ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
อธรรมสูตรที่ ๓
[๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม บุคคล ควรทราบ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ บุคคลควรทราบ ครั้น ทราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็น ประโยชน์แล้ว พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ พระผู้มี พระภาคผู้สุคตครั้นตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่ พระวิหาร ฯ ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้น พูดกันดังนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดง อุเทศนี้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคล ควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ใครหนอแล พึงจำแนกอรรถแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถ โดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า ท่านพระอานนท์นี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนสพรหมจารี ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่องแล้ว ท่านพระอานนท์ย่อมสามารถเพื่อจะจำแนกอรรถ แห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดย พิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ไฉนหนอ เราทั้งหลายพึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึง ที่อยู่ ครั้นแล้วพึงถามอรรถอันนี้กะท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์จักพยากรณ์ ด้วยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้น ลำดับนั้น ภิกษุ เหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้ปราศรัยกับท่านพระ อานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรท่านอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาค ของเราทั้งหลายทรงแสดงอุเทศนี้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็น ประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่ พระวิหาร ดูกรท่านผู้มีอายุ กระผมทั้งหลายได้พูดกันดังนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุเทศนี้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปสู่พระวิหาร ใครหนอแล พึงจำแนกอรรถแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ดูกรท่านผู้มีอายุ กระผมทั้งหลายได้มีความเห็นร่วมกันว่า ท่านพระอานนท์นี้แล พระศาสดาทรง สรรเสริญแล้ว และเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่องแล้ว ท่านพระ อานนท์ย่อมสามารถเพื่อจำแนกอรรถแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ไฉนหนอแล เราทั้งหลายพึงเข้าไป หาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว พึงถามอรรถอันนี้กะท่านพระอานนท์ ท่าน พระอานนท์จักพยากรณ์ด้วยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วย ประการนั้น ขอท่านพระอานนท์จงจำแนกเถิด ฯ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเสมือนบุรุษต้อง การแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่น ตั้งอยู่ ก็ล่วงเลยรากไปเสีย ล่วงเลยลำต้นไปเสีย พึงสำคัญกิ่งและใบว่า เป็น แก่นไม้ที่ตนพึงแสวงหา แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับ อยู่เฉพาะหน้าท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายผ่านพ้นพระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้นเสียแล้ว ย่อมสำคัญอรรถอันนั้นว่าควรถามข้าพเจ้า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ตรัสบอก ทรงให้เป็นไป ทรงแสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้า ของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็แหละ กาลนั้น เป็นกาลสมควรที่ท่านทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคนั่นเทียว แล้ว พึงทูลถามอรรถอันนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายด้วยประการ ใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้นเถิด ฯ ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูกรท่านอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้นเป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ตรัสบอก ทรงให้ เป็นไป ทรงแสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระ ตถาคต ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็แหละกาลนั้น เป็นกาล สมควรที่กระผมทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคนั่นเทียว แล้วพึงทูลถามอรรถ อันนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่กระผมทั้งหลายด้วยประการใด กระผม ทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้นโดยแท้ ก็แต่ว่า ท่านพระอานนท์พระ ศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่องแล้ว ท่านพระอานนท์ย่อมสามารถ เพื่อจำแนกอรรถแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ขอท่าน พระอานนท์ไม่ทำความหนักใจแล้วจงจำแนกเถิด ฯ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นท่านทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ก็ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลาย ทรงแสดงอุเทศโดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม บุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ก็ในอุเทศนั้น สิ่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไฉน และสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นไฉน ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความเห็นชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์เพราะ ความเห็นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความดำริผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความดำริชอบ เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การเจรจาผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม การเจรจาชอบ เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การงานผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม การงานชอบเป็น สิ่งที่เป็นธรรม ... ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การเลี้ยงชีพผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม การเลี้ยงชีพ ชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความพยายามผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความ พยายามชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความระลึกผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความระลึก ชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความตั้งใจมั่นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความรู้ผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความรู้ชอบเป็นสิ่ง ที่เป็นธรรม ... ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความพ้นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความพ้นชอบเป็น สิ่งที่เป็นธรรม อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะความพ้นผิดเป็น ปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญ บริบูรณ์ เพราะความหลุดพ้นชอบเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุเทศโดย ย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถ โดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราย่อม รู้อรรถแห่งอุเทศอันพระผู้มีพระภาคตรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดย พิสดารนี้ ได้โดยพิสดารด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็และท่าน ทั้งหลายหวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามอรรถอันนั้นเถิด พระผู้ มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงพยากรณ์ด้วยประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำ อรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้นเถิด ฯ ภิกษุเหล่านั้นรับคำพระอานนท์แล้ว ชื่นชมโมทนาภาษิตของท่านพระ- *อานนท์ ลุกจากอาสนะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึง ปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดย พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้ มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พูดกันว่า ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตาม สิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปสู่พระวิหาร ใครหนอแล พึงจำแนกอรรถแห่งอุเทศอันพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านั้นแล ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ท่าน พระอานนท์นี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูยกย่องแล้ว ท่านพระอานนท์ย่อมสามารถเพื่อจำแนกอรรถแห่งอุเทศที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ไฉนหนอ เราทั้งหลายพึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วพึงถามอรรถ อันนั้นกะท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์จักพยากรณ์แก่เราทั้งหลายด้วยประการ ใด เราทั้งหลายจักทรงจำไว้ด้วยประการนั้น ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับ นั้นแล ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถาม อรรถอันนั้นกะท่านพระอานนท์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอานนท์ได้จำแนก อรรถด้วยดีแก่ข้าพระองค์เหล่านั้น ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะ เหล่านี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีแล้วๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต อานนท์เป็นผู้มีปัญญามาก แม้หากว่าเธอทั้งหลายพึงเข้ามาหา เราแล้วถามอรรถอันนั้น แม้เราเองก็พึงพยากรณ์อรรถนั้นเหมือนอย่างที่อานนท์ พยากรณ์แล้วนั่นแหละ นั่นเป็นอรรถของอุเทศนั้น และเธอทั้งหลายพึงทรงจำ อรรถนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ
จบสูตรที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๕๒๑๘-๕๓๔๙ หน้าที่ ๒๒๕-๒๓๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=5218&Z=5349&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=24&siri=113              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=115              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [115] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=24&item=115&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8425              The Pali Tipitaka in Roman :- [115] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=24&item=115&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8425              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i113-e.php#sutta3 https://suttacentral.net/an10.115/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :