ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
อธรรมสูตรที่ ๒
[๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่เป็นธรรม บุคคล ควรทราบ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ บุคคลควรทราบ ครั้นทราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์แล้ว พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตครั้นตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ เข้าไปสู่พระวิหาร ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่า นั้นได้พูดกันดังนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลาย ทรงแสดงอุทเทศนี้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรม และ สิ่งที่เป็น ธรรมบุคคลควรทราบ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์บุคคลควร ทราบ ครั้นทราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และ สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ได้ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร เสีย ใครหนอแลพึงจำแนกอรรถแห่งอุทเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกโดยพิสดารนี้โดยพิสดารได้ ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็น ร่วมกันว่า ท่านพระมหากัจจายนะนี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญ และเพื่อนสพรหม จารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่อง ท่านพระมหากัจจายนะคงสามารถเพื่อจำแนกอรรถ- *แห่งอุทเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกโดยพิสดารนี้ โดย พิสดารได้ ไฉนหนอ พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว พึงถามอรรถข้อนี้กะท่านพระมหากัจจายนะเถิด ท่านพระมหากัจจายนะจักพยากรณ์ แก่เราทั้งหลายด้วยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ด้วยประการนั้น ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัย กับท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจายนะว่า ดูกรท่าน กัจจายนะผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุเทศนี้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึง ปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถ โดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อพระผู้มี พระภาคของเราทั้งหลาย ทรงหลีกไปแล้วไม่นาน กระผมทั้งหลายได้พูดกันดังนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทศนี้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึง ปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดย พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ใครหนอแลพึงจำแนกอรรถแห่ง อุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารนี้โดย พิสดารได้ ดังนี้ ดูกรท่านผู้มีอายุ กระผมทั้งหลายได้มีความเห็นร่วมกันว่า ท่าน พระมหากัจจายนะนี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนสพรหมจารี ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่องแล้ว ท่านพระมหากัจจายนะคงสามารถเพื่อจำแนก อรรถแห่งอุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร นี้โดยพิสดารได้ ไฉนหนอ เราทั้งหลายพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วพึงถามอรรถข้อนี้กะท่านพระมหากัจจายนะเถิด ท่านพระมหากัจจายนะจัก พยากรณ์แก่เราทั้งหลาย ด้วยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำอรรถนั้นไว้ ด้วย ประการนั้น ขอท่านพระมหากัจจายนะโปรดจำแนกเถิด ฯ ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่น ตั้งอยู่ ล่วงเลยรากไปเสีย ล่วงเลยลำต้นไปเสีย พึงสำคัญกิ่งและใบว่าเป็นแก่น ไม้ ที่ตนพึงแสวงหา แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ เฉพาะหน้าท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายผ่านพ้นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เสียแล้ว ย่อมสำคัญอรรถอันนั้นว่า ควรถามข้าพเจ้า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้มีจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ตรัสบอก ทรงให้เป็นไป ทรงแสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็น เจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็แลกาลนั้น เป็นการควรแก่พระผู้มีพระภาคที่ท่านทั้งหลายเข้าไปเฝ้าแล้ว พึงทูล ถามอรรถอันนั้น พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงพยากรณ์ด้วยประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้นเถิด ฯ ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูกรท่านพระกัจจายนะผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเป็น ผู้มีจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ตรัสบอก ทรงให้เป็นไป ทรงแสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็นโดยแท้ ก็และกาลนั้นเป็นการควรแก่ พระผู้มีพระภาคที่กระผมทั้งหลายเข้าไปเฝ้าแล้ว พึงทูลถามอรรถอันนั้น พระผู้มี พระภาคของเราทั้งหลายทรงพยากรณ์ด้วยประการใด กระผมทั้งหลายพึงทรงจำอรรถ นั้นไว้ด้วยประการนั้น ก็แต่ว่าท่านพระมหากัจจายนะพระศาสดาทรงสรรเสริญ และเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่อง ท่านพระมหากัจจายนะย่อม สามารถเพื่อจำแนกอรรถแห่งอุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ได้ทรง จำแนกอรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจายนะไม่ทำความ หนักใจแล้ว จงจำแนกเถิด ฯ ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหา กัจจายนะแล้ว ท่านพระมหากัจจายนะได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มี พระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทศโดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็น ธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่ เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ได้ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไป สู่พระวิหาร ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็สิ่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่เป็นธรรม เป็นไฉน สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไฉน สิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นไฉน ดูกร อาวุโสทั้งหลาย การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนาเครื่องงดเว้นจากการฆ่า สัตว์เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะการฆ่า สัตว์เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อม ถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่ง ที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การลักทรัพย์เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนาเครื่อง งดเว้นจากการลักทรัพย์เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะการลักทรัพย์เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรม มิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การประพฤติผิดในกามเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนา เครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกามเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรม อันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะการประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่ง ที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็น ประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การพูดเท็จเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนาเครื่องงดเว้น จากการพูดเท็จเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้น เพราะการพูดเท็จเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จเป็นปัจจัย นี้เป็น สิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การพูดส่อเสียดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนา เครื่องงดเว้นจากการพูดส่อเสียดเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่ น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะการพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจาก การพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การพูดคำหยาบเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนาเครื่อง งดเว้นจากการพูดคำหยาบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะการพูดคำหยาบเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศล ธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูด คำหยาบเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การพูดเพ้อเจ้อเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนาเครื่อง งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะการพูดเพ้อเจ้อเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศล ธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูด เพ้อเจ้อเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การอยากได้ของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม การไม่ อยากได้ของผู้อื่นเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้น เพราะการอยากได้ของผู้อื่นเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศล ธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะความไม่อยากได้ของผู้อื่นเป็น ปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความปองร้ายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความไม่ ปองร้ายเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะ ความปองร้ายเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะความไม่ปองร้ายเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็น ประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความเห็นชอบ เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะความเห็น ผิดเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึง ความเจริญเต็มที่ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุเทศโดย ย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดย พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราย่อมรู้ อรรถแห่งอุเทศอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกโดยพิสดารนี้ ได้โดยพิสดาร ด้วยประการอย่างนี้ ก็แลท่านทั้งหลายจำนงอยู่ พึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคแล้ว พึงทูลถามอรรถนั้นเถิด พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรง พยากรณ์ด้วยประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้นเถิด ฯ ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจายนะ ชื่นชมอนุโมทนา ภาษิตของ ท่านพระมหากัจจายนะแล้ว ลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อ ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถ โดยพิสดารแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ข้าพระองค์ ทั้งหลายได้พูดกันว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้โดย ย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถ โดยพิสดารแก่เราทั้งหลาย เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ใครหนอแล พึงจำแนกอรรถแห่งอุเทศอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยย่อ ไม่ทรงจำแนก อรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ เหล่านั้นแลได้มีความเห็นร่วมกันว่า ท่านพระมหากัจจายนะนี้แล พระศาสดาทรง สรรเสริญ และเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่อง ท่านพระมหา กัจจายนะคงสามารถเพื่อจำแนกอรรถแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ไฉนหนอ เราทั้งหลาย พึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วพึงถามอรรถข้อนั้นกะท่านพระ มหากัจจายนะเถิด ท่านพระมหากัจจายนะจักพยากรณ์แก่เราทั้งหลายด้วยประการ ใด เราทั้งหลายจักทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้น ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้นแล ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้น แล้ว ได้ถามอรรถข้อนั้นกะท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหากัจจายนะได้ จำแนกอรรถด้วยดีแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วย พยัญชนะเหล่านี้พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีแล้ว ดีแล้ว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย มหากัจจายนะเป็นบัณฑิต มหากัจจายนะเป็นผู้มีปัญญามาก ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย แม้หากเธอทั้งหลายพึงเข้ามาหาเราแล้วถามอรรถข้อนั้น แม้เราพึง พยากรณ์อรรถข้อนั้นอย่างที่มหากัจจายนะพยากรณ์แล้วนั้นแหละ นั่นเป็นอรรถ แห่งอุเทศนั้น และเธอทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ
จบสูตรที่ ๖

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๖๐๓๗-๖๑๙๘ หน้าที่ ๒๖๒-๒๖๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=6037&Z=6198&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=24&siri=159              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=161              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [161] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=24&item=161&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [161] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=24&item=161&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i156-e.php#sutta6 https://suttacentral.net/an10.172/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :