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรม อันยังสัตว์ให้ไปทวนกระแส ละเอียด ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู ดังนี้. ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพเห็นตระหนักอยู่ดังนี้ จิตของอาตมภาพก็น้อมไปเพื่อความ เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม.
ท้าวสหัมบดีพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม
[๕๑๐] ดูกรราชกุมาร ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบความปริวิตกแห่งใจของ อาตมภาพด้วยใจแล้ว ได้มีความปริวิตกว่า ดูกรท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายละหนอ เพราะจิต ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไป เพื่อแสดงธรรม. ครั้นแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมหายไปในพรหมโลก มาปรากฏข้างหน้าของ อาตมภาพ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ออก หรือพึงคู้แขนที่เหยียดเข้าฉะนั้น. ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีมาทางอาตมภาพแล้วได้ กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด ขอ พระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อม เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่. ดูกรราชกุมาร ท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้ว ภายหลังได้กล่าวคาถาประพันธ์อื่นนี้อีกว่า ธรรมที่ผู้มีมลทินทั้งหลายคิดกันแล้ว ไม่บริสุทธิ์ ได้ปรากฏใน ชนชาวมคธทั้งหลายมาก่อนแล้ว ขอพระองค์จงเปิดอริยมรรค อันเป็นประตูพระนิพพานเถิด ขอสัตว์ทั้งหลายจงได้ฟังธรรม ที่พระองค์ผู้ปราศจากมลทิน ตรัสรู้แล้วเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มี เมธาดี มีจักษุรอบคอบ ขอพระองค์ผู้ปราศจากความโศก จงเสด็จขึ้นปัญญาปราสาทอันแล้วด้วยธรรม ทรงพิจารณาดู ประชุมชนผู้เกลื่อนกล่นด้วยความโศก อันชาติชราครอบงำแล้ว เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขาหินล้วน พึง เห็นประชุมชนโดยรอบ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ทรงชนะ สงครามแล้ว ผู้นำสัตว์ออกจากกันดาร ผู้ไม่เป็นหนี้ ขอจงเสด็จ ลุกขึ้นเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เถิด สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงจักมีอยู่.
เปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า
[๕๑๑] ดูกรราชกุมาร ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัย ความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยาก ก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัว หลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้น พ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยาก ก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี. ดูกรราชกุมาร ครั้งนั้นอาตมภาพ ได้กล่าวรับท้าวสหัมบดีพรหมด้วยคาถาว่า ดูกรพรหม เราเปิดประตูอมตนิพพานแล้ว เพื่อสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีโสต จงปล่อยศรัทธามาเถิด เราสำคัญว่าจะลำบาก จึงไม่ กล่าวธรรมอันคล่องแคล่ว ประณีต ในมนุษย์ทั้งหลาย. ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงเปิดโอกาส เพื่อจะแสดง- *ธรรมแล้ว จึงอภิวาทอาตมภาพ ทำประทักษิณแล้ว หายไปในที่นั้นเอง.
ทรงปรารภถึงคนที่จะทรงแสดงธรรมก่อน
[๕๑๒] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความดำริว่า เราพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครรู้จักทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. ครั้นแล้ว อาตมภาพได้มีความเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร นี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรม แก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อนเถิด เธอรู้จักทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน. ที่นั้น เทวดาทั้งหลาย เข้ามาหาอาตมภาพแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละเสีย เจ็ดวันแล้ว. และความรู้ความเห็นก็เกิดขึ้นแก่เราว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละเสีย เจ็ดวันแล้ว. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรเป็นผู้เสื่อมใหญ่แล ถ้า เธอพึงได้ฟังธรรมนี้พึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลันทีเดียว. ครั้นแล้วอาตมภาพได้มีความดำริว่า เราพึง แสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. แล้วอาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลส ดุจธุลีในจักษุน้อยมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่อุทกดาบส รามบุตรก่อนเถิด เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. ที่นั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาอาตมภาพ แล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุทกดาบส รามบุตรทำกาละเสียแล้วเมื่อพลบค่ำนี้เอง. และความรู้ความเห็นก็เกิดขึ้นแก่เราว่า อุทกดาบส รามบุตร ทำกาละเสียแล้วเมื่อพลบค่ำนี้เอง. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อุทกดาบส รามบุตรเป็นผู้เสื่อมใหญ่แล ก็ถ้าเธอพึงได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลันทีเดียว. ครั้นแล้ว อาตมภาพได้มีความดำริว่า เราพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ ได้ฉับพลัน. แล้วอาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก บำรุงเรา ผู้มีตนส่งไปแล้ว เพื่อความเพียร ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อนเถิด. แล้ว อาตมภาพได้มีความดำริว่า เดี๋ยวนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ. ก็ได้เห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์. ครั้น อาตมภาพอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตามควรแล้ว จึงได้หลีกจาริกไปทางเมืองพาราณสี. [๕๑๓] ดูกรราชกุมาร อุปกาชีวกได้พบอาตมภาพผู้เดินทางไกล ที่ระหว่างแม่น้ำคยา และไม้โพธิ์ต่อกัน แล้วได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ดูกรผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวพรรณ ของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร. ดูกรราชกุมาร เมื่ออุปกาชีวกล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวตอบอุปกาชีวกด้วยคาถาว่า เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง เป็นผู้รู้ธรรมทั้งปวง อันตัณหา และทิฏฐิไม่ติดแล้วในธรรมทั้งปวง เป็นผู้ละธรรมทั้งปวง น้อมไป ในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว รู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งเอง จะ พึงเจาะจงใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนผู้เช่นกับด้วยเราก็ ไม่มี บุคคลผู้เปรียบด้วยเรา ไม่มีในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เป็นศาสดา ไม่มีศาสดาอื่น ยิ่งขึ้นไปกว่า เราผู้เดียวตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้เย็น เป็นผู้ ดับสนิทแล้ว เราจะไปยังเมืองกาสี เพื่อจะยังธรรมจักรให้ เป็นไป เมื่อสัตว์โลกเป็นผู้มืด เราได้ตีกลองประกาศ อมตธรรมแล้ว. อุปกาชีวกถามว่า ดูกรผู้มีอายุ ท่านปฏิญาณว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นหรือ? อาตมภาพตอบว่า ชนทั้งหลายผู้ถึงธรรมที่สิ้นตัณหา เช่นเราแหละ ชื่อว่าเป็น ผู้ชนะ บาปธรรมทั้งหลาย อันเราชนะแล้ว เหตุนั้นแหละ อุปกะ เราจึงว่า ผู้ชนะ. ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวก กล่าวว่าพึงเป็นให้พอเถิดท่าน สั่นศีรษะแลบลิ้นแล้วหลีกไปคนละทาง.
เสด็จเข้าไปหาพระปัญจวัคคีย์
[๕๑๔] ครั้งนั้น อาตมภาพเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ยังป่า อิสิปตนมิคทายวัน เขตเมืองพาราณสี ดูกรราชกุมาร ภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้เห็นอาตมภาพกำลัง มาแต่ไกลเทียว แล้วได้ตั้งกติกาสัญญากันไว้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมพระองค์นี้ เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก กำลังมาอยู่ เราทั้งหลายไม่พึง กราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวร แต่พึงแต่งตั้งอาสนะไว้ ถ้าเธอปรารถนาก็จักนั่ง. อาตมภาพเข้าไปใกล้ภิกษุปัญจวัคคีย์ ด้วยประการใดๆ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ไม่อาจจะตั้งอยู่ในกติกา ของตน ด้วยประการนั้นๆ บางพวกลุกรับอาตมภาพ รับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกตั้งน้ำล้างเท้า แต่ยังร้องเรียกอาตมภาพโดยชื่อ และยังใช้คำว่า อาวุโส. เมื่อภิกษุ ปัญจวัคคีย์กล่าวเช่นนี้ อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าร้องเรียกตถาคต โดยชื่อ และใช้คำว่าอาวุโสเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อ ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไร ก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรม อื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่. ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสโคดม แม้ด้วยอิริยาบถนั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น ท่าน ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสสเลย ก็เดี๋ยวนี้ท่านเป็นคนมักมาก คลาย ความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก จักบรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส อย่างไรเล่า เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวเช่นนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคต ไม่ได้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจักสั่งสอน อมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้า เท่าไร ก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่ ดูกรราช- *กุมาร แม้ครั้งที่สอง ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสโคดม แม้ด้วยอิริยาบถนั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น ท่านยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส เลย ก็เดี๋ยวนี้ ท่านเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก จักบรรลุ อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสสได้อย่างไรเล่า? ดูกรราชกุมาร แม้ครั้งที่สอง อาตมภาพ ก็ได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อ ความเป็นผู้มักมากเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลาย จงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลาย ปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไร ก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่ง ไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองใน ปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่. ดูกรราชกุมาร แม้ครั้งที่สาม ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสโคดม แม้ด้วยอิริยาบถนั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น ท่านยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อลมริยญาณทัศนวิเสสเลย ก็เดี๋ยวนี้ ท่านเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความ เป็นผู้มักมาก จักบรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัศนวิเสสได้อย่างไรเล่า? เมื่อภิกษุปัญจ- *วัคคีย์กล่าวเช่นนี้ เราได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจำได้หรือไม่ว่า ในกาลก่อนแต่นี้ เราได้กล่าวคำ เห็นปานนี้? ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ตอบว่า หามิได้ พระเจ้าข้า. อาตมภาพจึงได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อ ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มี ธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่. ดูกรราชกุมาร อาตมภาพสามารถให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอม แล้ว. วันหนึ่ง อาตมภาพกล่าวสอนภิกษุแต่สองรูป. ภิกษุสามรูปไปเที่ยวบิณฑบาต. ภิกษุสามรูป ไปเที่ยวบิณฑบาตได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้งหกรูปก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น. อาตมภาพกล่าว สอนภิกษุแต่สามรูป. ภิกษุสองรูปไปเที่ยวบิณฑบาต ได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้งหกรูปก็ยังอัตภาพ ให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น. ครั้งนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่อาตมภาพกล่าวสอน พร่ำสอนอยู่เช่นนี้ไม่นาน เลย ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่.
ทรงแก้ปัญหาของโพธิราชกุมาร
[๕๑๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โพธิราชกุมาร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุได้พระตถาคตเป็นผู้แนะนำโดยกาลนานเพียงไรหนอ จึงทำให้ แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ถ้ากระนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจักย้อนถามบพิตร ก่อน บพิตรพึงตอบตามที่พอพระทัย บพิตรจักทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บพิตรผู้ฉลาด ในศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอหรือ? โพธิราชกุมารทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ. [๕๑๖] ดูกรราชกุมาร บพิตรจักทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษพึงมาในเมืองนี้ ด้วยคิดว่า โพธิราชกุมารทรงรู้ศิลปศาสตร์ คือการขึ้นช้าง การถือขอ เราจักศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักโพธิราชกุมารนั้น. แต่เขาไม่มีศรัทธา จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่ บุคคลผู้มีศรัทธาพึงบรรลุ ๑. เขามีอาพาธมาก จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีอาพาธน้อยพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นคนโอ้อวด มีมายา จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายาพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้เกียจคร้าน จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภความเพียรพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้มี ปัญญาทราม จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาพึงบรรลุ ๑. ดูกรราชกุมาร บพิตรจะทรงสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรจะศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักของ บพิตรบ้างหรือหนอ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้จะประกอบด้วยองค์เพียงองค์หนึ่ง ก็ไม่ควรจะศึกษา ศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักของหม่อมฉัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงครบองค์ห้า เล่า. [๕๑๗] ดูกรราชกุมาร บพิตรจักทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษพึงมาในเมืองนี้ ด้วยคิดว่า โพธิราชกุมาร ทรงรู้ศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ เราจักศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักโพธิราชกุมารนั้น. เขาเป็นผู้มีศรัทธา จะพึงบรรลุผลเท่าที่ บุคคลผู้มีศรัทธาพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้มีอาพาธน้อยจะพึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีอาพาธน้อยพึง บรรลุ ๑. เขาเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา จะพึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา พึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้ปรารภความเพียร จะพึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภความเพียรพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้มีปัญญา จะพึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาพึงบรรลุ ๑. ดูกรราชกุมาร บพิตรจะทรง สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรจะศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนัก ของบพิตรบ้างหรือหนอ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้ประกอบด้วยองค์เพียงองค์หนึ่ง ก็ควรจะศึกษา ศิลปศาสตร์ คือการขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักของหม่อมฉันได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงครบ องค์ห้าเล่า.
องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕
[๕๑๘] ดูกรราชกุมาร องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ เหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ เป็นไฉน? ๑. ดูกรราชกุมาร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระ ตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มี ผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก พระธรรม. ๒. เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำ เสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลางควรแก่ความเพียร. ๓. เธอเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนตามความเป็นจริง ในพระศาสดาหรือ ในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูทั้งหลาย. ๔. เธอเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้เข้าถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย. ๕. เธอเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดและดับเป็นอริยะ สามารถชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ. ดูกรราชกุมาร องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่ง ภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] เจ็ดปี. ดูกรราชกุมาร เจ็ดปีจงยกไว้. ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำ ให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้. [ใช้เวลาเพียง] หกปี ... ห้าปี ... สี่ปี ... สามปี ... สองปี ... หนึ่งปี. ดูกรราชกุมาร หนึ่งปีจงยกไว้. ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] เจ็ดเดือน. ดูกรราชกุมาร เจ็ดเดือน จงยกไว้. ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้ แนะนำพึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] หกเดือน ... ห้าเดือน ... สี่เดือน ... สามเดือน ... สองเดือน ... หนึ่งเดือน. ดูกรราชกุมาร ครึ่งเดือน จงยกไว้. ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรร- *พชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] เจ็ดคืน เจ็ดวัน. ดูกรราชกุมาร เจ็ดคืนเจ็ดวันจงยกไว้. ภิกษุประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่น ยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองใน ปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] หกคืนหกวัน ... ห้าคืนห้าวัน ... สี่คืนสี่วัน ... สามคืน สามวัน ... สองคืนสองวัน ... หนึ่งคืนหนึ่งวัน. ดูกรราชกุมาร หนึ่งคืนหนึ่งวันจงยกไว้. ภิกษุผู้ ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ ตถาคต สั่งสอนในเวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเช้า ตถาคตสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณ วิเศษได้ในเวลาเย็น. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โพธิราชกุมารได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้า มีพระคุณเป็นอัศจรรย์ พระธรรมมีพระคุณเป็นอัศจรรย์ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เป็นอัศจรรย์ เพราะภิกษุที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนในเวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลา เช้า ที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเย็น. [๕๑๙] เมื่อโพธิราชกุมารตรัสอย่างนี้แล้ว มาณพสัญชิกาบุตรได้ทูลโพธิราชกุมารว่า ก็ท่านโพธิราชกุมารองค์นี้ ทรงประกาศไว้ว่า พระพุทธเจ้ามีพระคุณเป็นอัศจรรย์ พระธรรมมี พระคุณเป็นอัศจรรย์ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วเป็นอัศจรรย์อย่างนี้เท่านั้น ก็แต่ ท่านหาได้ทรงถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะไม่.
พระโพธิราชกุมารถึงสรณคมน์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
[๕๒๐] โพธิราชกุมารตรัสว่า ดูกรเพื่อนสัญชิกาบุตร ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ดูกรเพื่อนสัญชิกาบุตร ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ดูกรสัญชิกาบุตร เรื่องนั้นเราได้ฟังมา ได้รับมาต่อหน้าเจ้าแม่ของเราแล้ว คือครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น เจ้าแม่ของเรากำลังทรงครรภ์ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลูกคนอยู่ในครรภ์ของหม่อมฉันนี้ เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม เขาย่อม ถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงจำเขาว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดูกรเพื่อนสัญชิกาบุตร ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าเภสกลามิคทายวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบทนี้แล ครั้งนั้น แม่นมอุ้มเราเข้าสะเอวพาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพธิราชกุมารพระองค์นี้ ย่อมถึง พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ โพธิราชกุมารนั้นว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดูกรเพื่อนสัญชิกา บุตร เรานี้ย่อมถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ในครั้งที่สาม ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
จบ โพธิราชกุมารสูตร ที่ ๕.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๗๖๖๓-๘๒๓๖ หน้าที่ ๓๓๔-๓๕๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=7663&Z=8236&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=13&siri=35              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=486              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [486-520] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=13&item=486&items=35              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5890              The Pali Tipitaka in Roman :- [486-520] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=13&item=486&items=35              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5890              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i486-e1.php# https://suttacentral.net/mn85/en/sujato https://suttacentral.net/mn85/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :