ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
ฐิติสูตร
[๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้ซึ่งความตั้งอยู่ในกุศล- *ธรรมทั้งหลาย ไฉนจะสรรเสริญความเสื่อมรอบในกุศลธรรมทั้งหลายเล่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่เราสรรเสริญความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่ตั้ง อยู่ ย่อมไม่เจริญขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความเสื่อมใน กุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความ เสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายมีอยู่ มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญ อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่เสื่อม ย่อมไม่เจริญขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความตั้งอยู่ในกุศลธรรม ทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตั้งอยู่ใน กุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อมอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เสื่อม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความเจริญในกุศลธรรม ทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเจริญ ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อม อย่างนี้แล ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ภิกษุนั้นพึงศึกษาว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตนอย่างไร ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาว มีปรกติชอบแต่งตัว ส่องดู เงาหน้าของตนในคันฉ่องอันบริสุทธิ์หมดจด หรือในภาชนะน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลี หรือจุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามเพื่อขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย ถ้าว่าไม่เห็นธุลีหรือ จุดดำที่หน้านั้น ก็ย่อมดีใจ มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยเหตุนั้นแลว่า เป็นลาภ ของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การ พิจารณาของภิกษุว่า เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่มี อภิชฌาอยู่โดยมาก ... เราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็น ผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ ย่อมเป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้น เหมือนกันแล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มี อภิชฌาอยู่โดยมาก ... เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควร ทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่า นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลมีผ้าอันไฟไหม้ หรือมีศีรษะอันไฟ ไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความ ไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือไฟไหม้ ศีรษะนั้น ฉันใด ภิกษุนั้นพึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อ ละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ... เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้ว พึงทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ให้ยิ่งขึ้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๒๓๑๔-๒๓๖๔ หน้าที่ ๙๙-๑๐๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=2314&Z=2364&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=24&siri=51              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=53              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [53] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=24&item=53&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=7902              The Pali Tipitaka in Roman :- [53] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=24&item=53&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=7902              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i051-e.php#sutta3 https://suttacentral.net/an10.53/en/sujato https://suttacentral.net/an10.53/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :