ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
ทุติยวรรคที่ ๒
มหานามสูตรที่ ๑
[๒๑๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้ พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก กระทำ จีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงทราบ ข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มี พระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทราบข่าวดังนี้ว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาค มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ จะพึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ อะไรพระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตรเสด็จเข้า มาหาตถาคตแล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่อง อยู่ต่างๆ จะพึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็นการสมควรแก่มหาบพิตร ผู้เป็นกุลบุตร ดูกรมหาบพิตร กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อม ไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้ บริบูรณ์ ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงทรงเจริญธรรม ๖ ประการ ให้ยิ่งขึ้นไป ดูกรมหาบพิตร ในธรรม ๖ ประการนี้ มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึง พระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวก ระลึกถึงตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูก โทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนิน ไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบ ด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวก ผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของ อริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญพุทธานุสสติ ฯ ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบ ด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้น จิตของอริยสาวก นั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระธรรม ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่ อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกร มหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญธรรมานุสสติ ฯ ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ เป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มี พระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำ อัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนิน ไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระสงฆ์ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบ ด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจ ประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริย- *สาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้ถึง ความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญสังฆานุสสติ ฯ ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงศีลของตนว่า ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิลูบ คลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิต ดำเนินไปตรงเพราะปรารภศีล ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความ ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อม เสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกนี้ อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแส ธรรมเจริญสีลานุสสติ ฯ ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงจาคะของ ตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีแล้วในการสละ ควร แก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน ในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทิน คือ ความตระหนี่กลุ้มรุม ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะ กลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภจาคะ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่ อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกร มหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญจาคานุสสติ ฯ ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงเทวดา ทั้งหลายว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาชั้น ยามามีอยู่ เทวดาชั้นดุสิตมีอยู่ เทวดาชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดาชั้นปรนิมมิต สวัสดีมีอยู่ เทวดาชั้นพรหมกายมีอยู่ เทวดาชั้นที่สูงขึ้นไปกว่านั้นมีอยู่ เทวดา เหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้น นั้นๆ แม้เราก็มีศรัทธาเช่นนั้นอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศีลเช่นนั้น เทวดา เหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีสุตะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้ แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีจาคะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีปัญญาเช่นนั้น ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะและปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของ อริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวก ผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภเทวดาทั้งหลาย ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่ อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูกร มหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญเทวตานุสสติ ดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๗๙๕๕-๘๐๖๗ หน้าที่ ๓๔๗-๓๕๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=7955&Z=8067&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=24&siri=207              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=218              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [218] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=24&item=218&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8597              The Pali Tipitaka in Roman :- [218] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=24&item=218&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8597              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i218-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an11/an11.012.than.html https://suttacentral.net/an11.11/en/sujato https://suttacentral.net/an11.11/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :