ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
             [๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา
ใกล้จัมปานคร ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวเมืองจัมปามากด้วยกัน เข้าไปหาท่าน
พระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าว
กะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มี
พระภาค พวกกระผมได้ฟังมานานแล้ว ขอได้โปรดเถิด พวกกระผมพึงได้ฟัง
ธรรมีกถาของพระผู้มีพระภาค ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายพึงมาในวันอุโบสถ ท่านทั้งหลายพึงได้ฟังธรรมีกถาใน
สำนักพระผู้มีพระภาคแน่นอน อุบาสกชาวเมืองจัมปารับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว
ลุกจากที่นั่ง อภิวาทกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ต่อมา ถึงวันอุโบสถ อุบาสก
ชาวเมืองจัมปาพากันเข้าไปหาพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควร
ข้างหนึ่ง ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสกชาวเมืองจัมปา เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้น
แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแล
ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแล
และทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
พึงมีหรือพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแล
ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี และทาน
เช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี ฯ
             สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทาน
เช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนใน
โลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
             พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิต
ผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปจักได้
เสวยผลทานนี้ เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่อง
ลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูกร
สารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทาน
เห็นปานนี้หรือ ฯ
             สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิต
ผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้
เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่
แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ดูกรสารีบุตร ส่วนบุคคลบางคน
ในโลกนี้ ไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน
ไม่คิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่า
ทานเป็นการดี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์แก่สมณะหรือพราหมณ์
ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้พึงให้ทาน
เห็นปานนี้หรือ ฯ
             สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มี
จิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไป
แล้วจักได้เสวยผลทานนี้ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทาน
นั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้น
กรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่
ความเป็นอย่างนี้ ฯ
             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า
ทานเป็นการดี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็
ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งเทวดาชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา
มารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วย
คิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้
จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว
ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า
เราหุงหากินได้ สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะ
ไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วย
คิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี
วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี
วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ
ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้น
ฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เรา
จักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯ
และภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิด
ความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็น
ใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ
             ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อ
เราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็น
เครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์
ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้
ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ
             สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน
ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เรา
ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดี
ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสีย
ประเพณี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้
หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร ไม่ได้ให้ทานด้วย
คิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี
วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาช-
*ฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น และไม่ได้
ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและ
โสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไป
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ดูกร
สารีบุตร นี้แลเหตุปัจจัย เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบาง
คนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
จบสูตรที่ ๙
มาตาสูตร
[๕๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านมหาโมคคัลลานะจาริกไป ในทักษิณาคีรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้นแล นันทมารดา อุบาสิกา ชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตร ทำนอง สรภัญญะ สมัยนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชมีกรณียกิจบางอย่าง เสด็จจากทิศอุดร ไปยังทิศทักษิณ ได้ทรงสดับนันทมารดาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะ ประทับรอฟังจนจบ ขณะนั้น นันทมารดาอุบาสิกา สวดปารายนสูตรทำนอง สรภัญญะจบแล้วนิ่งอยู่ ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงทราบว่า กถาของนันทมารดา อุบาสิกาจบแล้ว จึงทรงอนุโมทนาว่า สาธุ พี่หญิง สาธุ พี่หญิง นันท- *มารดาอุบาสิกาถามว่า ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า ฯ เว. ดูกรพี่หญิง เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช ภาดาของเธอ ฯ น. ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ ดิฉันสวดแล้วนี้เป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน ฯ เว. ดูกรพี่หญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับแก่ฉันพรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์ มีท่านพระสารีบุตรและท่านมหาโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมา ถึงเวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทานให้ฉัน ด้วย ก็การทำอย่างนี้ จักเป็นเครื่องต้อนรับฉัน ฯ ลำดับนั้น ครั้นล่วงราตรีนั้นไป นันทมารดาอุบาสิกาสั่งบุรุษผู้หนึ่ง ให้ จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน ครั้งนั้น ภิกษุสงฆ์ มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า เดินทาง มาถึงเวฬุกัณฏกนคร นันทมารดาอุบาสิกาจึงเรียกบุรุษผู้หนึ่งมาสั่งว่า ดูกรบุรุษ ผู้เจริญ มาเถิดท่าน จงไปยังอาราม บอกภัตตกาลแด่ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ กาลนี้เป็นภัตตกาล ภัตตาหารในนิเวศน์ของแม่เจ้า นันทมารดาสำเร็จ แล้ว บุรุษนั้นรับคำนันทมารดาอุบาสิกาแล้ว ไปยังอาราม บอกภัตตกาลแก่ ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นภัตตกาล ภัตตาหารในนิเวศน์ของ แม่เจ้านันทมารดาสำเร็จแล้ว ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและ ท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของ นันทมารดาอุบาสิกา นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดไว้ ลำดับนั้น นันทมารดาอุบาสิกา อังคาสภิกษุสงฆ์ มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ให้ อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน ครั้นทราบ ว่าท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จ ลดมือลงจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามว่า ดูกรนันทมารดา ใครบอกกาลมาถึงของ ภิกษุสงฆ์แก่ท่านเล่า นันทมารดาอุบาสิกากราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอ โอกาสเจ้าค่ะ ดิฉันลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะจบ แล้วนิ่งอยู่ ลำดับนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชทราบถึงการจบคาถาของดิฉันแล้ว ทรงอนุโมทนาว่า สาธุ พี่หญิง สาธุ พี่หญิง ดิฉันถามว่า ดูกรท่านผู้มี พักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า ท้าวเวสสวัณตอบว่า ดูกรพี่หญิง เราคือท้าว เวสสวัณมหาราช ภาดาของเธอ ดิฉันกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดแล้วนี้ จงเป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน ท้าว เวสสวัณกล่าวว่า ดูกรพี่หญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับฉันด้วย พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึงเวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทาน ให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้ จักเป็นเครื่องต้อนรับฉัน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กิจที่ นับว่าเป็นบุญในทานทั้งนี้ จงเป็นไปเพื่อความสุขแด่ท้าวเวสสวัณมหาราชเถิด ฯ สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านเจรจากันต่อหน้าได้กับท้าวเวสสวัณมหาราช ซึ่งเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มีศักดิ์ มากอย่างนี้ ฯ น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่ เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ดิฉันมีบุตรน้อยอยู่คนหนึ่งชื่อนันทะ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ พระราชาได้ข่มขี่ปลงเธอเสียจากชีวิตในเพราะเหตุเพียงนิดหน่อย ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อบุตรของดิฉันนั้น ถูกจับแล้วก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังถูกจับก็ดี ถูกฆ่า แล้วก็ดี กำลังจะถูกฆ่าก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังจะถูกประหารก็ดี ดิฉันไม่ รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิตเลย ฯ สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์ ฯ น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สามีของดิฉันกระทำกาละแล้ว เกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง มาแสดงตน แก่ดิฉันด้วยรูปร่างอย่างครั้งก่อนนั้นทีเดียว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันไม่รู้สึกความ เปลี่ยนแปลงแห่งจิตเพราะข้อนั้นเป็นเหตุเลย ฯ สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์ ฯ น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันยังสาวถูกส่งตัวมาให้แก่สามีหนุ่ม ไม่เคยคิดที่จะนอก ใจเลย ไฉนจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า ฯ สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์ ฯ น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อดิฉันแสดงตนเป็นอุบาสิกาแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้แกล้งล่วง สิกขาบทอะไรๆ เลย ฯ สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์ ฯ น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันหวังอยู่เพียงใด ดิฉันสงัดจากกาม สงัดอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความ ผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวย สุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เข้าจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่เพียงนั้น ฯ สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ฯ น. ข้าแต่ท่านเจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียง เท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ดิฉันไม่พิจารณาเห็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง อันพระผู้มี พระภาคทรงแสดงแล้วบางข้อ ที่ยังละไม่ได้ในตน ฯ สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ฯ ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้นันทมารดาอุบาสิกาเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบมหายัญญวรรคที่ ๕
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จิตตสูตร ๒. ปริกขารสูตร ๓. อัคคิสูตรที่ ๑ ๔. อัคคิสูตรที่ ๒ ๕. สัญญาสูตรที่ ๑ ๖. สัญญาสูตรที่ ๒ ๗. เมถุนสูตร ๘. สังโยคสูตร ๙. ทานสูตร ๑๐. มาตาสูตร
จบปัณณาสก์
-----------------------------------------------------
วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์
อัพยากตวรรคที่ ๑
อัพยากตสูตร
[๕๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความสงสัยในวัตถุ ที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ ไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เพราะทิฐิดับ ความสงสัยในวัตถุ ที่เราไม่พยากรณ์ จึงไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ดูกรภิกษุ ทิฐินี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้ชัดทิฐิ เหตุเกิดทิฐิ ความดับทิฐิปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับทิฐิ ทิฐินั้น เจริญแก่ปุถุชนนั้น เขาย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ย่อมทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้ สดับแล้ว ย่อมรู้ชัดทิฐิ เหตุเกิดทิฐิ ความดับทิฐิ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความ ดับทิฐิ ทิฐิของอริยสาวกนั้นย่อมดับ อริยสาวกนั้นย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์ ดูกรภิกษุอริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่พยากรณ์ว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อม ไม่เป็นอีกก็หามิได้ ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ ไม่พยากรณ์ในวัตถุที่เราไม่พยากรณ์เป็นธรรมดาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็น อยู่อย่างนี้ ย่อมไม่พรั่น ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้งในวัตถุที่เราไม่ พยากรณ์ ฯ ดูกรภิกษุ ความทะยานอยาก ความหมายรู้ ความสำคัญ ความซึมซาบ ความถือมั่นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ นี้เป็นความเดือดร้อน ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้ชัดความเดือดร้อน เหตุเกิดความเดือด ร้อน ความดับ ความเดือดร้อน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับความเดือดร้อน ความเดือดร้อนย่อมเจริญแก่เขา เขาย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมรู้ชัดความเดือดร้อน เหตุเกิดความเดือดร้อน ความ ดับความเดือดร้อน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับความเดือดร้อน ความเดือดร้อน ของอริยสาวกนั้นย่อมดับ ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้เห็นอยู่อย่างนี้แล ย่อมไม่ พรั่น ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้งในวัตถุที่เราไม่พยากรณ์ ดูกรภิกษุ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ถึงความสงสัยในวัตถุที่เราไม่พยากรณ์ ไม่เกิดขึ้น แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ ฯ
จบสูตรที่ ๑
ปุริสคติสูตร
[๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปุริสคติ ๗ ประการและอนุปาทา ปรินิพพาน เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูล รับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปุริสคติ ๗ ประการเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ คือ ได้ความวาง เฉยว่า ถ้ากรรมในอดีตไม่ได้มีแล้วไซร้ อัตตภาพในปัจจุบันก็ไม่พึงมีแก่เรา ถ้า กรรมในปัจจุบันไม่มีไซร้ อัตตภาพในอนาคตก็จักไม่มีแก่เรา เบญจขันธ์ที่กำลัง เป็นอยู่ ที่เป็นมาแล้ว เราย่อมละได้ เธอย่อมไม่กำหนัดในเบญจขันธ์อันเป็น อดีต ไม่ข้องในเบญจขันธ์อันเป็นอนาคต ย่อมพิจารณาเห็นบทอันสงบระงับ อย่างยิ่งซึ่งมีอยู่ ด้วยปัญญาอันชอบ ก็บทนั้นแล ภิกษุนั้นยังทำให้แจ้งไม่ได้โดย อาการทั้งปวง อนุสัยคือมานะ อนุสัยคือภวราคะ อนุสัยคืออวิชชา เธอก็ยังละ ไม่ได้โดยอาการทั้งปวง เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ภิกษุนั้นย่อม ปรินิพพานในระหว่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติ อย่างนี้ คือ ได้ความวางเฉยว่า ถ้ากรรมในอดีตไม่มีแล้วไซร้ ... เบญจขันธ์ ที่กำลังเป็นอยู่ ที่เป็นมาแล้ว เราย่อมละได้ เธอย่อมไม่กำหนัดในเบญจขันธ์ อันเป็นอดีต ... ย่อมพิจารณาเห็นบทอันสงบระงับอย่างยิ่งซึ่งมีอยู่ ด้วยปัญญาอัน ชอบ ก็บทนั้นแล ภิกษุนั้นยังทำให้แจ้งไม่ได้โดยอาการทั้งปวง อนุสัยคือมานะ ... อนุสัยคืออวิชชา เธอก็ยังละไม่ได้โดยอาการทั้งปวง เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานในระหว่าง เปรียบเหมือนเมื่อนายช่างตีแผ่นเหล็ก ที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนออกแล้วดับไป ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานในระหว่าง เปรียบเหมือนเมื่อ นายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนลอยขึ้นไป ตกยังไม่ถึงพื้น ก็ดับ ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานในเมื่ออายุเลยกึ่ง เปรียบเหมือน เมื่อนายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนลอยขึ้นไป ตกถึงพื้น แล้วก็ดับ ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก เปรียบเหมือนเมื่อนายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนขึ้นไปแล้ว ตกลงที่กองหญ้าหรือกองไม้เล็กๆ สะเก็ดนั้นพึงให้ไฟและควันเกิดขึ้นได้ที่หญ้า หรือกองไม้เล็กๆ นั้น ครั้นให้เกิดไฟและควัน เผากองหญ้าหรือกองไม้เล็กๆ นั้นให้หมดไป ไม่มีเชื้อแล้วก็ดับ ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง เปรียบเหมือนเมื่อนายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนลอยขึ้นไป แล้วพึงตกลงที่กองหญ้าหรือกองไม้ย่อมๆ สะเก็ดนั้นพึงให้เกิดไฟและควันที่กอง หญ้าหรือกองไม้ย่อมๆ นั้น ครั้นให้เกิดไฟและควันแล้ว เผากองหญ้าหรือกอง ไม้ย่อมๆ นั้นให้หมดไป ไม่มีเชื้อแล้วดับ ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอเป็นผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ เปรียบเหมือนนายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนลอยขึ้นไป แล้วพึงตกลงที่กองหญ้าหรือกองไม้ใหญ่ๆ ครั้นให้เกิดไฟและควันแล้ว เผากอง หญ้าหรือกองไม้ใหญ่ๆ นั้นให้หมดไป แล้วพึงลามไปไหม้ไม้กอและป่าไม้ ครั้นไหม้ไม้กอและป่าไม้แล้ว ลามมาถึงที่สุดหญ้าเขียว ที่สุดภูเขาที่สุดชายน้ำ หรือภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ หมดเชื้อแล้วก็ดับ ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุริสคติ ๗ ประการนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอนุปาทาปรินิพพานเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ คือ ย่อมได้ความวางเฉยว่า ถ้ากรรม ในอดีตไม่ได้มีแล้วไซร้ อัตตภาพในปัจจุบันก็ไม่พึงมีแก่เรา ถ้ากรรมในปัจจุบัน ย่อมไม่มีไซร้ อัตตภาพในอนาคตก็จักไม่มีแก่เรา เบญจขันธ์ที่กำลังเป็นอยู่ ที่เป็นมาแล้วเราย่อมละได้ เธอย่อมไม่กำหนัดในเบญจขันธ์อันเป็นอดีต ไม่ข้อง อยู่ในเบญจขันธ์อันเป็นอนาคต ย่อมพิจารณาเห็นบทอันสงบระงับอย่างยิ่งด้วย ปัญญาอันชอบ ก็บทนั้นแล อันภิกษุนั้นทำให้แจ้งแล้ว โดยอาการทั้งปวง อนุสัย คือมานะ ... อนุสัยคืออวิชชา เธอยังละ ไม่ได้โดยอาการทั้งปวง เธอย่อมกระทำ ให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อนุปาทาปรินิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุริสคติ ๗ ประการนี้ และอนุปาทา ปรินิพพาน ฯ
จบสูตรที่ ๒
ติสสสูตร
[๕๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระ นครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไป เทวดา ๒ ตนมีรัศมีงาม ยังภูเขา คิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วเทวดาตนหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุณีเหล่านี้หลุดพ้นแล้ว เทวดาอีกตนหนึ่งกราบทูล ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุณีเหล่านี้หลุดพ้นด้วยดีแล้ว เพราะไม่มีอุปาทาน ขันธ์เหลืออยู่ เทวดาเหล่านั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ลำดับนั้น เทวดาเหล่านั้นทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัย จึงถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น ครั้นล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคตรัส กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไป มีเทวดา ๒ ตนมีรัศมีงาม ยังภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาท แล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาตนหนึ่งได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุณีเหล่านี้หลุดพ้นแล้ว เทวดาอีกตนหนึ่งกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุณีเหล่านี้หลุดพ้นด้วยดีแล้ว เพราะไม่มีอุปาทานขันธ์ เหลืออยู่ เทวดาเหล่านั้นครั้นกล่าวแล้ว อภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้ว หายไป ณ ที่นั้นนั่นแล ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ในที่ไม่ไกล พระผู้มีพระภาค ท่านคิดเห็นว่า เทวดาเหล่าไหนหนอ มีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ ในบุคคลผู้ยังมีอุปานขันธ์เหลือว่า ยังมีอุปาทานขันธ์เหลือหรือในบุคคลผู้ไม่มี อุปาทานขันธ์เหลือว่า ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือ ก็ในสมัยนั้นแล ภิกษุชื่อติสสะมรณ ภาพแล้วไม่นาน เข้าถึงพรหมโลกชั้นหนึ่ง แม้ในพรหมโลกนั้นก็รู้กันอย่างนี้ว่า ท้าวติสสพรหม เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ครั้งนั้นแล ท่านพระ มหาโมคคัลลานะหายจากภูเขาคิชฌกูฏไปปรากฏ ณ พรหมโลกนั้น เหมือนบุรุษผู้มี กำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ท้าวติสสพรหมได้เห็นท่านพระ มหาโมคคัลลานะกำลังมาแต่ไกล จึงกล่าวกะท่านว่า ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะ ผู้นิรทุกข์นิมนต์มาเถิด ท่านมาดีแล้วนานแล้วที่ท่านกระทำปริยายเพื่อมาที่นี้ ขอนิมนต์ท่าน นั่งเถิด นี่อาสนะปูไว้ดีแล้ว ฯ ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว แม้ติสสพรหม อภิวาทท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่าน พระมหาโมคคัลลานะได้ถามว่า ดูกรติสสะ เทวดาเหล่าไหนแล มีญาณหยั่ง รู้อย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลือว่า ยังมีอุปาทานขันธ์เหลือ หรือในบุคคล ผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือว่า ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือ ฯ ติสสพรหมกล่าวว่า ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาชั้นพรหม ย่อมมีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลือ ว่ายังมีอุปาทานขันธ์เหลือ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือว่าไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือ ฯ ม. เทวดาชั้นพรหมทั้งหมดหรือ ที่มีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ในบุคคลผู้มี อุปาทานขันธ์เหลือว่า ยังมีอุปาทานขันธ์เหลือ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์ เหลือว่า ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือ ฯ ต. ข้าแต่พระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาชั้นพรหมไม่ใช่ทั้งหมด ที่มี ญาณหยั่งรู้อย่างนี้ ... ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาชั้นพรหมเหล่าใด ผู้ยินดีด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ และความเป็นอธิบดี อันเป็นของพรหม แต่ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกไปอย่างยิ่งแห่งอายุเป็นต้น นั้น เทวดาชั้นพรหมเหล่านั้น ไม่มีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ในบุคคลผู้มีอุปาทานขันธ์ เหลือว่า ยังมีอุปาทานขันธ์เหลือ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือว่า ไม่มี อุปาทานขันธ์เหลือ ส่วนเทวดาชั้นพรหมเหล่าใด ไม่ยินดีด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ และความเป็นอธิบดี อันเป็นของพรหม และรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบาย เป็นเครื่องสลัดออกไปอย่างยิ่งแห่งอายุเป็นต้นนั้น เทวดาชั้นพรหมเหล่านั้น ย่อม มีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ ... ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น อุภโตภาควิมุติ เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้แล เป็นอุภโตภาค วิมุติ กายของท่านจักตั้งอยู่เพียงใด เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นท่านเพียงนั้น เพราะกายสลายไป เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นท่าน ข้าแต่ท่านโมคคัล- *ลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาเหล่านั้นย่อมมีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์ เหลือว่า ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือ ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ อนึ่ง ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เป็นปัญญาวิมุติ เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ แลเป็นปัญญาวิมุติ กายของท่านจักตั้งอยู่เพียงใด เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจัก เห็นท่านเพียงนั้น เพราะกายสลายไป เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นท่าน ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาเหล่านั้นย่อมมีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ ในบุคคล ผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือว่า ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลือ ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะ ผู้นิรทุกข์ อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นกายสักขี (ผู้บรรลุฌานแล้วกระทำให้ แจ้งซึ่งนิพพาน) เทวดาเหล่านั้น ย่อมรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้แลเป็นกายสักขี แม้ไฉน ท่านผู้นี้เสพเสนาสนะที่สมควรอยู่ คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึง กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้าแต่ ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาเหล่านั้นย่อมมีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ ในบุคคลผู้มี อุปาทานขันธ์เหลือว่า มีอุปาทานขันธ์เหลือ ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นทิฏฐิปัตตะ (ผู้ถึงที่สุดทิฐิ) ฯลฯ เป็นสัทธาวิมุติ (ผู้หลุดพ้นเพราะศรัทธา) ฯลฯ ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ อนึ่ง ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นธัมมานุสารี (ผู้ดำเนินตามกระแสธรรม) เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้ ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้แลเป็นธัมมานุสารี แม้ไฉน ท่านผู้นี้เสพเสนาสนะที่ สมควรอยู่ คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้าแต่ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เทวดาเหล่านั้นย่อมมีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ในบุคคลผู้มีอุปาทานขันธ์เหลือว่า มีอุปาทาน ขันธ์เหลือ ฯ ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวติสสพรหม แล้ว หายจากพรหมโลกไปปรากฏที่เขาคิชฌกูฏ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขน ที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้- *มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลถ้อยคำสนทนาปราศรัยกับท้าวติสสพรหมทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาค ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมคคัลลานะ ก็ท้าวติสสพรหมไม่ได้แสดง บุคคลอนิมิตตวิหารี (ผู้มีปรกติบรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้อยู่) ที่ ๗ แก่ เธอหรือ ฯ ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต บัดนี้ เป็นการควรที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงแสดงถึงบุคคลอนิมิตตวิหารีที่ ๗ ข้าแต่ พระสุคต ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ พ. ดูกรโมคคัลลานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ฯ ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัส ว่า ดูกรโมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมบรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้ เพราะไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้แล บรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้ เพราะไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ แม้ไฉน ท่าน ผู้นี้เสพเสนาสนะที่สมควรอยู่ คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงกระทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดย ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรโมคคัลลานะ เทวดาเหล่านั้นย่อมมีญาณหยั่งรู้อย่างนี้ในบุคคลผู้มีอุปาทานขันธ์เหลือว่า มีอุปา- *ทานขันธ์เหลือ ฯ
จบสูตรที่ ๓
สีหสูตร
[๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหา วัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจทรงบัญญัติผลแห่งทานที่ประจักษ์ ในปัจจุบันได้หรือไม่ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสีหะ ถ้าอย่างนั้น จักย้อนถามท่านในปัญหา ข้อนี้ก่อน ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นตามชอบใจท่าน ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน ในเมืองเวสาลีนี้ มีบุรุษอยู่ ๒ คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี คนหนึ่งมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับ สนุน ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อจะ อนุเคราะห์พึงอนุเคราะห์คนไหนก่อน จะเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียด สี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ จักอนุเคราะห์คนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วน คนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อ อนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์คนนั้นก่อนเทียว ฯ พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อเข้าไป พึงเข้าไปหาใครก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูด เสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียด สี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไปหา จักเข้าไปหาคนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคน ที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไป หา พึงเข้าไปหาคนนั้นก่อนเทียว ฯ พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อรับ พึงรับของใครก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียด สี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียด สี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อรับ จักรับของคนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มี ศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อรับ พึง รับของคนนั้นก่อนเทียว ฯ พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อแสดงธรรม พึงแสดงแก่คนไหนก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่- *เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียด สี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม จักแสดงแก่คนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วน คนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อ แสดงธรรม พึงแสดงแก่คนนั้นก่อนเทียว ฯ พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กิตติศัพท์อันงามของ คนไหน พึงขจรไป จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือ คนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียด สี กิตติศัพท์อันงามของคนนั้น จักขจรไปได้อย่างไร ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็น ทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน กิตติศัพท์อันงามของคนนั้นเทียวพึงขจรไป ฯ พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนไหนที่จะพึงเข้าไป สู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณ บริษัท พึงเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดี ให้ความสนับสนุน ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียด สี จักเข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดี บริษัท สมณบริษัท จักเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไปอย่างไรได้ ส่วนคน ที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน เขาผู้นั้นพึงเข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท พึง เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป ฯ พ. ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนไหนเมื่อตายไปจะ พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน ฯ สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียด สี เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็น ทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มี พระภาคตรัสแล้ว ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ ข้าพระองค์เองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้ ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ข้าพระองค์ก่อน เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาข้าพระองค์ก่อน เมื่อรับ ย่อมรับของข้าพระองค์ก่อน เมื่อแสดงธรรม ย่อมแสดงแก่ข้าพระองค์ก่อน กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ขจรไปแล้วว่า สีห- *เสนาบดีเป็นทายก เป็นการกบุคคล เป็นผู้อุปัฏฐากพระสงฆ์ ข้าพระองค์ผู้เป็น ทายก เป็นทานบดี เข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์ บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อัน พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสผลแห่งทานใดกะ ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกรสีหะ ทายก ทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ ข้าพระองค์ยังไม่รู้ผลแห่งทานนั้น และในผลแห่งทานข้อนี้ ข้าพระองค์ ขอดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค ฯ พ. อย่างนั้น สีหะ อย่างนั้น สีหะ ดูกรสีหะ ทายก ทานบดี เมื่อ ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๔
รักขิตสูตร
[๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้ ตถาคตไม่ต้องรักษา และ ตถาคตไม่พึงถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการ ฐานะ ๔ ประการที่ตถาคตไม่ต้อง รักษาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีกายสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีกาย ทุจริตที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ของเราเลย ตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีวจีทุจริตที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ของเราเลย ตถาคตมีมโน สมาจารบริสุทธิ์ ไม่มีมโนทุจริตที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ของเราเลย ตถาคตมีอาชีวบริสุทธิ์ ไม่มีมิจฉาชีพที่จะต้องรักษาว่า คนอื่นอย่ารู้ข้อนี้ของเราเลย ฐานะ ๔ ประการนี้ ตถาคตไม่ต้องรักษา ตถาคตไม่พึงถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีธรรมอันกล่าวดีแล้ว สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ในโลกก็ดี จักคัดค้าน เราในธรรมนั้นโดยชอบธรรมว่า แม้เพราะเหตุนี้ ท่านมิใช่เป็นผู้มีธรรมอันกล่าวดี แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นนิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษม ไม่มีภัย มีความแกล้วกล้าอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ปฏิปทาอันเป็นเครื่องยังสัตว์ ให้ถึงนิพพาน ที่สาวกของเราผู้ปฏิบัติตามแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ อันเราบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย สมณะก็ดี พราหมณ์ ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ในโลกก็ดี จักคัดค้านเราใน ปฏิปทานั้นโดยชอบธรรมว่า แม้เพราะเหตุนี้ ปฏิปทาอันเป็นเครื่องยังสัตว์ให้ถึง นิพพาน ที่สาวกของท่านปฏิบัติแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ฯลฯ ไม่ เป็นปฏิปทาอันท่านบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่ เล็งเห็นนิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษม ไม่มีภัย แกล้วกล้าอยู่ อนึ่ง สาวกบริษัทของเราเป็นร้อยๆ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้า ถึงอยู่ สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ใน โลกก็ดี จักคัดค้านเราในข้อนั้นโดยชอบธรรมว่า แม้เพราะเหตุนี้ สาวกบริษัท เป็นร้อยๆ ไม่ได้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เราไม่เล็งเห็น นิมิตนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมถึงความเกษม ไม่มีภัย แกล้วกล้าอยู่ ตถาคตไม่พึง ถูกติเตียนเพราะฐานะ ๓ ประการเหล่านี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แล ตถาคตไม่จำเป็นต้องรักษา และตถาคตไม่พึงถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕
กิมมิลสูตร
[๕๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้ เมืองกิมมิลา ครั้งนั้นแล ท่านพระกิมมิละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้สัทธรรมไม่ตั้งอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระ ศาสดา ... ในธรรม ... ในสงฆ์ ... ในสิกขา ... ในสมาธิ ... ในความไม่ประมาท ... ในปฏิสันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรมไม่ตั้ง อยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ กิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรม ตั้งอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ฯ พ. ดูกรกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระศาสดา ... ในธรรม ... ในสงฆ์ ... ในสิกขา ... ในสมาธิ ... ในความไม่ประมาท ... ในปฏิ- *สันถาร ดูกรกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้สัทธรรมตั้งอยู่นาน ใน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๖
สัตตธรรมสูตร
[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ไม่นาน นัก พึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นผู้หลีกออกเร้น ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ไม่นานนัก พึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๗
โมคคัลลานสูตร
[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกลา มิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ ก็สมัยนั้นแล ท่านมหาโมคคัลลานะนั่งโงก- *ง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตร เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นแล้วทรงหายจากเภสกลามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ เสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระมหาโมคคัล- *ลานะ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบน อาสนะที่ปูลาดแล้ว ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกร โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ดูกรโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ท่านพระมหา โมคคัลลานะกราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ ดูกรโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธออย่าทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จะเป็น เหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณา ถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละ ความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละ ไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละ ความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดู ทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวัน ว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจ เปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้ เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนด หมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก ข้อนี้จะเป็น เหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายใน อันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขใน การนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ ดูกรโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้อีกว่า เราจัก ไม่ชูงวง [ถือตัว] เข้าไปสู่ตระกูล ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล และในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็น เหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ ว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้ มีอาการอิด หนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไร เธอจึงเป็นผู้เก้อเขิน เมื่อเก้อเขิน ย่อม คิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ เพราะฉะนั้นแหละ โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักไม่พูดถ้อย คำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล เมื่อมี ถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ก็จำต้องหวังการพูดมาก เมื่อมีการพูดมาก ย่อม คิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ ดูกรโมคคัลลานะ อนึ่ง เราหาสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง ไม่ แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงก็หามิได้ คือ เราไม่ สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ก็แต่ว่า เสนาสนะ อันใดเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจ ของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วย เสนาสนะเห็นปานนั้น ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอ ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีธรรมเป็นแดน เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ พ. ดูกรโมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ ควรถือมั่น ครั้นได้สดับดังนั้นแล้ว เธอย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนด รู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ก็ดี ย่อมพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น พิจารณาเห็น ความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน เมื่อเธอ พิจารณาเห็นอย่างนั้นๆ อยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อม ไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตัวทีเดียว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ดูกรโมคคัลลานะ โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงเป็นผู้ หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๘
ปุญญวิปากสูตร
[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมรู้ชัดซึ่งผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี ครั้นแล้ว เราไม่ได้กลับมายังโลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อโลกถึงความพินาศ [ถูกไฟไหม้] เราเข้าถึงพรหมโลกชั้น อาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ เราย่อมเข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่า ได้ยินว่า ในวิมานพรหมนั้น เราเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ ใครๆ ครอบงำไม่ได้ มีความเห็นแน่นอน มีอำนาจเต็ม เป็นท้าวสักกะผู้เป็น ใหญ่แห่งทวยเทพ ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ตั้งอยู่ในธรรม เป็นธรรมราชา มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ชนะสงคราม มีชนบทถึงความสถาพรตั้งมั่น ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ รัตนะ ๗ ประการของเรานั้นคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ขุนพลแก้วเป็นที่ ๗ อนึ่ง เราเคยมีบุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ เรา ครอบครองปฐพีมณฑลนี้ อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา ฯ เชิญดูผลแห่งบุญกุศลของบุคคลผู้แสวงหาความสุข ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราเจริญเมตตาจิตมาแล้ว ๗ ปี ไม่ต้องกลับมาสู่ โลกนี้ ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกถึงความพินาศ เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกยังไม่ถึงความ พินาศ เราเข้าถึงวิมานอันว่างเปล่า ในกาลนั้น เราเป็นท้าว มหาพรหมผู้มีอำนาจเต็ม ๗ ครั้ง เป็นท้าวสักกะจอมเทพ เสวยสมบัติในเทวโลก ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ เป็นใหญ่ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป เป็นกษัตริย์ได้รับมุรธาภิเศก แล้ว เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ปกครองปฐพีมณฑลนี้ โดยไม่ ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา สั่งสอนคนในปฐพีมณฑล นั้นโดยธรรมสม่ำเสมอ ไม่ผลุนผลัน ครั้นได้เสวยราชใน ปฐพีมณฑลนี้โดยธรรมแล้ว ได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์ สมบัติมากมาย ทั้งบริบูรณ์พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ อัน อำนวยความประสงค์ให้ทุกอย่าง ฐานะดังที่กล่าวมานี้พระพุทธ- *เจ้าทั้งหลายผู้สงเคราะห์ประชาชาวโลกทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหตุที่ท่านเรียกว่าเป็นเจ้าแผ่นดิน เพราะความเป็นใหญ่ เรา เป็นพระราชาผู้เรืองเดช มีอุปกรณ์เครื่องให้ปลื้มใจมากมาย มีฤทธิ์ มียศ เป็นใหญ่ ในหมู่ชนชาวชมพูทวีป ใครบ้าง ได้ฟังแล้วจะไม่เลื่อมใสแม้จะเป็นคนมีชาติต่ำ เพราะฉะนั้น แหละ ผู้มุ่งประโยชน์ จำนงหวังความเป็นใหญ่ ระลึกถึง คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพสัทธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๙
ภริยาสูตร
[๖๐] ครั้งนั้น เมื่อเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือ บาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประทับนั่งบน อาสนะที่ปูลาดแล้ว ก็สมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐีส่งเสียงอื้ออึง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส ถามว่า ดูกรคฤหบดี เหตุไรหนอ มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านจึงส่งเสียง อื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ นางสุชาดาคนนี้ข้าพระองค์นำมาจากตระกูลมั่งคั่งมาเป็นสะใภ้ใน เรือน นางไม่เชื่อถือ แม่ผัว พ่อผัว สามี แม้แต่พระผู้มีพระภาคนางก็ไม่ สักการะเคารพนับถือบูชา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกนางสุชาดาหญิง สะใภ้ในเรือนว่า มานี่แน่ะนางสุชาดา นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้ มีพระภาคแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้ ๗ จำพวกเป็นไฉน คือ ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต ๑ เสมอด้วยโจร ๑ เสมอด้วยนาย ๑ เสมอด้วยแม่ ๑ เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ๑ เสมอด้วยเพื่อน ๑ เสมอด้วยทาสี ๑ ดูกรนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น นางสุชาดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันยังไม่รู้ทั่วถึง ความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ หม่อมฉัน โดยที่หม่อมฉันจะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาค ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด ฯ พ. ดูกรนางสุชาดา ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัส พระพุทธพจน์นี้ว่า ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า วธกาภริยา ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต สามีของหญิงประกอบด้วย ศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยา ปรารถนาจะยักยอกทรัพย์ แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของ บุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า โจรภริยา ภริยาเสมอด้วยโจร ภริยา ที่ไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง ภริยาของ บุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า อัยยาภริยา ภริยาเสมอด้วยนาย ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษา สามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา ภริยาเสมอด้วย มารดา ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพใน สามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยา ของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ภคินีภริยา ภริยาเสมอด้วยพี่สาว น้องสาว ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี เหมือน เพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตรปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา ภริยาเสมอด้วยเพื่อน ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอก ก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไป ตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา ภริยาเสมอด้วยทาสี ภริยาที่เรียกว่าวธกาภริยา ๑ โจรี ภริยา ๑ อัยยาภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๓ จำพวกนั้น ล้วนแต่เป็น คนทุศีลหยาบช้า ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก ส่วนภริยาที่เรียกว่า มาตาภริยา ๑ ภคินีภริยา ๑ สขีภริยา ๑ ทาสีภริยา ๑ ภริยาทั้ง ๔ จำพวกนั้น เพราะตั้งอยู่ในศีล ถนอมรักไว้ยั่งยืน เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ ดูกรนางสุชาดา ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นภริยาจำพวก ไหน ใน ๗ จำพวกนั้น ฯ ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นภริยาของสามีผู้เสมอด้วยทาสี ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
โกธนาสูตร

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๑๓๔๑-๒๐๓๖. หน้าที่ ๕๙ - ๘๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=1341&Z=2036&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=23&item=49&items=12              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=49              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=49              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=23&item=49&items=12&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=23&item=49&items=12&mode=bracket              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]