ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
ยุคนัทธวรรค สัจจกถา
นิทานในกถาบริบูรณ์
[๕๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัจจะ ๔ ประการนี้ เป็นของแท้ เป็น ของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัจจะว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัจจะ ๔ ประการนี้แล เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น ฯ [๕๔๕] ทุกข์เป็นสัจจะด้วยอรรถว่าเป็นของแท้อย่างไร ฯ สภาพแห่งทุกข์เป็นทุกข์ ๔ ประการ เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น คือ สภาพที่บีบคั้นแห่งทุกข์ ๑ สภาพแห่งทุกข์ อันปัจจัย ปรุงแต่ง ๑ สภาพที่ให้เดือดร้อน ๑ สภาพที่แปรไป ๑ สภาพแห่งทุกข์เป็นทุกข์ ๔ ประการนี้ เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น ทุกข์เป็นสัจจะด้วย อรรถว่าเป็นของแท้อย่างนี้ ฯ สมุทัยเป็นสัจจะด้วยอรรถว่าเป็นของแท้อย่างไร ฯ สภาพแห่งสมุทัยเป็นเหตุเกิด ๔ ประการ เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น คือ สภาพที่ประมวลมาแห่งสมุทัย ๑ สภาพที่เป็นเหตุ ๑ สภาพที่ประกอบไว้ ๑ สภาพพัวพัน ๑ สภาพแห่งสมุทัยเป็นเหตุเกิด ๔ ประการนี้ เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น สมุทัยเป็นสัจจะด้วย อรรถว่าเป็นของแท้อย่างนี้ ฯ นิโรธเป็นสัจจะด้วยอรรถว่าเป็นของแท้อย่างไร ฯ สภาพดับแห่งนิโรธ ๔ ประการ เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็น อย่างอื่น คือ สภาพสลัดออกแห่งนิโรธ ๑ สภาพสงัด ๑ สภาพที่ปัจจัย ไม่ปรุงแต่ง ๑ สภาพเป็นอมตะ ๑ สภาพดับแห่งนิโรธ ๔ ประการนี้ เป็น ของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น นิโรธเป็นสัจจะด้วยอรรถว่าเป็นของ แท้อย่างนี้ ฯ มรรคเป็นสัจจะด้วยอรรถว่าเป็นของแท้อย่างไร ฯ สภาพเป็นทางแห่งมรรค ๔ ประการ เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น คือ สภาพนำออกแห่งมรรค ๑ สภาพเป็นเหตุ ๑ สภาพที่เห็น ๑ สภาพเป็นใหญ่ ๑ สภาพเป็นทางแห่งมรรค ๔ ประการนี้ เป็นของแท้ เป็นของ ไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น มรรคเป็นสัจจะด้วยอรรถว่าเป็นของแท้อย่างนี้ ฯ [๕๔๖] สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยอาการเท่าไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยอาการ ๔ คือ ด้วยความ เป็นของแท้ ๑ ด้วยความเป็นอนัตตา ๑ ด้วยความเป็นของจริง ๑ ด้วยความ เป็นปฏิเวธ ๑ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่งด้วยอาการ ๔ นี้ สัจจะใด ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่งสัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่ง ด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นของแท้อย่างไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยอาการ ๔ คือ สภาพที่ทน ได้ยากแห่งทุกข์เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพเป็นเหตุเกิดแห่งสมุทัยเป็นสภาพแท้ ๑ สภาพดับแห่งนิโรธเป็นสภาพแท้ ๑ สภาพเป็นทางแห่งมรรคเป็นสภาพแท้ ๑ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง ด้วยความเป็นของแท้ ด้วยอาการ ๔ นี้ สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทงตลอด สัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอด ด้วยญาณเดียว ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นอนัตตาอย่างไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นอนัตตา ด้วย อาการ ๔ คือ สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ เป็นสภาพมิใช่ตัวตน ๑ สภาพเป็น เหตุเกิดแห่งสมุทัย เป็นสภาพมิใช่ตัวตน ๑ สภาพดับแห่งนิโรธ เป็นสภาพมิใช่ ตัวตน ๑ สภาพเป็นทางแห่งมรรค เป็นสภาพมิใช่ตัวตน ๑ สัจจะ ๔ ท่าน สงเคราะห์เป็นหนึ่ง ด้วยความเป็นอนัตตา ด้วยอาการ ๔ นี้ สัจจะใด ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่ง ด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นของจริง อย่างไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นของจริง ด้วย อาการ ๔ คือ สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ เป็นสภาพจริง ๑ สภาพเป็นเหตุ เกิดแห่งสมุทัย เป็นสภาพจริง ๑ สภาพดับแห่งนิโรธ เป็นสภาพจริง ๑ สภาพเป็นทางแห่งมรรค เป็นสภาพจริง ๑ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง ด้วยความเป็นของจริง ด้วยอาการ ๔ นี้ สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะ นั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นปฏิเวธอย่างไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นปฏิเวธด้วยอาการ ๔ คือ สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ เป็นสภาพแทงตลอด ๑ สภาพเป็นเหตุ เกิดแห่งสมุทัย เป็นสภาพแทงตลอด ๑ สภาพดับแห่งนิโรธ เป็นสภาพ แทงตลอด ๑ สภาพเป็นทางแห่งมรรค เป็นสภาพแทงตลอด ๑ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์ด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นปฏิเวธ ด้วยอาการ ๔ นี้ สัจจะใด ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่ง ด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว ฯ [๕๔๗] สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยอาการเท่าไร ฯ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ๑ สิ่งใดไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ สิ่งนั้น เป็นอนัตตา ๑ สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเป็นของแท้ ๑ สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาและเป็นของแท้ สิ่งนั้นเป็นของจริง ๑ สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของแท้และเป็นของจริง สิ่งนั้น ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สิ่งใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สิ่งนั้นเป็นหนึ่ง บุคคล ย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการ แทงตลอดด้วยญาณเดียว ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยอาการเท่าไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยอาการ ๙ คือ ด้วยความ เป็นของแท้ ๑ ด้วยความเป็นอนัตตา ๑ ด้วยความเป็นของจริง ๑ ด้วยความ เป็นปฏิเวธ ๑ ด้วยความเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ๑ ด้วยความเป็นธรรมที่ควรกำหนด รู้ ๑ ด้วยความเป็นธรรมที่ควรละ ๑ ด้วยความเป็นธรรมที่ควรเจริญ ๑ ด้วยความ เป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ๑ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่งด้วยอาการ ๙ นี้ สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทงตลอด สัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอดด้วย ญาณเดียว ฯ [๕๔๘] สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นของแท้ อย่างไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นของแท้ ด้วย อาการ ๙ คือ สภาพทนได้ยากแห่งทุกข์ เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพเป็นเหตุ เกิดแห่งสมุทัย เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพดับแห่งนิโรธ เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพ เป็นทางแห่งมรรค เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพแห่งอภิญญาเป็นสภาพที่ควรรู้ยิ่ง เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพแห่งปริญญาเป็นสภาพที่ควรกำหนดรู้ เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพแห่งปหานะเป็นสภาพที่ควรละ เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพแห่งภาวนา เป็นสภาพที่ควรเจริญ เป็นสภาพแท้ ๑ สภาพแห่งสัจฉิกิริยา เป็นสภาพที่ควร ทำให้แจ้ง เป็นสภาพแท้ ๑ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง ด้วยความ เป็นของแท้ ด้วยอาการ ๙ นี้ สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการ แทงตลอดด้วยญาณเดียว ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นอนัตตาด้วยความ เป็นของจริง ด้วยความเป็นปฏิเวธ อย่างไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นปฏิเวธด้วยอาการ ๙ คือ สภาพแห่งทุกข์เป็นสภาพที่ทนได้ยาก เป็นสภาพควรแทงตลอด ๑ สภาพแห่งสมุทัยเป็นเหตุเกิด เป็นสภาพควรแทงตลอด ๑ สภาพแห่งนิโรธ เป็นที่ดับ เป็นสภาพควรแทงตลอด ๑ สภาพแห่งมรรคเป็นทางดำเนิน เป็น สภาพควรแทงตลอด ๑ สภาพแห่งอภิญญาเป็นสภาพที่ควรรู้ยิ่ง เป็นสภาพควร แทงตลอด ๑ สภาพแห่งปริญญาเป็นสภาพที่ควรกำหนดรู้ เป็นสภาพควร แทงตลอด ๑ สภาพแห่งปหานะเป็นสภาพที่ควรละ เป็นสภาพที่ควรแทงตลอด ๑ สภาพแห่งภาวนาเป็นสภาพที่ควรเจริญ เป็นสภาพควรแทงตลอด ๑ สภาพ แห่งสัจฉิกิริยาเป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้ง เป็นสภาพควรแทงตลอด ๑ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์ด้วยญาณเดียว ด้วยความเป็นปฏิเวธ ด้วยอาการ ๙ นี้ สัจจะ ใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทงตลอด สัจจะหนึ่ง ด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว ฯ [๕๔๙] สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยอาการเท่าไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยอาการ ๑๒ คือ ด้วยความ เป็นของแท้ ๑ ด้วยความเป็นอนัตตา ๑ ด้วยความเป็นของจริง ๑ ด้วยความ เป็นปฏิเวธ ๑ ด้วยความเป็นเครื่องรู้ยิ่ง ๑ ด้วยความเป็นเครื่องกำหนดรู้ ๑ ด้วยความเป็นธรรม ๑ ด้วยความเป็นเหมือนอย่างนั้น ๑ ด้วยความเป็นธรรม ที่รู้แล้ว ๑ ด้วยความเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ๑ ด้วยความเป็นเครื่องถูกต้อง ๑ ด้วยความเป็นเครื่องตรัสรู้ ๑ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์ด้วยญาณเดียวด้วยอาการ ๑๒ อย่างนี้ สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อมแทง ตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอด ด้วยญาณเดียว ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นของแท้ อย่างไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นของแท้ ด้วยอาการ ๑๖ คือ สภาพแห่งทุกข์เป็นสภาพบีบคั้น ๑ เป็นสภาพที่ปัจจัยปรุงแต่ง ๑ เป็นสภาพให้เดือดร้อน ๑ เป็นสภาพแปรปรวน ๑ เป็นสภาพแท้ สภาพ แห่งสมุทัยเป็นสภาพประมวลมา ๑ เป็นเหตุ ๑ เป็นเครื่องประกอบไว้ ๑ เป็น สภาพกังวล ๑ เป็นสภาพแท้ สภาพแห่งนิโรธเป็นที่สลัดออก ๑ เป็นสภาพสงัด ๑ เป็นสภาพที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ๑ เป็นอมตะ ๑ เป็นสภาพแท้ สภาพ แห่งมรรคเป็นเครื่องนำออก ๑ เป็นเหตุ ๑ เป็นทัสนะ ๑ เป็นใหญ่ ๑ เป็น สภาพแท้ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์ด้วยญาณเดียว ด้วยความเป็นของแท้ ด้วย อาการ ๑๖ นี้ สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคลย่อม แทงตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทงตลอด ด้วยญาณเดียว ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นอนัตตา ฯลฯ ด้วยความเป็นของจริง ด้วยความเป็นปฏิเวธ ด้วยความเป็นเครื่องรู้ยิ่ง ด้วยความ เป็นเครื่องกำหนดรู้ ด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเป็นเหมือนอย่างนั้น ด้วยความ เป็นธรรมที่รู้แล้ว ด้วยความเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ด้วยความเป็นเครื่องถูกต้อง ด้วยความเป็นเครื่องตรัสรู้ อย่างไร ฯ สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียวด้วยความเป็นเครื่องตรัสรู้ ด้วยอาการ ๑๖ คือ สภาพแห่งทุกข์เป็นสภาพบีบคั้น ... เป็นสภาพแปรปรวน เป็นสภาพเครื่องตรัสรู้ สภาพแห่งสมุทัยเป็นสภาพประมวลมา ... เป็นสภาพกังวล เป็นสภาพเครื่องตรัสรู้ สภาพแห่งนิโรธเป็นที่สลัดออก ... เป็นอมตะ เป็นสภาพ เครื่องตรัสรู้ สภาพแห่งมรรคเป็นเครื่องนำออก ... เป็นใหญ่ เป็นสภาพเครื่อง ตรัสรู้ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์ด้วยญาณเดียว ด้วยความเป็นเครื่องตรัสรู้ ด้วยอาการ ๑๖ นี้ สัจจะใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สัจจะนั้นเป็นหนึ่ง บุคคล ย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงมีการแทง ตลอดด้วยญาณเดียว ฯ [๕๕๐] สัจจะมีลักษณะเท่าไร สัจจะมีลักษณะ ๒ คือสังขตลักษณะ ๑ อสังขตลักษณะ ๑ สัจจะมีลักษณะ ๒ นี้ ฯ สัจจะมีลักษณะเท่าไร สัจจะมีลักษณะ ๖ คือ สัจจะที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีความเกิดปรากฏ ๑ ความเสื่อมปรากฏ ๑ เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรากฏ ๑ สัจจะที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ความเกิดไม่ปรากฏ ๑ ความเสื่อมไม่ปรากฏ ๑ เมื่อยัง ตั้งอยู่ความแปรไม่ปรากฏ ๑ สัจจะมีลักษณะ ๖ นี้ ฯ สัจจะมีลักษณะเท่าไร สัจจะมีลักษณะ ๑๒ คือ ทุกขสัจ มีความ เกิดขึ้นปรากฏ ๑ ความเสื่อมปรากฏ ๑ เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรากฏ ๑ สมุทัยสัจมีความเกิดขึ้นปรากฏ ๑ ความเสื่อมปรากฏ ๑ เมื่อยังตั้งอยู่ความแปร ปรากฏ ๑ มรรคสัจมีความเกิดขึ้นปรากฏ ๑ ความเสื่อมปรากฏ ๑ เมื่อยังตั้งอยู่ความ แปรปรากฏ ๑ นิโรธสัจ ความเกิดไม่ปรากฏ ๑ ความเสื่อมไม่ปรากฏ ๑ เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรไม่ปรากฏ ๑ สัจจะมีลักษณะ ๑๒ นี้ ฯ [๕๕๑] สัจจะ ๔ เป็นกุศลเท่าไร เป็นอกุศลเท่าไร เป็น- *อัพยากฤตเท่าไร ฯ สมุทัยสัจเป็นอกุศล มรรคสัจเป็นกุศล นิโรธสัจเป็นอัพยากฤต ทุกขสัจเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี สัจจะ ๓ นี้ท่านสงเคราะห์ ด้วยสัจจะ ๑ สัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๓ ด้วยสามารถแห่งวัตถุ โดยปริยาย ฯ คำว่า พึงมี คือ ก็พึงมีอย่างไร ฯ ทุกขสัจเป็นอกุศล สมุทัยสัจเป็นอกุศล สัจจะ ๒ ท่านสงเคราะห์ ด้วยสัจจะ ๑ สัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๒ ด้วยความเป็นอกุศล พึงมีอย่างนี้ ทุกขสัจเป็นกุศล มรรคสัจเป็นกุศล สัจจะ ๒ ท่านสงเคราะห์ ด้วยสัจจะ ๑ สัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๒ ด้วยความเป็นกุศล พึงมี อย่างนี้ ทุกขสัจเป็นอัพยากฤต นิโรธสัจเป็นอัพยากฤต สัจจะ ๒ ท่านสงเคราะห์ ด้วยสัจจะ ๑ สัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๒ ด้วยความเป็นอัพยากฤต พึงมีอย่างนี้ สัจจะ ๓ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๑ สัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ ด้วยสัจจะ ๑ ด้วยสามารถแห่งวัตถุ โดยปริยาย ฯ [๕๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ยังมิได้ ตรัสรู้ ได้มีความคิดว่า อะไรหนอแลเป็นคุณ เป็นโทษ เป็นอุบายเครื่อง สลัดออก แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า สุข โสมนัส อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป ความกำจัดฉันทราคะ ความละฉันทราคะในรูป นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออก แห่งรูป ... สุขโสมนัส อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ ความกำจัดฉันทราคะ ความละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออก แห่งวิญญาณ ฯ [๕๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ทั่วถึงซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกโดยเป็นอุบายเครื่อง สลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ตามความเป็นจริง เพียงใด เราก็ยังไม่ ปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เมื่อใด เราได้รู้ทั่วถึงซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกโดยเป็นอุบายเครื่อง สลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ตามความจริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่าได้ ตรัสรู้ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็แล ญาณทัสนะ เกิดขึ้นแก่เราว่า เจโตวิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด บัดนี้ความเกิดอีก มิได้มี ฯ [๕๕๔] การแทงตลอดด้วยการละว่า สุข โสมนัส อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป ดังนี้ เป็นสมุทัยสัจ การแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้ว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป ดังนี้ เป็นทุกขสัจ การแทงตลอดด้วยการทำให้แจ้งว่า การกำจัดฉันทราคะ การละ ฉันทราคะในรูป นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ดังนี้ เป็นนิโรธสัจ การแทง ตลอดด้วยภาวนา คือ ทิฐิ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ สมาธิ ในฐานะทั้ง ๓ นี้ เป็นมรรคสัจ การแทงตลอดด้วยการละว่า สุข โสมนัส อาศัยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่ง วิญญาณ ดังนี้ เป็นสมุทัยสัจ การแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้ว่า วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ ดังนี้ เป็นทุกขสัจ การแทงตลอดด้วยทำให้แจ้งว่า การกำจัดฉันทราคะ การละ ฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ ดังนี้ เป็นนิโรธสัจ การแทงตลอดด้วยภาวนา คือ ทิฐิสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ สมาธิ ในฐานะทั้ง ๓ นี้ เป็นมรรคสัจ ฯ [๕๕๕] สัจจะด้วยอาการเท่าไร ฯ สัจจะด้วยอาการ ๓ คือ ด้วยความแสวงหา ๑ ด้วยความกำหนด ๑ ด้วยความแทงตลอด ๑ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างไร ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า ชราและมรณะมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไร เป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ฯ สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า ชราและมรณะมีชาติเป็นเหตุ มีชาติ เป็นสมุทัย มีชาติเป็นกำเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด ญาณย่อมรู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติเครื่อง ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ สัจจะด้วยความแทงตลอดอย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า ชาติมีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไรเป็น แดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า ชาติมีภพเป็นเหตุ ... มีภพเป็น แดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อปฏิบัติ เครื่องให้ถึงความดับแห่งชาติ สัจจะด้วยความแทงตลอดอย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า ภพมีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า ภพมีอุปาทานเป็นเหตุ ... มีอุปาทานเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับแห่งภพ สัจจะด้วยความแทงตลอดอย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า อุปาทานมีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า อุปาทานมีตัณหาเป็นเหตุ ... มีตัณหาเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่ง อุปาทาน และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน สัจจะด้วยความ แทงตลอดอย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า ตัณหามีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ ... มีเวทนาเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่ง ตัณหา และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับแห่งตัณหา สัจจะด้วยความแทงตลอด อย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า เวทนามีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ ... มีผัสสะเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับแห่ง เวทนา และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา สัจจะด้วยความแทงตลอด อย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า ผัสสะมีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ ... มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับ แห่งผัสสะ และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับแห่งผัสสะ สัจจะด้วยความ แทงตลอดอย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า สฬายตนะมีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ ... มีนามรูปเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งสฬายตนะ เหตุเกิดสฬายตนะ ความดับ สฬายตนะ และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับสฬายตนะ สัจจะด้วยความ แทงตลอดอย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า นามรูปมีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า นามรูปมีวิญญาณเป็นเหตุ ... มีวิญญาณเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งนามรูป เหตุเกิดนามรูป ความดับนามรูป และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับนามรูป สัจจะด้วยความแทงตลอดอย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า วิญญาณมีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนัดอย่างนี้ว่า วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ ... มีสังขารเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดวิญญาณ ความดับวิญญาณ และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับวิญญาณ สัจจะด้วยความแทงตลอดอย่างนี้ ฯ สัจจะด้วยความแสวงหาอย่างนี้ว่า สังขารมีอะไรเป็นเหตุ ... มีอะไร เป็นแดนเกิด สัจจะด้วยความกำหนดอย่างนี้ว่า สังขารมีอวิชชาเป็นเหตุ ... มีอวิชชาเป็นแดนเกิด ญาณรู้ชัดซึ่งสังขาร เหตุเกิดสังขาร ความดับสังขาร และข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับสังขาร สัจจะด้วยความแทงตลอดอย่างนี้ ฯ [๕๕๖] ชราและมรณะเป็นทุกขสัจ ชาติเป็นสมุทัยสัจ ความสลัดชรา มรณะและชาติ แม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ ชาติเป็นทุกขสัจ ภพเป็นสมุทัยสัจ การสลัดชาติและภพแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ อุปาทานเป็นทุกขสัจ ตัณหาเป็นสมุทัยสัจ การสลัดอุปาทานและตัณหาแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ ตัณหาเป็นทุกขสัจ เวทนาเป็นสมุทัยสัจ การสลัดตัณหาและเวทนาแม้ทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ เวทนาเป็นทุกขสัจ ผัสสะเป็น สมุทัยสัจ การสลัดเวทนาและผัสสะแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับ เป็นมรรคสัจ ผัสสะเป็นทุกขสัจ สฬายตนะเป็นสมุทัยสัจ การสลัดผัสสะและ สฬายตนะแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ สฬายตนะ เป็นทุกขสัจ นามรูปเป็นสมุทัยสัจ การสลัดสฬายตนะและนามรูปแม้ทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ นามรูปเป็นทุกขสัจ วิญญาณเป็น สมุทัยสัจ การสลัดนามรูปและวิญญาณแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความ ดับเป็นมรรคสัจ วิญญาณเป็นทุกขสัจ สังขารเป็นสมุทัยสัจ การสลัดวิญญาณ และสังขารแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ สังขารเป็น ทุกขสัจ อวิชชาเป็นสมุทัยสัจ การสลัดสังขารและอวิชชาแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ ชรามรณะเป็นทุกขสัจ ชาติเป็นทุกขสัจก็มี เป็นสมุทัยสัจก็มี การสลัดชรามรณะและชาติแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จัก ความดับเป็นมรรคสัจ ชาติเป็นทุกขสัจ ภพเป็นทุกขสัจก็มี เป็นสมุทัยสัจก็มี การสลัดชาติและภพแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ ฯลฯ สังขารเป็นทุกขสัจ อวิชชาเป็นทุกขสัจก็มี เป็นสมุทัยสัจก็มี การสลัดสังขาร และอวิชชาแม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ การรู้จักความดับเป็นมรรคสัจ ฉะนี้แล ฯ
จบสัจจกถา
จบภาณวาร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๗๘๖๒-๘๑๕๓ หน้าที่ ๓๒๖-๓๓๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=31&A=7862&Z=8153&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=31&siri=71              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=544              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [544-556] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=31&item=544&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=5160              The Pali Tipitaka in Roman :- [544-556] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=31&item=544&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=5160              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_31

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :