ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
ชราสุตตนิทเทสที่ ๖
[๑๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชีวิตนี้น้อยหนอ มนุษย์ย่อมตายภายในร้อยปี แม้หากว่ามนุษย์ใดย่อม เป็นอยู่เกินไป มนุษย์ผู้นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล.
ว่าด้วยชีวิตเป็นของน้อย
[๑๘๒] คำว่า ชีวิตนี้น้อยหนอ มีความว่า ศัพท์ว่า ชีวิต ได้แก่อายุ ความตั้งอยู่ ความดำเนินไป ความให้อัตภาพดำเนินไป ความเป็นไป ความหมุนไป ความเลี้ยง ความเป็น อยู่ ชีวิตินทรีย์ อนึ่ง ชีวิตน้อย คือชีวิตนิดเดียวโดยเหตุ ๒ ประการ คือ ชีวิตน้อยเพราะ ตั้งอยู่น้อย ๑ ชีวิตน้อยเพราะมีกิจน้อย ๑. ชีวิตน้อยเพราะตั้งอยู่น้อยอย่างไร? ชีวิตเป็นอยู่แล้วในขณะจิตเป็นอดีต ย่อมไม่เป็น อยู่ จักไม่เป็นอยู่. ชีวิตจักเป็นอยู่ในขณะจิตเป็นอนาคต ย่อมไม่เป็นอยู่ ไม่เป็นอยู่แล้ว. ชีวิต ย่อมเป็นอยู่ในขณะจิตเป็นปัจจุบัน ไม่เป็นอยู่แล้ว จักไม่เป็นอยู่. สมจริงดังพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งมวล เป็นธรรมประกอบกันเสมอด้วย จิตดวงเดียว ขณะย่อมเป็นไปพลัน เทวดาเหล่าใดย่อมตั้งอยู่ตลอดแปด หมื่นสี่พันกัป แม้เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ประกอบด้วยจิตสองดวง ดำรงอยู่เลย ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ที่ตายหรือของสัตว์ที่เป็นอยู่ในโลกนี้ดับ แล้ว ขันธ์เหล่านั้นทั้งปวงเทียว เป็นเช่นเดียวกัน ดับไปแล้ว มิได้สืบ เนื่องกัน ขันธ์เหล่าใดแตกไปแล้วในอดีตเป็นลำดับ และขันธ์เหล่าใด แตกไปแล้วในอนาคตเป็นลำดับ ความแปลกกันแห่งขันธ์ทั้งหลาย ที่ดับ ไปในปัจจุบันกับขันธ์เหล่านั้น มิได้มีในลักษณะ สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคต ขันธ์ย่อมเป็นอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์ สัตว์โลกตายแล้วเพราะความแตกแห่ง จิตนี้เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์ ขันธ์ทั้งหลายแปรไปโดยฉันทะ ย่อมเป็นไป ดุจน้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น ย่อมเป็นไปตามวาระอันไม่ขาดสายเพราะ อายตนะ ๖ เป็นปัจจัย ขันธ์ทั้งหลายแตกแล้ว มิได้ถึงความตั้งอยู่ กองขันธ์มิได้มีในอนาคต ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วย่อมตั้งอยู่ เหมือน เมล็ดพันธุ์ผักกาดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น ก็ความแตกแห่ง ธรรมขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วนั้น สกัดอยู่ข้างหน้าแห่งสัตว์เหล่านั้น ขันธ์ทั้งหลายมีความทำลายเป็นปกติ มิได้เจือปนกับขันธ์ที่เกิดก่อน ย่อม ตั้งอยู่ ขันธ์ทั้งหลายมาโดยไม่ปรากฏ แตกแล้วก็ไปสู่ที่ไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ. ชื่อว่า ชีวิตน้อยเพราะตั้งอยู่น้อยอย่างนี้. ชีวิตน้อยเพราะมีกิจน้อยอย่างไร? ชีวิตเนื่องด้วยลมหายใจออก เนื่องด้วยลมหายใจ เข้า เนื่องด้วยลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เนื่องด้วยมหาภูตรูป เนื่องด้วยไออุ่น เนื่องด้วย กวฬิงการาหาร เนื่องด้วยวิญญาณ กรัชกายอันเป็นที่ตั้งแห่งลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เหล่านี้ก็ดี อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ อันเป็นเหตุเดิมแห่งลมหายใจออกและ ลมหายใจเข้าก็ดี ปัจจัยทั้งหลายก็ดี ตัณหาอันเป็นแดนเกิดก่อนก็ดี รูปธรรมและอรูปธรรมที่เกิด ร่วมกันก็ดี อรูปธรรมที่ประกอบกันก็ดี ขันธ์ที่เกิดร่วมกันแห่งลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เหล่านี้ก็ดี ตัณหาอันประกอบกันก็ดี ก็มีกำลังทราม. ธรรมเหล่านี้มีกำลังทรามเป็นนิตย์ต่อกันและ กัน มิได้ตั้งมั่นต่อกันและกัน ย่อมยังกันและกันให้ตกไป เพราะความต้านทานมิได้มีแก่กัน และกัน ธรรมเหล่านี้จึงไม่ดำรงกันและกันไว้ได้ ธรรมใด ให้ธรรมเหล่านี้เกิดแล้ว ธรรมนั้นมิได้มี ก็แต่ธรรมอย่างหนึ่งมิได้เสื่อมไปเพราะธรรมอย่างหนึ่ง. ก็ขันธ์เหล่านี้แตกไปเสื่อมไปโดยอาการ ทั้งปวง ขันธ์เหล่านี้ อันเหตุปัจจัยมีในก่อนให้เกิดแล้ว แม้เหตุปัจจัยอันเกิดก่อนเหล่าใด แม้เหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ตายไปแล้วในก่อน. ขันธ์ที่เกิดก่อนก็ดี ขันธ์ที่เกิดภายหลังก็ดี มิได้เห็น กันและกันในกาลไหนๆ ฉะนั้น. ชีวิตจึงชื่อว่า เป็นของน้อยเพราะมีกิจน้อยอย่างนี้. อนึ่ง เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ชีวิตของมนุษย์ก็น้อย คือเล็กน้อย นิดหน่อย เป็นไปชั่วขณะ เป็นไปพลัน เป็นไปชั่วกาลเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่ช้า ดำรงอยู่ไม่นาน. เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดา ชั้นยามา ... เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นดุสิต ... เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้น นิมมานรดี ... เพราะเทียบชีวิตของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ... เพราะเทียบชีวิตของพวก เทวดาที่เนื่องในหมู่พรหม ชีวิตของมนุษย์ก็น้อย คือเล็กน้อย นิดหน่อย เป็นไปชั่วขณะ เป็นไปพลัน เป็นไปชั่วกาลเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่ช้า ดำรงอยู่ไม่นาน. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายุของพวกมนุษย์นี้น้อยจำต้องละไปสู่ปรโลก มนุษย์ทั้งหลายจำต้อง ประสบความตายตามที่รู้กันอยู่แล้ว ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีมนุษย์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดอยู่นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือที่เกินกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีน้อย. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า อายุของพวกมนุษย์น้อย บุรุษผู้ใคร่ความดี พึงดูหมิ่นอายุที่น้อยนี้ พึงรีบประพฤติให้เหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น เพราะความตายจะ ไม่มาถึงมิได้มี วันคืนย่อมล่วงเลยไป ชีวิตก็กระชั้นเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยย่อมสิ้นไป ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชีวิตนี้น้อยหนอ. [๑๘๓] คำว่า มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี มีความว่า มนุษย์ย่อมเคลื่อน ตาย หาย สลายไป ในกาลที่เป็นกลละบ้าง. ในกาลที่เป็นน้ำล้างเนื้อบ้าง ในกาลที่เป็นชิ้นเนื้อบ้าง ในกาล ที่เป็นก้อนเนื้อบ้าง ในกาลที่เป็นสาขา ๕ แห่ง (มือ ๒ เท้า ๒ ศีรษะ ๑) บ้าง แม้พอเกิดก็ ย่อมเคลื่อน ตาย หาย สลายไปก็มี ย่อมเคลื่อน ตาย หาย สลายไปในเรือนที่คลอดก็มี ย่อม เคลื่อน ตาย หาย สลายไป ชีวิตครึ่งเดือนก็มี เดือนหนึ่งก็มี ๒ เดือนก็มี ๓ เดือนก็มี ๔ เดือนก็มี ๕ เดือนก็มี ๖ เดือนก็มี ๗ เดือนก็มี ๘ เดือนก็มี ๙ เดือนก็มี ๑๐ เดือนก็มี ๑ ปีก็มี ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี ๔ ปีก็มี ๕ ปีก็มี ๖ ปีก็มี ๗ ปีก็มี ๘ ปีก็มี ๙ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี ๕๐ ปีก็มี ๖๐ ปีก็มี ๗๐ ปีก็มี ๘๐ ปีก็มี ๙๐ ปีก็มี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มนุษย์ ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี. [๑๘๔] คำว่า แม้หากว่ามนุษย์ใดย่อมเป็นอยู่เกินไป มีความว่า มนุษย์ใดเป็นอยู่เกิน ๑๐๐ ปีไป มนุษย์นั้นเป็นอยู่ ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แม้หากว่ามนุษย์ใดย่อมเป็นอยู่เกินไป. [๑๘๕] คำว่า มนุษย์นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล มีความว่า เมื่อใดมนุษย์เป็น ผู้แก่ คือ เจริญวัย เป็นผู้ใหญ่โดยกำเนิด ล่วงกาลผ่านวัย มีฟันหัก ผมหงอก ผมบาง ศีรษะล้าน หนังย่น ตัวตกกระ คด ค่อม ถือไม้เท้าเดินหน้า เมื่อนั้น มนุษย์นั้น ย่อมเคลื่อน ตาย หาย สลายไปเพราะชรา การพ้นจากความตายไม่มี. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัตว์ที่เกิดมามีภัยโดยความตายเป็นนิตย์ เหมือนผลไม้ที่สุกแล้ว มีภัย โดยการหล่นในเวลาเช้า ฉะนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น มนุษย์ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่และฉลาด ทั้งหมด ย่อมไปสู่อำนาจมัจจุ มีมัจจุสกัดอยู่ข้างหน้า เมื่อมนุษย์เหล่านั้น ถูกมัจจุสกัดข้างหน้าแล้ว ถูกมัจจุครอบงำ บิดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้ หรือพวกญาติก็ต้านทานไว้ไม่ได้ เมื่อพวกญาติกำลังแลดูกันอยู่นั่นแหละ กำลังรำพันกันอยู่เป็นอันมากว่า ท่านจงดู ตนคนเดียวเท่านั้นแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันมรณะนำไปได้ เหมือนโคถูกนำไปฆ่า ฉะนั้น สัตว์โลกย่อมเป็นผู้อันมัจจุและชราครอบงำ อยู่อย่างนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มนุษย์นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า ชีวิตนี้น้อยหนอ มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี แม้หากว่ามนุษย์ใดย่อม เป็นอยู่เกินไป มนุษย์นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล. [๑๘๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก ในเพราะวัตถุที่ถือว่าของเรา ความยึดถือ ทั้งหลายเป็นของเที่ยงมิได้มีเลย การยึดถือนี้ มีความพลัดพรากเป็นที่สุด ทีเดียว กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่ควรอยู่ครองเรือน.
ว่าด้วยคนเศร้าโศกเพราะการยึดถือ
[๑๘๗] คำว่า ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก ในเพราะวัตถุที่ถือว่าของเรา มีความว่า ชนทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์. คำว่า ยึดถือว่าของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ. ชนทั้งหลาย แม้ผู้มีความหวาดระแวงในการแย่งชิงวัตถุที่ถือว่า ของเรา ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อมเศร้าโศกเมื่อเขากำลังแย่งชิงเอาบ้าง เมื่อเขาแย่งชิงเอาไปแล้วบ้าง แม้ผู้มีความหวาดระแวงในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุ ที่ถือว่าของเรา ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อม เศร้าโศก ลำบาก คร่ำครวญ ทุบอกร่ำไร ถึงความหลงใหล เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรปรวนไปอยู่บ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้วบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศกในเพราะวัตถุ ที่ถือว่าของเรา. [๑๘๘] คำว่า ความยึดถือทั้งหลายเป็นของเที่ยงมิได้มีเลย มีความว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ ความยึดถือด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยทิฏฐิ. ความยึดถือด้วยตัณหา เป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยความประชุมกันแห่งปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้น ความเสื่อม ความคลาย ความดับ ความแปรปรวนไป เป็นธรรมดา. ความยึดถือด้วยทิฏฐิ อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัย ความประชุมกันแห่งปัจจัยเกิดขึ้นมีความสิ้น ความเสื่อม ความคลาย ความดับ ความแปรปรวน ไปเป็นธรรมดา. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอย่อมเห็นหรือว่า ความยึดถือที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอ ด้วยของเที่ยง. ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นไม่มีเลย พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นถูกละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่ตามเห็นว่า ความยึดถือ ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่ปรวนแปรไปเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยของเที่ยง. ความยึดถือเป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคงไม่มีความปรวนแปรไปเป็นธรรมดา ย่อมไม่มี คือไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ความยึดถือทั้งหลายเป็นของเที่ยงมิได้มีเลย. [๑๘๙] คำว่า การยึดถือนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุดทีเดียว มีความว่า เมื่อความ เป็นต่าง ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น มีอยู่ ปรากฏอยู่ เข้าไปได้อยู่. สมจริงดังที่พระผู้มี พระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ อย่าเลย เธออย่าโศกเศร้ารำพันไปเลย ดูกรอานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกไว้ก่อนมิใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์และ สังขารอันเป็นที่รักใคร่พอใจทั้งหมดย่อมมีอยู่ ข้อนั้นจะพึงได้แต่ที่ไหน สิ่งใดที่เกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความสลายไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าสลายไปเลย ข้อนั้นไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้ เพราะขันธ์ ธาตุ อายตนะก่อนๆ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ หลังๆ ก็ย่อมเป็นไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า การยึดถือนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุดทีเดียว. [๑๙๐] คำว่า กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่ควรอยู่ครองเรือน มีความว่า ศัพท์ว่า อิติ เป็นบทสนธิ เป็นบทอุปสรรค เป็นบทบริบูรณ์ เป็นศัพท์เป็นที่ประชุมอักษร เป็นศัพท์ที่มี พยัญชนะสละสลวย ศัพท์ว่า อิตินี้ เป็นลำดับแห่งบท. กุลบุตรเห็นแล้ว พบแล้ว เทียบเคียง ตรวจตรา สอบสวน ทำให้แจ่มแจ้งในวัตถุที่ถือว่าของเราทั้งหลาย ดังนี้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เห็นแล้วดังนี้. คำว่า ไม่ควรอยู่ครองเรือน คือ กุลบุตรตัดกังวลในฆราวาสทั้งหมด ตัดกังวล ในบุตรและภรรยา ตัดกังวลในญาติ ตัดกังวลในมิตรและพวกพ้อง ตัดกังวลในความสั่งสม ทั้งหมด ปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ ไม่มีห่วงใย พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป คืออยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่ควรอยู่ครองเรือน. เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกในเพราะวัตถุที่ถือว่าของเราความยึดถือ ทั้งหลายเป็นของเที่ยงมิได้มีเลย การยึดถือนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด ทีเดียว กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่ควรอยู่ครองเรือน. [๑๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา เบญจขันธ์นั้น อันบุรุษนั้น ย่อมละไปแม้เพราะความตาย พุทธมามกะผู้เป็นบัณฑิตรู้เห็นโทษ แม้นั้นแล้ว ไม่ควรน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าของเรา.
ว่าด้วยการยึดถือเบญจขันธ์
[๑๙๒] คำว่า เบญจขันธ์นั้นอันบุรุษนั้นย่อมละไปแม้เพราะความตาย มีความว่า ความตาย คือความจุติ ความเคลื่อนจากหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งเหล่าสัตว์นั้นๆ ความทำลาย ความหายไป มัจจุ มรณะ กาลกิริยา ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความทอดทิ้งร่างกาย ความ เข้าไปตัดขาดแห่งชีวิตินทรีย์. คำว่า เบญจขันธ์นั้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. คำว่า ย่อมละ คือ เบญจขันธ์อันบุรุษนั้นย่อมละ สละ ทิ้ง หายไป สลายไป. สมจริงดังภาษิตว่า โภคสมบัติทั้งหลาย ย่อมละทิ้งสัตว์ไปก่อนบ้าง สัตว์ย่อมละทิ้งโภค สมบัติเหล่านั้นไปก่อนบ้าง ดูกรโจรราชผู้ใคร่กาม พวกชนเป็นผู้มีโภค สมบัติมิได้เที่ยง เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก ดวงจันทร์ย่อมขึ้น ย่อมเต็มดวง ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดวงอาทิตย์อัสดงคต แล้ว ย่อมจากไป ดูกรศัตรู โลกธรรมทั้งหลาย เรารู้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาโศก. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เบญจขันธ์นั้น อันบุรุษนั้นย่อมละไปแม้เพราะความตาย. [๑๙๓] คำว่า บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา มีความว่า เบญจขันธ์ใด คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. คำว่า บุรุษ ได้แก่ ความนับ ความหมายรู้ บัญญัติ โวหาร ของโลก นาม การตั้งนาม ความทรงนาม ความพูดถึง การแสดงความหมาย ความพูดถึง. คำว่า ย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา มีความว่า ย่อมสำคัญด้วยความสำคัญด้วยตัณหา ด้วยความ สำคัญด้วยทิฏฐิ ด้วยความสำคัญด้วยมานะ ด้วยความสำคัญด้วยกิเลส ด้วยความสำคัญด้วยทุจริต ด้วยความสำคัญด้วยประโยค ด้วยความสำคัญด้วยวิบาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุรุษย่อมสำคัญ เบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา. [๑๙๔] คำว่า ผู้เป็นบัณฑิตรู้โทษแม้นั้นแล้ว มีความว่า ทราบ รู้ เทียบเคียง ตรวจตรา สอบสวน ทำให้แจ่มแจ้ง ซึ่งโทษนั้น ในวัตถุที่ยึดถือว่า ของเราทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้โทษแม้นั้นแล้ว. คำว่า บัณฑิต คือ ผู้มีความรู้ ผู้มีญาณ ผู้มีปัญญาแจ่มแจ้ง ผู้มีปัญญาเป็น เครื่องทรง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เป็นบัณฑิตรู้โทษแม้นั้นแล้ว. [๑๙๕] คำว่า พุทธมามกะไม่ควรน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าของเรา มีความว่า ความ- *ยึดถือว่าของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑. คำว่า พุทธมามกะ คือ ผู้นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ บุคคลผู้นั้นย่อมนับถือพระผู้มีพระภาคว่า ของเรา พระผู้มีพระภาคย่อมทรงกำหนดบุคคลนั้น. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้คดโกง กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ไม่นับถือ เรา เป็นผู้ไปปราศแล้วจากธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนว่าภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ไม่คดโกง ไม่พูดพล่อย มีปัญญา ไม่กระด้าง มีจิตตั้งมั่นดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้นับถือเรา ไม่ไปปราศแล้วจากธรรมวินัยนี้ และย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ชนทั้งหลายเป็นผู้คดโกง กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่ได้ตั้งมั่น ชนเหล่านั้น ย่อมไม่งอกงามในธรรมวินัยอันพระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ส่วนชนทั้งหลายเป็นผู้ไม่คดโกง ไม่พูด พล่อย มีปัญญา ไม่กระด้าง มีจิตตั้งมั่นดี ชนเหล่านั้นแล ย่อมงอกงาม ในธรรมวินัยอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว. คำว่า พุทธมามกะไม่ควรน้อมไปเพื่อความยึดถือว่า ของเรา มีความว่า พุทธมามกะละ ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา สละคืนความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ไม่พึงน้อมโน้มไปเพื่อ ความยึดถือว่าของเรา คือ ไม่พึงเป็นผู้น้อมไป เอนไป โอนไป โน้มน้อมไป ในความยึดถือ ว่าของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้มีความยึดถือว่าของเรานั้นเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พุทธมามกะ ไม่ควรน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าของเรา. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา เบญจขันธ์นั้นอันบุรุษนั้น ย่อมละแม้เพราะความตาย พุทธมามกะผู้เป็นบัณฑิต รู้โทษแม้นี้แล้ว ไม่ควรน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าของเรา. [๑๙๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุรุษตื่นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด ใครๆ ก็ไม่เห็นชนที่รักซึ่งตายจากไปแล้ว แม้ฉันนั้น.
ว่าด้วยเปรียบสิ่งที่ได้เหมือนความฝัน
[๑๙๗] คำว่า สิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด มีความว่า สิ่งที่มาประจวบ คือ สิ่งที่มาปรากฏ มาตั้งอยู่ ประชุมแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด. [๑๙๘] คำว่า บุรุษตื่นแล้วย่อมไม่เห็น มีความว่า บุรุษผู้ฝันเห็นดวงจันทร์ เห็นดวง อาทิตย์ เห็นมหาสมุทร เห็นขุนเขาสิเนรุ เห็นช้าง เห็นม้า เห็นรถ เห็นคนเดินเท้า เห็น ขบวนเสนา เห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ เห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ เห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ เห็นสระน้ำที่ น่ารื่นรมย์ ครั้นตื่นแล้วย่อมไม่แลเห็นสิ่งอะไรๆ ฉันใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุรุษตื่นแล้ว ย่อมไม่เห็น. [๑๙๙] คำว่า ... ชนที่รัก ... แม้ฉันนั้น มีความว่า ศัพท์ว่า ฉันนั้น เป็นอุปไมยยัง อุปมาให้ถึงพร้อม. คำว่า ชนที่รักคือชนที่รัก ที่ถือว่าของเรา ซึ่งได้แก่มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว บุตร ธิดา มิตร พวกพ้อง หรือญาติสาโลหิต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ... ชนที่รัก ... แม้ฉันนั้น. [๒๐๐] คำว่า ย่อมไม่เห็น ... ผู้ตายจากไปแล้ว มีความว่า ชนผู้ตาย ทำกาละแล้ว เรียกว่าผู้จากไปแล้ว ย่อมไม่เห็น ไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมไม่เห็น ... ผู้ตายจากไปแล้ว. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุรุษตื่นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด ใครๆ ก็ไม่เห็นชนที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว แม้ฉันนั้น. [๒๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี ชนเหล่านั้นที่จากไป แล้ว ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่.
ว่าด้วยสิ่งต่างๆ ย่อมสลายไปเหลือแต่ชื่อ
[๒๐๒] คำว่า ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี มีความว่า ที่เห็นกัน ได้แก่ ชนทั้งหลายมีรูปที่ทราบกันด้วยจักษุวิญญาณ. คำว่า ที่ได้ยินกัน ได้แก่ มีเสียงที่ทราบกัน โดยโสตวิญญาณ. คำว่า ชนทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายที่เห็นก็ดี ที่ได้ยินชื่อกันก็ดี. [๒๐๓] คำว่า มีชื่อเรียกกัน ศัพท์ว่า เยสํ ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์. คำว่า มีชื่อ คือ มีชื่อที่นับ มีชื่อที่หมายรู้ มีชื่อที่บัญญัติ มีชื่อที่เรียกกันทางโลก มีนาม มีความตั้งนาม มีความทรงนาม มีชื่อที่พูดถึง มีชื่อที่แสดง ความหมาย มีชื่อที่กล่าวเฉพาะ. คำว่า เรียก คือ กล่าว พูด แสดง แถลง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีชื่อเรียกกัน. [๒๐๔] คำว่า ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่. มีความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันบุคคล ละไป สละไป ทิ้งไป หายไป สลายไป มีเหลือแต่ชื่อเท่านั้น. คำว่า ที่พูดถึงกันอยู่ คือ เพื่อบอก เพื่อกล่าว เพื่อพูด เพื่อแสดง เพื่อแถลง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่. คำว่า ชนเหล่านั้นที่จากไปแล้ว คือ ตายไป มีกาละกระทำแล้ว. คำว่า ชน คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์ เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนเหล่านั้น ... ที่พูดถึงกันอยู่. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี ชนเหล่านั้นที่จาก ไปแล้วยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่พูดถึงกันอยู่. [๒๐๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความ รำพันและความหวงแหน เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอด โปร่ง ละซึ่งความยึดถือได้เที่ยวไปแล้ว. [๒๐๖] คำว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ว่าของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความรำพัน และความหวงแหน มีความว่า ความโศก กิริยาที่เศร้าโศก ความเป็นผู้เศร้าโศก ความที่จิต เศร้าโศก ความเศร้าโศกในภายใน ความเศร้าโศกรอบในภายใน ความเร่าร้อนในภายใน ความ เร่าร้อนรอบในภายใน ความตรอมตรมแห่งจิต โทมนัส ลูกศรคือความเศร้าโศก ของชนผู้ถูก ความเสื่อมแห่งญาติกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งโภคสมบัติกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความ เสื่อมเพราะโรคกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งศีลกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งทิฏฐิ กระทบเข้าบ้าง ที่ประจวบกับความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง กระทบเข้าบ้าง. คำว่า ความรำพัน คือ ความเพ้อถึง ความรำพัน อาการที่เพ้อถึง อาการ ที่รำพันถึง ความเป็นผู้เพ้อถึง ความเป็นผู้รำพันถึง ความพูดเพ้อ ความบ่นเพ้อ อาการพร่ำเพ้อ ความเป็นผู้พร่ำเพ้อ ของชนผู้ถูกความเสื่อมแห่งญาติกระทบเข้าบ้าง ฯลฯ ที่ถูกความเสื่อมแห่ง ทิฏฐิกระทบเข้าบ้าง ที่ประจวบกับความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่งกระทบเข้าบ้าง. คำว่า ความหวงแหน ได้แก่ ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ ความตระหนี่ ที่อยู่ ความตระหนี่ตระกูล ความตระหนี่ลาภ ความตระหนี่วรรณะ ความตระหนี่ธรรม ความ ตระหนี่เห็นปานนี้ อาการที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ประพฤติตระหนี่ ความเป็นผู้ปรารถนาต่างๆ ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีจิตหดหู่เจ็บร้อนในการให้ ความที่จิตอันใครๆ ไม่เชื่อถือได้ใน การให้ นี้เรียกว่าความตระหนี่. อีกอย่างหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความ ตระหนี่อายตนะก็ดี นี้เรียกว่าความตระหนี่. ความมุ่งจะเอาก็เรียกว่าความตระหนี่. ตัณหาเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า ความยึดถือว่าของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือของเราด้วยทิฏฐิ ชนทั้งหลายแม้ผู้มีความหวาดระแวงในการแย่งชิงวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อมเศร้าโศกเมื่อเขากำลังแย่งชิงเอาบ้าง. เมื่อเขาแย่งชิงเอาไปแล้วบ้าง. แม้ผู้มี ความหวาดระแวงในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อมเศร้าโศก เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรปรวนไปบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้วบ้าง. แม้ผู้มีความหวาดระแวงการ แย่งชิงวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมรำพัน คือ ย่อมรำพันเมื่อเขากำลังแย่งชิงเอาบ้าง เมื่อเขาแย่งชิง เอาไปแล้วบ้าง. แม้ผู้มีความหวาดระแวงในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมรำพัน คือ ย่อมรำพันเมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรปรวนไปบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้วบ้าง. ชนทั้งหลาย ย่อมรักษาคุ้มครอง ป้องกันวัตถุที่ถือว่าของเรา หวงแหนวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมเศร้าโศก ไม่ละ ไม่สละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งความโศก ความรำพัน ความหวงแหน ความติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่าของเรา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ถือว่า ของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความรำพัน และความหวงแหน.
ว่าด้วยโมไนยธรรม
[๒๐๗] คำว่า เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอดโปร่ง ละซึ่งความยึดถือได้ เที่ยวไปแล้ว มีความว่า คำว่า เพราะฉะนั้น ได้แก่ เพราะเหตุนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะ เหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น คือ เห็นโทษนั้นในวัตถุที่ยึดถือว่าของเราทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เพราะฉะนั้น. คำว่า มุนีทั้งหลาย มีความว่า ญาณ เรียกว่า โมนะ ได้แก่ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ชนทั้งหลายประกอบ แล้วด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้ถึงแล้วซึ่งญาณชื่อว่าโมนะ. โมไนยยะ (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) มี ๓ ประการคือ โมไนยธรรมทางกาย ๑ โมไนยธรรมทางวาจา ๑ โมไนยธรรมทางใจ ๑. โมไนยธรรมทางกายเป็นไฉน? การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมไนยธรรมทางกาย กายสุจริต ๓ อย่าง ญาณมีกายเป็นอารมณ์ การกำหนดรู้กาย มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การ ละฉันทราคะในกาย นี้ชื่อว่า โมไนยธรรมทางกาย. โมไนยธรรมทางวาจาเป็นไฉน? การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมไนยธรรมทางวาจา. วจีสุจริต ๔ อย่าง ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ การกำหนดรู้วาจา มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การ ละฉันทราคะในวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร ความบรรลุทุติยฌาน ชื่อว่าโมไนยธรรมทางวาจา นี้ ชื่อว่าโมไนยธรรมทางวาจา โมไนยธรรมทางใจเป็นไฉน? การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมไนยธรรมทางใจ. มโน- *สุจริต ๓ อย่าง ญาณมีจิตเป็นอารมณ์ การกำหนดรู้จิต มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การละ ฉันทราคะในใจ ความดับแห่งจิตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่าโมไนยธรรมทางจิต นี้ ชื่อว่าโมไนยธรรมทางใจ. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บัณฑิตทั้งหลาย ได้กล่าวมุนีผู้เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา เป็น มุนีทางใจ หาอาสวะมิได้ว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวง บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวมุนีผู้เป็นมุนีทางกาย เป็น มุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ หาอาสวะมิได้ว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี เป็นผู้มีบาปอันล้างเสียแล้ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเพียงดังว่าข่าย ดำรงอยู่ เป็นผู้อันเทวดาและ มนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี คำว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ ความยึด ถือด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความ ยึดถือด้วยทิฏฐิ มุนีทั้งหลายละความยึดถือด้วยตัณหา สละคืนความยึดถือด้วยทิฏฐิเสียแล้ว ได้ ประพฤติแล้ว เที่ยวไป เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป. คำว่า ผู้ เห็นความปลอดโปร่ง มีความว่า อมตนิพพานเรียกว่า ความปลอดโปร่ง ได้แก่ ความสงบสังขาร ทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอก ความดับ ความออกจากตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด คำว่า เห็นความปลอดโปร่ง คือ เห็นความปลอดโปร่ง เห็นที่ต้านทาน เห็น ที่ลี้ลับ เห็นที่พึ่ง เห็นความไม่มีภัย เห็นความไม่เคลื่อน เห็นอมตะ เห็นนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีทั้งหลาย ผู้เห็นความปลอดโปร่ง ละซึ่งความยึดถือได้ เที่ยวไปแล้ว. เพราะเหตุ นั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความ รำพัน และความหวงแหน เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอด โปร่ง ละแล้วซึ่งความยึดถือ ได้เที่ยวไปแล้ว. [๒๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวการไม่แสดงตนในภพนั้น ของภิกษุผู้ประพฤติ หลีกเร้น ผู้คบที่นั่งอันสงัดว่า เป็นความพร้อมเพรียง.
ว่าด้วยผู้ประพฤติหลีกเร้น
[๒๐๙] คำว่า ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น มีความว่า พระเสขะ ๗ จำพวก เรียกว่า เป็นผู้ประพฤติหลีกเร้น พระอรหันต์เรียกว่าผู้หลีกเร้น. พระเสขะ ๗ จำพวก เรียกว่าผู้ประพฤติ หลีกเร้น เพราะเหตุอะไร? พระเสขะเหล่านั้น ผู้ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิด กั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ย่อมประพฤติอยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนิน ไป ให้อัตภาพดำเนินไป ผู้ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิด กั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในจักษุทวาร ประพฤติอยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป ผู้ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิด กั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในโสตทวาร ... ในฆานทวาร ... ในชิวหาทวาร ... ในกายทวาร ... ผู้ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิด กั้น ข่ม ห้าม รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพ ดำเนินไป เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่ใส่เข้าไปในไฟ ย่อมหดหู่งอ ไม่คลี่ออก ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระเสขะ ๗ จำพวก จึงเรียกว่า เป็นผู้ประพฤติหลีกเร้น คำว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือของภิกษุผู้เป็นพระเสขะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ของภิกษุ ผู้ประพฤติหลีกเร้น. [๒๑๐] คำว่า ผู้คบที่นั่งอันสงัด มีความว่า ที่นั่งแห่งภิกษุเรียกว่า อาสนะ ได้แก่ เตียง ตั่ง เบาะ เสื่อ ท่อนหนัง เครื่องลาดด้วยหญ้า เครื่องลาดด้วยใบไม้ เครื่องลาดด้วยฟาง. ที่นั่งนั้นว่าง เงียบ สงัด จากการเห็นรูปไม่เป็นที่สบาย การได้ยินเสียงไม่เป็นที่สบาย การ สูดดมกลิ่นไม่เป็นที่สบาย การได้ลิ้มรสไม่เป็นที่สบาย การถูกต้องโผฏฐัพพะไม่เป็นที่สบาย จากกามคุณ ๕ ไม่เป็นที่สบาย ผู้คบอยู่ คบเสมอ เสพ เข้าไปเสพ อาศัยเสพ ซ่องเสพ ซึ่งที่นั่งนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้คบที่นั่งอันสงัด.
ว่าด้วยสามัคคี ๓ อย่าง
[๒๑๑] คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพนั้นว่า เป็นความพร้อมเพรียง มีความว่า ความพร้อมเพรียง ได้แก่ สามัคคี ๓ อย่าง คือ คณะสามัคคี ๑ ธรรมสามัคคี ๑ อนภินิพพัตติสามัคคี ๑. คณะสามัคคีเป็นไฉน? ภิกษุทั้งหลายแม้มาก พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดังว่าน้ำเจือด้วยน้ำนม แลดูกันและกันด้วยจักษุเป็นที่รักอยู่ นี้ชื่อว่า คณะสามัคคี. ธรรมสามัคคีเป็นไฉน? สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านั้นย่อมแล่นไป ผ่องใส ประดิษฐานด้วยดี พ้นวิเศษโดยความเป็นอันเดียวกัน ความขัดแย้งกันแห่งธรรมเหล่านั้นย่อมไม่มี นี้ชื่อว่า ธรรม สามัคคี. อนภินิพพัตติสามัคคีเป็นไฉน? ภิกษุทั้งหลายแม้มาก ย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส- *นิพพานธาตุ ความเป็นของบกพร่องหรือเต็มล้นไปแห่งนิพพานธาตุของภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่ ปรากฏ นี้ชื่อว่า อนภินิพพัตติสามัคคี. คำว่า ในภพ คือ นรก เป็นภพของพวกสัตว์ที่เกิดในนรก กำเนิดดิรัจฉาน เป็นภพ ของพวกสัตว์ที่เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย เป็นภพของพวกสัตว์ที่เกิดในเปรตวิสัย มนุษย- *โลกเป็นภพของพวกมนุษย์ เทวโลกเป็นภพของพวกเทวดา. คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่ แสดงตนในภพนั้นว่า เป็นความพร้อมเพรียง คือ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าว บอก พูด แสดง แถลง อย่างนี้ว่า ภิกษุใดปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ไม่พึงแสดงตนในนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย- *โลก เทวโลก การไม่แสดงตนของภิกษุนั้น เป็นความพร้อมเพรียง คือ ข้อนั้นเป็นการปกปิด เป็นการควร สมควร เป็นอนุโลม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดง ตนในภพนั้นว่า เป็นความพร้อมเพรียง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวการไม่แสดงตนในภพนั้น ของภิกษุผู้ประพฤติ หลีกเร้น ผู้คบที่นั่งอันสงัดว่า เป็นความพร้อมเพรียง. [๒๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มุนีไม่อาศัยแล้วในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่รัก และไม่ทำ สัตตสังขารว่าเป็นที่ชัง ความรำพันและความหวงแหนมิได้ติดในมุนีนั้น เหมือนน้ำไม่ติดในใบบัว ฉะนั้น. [๒๑๓] คำว่า มุนีไม่อาศัยแล้วในสิ่งทั้งปวง มีความว่า อายตนะ ๑๒ คือ จักษุ รูป หู เสียง จมูก กลิ่น ลิ้น รส กาย โผฏฐัพพะ ใจ ธรรมารมณ์ เรียกว่าสิ่งทั้งปวง. คำว่า มุนี มีความว่า ญาณ เรียกว่า โมนะ ได้แก่ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง และตัณหาเพียงดังข่าย ดำรงอยู่ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี. คำว่า ไม่อาศัย มีความว่า ความอาศัย ๒ อย่าง คือ ความอาศัยด้วยตัณหา ๑ ความอาศัยด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยทิฏฐิ. มุนีละความอาศัยด้วยตัณหา สละคืนความอาศัยด้วยทิฏฐิแล้ว ไม่อาศัย คือ ไม่อิงอาศัย ไม่พัวพัน ไม่เข้าถึง ไม่ติดใจ ไม่น้อมใจถึง เป็นผู้ออกไป สละเสีย พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องแล้วซึ่งจักษุ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ อดีต อนาคต ปัจจุบัน ทิฏฐธรรม สุตธรรม มุตธรรม วิญญาตัพพธรรม เป็นผู้มีจิตกระทำให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีไม่อาศัยแล้วในสิ่งทั้งปวง.
ว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก ๒ อย่าง
[๒๑๔] คำว่า ไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่รัก และไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่ชัง มีความว่า ที่รัก ได้แก่ สิ่งเป็นที่รัก ๒ อย่าง คือ สัตว์ ๑ สังขาร ๑. สัตว์ทั้งหลายเป็นที่รักเป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ใคร่ความเจริญ ใคร่ ประโยชน์เกื้อกูล ใคร่ความผาสุก ใคร่ความปลอดโปร่งจากโยคกิเลสบ้าง คือ เป็นมารดาบิดาบ้าง เป็นพี่ชายน้องชายบ้าง เป็นพี่สาวน้องสาวบ้าง เป็นบุตรบ้าง เป็นธิดาบ้าง เป็นมิตรบ้าง เป็น พวกพ้องบ้าง เป็นสาโลหิต (ญาติสืบสาย) บ้าง แห่งบุคคลนั้น สัตว์เหล่านี้ชื่อว่าเป็นที่รัก. สังขารทั้งหลายเป็นที่รักเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นที่ชอบใจ สังขารเหล่านี้ชื่อว่าเป็นที่รัก. คำว่า เป็นที่ชัง ได้แก่ สิ่งเป็นที่ชัง ๒ อย่าง คือ สัตว์ ๑ สังขาร ๑. สัตว์ทั้งหลายเป็นที่ชังเป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ใคร่ความเสื่อม ใคร่ สิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ใคร่ความไม่ผาสุก ใคร่ความไม่ปลอดโปร่งจากโยคกิเลส ใคร่เพื่อ จะปลงจากชีวิตของบุคคลนั้น สัตว์เหล่านี้ชื่อว่าเป็นที่ชัง. สังขารทั้งหลายเป็นที่ชังเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่เป็นที่ชอบใจ สังขารเหล่านี้ชื่อว่าเป็นที่ชัง. คำว่า ไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่รัก และไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่ชัง คือ มุนีไม่ทำ สัตตสังขารว่าเป็นที่รักด้วยสามารถแห่งความกำหนัดว่า สัตว์นี้เป็นที่รักของเรา และสังขาร ทั้งหลายนี้เป็นที่ชอบใจของเรา และไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่ชังด้วยสามารถแห่งความขัดเคืองว่า สัตว์นี้เป็นที่ชังของเรา และสังขารทั้งหลายนี้เป็นที่ไม่ชอบใจของเรา คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิด พร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่รัก และไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่ชัง. [๒๑๕] คำว่า ความรำพันและความหวงแหน มิได้ติดในมุนีนั้น เหมือนน้ำไม่ติดใน ใบบัว ฉะนั้น มีความว่า ในมุนีนั้น คือ ในบุคคลผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ. คำว่า ความรำพัน คือ ความเพ้อถึง ความรำพัน อาการที่เพ้อถึง อาการรำพันถึง ความเป็นผู้เพ้อถึง ความเป็นผู้ รำพันถึง ความพูดเพ้อ ความบ่นเพ้อ ความพร่ำเพ้อ อาการพร่ำเพ้อ ความเป็นผู้พร่ำเพ้อ ของชนผู้ถูกความเสื่อมแห่งญาติกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งโภคสมบัติกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมเพราะโรคกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งศีลกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อม แห่งทิฏฐิกระทบเข้าบ้าง ที่ประจวบกับความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่งกระทบเข้าบ้าง. คำว่า ความหวงแหน ได้แก่ ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ ความตระหนี่ ที่อยู่ ความตระหนี่สกุล ความตระหนี่ลาภ ความตระหนี่วรรณะ ความตระหนี่ธรรม ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ประพฤติตระหนี่ ความเป็นผู้ปรารถนาต่าง ความเหนียวแน่น ความ เป็นผู้มีจิตหดหู่เจ็บร้อนในการให้ ความที่จิตอันใครๆ ไม่เชื่อถือได้ในการให้เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความตระหนี่. อีกอย่างหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่อายตนะก็ดี นี้เรียกว่าความตระหนี่ ความมุ่งจะเอาก็เรียกว่าความตระหนี่ นี้เรียกว่า ความตระหนี่. คำว่า ไม่ติด เหมือนน้ำไม่ติดในใบบัว ฉะนั้น คือ ใบปทุมเรียกว่าใบบัว. น้ำเรียกว่าวารี. ความรำพันและ ความตระหนี่ย่อมไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด คือ ย่อมเป็นของไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไป ติดในมุนีนั้น คือ ในบุคคลผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ เหมือนน้ำย่อมไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้า ไปติด คือ เป็นของไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติดในใบปทุม ฉะนั้น และบุคคลนั้น ย่อมไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด คือ เป็นผู้ไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด เป็นผู้ออกไป สละเสียแล้ว พ้นขาดแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว ด้วยกิเลสเหล่านั้น เป็นผู้มีจิตกระทำให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความรำพันและความหวงแหน ย่อมไม่ติดในมุนีนั้น เหมือนน้ำย่อมไม่ติด ในใบบัว ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มุนี ไม่อาศัยแล้วในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำสัตตสังขารว่าเป็นที่รักและไม่ทำ สัตตสังขารว่าเป็นที่ชัง ความรำพันและความหวงแหนมิได้ติดในมุนีนั้น เหมือนน้ำไม่ติดในใบบัว ฉะนั้น. [๒๑๖] หยาดน้ำย่อมไม่ติดในใบบัว วารีย่อมไม่ติดในดอกบัว ฉันใด มุนีย่อม ไม่เข้าไปติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ ฉันนั้น. [๒๑๗] คำว่า หยาดน้ำย่อมไม่ติดในใบบัว มีความว่า หยดน้ำ เรียกว่า หยาดน้ำ. ใบปทุม เรียกว่า ใบบัว. หยาดน้ำย่อมไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด คือ เป็นของไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติดอยู่ในใบบัว ฉันใด เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า หยาดน้ำย่อมไม่ติด ในใบบัว. [๒๑๘] คำว่า วารีย่อมไม่ติดในดอกบัว ฉันใด มีความว่า ดอกปทุมเรียกว่าดอกบัว. น้ำเรียกว่าวารี. วารีย่อมไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด คือ เป็นของไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติดอยู่ในดอกบัว ฉันใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วารีย่อมไม่ติดในดอกบัว ฉันใด. [๒๑๙] คำว่า มุนีย่อมไม่เข้าไปติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ ฉันนั้น มีความว่า คำว่า ฉันนั้น เป็นอุปไมยยังอุปมาให้ถึงพร้อมเฉพาะ. คำว่า มุนี มีความว่า ญาณเรียกว่า โมนะ ได้แก่ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง และตัณหา เพียงดังข่าย ดำรงอยู่ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี. คำว่า ติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ ความติดด้วยตัณหา ๑ ความติดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติด ด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยทิฏฐิ มุนีละความติดด้วยตัณหา สละคืนความติดด้วย ทิฏฐิเสียแล้ว ย่อมไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด คือ เป็นผู้ไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้า ไปติดแล้ว เป็นผู้ออกไป สละเสียแล้ว พ้นขาดแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ อารมณ์ที่รู้แจ้ง เป็นผู้มีจิตกระทำให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีย่อมไม่เข้าไปติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ ฉันนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้ มีพระภาคจึงตรัสว่า หยาดน้ำย่อมไม่ติดในใบบัว วารีย่อมไม่ติดในดอกบัว ฉันใด มุนีย่อม ไม่เข้าไปติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ ฉันนั้น. [๒๒๐] พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญในรูปที่เห็น เสียง ที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ พระอรหันต์นั้นย่อมไม่ปรารถนาความหมด จดด้วยมรรคอื่น ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่คลายกำหนัดเลย. [๒๒๑] คำว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญในรูปที่เห็น เสียงที่ ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ มีความว่า คำว่า โธนะ มีความว่า ปัญญาเรียกว่าโธนา ได้แก่ ความรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ. เพราะเหตุอะไร ปัญญา จึงเรียกว่าโธนา. เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความ ริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อน ทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงชื่อว่าโธนา. อีกอย่างหนึ่ง สัมมาทิฏฐิ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาสังกัปปะ สัมมาวาจาเป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาวาจา สัมมา กัมมันตะ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระซักฟอกซึ่งมิจฉาอาชีวะ สัมมาวายามะ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาวายามะ สัมมาสติ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาสติ สัมมาสมาธิ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาสมาธิ สัมมาญาณ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาญาณ. สัมมาวิมุติ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาวิมุติ. อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งกิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง พระอรหันต์เข้าถึง เข้าถึง พร้อม เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้าชิด เข้าชิดพร้อมแล้ว ประกอบแล้วด้วยธรรมทั้งหลายอัน เป็นเครื่องกำจัดนี้ เพราะเหตุนั้น พระอรหันต์จึงชื่อว่า มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด พระอรหันต์นั้น กำจัดราคะ บาป กิเลส ความเร่าร้อนเสียแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด. คำว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ คือ พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญซึ่งรูปที่เห็น ย่อมไม่ สำคัญในรูปที่เห็น ย่อมไม่สำคัญแต่รูปที่เห็น ย่อมไม่สำคัญว่า รูปเราเห็นแล้ว ย่อมไม่สำคัญ ซึ่งเสียงที่ได้ยิน ย่อมไม่สำคัญในเสียงที่ได้ยิน ย่อมไม่สำคัญแต่เสียงที่ได้ยิน ย่อมไม่สำคัญว่า เสียงเราได้ยินแล้ว ย่อมไม่สำคัญซึ่งอารมณ์ที่ทราบ ย่อมไม่สำคัญในอารมณ์ที่ทราบ ย่อมไม่ สำคัญแต่อารมณ์ที่ทราบ ย่อมไม่สำคัญว่า อารมณ์เราทราบแล้ว ย่อมไม่สำคัญซึ่งอารมณ์ที่รู้แจ้ง ย่อมไม่สำคัญในอารมณ์ที่รู้แจ้ง ย่อมไม่สำคัญแต่อารมณ์ที่รู้แจ้ง ย่อมไม่สำคัญว่า อารมณ์เรารู้ แจ้งแล้ว. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนได้สำคัญว่า เรามีอยู่ ว่าเราย่อมไม่มี ว่าเราจักมี ว่าเราจักไม่มี ว่าเราจักเป็นสัตว์มีรูป ว่าเราจักเป็นสัตว์ไม่มีรูป ว่าเรา จักเป็นสัตว์มีสัญญา ว่าเราจักเป็นสัตว์ไม่มีสัญญา ว่าเราจักเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่ และปุถุชนได้สำคัญว่า เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นอุบาทว์ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้มีจิตไม่สำคัญอยู่ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ. [๒๒๒] คำว่า พระอรหันต์ย่อมไม่ปรารถนาความหมดจดด้วยมรรคอื่น คือ พระอรหันต์ ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องจำกัด ย่อมไม่ปรารถนา ไม่ยินดี ไม่ประสงค์ ไม่รัก ไม่ชอบใจ ซึ่งความ หมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยมรรค อื่น คือ ด้วยมรรคอันไม่หมดจด ด้วยปฏิปทาอันผิด ด้วยทางอันไม่นำออกจากทุกข์ เว้นจาก สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์ย่อมไม่ปรารถนาความหมดจดด้วยมรรคอื่น. [๒๒๓] คำว่า พระอรหันต์นั้น ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่คลายกำหนัดเลย มีความว่า พาลปุถุชนทั้งปวงย่อมกำหนัด พระอริยบุคคลผู้เสขะ ๗ จำพวก ตลอดถึงกัลยาณปุถุชน ย่อมคลายกำหนัด ส่วนพระอรหันต์ย่อมกำหนัดหามิได้ ย่อมคลายกำหนัดก็หามิได้. เพราะ พระอรหันต์นั้นคลายกำหนัดแล้ว เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะโดยราคะสิ้นไปแล้ว เพราะเป็นผู้ ปราศจากโทสะโดยโทสะสิ้นไปแล้ว เพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะโดยโมหะสิ้นไปแล้ว และพระ- *อรหันต์นั้นอยู่จบแล้ว มีจรณะอันประพฤติแล้ว ฯลฯ ภพใหม่มิได้มีแก่พระอรหันต์นั้น เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์นั้น ย่อมไม่กำหนัด ไม่คลายกำหนัดเลย. เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงตรัสว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญในรูปที่เห็น เสียง ที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ พระอรหันต์นั้น ย่อมไม่ปรารถนาความ หมดจดด้วยมรรคอื่น ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่คลายกำหนัดเลย ดังนี้.
จบ ชราสุตตนิทเทสที่ ๖.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๒๕๘๖-๓๐๘๓ หน้าที่ ๑๐๙-๑๓๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=29&A=2586&Z=3083&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=29&siri=6              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=181              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [181-223] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=29&item=181&items=43              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=5666              The Pali Tipitaka in Roman :- [181-223] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=29&item=181&items=43              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=5666              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :