ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ธรรมสังคณีปกรณ์

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

๓. นิกเขปกัณฑ์
ติกนิกเขปะ
๑. กุสลติกะ
[๙๘๕] สภาวธรรมที่เป็นกุศล เป็นไฉน กุศลมูล ๓ คือ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยกุศลมูลนั้น และกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นกุศล [๙๘๖] สภาวธรรมที่เป็นอกุศล เป็นไฉน อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศล มูลนั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุต ด้วยอกุศลมูลนั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นอกุศล [๙๘๗] สภาวธรรมที่เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน วิบากแห่งสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรมที่เป็นกิริยา ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล และไม่เป็นวิบาก แห่งกรรม รูปทั้งหมด และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง๑- สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็น อัพยากฤต
๒. เวทนาติกะ
[๙๘๘] สภาวธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เป็นไฉน สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาขันธ์นั้น เว้นสุขเวทนาในกามาวจร รูปาวจร และในจิตที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ อันเป็นที่เกิด แห่งสุขเวทนาแล้ว สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าสัมปยุตด้วยสุขเวทนา @เชิงอรรถ : @ อสงฺขตา จ ธาตุ (ที.ปา.อ. ๒๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๕๖}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

[๙๘๙] สภาวธรรมที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา เป็นไฉน สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนานั้น เว้น ทุกขเวทนาในกามาวจรอันเป็นที่เกิดแห่งทุกขเวทนาแล้ว สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา [๙๙๐] สภาวธรรมที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา เป็นไฉน สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนานั้น เว้นอทุกขมสุขเวทนาในกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และในจิตที่ไม่นับเนื่องใน วัฏฏทุกข์ อันเป็นที่เกิดแห่งอทุกขมสุขเวทนาแล้ว สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าสัมปยุต ด้วยอทุกขมสุขเวทนา
๓. วิปากติกะ
[๙๙๑] สภาวธรรมที่เป็นวิบาก๑- เป็นไฉน วิบากแห่งสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นวิบาก๑- [๙๙๒] สภาวธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และ ที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรม เหล่านี้ชื่อว่าเป็นเหตุให้เกิดวิบาก [๙๙๓] สภาวธรรมที่ไม่เป็นวิบากและไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นกิริยา ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบากแห่งกรรม รูป ทั้งหมด และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่เป็นวิบากและไม่เป็น เหตุให้เกิดวิบาก
๔. อุปาทินนติกะ
[๙๙๔] สภาวธรรมที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาทิฏฐิยึดถือและเป็นอารมณ์ ของอุปาทาน เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๘๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๕๗}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

วิบากแห่งสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งเป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็น กามาวจร รูปาวจร และอรูปาวจร ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ และรูปที่ กรรมปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ากรรมอันประกอบด้วยด้วยตัณหาทิฏฐิยึดถือ และเป็นอารมณ์ของอุปาทาน๑- [๙๙๕] สภาวธรรมที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือแต่เป็น อารมณ์ของอุปาทาน เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งเป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นกามาวจร รูปาวจร และอรูปาวจร ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมที่เป็น กิริยา ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบากแห่งกรรม และรูปที่กรรมไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ากรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือแต่เป็น อารมณ์ของอุปาทาน [๙๙๖] สภาวธรรมที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาทิฏฐิไม่ยึดถือและไม่เป็น อารมณ์ของอุปาทาน เป็นไฉน มรรค ผลของมรรคที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ากรรมอันประกอบด้วยตัณหาทิฏฐิไม่ยึดถือและไม่เป็น อารมณ์ของอุปาทาน
๕. สังกิลิฏฐติกะ
[๙๙๗] สภาวธรรมที่กิเลสทำให้เศร้าหมองและเป็นอารมณ์ของกิเลส เป็นไฉน อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศล มูลนั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ที่สัมปยุตด้วยอกุศลมูลนั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า กิเลสทำให้เศร้าหมองและเป็นอารมณ์ของกิเลส๑ [๙๙๘] สภาวธรรมที่กิเลสไม่ทำให้เศร้าหมองแต่เป็นอารมณ์ของกิเลส เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๕๘}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอัพยากฤต ซึ่งเป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นกามาวจร รูปาวจร และอรูปาวจร ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ากิเลสไม่ทำให้เศร้าหมองแต่เป็นอารมณ์ของ กิเลส [๙๙๙] สภาวธรรมที่กิเลสไม่ทำให้เศร้าหมองและไม่เป็นอารมณ์ของกิเลส เป็นไฉน มรรค ผลของมรรคที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ากิเลสไม่ทำให้เศร้าหมองและไม่เป็นอารมณ์ของกิเลส
๖. วิตักกติกะ
[๑๐๐๐] สภาวธรรมที่มีทั้งวิตกและวิจาร เป็นไฉน เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยวิตกและวิจารนั้น เว้นวิตกและ วิจารในกามาวจร รูปาวจร และในจิตที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ อันเป็นที่เกิดแห่ง สภาวธรรมที่มีทั้งวิตกและวิจาร สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีทั้งวิตกและวิจาร [๑๐๐๑] สภาวธรรมที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร เป็นไฉน เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยวิจารนั้น เว้นวิจารในรูปาวจร และในจิตที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ อันเป็นที่เกิดแห่งสภาวธรรมที่ไม่มีวิตกมีเพียง วิจารแล้ว สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร [๑๐๐๒] สภาวธรรมที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร เป็นไฉน เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ในกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และในจิตที่ ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ อันเป็นที่เกิดแห่งสภาวธรรมที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจารแล้ว รูป ทั้งหมดและธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่มีทั้งวิตกและวิจาร
๗. ปีติติกะ
[๑๐๐๓] สภาวธรรมที่สหรคตด้วยปีติ เป็นไฉน เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยปีตินั้น เว้นปีติในกามาวจร รูปาวจร และในจิตที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ อันเป็นที่เกิดแห่งปีติแล้ว สภาวธรรม เหล่านี้ชื่อว่าสหรคตด้วยปีติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๕๙}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

[๑๐๐๔] สภาวธรรมที่สหรคตด้วยสุข เป็นไฉน สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยสุขนั้น เว้นสุขใน กามาวจร รูปาวจร และในจิตที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ อันเป็นที่เกิดแห่งสุขแล้ว สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าสหรคตด้วยสุข [๑๐๐๕] สภาวธรรมที่สหรคตด้วยอุเบกขา เป็นไฉน สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยอุเบกขานั้น เว้น อุเบกขาในกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และในจิตที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ อันเป็นที่เกิดแห่งอุเบกขาแล้ว สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าสหรคตด้วยอุเบกขา
๘. ทัสสนติกะ
[๑๐๐๖] สภาวธรรมที่ต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค เป็นไฉน สังโยชน์ ๓ คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส [๑๐๐๗] บรรดาสังโยชน์ทั้ง ๓ เหล่านั้น สักกายทิฏฐิ เป็นไฉน ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการฝึกฝนในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของ สัตบุรุษ ไม่ได้รับการฝึกฝนในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปเป็นตนหรือเห็นตนมีรูป เห็นรูปในตนหรือเห็นตนในรูป เห็นเวทนาเป็นตนหรือเห็นตนมีเวทนา เห็นเวทนาใน ตนหรือเห็นตนในเวทนา เห็นสัญญาเป็นตนหรือเห็นตนมีสัญญา เห็นสัญญาในตน หรือเห็นตนในสัญญา เห็นสังขารเป็นตนหรือเห็นตนมีสังขาร เห็นสังขารในตนหรือ เห็นตนในสังขาร เห็นวิญญาณเป็นตนหรือเห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณใน ตนหรือเห็นตนในวิญญาณ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สังโยชน์คือทิฏฐิ ความ ยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิอัน เป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ ความยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า สักกายทิฏฐิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๐}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

[๑๐๐๘] วิจิกิจฉา เป็นไฉน ปุถุชนย่อมเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในส่วนอดีต ในส่วนอนาคต ในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ในปฏิจจสมุปบาทที่ว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงมี ความเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ภาวะ ที่เคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่างๆ ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็น สองทาง ความเห็นเหมือนทางสองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถถือเอาโดย ส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถหยั่งลงถือเอาเป็น ยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ นี้เรียกว่าวิจิกิจฉา [๑๐๐๙] สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน สมณพราหมณ์ภายนอกแต่ศาสนานี้ มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ ด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลและพรต ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดาร คือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สังโยชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ ความยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียก ว่าสีลัพพตปรามาส [๑๐๑๐] สังโยชน์ ๓ เหล่านี้และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ ๓ นั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยสังโยชน์ ๓ นั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีสังโยชน์ ๓ นั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค [๑๐๑๑] สภาวธรรมที่ต้องประหาณด้วยมรรคเบื้องบน ๓ เป็นไฉน โลภะ โทสะ โมหะที่เหลือ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับโลภะ โทสะ โมหะนั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยโลภะ โทสะ โมหะ นั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีโลภะ โทสะ โมหะนั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าต้องประหาณด้วยมรรคเบื้องบน ๓ ๑- [๑๐๑๒] สภาวธรรมที่ไม่ต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรคและมรรค เบื้องบน ๓ เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๑}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอัพยากฤตซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ รูปทั้งหมด และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่ต้องประหาณด้วยโสดา- ปัตติมรรคและมรรคเบื้องบน ๓
๙. ทัสสนเหตุติกะ
[๑๐๑๓] สภาวธรรมที่มีเหตุต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค เป็นไฉน สังโยชน์ ๓ คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส [๑๐๑๔] บรรดาสังโยชน์ ๓ นั้น สักกายทิฏฐิ เป็นไฉน ฯลฯ นี้เรียกว่าสักกายทิฏฐิ [๑๐๑๕] วิจิกิจฉา เป็นไฉน ฯลฯ นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา [๑๐๑๖] สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน ฯลฯ นี้เรียกว่าสีลัพพตปรามาส [๑๐๑๗] สังโยชน์ ๓ เหล่านี้ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ ๓ นั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยสังโยชน์ ๓ นั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่มีสังโยชน์ ๓ นั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามี เหตุต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค๑- สังโยชน์ ๓ คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๒}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค โลภะ โทสะ โมหะที่ ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ ๓ นั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีเหตุต้อง ประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค ส่วนกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับโลภะ โทสะ โมหะนั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ที่สัมปยุตด้วยโลภะ โทสะ โมหะ นั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีโลภะ โทสะ โมหะนั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีเหตุต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค [๑๐๑๘] สภาวธรรมที่มีเหตุต้องประหาณด้วยมรรคเบื้องบน ๓ เป็นไฉน โลภะ โทสะ โมหะที่เหลือ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีเหตุต้องประหาณด้วย มรรคเบื้องบน ๓ กิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับโลภะ โทสะ โมหะนั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยโลภะ โทสะ โมหะนั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีโลภะ โทสะ โมหะนั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่ามีเหตุต้องประหาณด้วยมรรคเบื้องบน ๓ ๑- [๑๐๑๙] สภาวธรรมที่ไม่มีเหตุต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรคและมรรค เบื้องบน ๓ เป็นไฉน เว้นสภาวธรรมเหล่านั้นแล้ว สภาวธรรมที่เป็นกุศลอกุศลและอัพยากฤตที่ เหลือ ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปทั้งหมด และธาตุที่ปัจจัยไม่ ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่มีเหตุต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรคและ มรรคเบื้องบน ๓
๑๐. อาจยคามิติกะ
[๑๐๒๐] สภาวธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงปฏิสนธิและจุติ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลเป็นอารมณ์ของอาสวะ ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า เป็นเหตุให้ถึงปฏิสนธิและจุติ๑- @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๓}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

[๑๐๒๑] สภาวธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน เป็นไฉน มรรค ๔ ซึ่งไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นเหตุให้ถึง นิพพาน๑- [๑๐๒๒] สภาวธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้ถึงปฏิสนธิจุติและนิพพาน เป็นไฉน วิบากแห่งสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมที่เป็นกิริยา ซึ่งไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบากแห่งกรรม รูป ทั้งหมด และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่เป็นเหตุให้ถึง ปฏิสนธิจุติและนิพพาน๑-
๑๑. เสกขติกะ
[๑๐๒๓] สภาวธรรมที่เป็นของเสขบุคคล เป็นไฉน มรรค ๔ ซึ่งไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ และสามัญญผล ๓ เบื้องต่ำ สภาวธรรม เหล่านี้ชื่อว่าเป็นของเสขบุคคล๒- [๑๐๒๔] สภาวธรรมที่เป็นของอเสขบุคคล เป็นไฉน อรหัตตผลอันตั้งอยู่เบื้องสูง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นของอเสขบุคคล [๑๐๒๕] สภาวธรรมที่ไม่เป็นของเสขบุคคลและอเสขบุคคล เป็นไฉน เว้นสภาวธรรมเหล่านั้นแล้ว สภาวธรรมที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤตที่ เหลือซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร และอรูปาวจร ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ รูปทั้งหมด และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่เป็นของเสขบุคคล และอเสขบุคคล
๑๒. ปริตตติกะ
[๑๐๒๖] สภาวธรรมที่เป็นปริตตะ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต ซึ่งเป็นกามาวจรทั้งหมด ได้แก่ รูปขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นปริตตะ๒- @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๑ @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๔}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

[๑๐๒๗] สภาวธรรมที่เป็นมหัคคตะ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอัพยากฤต ซึ่งเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นมหัคคตะ๑- [๑๐๒๘] สภาวธรรมที่เป็นอัปปมาณะ เป็นไฉน มรรค ผลของมรรค และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ซึ่งไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นอัปปมาณะ๑-
๑๓. ปริตตารัมมณติกะ
[๑๐๒๙] สภาวธรรมที่มีปริตตะเป็นอารมณ์ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ปรารภสภาวธรรมที่เป็นปริตตะเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีปริตตะเป็นอารมณ์๑- [๑๐๓๐] สภาวธรรมที่มีมหัคคตะเป็นอารมณ์ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ปรารภสภาวธรรมที่เป็นมหัคคตะเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีมหัคคตะเป็นอารมณ์๑- [๑๐๓๑] สภาวธรรมที่มีอัปปมาณะเป็นอารมณ์ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ปรารภสภาวธรรมที่เป็นอัปปมาณะเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีอัปปมาณะเป็นอารมณ์๑-
๑๔. หีนติกะ
[๑๐๓๒] สภาวธรรมชั้นต่ำ เป็นไฉน อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับ อกุศลมูลนั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยอกุศลมูลนั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธรรมชั้นต่ำ๑- [๑๐๓๓] สภาวธรรมชั้นกลาง เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๕}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอัพยากฤต เป็นอารมณ์ของอาสวะ ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร และอรูปาวจร ได้แก่ รูปขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมชั้นกลาง๑- [๑๐๓๔] สภาวธรรมชั้นประณีต เป็นไฉน มรรค ผลของมรรค และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ซึ่งไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมชั้นประณีต๑-
๑๕. มิจฉัตตติกะ
[๑๐๓๕] สภาวธรรมที่มีสภาวะผิดและให้ผลแน่นอน เป็นไฉน อนันตริยกรรม ๕ และมิจฉาทิฏฐิที่ให้ผลแน่นอน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า มีสภาวะผิดและให้ผลแน่นอน๑- [๑๐๓๖] สภาวธรรมที่มีสภาวะชอบและให้ผลแน่นอน เป็นไฉน มรรค ๔ ซึ่งไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีสภาวะชอบ และให้ผลแน่นอน๑- [๑๐๓๗] สภาวธรรมที่ไม่แน่นอนโดยอาการทั้งสองนั้น เป็นไฉน เว้นสภาวธรรมเหล่านั้นแล้ว สภาวธรรมที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤตที่ เหลือ ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ รูปทั้งหมด และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรม เหล่านี้ชื่อว่าไม่แน่นอนโดยอาการทั้งสองนั้น๑-
๑๖. มัคคารัมมณติกะ
[๑๐๓๘] สภาวธรรมที่มีมรรคเป็นอารมณ์ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ปรารภอริยมรรคเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่ามีมรรคเป็นอารมณ์๑- [๑๐๓๙] สภาวธรรมที่มีมรรคเป็นเหตุ เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๖}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

เว้นองค์มรรคแล้ว เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยองค์มรรค นั้นของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีมรรคเป็นเหตุ สัมมาทิฏฐิของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เป็นมรรคและเป็นเหตุ เว้น สัมมาทิฏฐิแล้ว เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยสัมมาทิฏฐินั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีมรรคเป็นเหตุ อโลภะ อโทสะ และอโมหะของท่านผู้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีมรรคเป็นเหตุ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ที่สัมปยุตด้วยอโลภะ อโทสะ และอโมหะนั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า มีมรรคเป็นเหตุ๑- [๑๐๔๐] สภาวธรรมที่มีมรรคเป็นอธิบดี เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกทำอริยมรรคให้เป็นอธิบดีเกิดขึ้น สภาวธรรม เหล่านี้ ชื่อว่ามีมรรคเป็นอธิบดี เวทนาขันธ์ ฯลฯ เว้นวิมังสาของท่านผู้พรั่งพร้อม ด้วยอริยมรรคซึ่งกำลังเจริญมรรคที่มีวิมังสาเป็นอธิบดีแล้ว เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ที่สัมปยุตด้วยวิมังสานั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีมรรคเป็นอธิบดี๒-
๑๗. อุปปันนติกะ
[๑๐๔๑] สภาวธรรมที่เกิดขึ้น เป็นไฉน สภาวธรรมที่เกิด ที่เป็น เกิดพร้อม บังเกิด บังเกิดเฉพาะ ปรากฏ เกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อม ตั้งขึ้น ตั้งขึ้นพร้อม ที่เกิดขึ้น สงเคราะห์เข้ากับส่วนที่เกิดขึ้น ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธรรมที่เกิดขึ้น๒- [๑๐๔๒] สภาวธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นไฉน สภาวธรรมที่ยังไม่เกิด ยังไม่เป็น ยังไม่บังเกิด ยังไม่บังเกิดเฉพาะ ยังไม่ ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ยังไม่ตั้งขึ้น ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อม ที่ยังไม่ เกิดขึ้น สงเคราะห์เข้ากับส่วนที่ยังไม่เกิดขึ้น ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ายังไม่เกิดขึ้น๒- @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๒ @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๗}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

[๑๐๔๓] สภาวธรรมที่จักเกิดขึ้นแน่นอน เป็นไฉน วิบากแห่งสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ที่ยังไม่ให้ผล ซึ่งเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณ- ขันธ์ และรูปที่กรรมปรุงแต่งขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าจักเกิดขึ้นแน่นอน๑-
๑๘. อตีตติกะ
[๑๐๔๔] สภาวธรรมที่เป็นอดีต เป็นไฉน สภาวธรรมที่ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว ปราศไปแล้ว แปรไปแล้ว ถึงความดับแล้ว ถึงความดับสูญแล้ว เกิดขึ้นดับไปแล้ว ที่ล่วงไปแล้ว สงเคราะห์ด้วยส่วนที่ล่วงไปแล้ว ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรม เหล่านี้ชื่อว่าเป็นอดีต๑- [๑๐๔๕] สภาวธรรมที่เป็นอนาคต เป็นไฉน สภาวธรรมที่ยังไม่เกิด ยังไม่มี ยังไม่เกิดพร้อม ยังไม่บังเกิด ยังไม่บังเกิดเฉพาะ ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ยังไม่ตั้งขึ้น ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อม ที่ยังไม่ มาถึง สงเคราะห์ด้วยส่วนที่ยังไม่มาถึง ได้แก่ รูปขันธ์ เวนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นอนาคต๑- [๑๐๔๖] สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นไฉน สภาวธรรมที่กำลังเกิด กำลังเป็น กำลังเกิดพร้อม กำลังบังเกิด กำลังบังเกิด เฉพาะ กำลังปรากฏ กำลังเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้นพร้อม กำลังตั้งขึ้น กำลังตั้งขึ้นพร้อม กำลังเกิดขึ้นเฉพาะ สงเคราะห์ด้วยส่วนที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า เป็นปัจจุบัน๑-
๑๙. อตีตารัมมณติกะ
[๑๐๔๗] สภาวธรรมที่มีอดีตธรรมเป็นอารมณ์ เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๘}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ปรารภสภาวธรรมที่เป็นอดีตเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่ามีอดีตธรรมเป็นอารมณ์๑- [๑๐๔๘] สภาวธรรมที่มีอนาคตธรรมเป็นอารมณ์ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ปรารภสภาวธรรมที่เป็นอนาคตเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีอนาคตธรรมเป็นอารมณ์๑- [๑๐๔๙] สภาวธรรมที่มีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ปรารภสภาวธรรมที่เป็นปัจจุบันเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์๑-
๒๐. อัชฌัตตติกะ
[๑๐๕๐] สภาวธรรมที่เป็นภายในตน เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นภายในตน มีเฉพาะตน เกิดแต่ตน เป็นของเฉพาะแต่ละ บุคคล ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ของสัตว์นั้นๆ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็น ภายในตน๑- [๑๐๕๑] สภาวธรรมที่เป็นภายนอกตน เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นภายในตน เป็นของเฉพาะตน เกิดแต่ตน เป็นของเฉพาะ แต่ละบุคคล ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ของสัตว์อื่น ของบุคคล อื่นนั้นๆ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นภายนอกตน๑- [๑๐๕๒] สภาวธรรมที่เป็นภายในตนและภายนอกตน เป็นไฉน สภาวธรรมทั้งสองประเภทที่กล่าวมานั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นภายใน ตนและภายนอกตน๑-
๒๑. อัชฌัตตารัมมณติกะ
[๑๐๕๓] สภาวธรรมที่มีธรรมภายในตนเป็นอารมณ์ เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๖๙}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

ติกนิกเขปะ

สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกปรารภสภาวธรรมที่เป็นภายในตนเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีธรรมภายในตนเป็นอารมณ์๑- [๑๐๕๔] สภาวธรรมที่มีธรรมภายนอกตนเป็นอารมณ์ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกปรารภสภาวธรรมที่เป็นภายนอกตนเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีธรรมภายนอกตนเป็นอารมณ์๑- [๑๐๕๕] สภาวธรรมที่มีธรรมภายในตนและภายนอกตนเป็นอารมณ์ เป็นไฉน สภาวธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกปรารภสภาวธรรมที่เป็นภายในตนและภาย นอกตนเกิดขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่ามีธรรมภายในตนและภายนอกตนเป็น อารมณ์๑-
๒๒. สนิทัสสนติกะ
[๑๐๕๖] สภาวธรรมที่เห็นได้และกระทบได้ เป็นไฉน รูปายตนะ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเห็นได้และกระทบได้๑- [๑๐๕๗] สภาวธรรมที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ เป็นไฉน จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ และโผฏฐัพพายตนะ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเห็นไม่ได้แต่ กระทบได้๑- [๑๐๕๘] สภาวธรรมที่เห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้ เป็นไฉน เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ รูปที่เห็นไม่ได้และ กระทบไม่ได้ ซึ่งนับเนื่องในธัมมายตนะ และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง สภาวธรรม เหล่านี้ชื่อว่าเห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้๑-
ติกนิกเขปะ จบ
@เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๙๓-๙๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๒๗๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๔ หน้าที่ ๒๕๖-๒๗๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka3/m_siri.php?B=34&siri=54              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka3/v.php?B=34&A=5746&Z=6041                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=34&i=663              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=34&item=663&items=26              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=10016              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=34&item=663&items=26              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=10016                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu34              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ds2.3.1/en/caf_rhysdavids



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :