ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

๘. ปฐมทุฏฐโทสสิกขาบท
ว่าด้วยภิกษุขัดเคืองมีโทสะ สิกขาบทที่ ๑
เรื่องพระทัพพมัลลบุตร
[๓๘๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตร บรรลุอรหัตตผล เมื่ออายุ ๗ ขวบ คุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระสาวกพึงบรรลุ ท่านก็ได้บรรลุแล้ว ทั้งหมด ไม่มีกิจอะไรๆ ที่จะพึงทำยิ่งกว่านี้ หรือกิจที่ทำเสร็จแล้วซึ่งจะทำเพิ่มเติม อีกก็ไม่มี ต่อมา ท่านพระทัพพมัลลบุตรหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง อย่างนี้ว่า เราได้บรรลุอรหัตผลเมื่ออายุ ๗ ขวบ คุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระ สาวกพึงบรรลุ เราก็ได้บรรลุแล้วทั้งหมด ไม่มีกิจอะไรๆ ที่จะพึงทำยิ่งกว่านี้ หรือกิจ ที่ทำเสร็จแล้วซึ่งจะทำเพิ่มเติมอีกก็ไม่มี เราควรช่วยอะไรสงฆ์ได้บ้าง ลำดับนั้น ท่านตกลงใจว่า “ถ้ากระไร เราควรจัดแจงเสนาสนะและแจก ภัตตาหารแก่สงฆ์” ครั้นออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่สมควรแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราได้บรรลุอรหัตตผลเมื่ออายุ ๗ ขวบ ฯลฯ หรือกิจที่ทำ เสร็จแล้วซึ่งจะทำเพิ่มเติมอีกก็ไม่มี เราควรช่วยอะไรสงฆ์ได้บ้าง’ พระพุทธเจ้าข้า ถ้ากระไร ข้าพระพุทธเจ้า พึงจัดแจงเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์ ข้าพระ พุทธเจ้าปรารถนาจะจัดแจงเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ดีแล้ว ทัพพะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดแจง เสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์” พระทัพพมัลลบุตรกราบทูลรับสนองพระพุทธ ดำรัสแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

แต่งตั้งเสนาสนปัญญาปกะและภัตตุทเทสกะ๑-
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงแต่งตั้งทัพพมัลลบุตรให้ เป็นเสนาสนปัญญาปกะและภัตตุทเทสกะ
วิธีแต่งตั้ง และกรรมวาจาแต่งตั้ง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ เบื้องต้นพึงขอให้ทัพพมัลลบุตรรับ ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดสามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบว่า [๓๘๑] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงแต่งตั้ง ท่านพระทัพพมัลลบุตรให้เป็นเสนาสนปัญญาปกะและภัตตุทเทสกะ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งพระทัพพมัลลบุตรให้เป็น เสนาสนปัญญาปกะและภัตตุทเทสกะ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งพระทัพพมัลล บุตรให้เป็นเสนาสนปัญญาปกะและภัตตุทเทสกะ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็น ด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง พระทัพพมัลลบุตร สงฆ์แต่งตั้งให้เป็นเสนาสนปัญญาปกะและภัตตุทเทสกะแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้” [๓๘๒] ก็แล ท่านพระทัพพมัลลบุตร ได้รับแต่งตั้งแล้วย่อมจัดแจงเสนาสนะ สำหรับหมู่ภิกษุผู้มีคุณสมบัติเสมอกันรวมไว้ที่เดียวกัน ดังนี้ คือ จัดแจงเสนาสนะ สำหรับภิกษุผู้ทรงพระสูตรรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านั้นจักซัก ซ้อมพระสูตรกัน จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ทรงพระวินัยรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านั้นจักวินิจฉัยพระวินัยกัน @เชิงอรรถ : @ เสนาสนปัญญาปกะ คือภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่จัดเสนาสนะ ภัตตุทเทสกะ คือภิกษุผู้ได้ @รับการแต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่จัดภัตตาหารถวายสงฆ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วย ประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านั้นจักสนทนาพระอภิธรรมกัน จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ได้ฌานรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านั้นจักไม่รบกวนกัน จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ชอบกล่าวติรัจฉานกถา ผู้มากไปด้วยการ บำรุงร่างกายรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านี้จะอยู่ตามความพอใจ ท่านพระทัพพมัลลบุตรนั้นเข้าเตโชกสิณ แล้วจัดแจงเสนาสนะด้วยแสงสว่างนั้น สำหรับภิกษุที่มาในเวลาค่ำคืน ภิกษุทั้งหลายจงใจมาในเวลาค่ำคืน ด้วยประสงค์ว่า “พวกเราจะชมอิทธิ ปาฏิหาริย์ของท่านพระทัพพมัลลบุตร” ก็มี พวกเธอพากันเข้าไปหาท่านพระ ทัพพมัลลบุตร กล่าวว่า “ท่านจงจัดแจงเสนาสนะให้พวกกระผม” ท่านพระทัพพมัลลบุตรกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายต้องการพักที่ไหนเล่า ข้าพเจ้าจะจัดแจงในที่ไหน” ภิกษุเหล่านั้นจงใจอ้างที่ไกลๆ ว่า “ท่านจงจัดแจงเสนาสนะให้พวกกระผมที่ ภูเขาคิชฌกูฏ...ที่เหวสำหรับทิ้งโจร...ที่กาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ...ที่ถ้ำสัตตบรรณ คูหาข้างภูเขาเวภาระ...ที่เงื้อมเขาสัปปโสณฑิกะใกล้สีตวัน...ที่ซอกเขาโคตมกะ...ที่ ซอกเขาตินทุกะ...ที่ซอกเขาตโปทกะ...ที่ตโปทาราม...ที่ชีวกัมพวัน...ท่านจงจัดแจง เสนาสนะ ให้พวกกระผมที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน” ท่านพระทัพพมัลลบุตรเข้าเตโชกสิณ ใช้องคุลีส่องแสงสว่างเดินนำหน้าภิกษุ เหล่านั้น ท่านเหล่านั้นเดินตามพระทัพพมัลลบุตรไปด้วยแสงสว่างนั้น ท่านได้จัด แจงเสนาสนะสำหรับภิกษุเหล่านั้น ชี้แจงว่า “นี่เตียง นี่ตั่ง นี่ฟูก นี่หมอน นี่ที่ถ่าย อุจจาระ นี่ที่ถ่ายปัสสาวะ นี่น้ำฉัน นี่น้ำใช้ นี่ไม้เท้า นี่ระเบียบกติกาสงฆ์ ควรเข้า เวลานี้ ควรออกเวลานี้” ครั้นจัดแจงเสร็จแล้วจึงกลับมาพระเวฬุวันวิหารตามเดิม
เรื่องพระทัพพมัลลบุตร จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ
[๓๘๓] ก็สมัยนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระบวชใหม่และมี บุญน้อย เสนาสนะของสงฆ์ชั้นเลว อาหารก็ชั้นเลว ตกถึงท่านทั้งสอง ชาวกรุง ราชคฤห์ต้องการจะถวายบิณฑบาตแก่พระเถระทั้งหลายก็ถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง แกงอ่อมบ้าง จัดปรุงพิเศษ แต่พวกเขาถวายอาหารธรรมดาแก่พระเมตติยะและ พระภุมมชกะ ตามแต่จะหาได้ คือปลายข้าวกับน้ำผักดอง วันหนึ่ง ท่านทั้งสองกลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันเสร็จแล้ว เที่ยวถามภิกษุ เถระว่า “มีอาหารอะไรบ้าง ในโรงฉันสำหรับพวกท่าน” พระเถระบางพวกตอบว่า “คุณทั้งสอง พวกเรามีเนยใส น้ำมัน แกงอ่อม” พระเมตติยะและพระภุมมชกะ กล่าวว่า “พวกกระผมไม่มีอะไรเลย ขอรับ มี แต่อาหารธรรมดา ตามแต่จะหาได้ คือปลายข้าวกับน้ำผักดอง” สมัยต่อมา คหบดีผู้ชอบถวายอาหารอย่างดี ถวายอาหารแก่สงฆ์วันละ ๔ ที่ เป็นนิตยภัต คหบดีพร้อมบุตรภรรยาอังคาส๑- อยู่ใกล้ๆ ในโรงฉัน คนอื่นๆ ถาม ถึงความต้องการข้าวสุก ถามถึงความต้องการกับข้าว ถามถึงความต้องการน้ำมัน ถามถึงความต้องการแกงอ่อม วันต่อมา ท่านพระทัพพมัลลบุตรผู้เป็นภัตตุทเทสก์นิมนต์พระเมตติยะและ พระภุมมชกะไปฉันภัตตาหารของคหบดีในวันรุ่งขึ้น วันเดียวกันนั้น คหบดีเดินทางไป อารามด้วยธุระบางอย่าง ได้เข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตรถึงสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ ไหว้ท่านพระทัพพมัลลบุตรแล้ว นั่งลง ณ ที่สมควร ท่านทัพพมัลลบุตร ชี้แจงคหบดี ผู้ชอบถวายอาหารอย่างดีให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นแล้ว คหบดีผู้ชอบถวายอาหารอย่างดี ถามว่า “ภัตตาหารที่จะถวายในวันพรุ่งนี้ที่เรือนของข้าพเจ้า ท่านนิมนต์ภิกษุรูปไหน ไปฉันขอรับ” ท่านพระทัพพมัลลบุตรตอบว่า “อาตมาจัดให้พระเมตติยะและพระภุมมชกะ ไปฉัน” @เชิงอรรถ : @ “อังคาส” หมายถึงประเคน หรือถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

เขาไม่พอใจว่า “ทำไมจึงนิมนต์ภิกษุชั่วไปฉันภัตตาหารในบ้านเราเล่า” กลับ ไปบ้านแล้วสั่งหญิงรับใช้ว่า “แม่สาวใช้ พรุ่งนี้ เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตูแล้วเอา ปลายข้าวกับน้ำผักดองถวายภิกษุผู้มาฉันภัตตาหารนะ” หญิงรับใช้รับคำว่า “ได้เจ้าค่ะ” วันเดียวกันนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะกล่าวกันว่า “คุณ เมื่อวานนี้ เราได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในเรือนคหบดี พรุ่งนี้ คหบดีพร้อมด้วยบุตรภรรยา ก็จักมายืนอังคาสเราอยู่ใกล้ๆ คนอื่นถามถึงความต้องการข้าวสุก ถามถึงความ ต้องการกับข้าว ถามถึงความต้องการน้ำมัน ถามถึงความต้องการแกงอ่อม” เพราะ ความดีใจนั้น พอตกกลางคืน ท่านทั้งสองจึงจำวัดหลับไม่เต็มที่ ครั้นเวลาเช้า ครอง อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเดินไปถึงนิเวศน์ของคหบดี หญิงรับใช้มองเห็นพระเมตติยะและพระภุมมชกะเดินมาแต่ไกล จึงจัดอาสนะ ไว้ที่ซุ้มประตูนิมนต์ว่า “พระคุณเจ้า นิมนต์นั่งเถิด เจ้าค่ะ” พระเมตติยะและพระภุมมชกะคิดว่า “เขาคงนิมนต์ให้พวกเรานั่งรอที่ซุ้มประตู จนกว่าภัตตาหารจะเสร็จ” ขณะนั้นหญิงรับใช้นำปลายข้าวกับน้ำผักดองไปถวาย กล่าวว่า “พระคุณเจ้า นิมนต์ฉันเถิด เจ้าค่ะ” ท่านทั้งสองกล่าวว่า “น้องหญิง พวกอาตมารับนิมนต์มาฉันนิตยภัต” หญิงรับใช้ตอบว่า “ทราบเจ้าค่ะว่าท่านเป็นพระรับนิมนต์มาฉันนิตยภัต แต่ เมื่อวานนี้ คหบดีสั่งไว้ว่า ‘แม่สาวใช้ พรุ่งนี้ เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วเอา ปลายข้าวกับน้ำผักดองถวายภิกษุผู้มาฉันภัตตาหารนะ’ นิมนต์ฉันเถิด เจ้าค่ะ” พระเมตติยะและพระภุมมชกะ ปรึกษากันว่า “เมื่อวานนี้เอง คหบดีไปหา พระทัพพมัลลบุตรถึงอาราม สงสัยพวกเราคงถูกพระทัพพมัลลบุตรทำลายต่อหน้า คหบดีเป็นแน่” เพราะความเสียใจ ท่านทั้งสองจึงฉันภัตตาหารไม่ได้สมใจ ครั้นกลับ จากบิณฑบาตหลังจากฉันเสร็จแล้ว ถึงอาราม เก็บบาตรและจีวรแล้วใช้ผ้าสังฆาฏิ รัดเข่า นั่งภายนอกซุ้มประตูอาราม นิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่พูดจา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

ภิกษุณีเมตติยาใส่ความพระทัพพมัลลบุตร
ครั้งนั้น ภิกษุณีเมตติยาเข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะถึงที่พัก ครั้น ถึงแล้วได้กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะ ดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า ดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ” เมื่อเธอกล่าวอย่างนั้น พระเมตติยะและภุมมชกะก็ไม่พูดด้วย เธอจึงกล่าวว่า “ดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ” แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ ยอมพูดด้วย ภิกษุณีเมตติยากล่าวต่อไปว่า “ดิฉันทำผิดอย่างไรต่อพระคุณเจ้า ทำไม พระคุณเจ้าจึงไม่ยอมพูดกับดิฉัน” ภิกษุทั้งสองตอบว่า “จริงอย่างนั้นแหละ น้องหญิง พวกเราถูกพระทัพพมัลล บุตรเบียดเบียน เธอยังเพิกเฉยอยู่ได้” ภิกษุณีเมตติยาถามว่า “ดิฉันจะช่วยได้อย่างไร เจ้าค่ะ” ภิกษุทั้งสองตอบว่า “ถ้าเธอเต็มใจช่วย วันนี้แหละพระผู้มีพระภาคต้องให้ พระทัพพมัลลบุตรสึก” ภิกษุณีเมตติยาถามว่า “พระคุณเจ้า ดิฉันจะทำอย่างไร จะช่วยได้ด้วยวิธีไหน” ภิกษุทั้งสองตอบว่า “มาเถิด น้องหญิง เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นถึงแล้ว จงกราบทูลพระผู้มีพระภาค อย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า เรื่องนี้ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ทิศที่เคยปลอดภัยก็กลับมีภัย ที่ที่ไม่เคยมีเสนียดจัญ ไรก็กลับมีเสนียดจัญไร ทิศที่ไม่เคยมีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในที่ที่ไม่เคยมีลม ก็ กลับมีลมแรง น้ำก็ดูเป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา หม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรข่มขืน” ภิกษุณีเมตติยารับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่ สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “เรื่องนี้ไม่สมควร ฯลฯ หม่อมฉันถูก พระทัพพมัลลบุตรข่มขืน”
ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
[๓๘๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่ภิกษุณี นี่กล่าวหา” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท นิทานวัตถุ

ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคย่อม ทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร” แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถาม ท่านพระทัพพมัลลบุตร ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่ภิกษุณีนี่กล่าวหา” พระทัพพมัลลบุตรก็กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร” “ทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่แก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้า เธอไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ” “พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักการเสพเมถุนธรรมแม้ ในความฝัน ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อตอนตื่นอยู่” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงให้นางภิกษุณีเมตติยาสึก จงสอบถามภิกษุเหล่านี้” แล้ว เสด็จจากที่ประทับเข้าพระวิหาร หลังจากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงให้นางภิกษุณีเมตติยาสึก แต่พระเมตติยะและ พระภุมมชกะได้แจ้งภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลายอย่าให้นางภิกษุณีเมตติยาสึก เลย นางไม่มีความผิด พวกกระผมโกรธ ไม่พอใจ ต้องการให้พระทัพพมัลลบุตรพ้น จากพรหมจรรย์ จึงชักจูงนาง” ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านใส่ความพระทัพพมัลลบุตร ด้วยอาบัติปาราชิก ที่ไม่มีมูลหรือ”
พระเมตติยะและพระภุมมชกะยอมรับสารภาพ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระ เมตติยะและพระภุมมชกะจึงใส่ความท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกที่ไม่ มีมูลเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพระเมตติยะและพระภุมมชกะโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า เธอทั้งสองใส่ ความทัพพมัลลบุตร ด้วยอาบัติปาราชิกที่ไม่มีมูลจริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอ จึงใส่ความทัพพมัลลบุตรด้วยอาบัติปาราชิกที่ไม่มีมูลเล่า โมฆบุรุษ ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับ สั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๘๕] ก็ ภิกษุใด ขัดเคือง มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ใส่ความภิกษุด้วย อาบัติปาราชิกที่ไม่มีมูล โดยมุ่งหมายว่า “ทำอย่างไรจึงจะให้ภิกษุนั้นพ้นจาก พรหมจรรย์นี้ได้” ครั้นสมัยต่อจากนั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งโจทก็ตามไม่โจทก็ตาม อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องไม่มีมูล และภิกษุยอมรับผิด เป็นสังฆาทิเสส
เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๘๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า ภิกษุ หมายถึง ภิกษุอื่น คำว่า ขัดเคือง มีโทสะ คือ โกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ คำว่า ไม่แช่มชื่น คือ ไม่แช่มชื่นเพราะความโกรธนั้น เพราะมีโทสะนั้น เพราะไม่พอใจนั้น และเพราะไม่ชอบใจนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๑๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท บทภาชนีย์

ชื่อว่า ที่ไม่มีมูล คือไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้นึกสงสัย คำว่า ด้วยอาบัติปาราชิก คือ ด้วยอาบัติปาราชิก ๔ ข้อใดข้อหนึ่ง คำว่า ใส่ความ ได้แก่ โจทเอง หรือสั่งให้ผู้อื่นโจท คำว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ภิกษุนั้นพ้นจากพรหมจรรย์นี้ได้ ความว่า ให้พ้น จากความเป็นภิกษุ ให้พ้นจากสมณธรรม ให้พ้นจากศีลขันธ์ ให้พ้นจากคุณคือตบะ คำว่า ครั้นสมัยต่อจากนั้น ความว่า ล่วงขณะ ลยะ ครู่ที่ภิกษุถูกใส่ความไป แล้ว คำว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งโจทก็ตาม คือ จะมีผู้เชื่อถือตามเรื่องที่ทำให้ภิกษุนั้นถูก ใส่ความก็ตาม คำว่า ไม่โจทก็ตาม คือ ไม่มีใครๆ กล่าวถึงภิกษุนั้น ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ อย่าง คือ วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ และกิจจาธิกรณ์ คำว่า และภิกษุยอมรับผิด ความว่า ภิกษุนั้นยอมรับว่า “ข้าพเจ้าพูดคำไร้ ประโยชน์ พูดเท็จ พูดไม่จริง ไม่รู้จึงพูด” คำว่า เป็นสังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ฯลฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า “เป็นสังฆาทิเสส”
บทภาชนีย์
ไม่เห็น โจทว่าได้เห็น
[๓๘๗] ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าเห็นท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร ท่านร่วมอุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ไม่ได้ยิน โจทว่าได้ยิน
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้ยินว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยินว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท บทภาชนีย์

ศากยบุตร ท่านร่วมอุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ไม่นึกสงสัย โจทว่านึกสงสัย
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้น ว่า “ข้าพเจ้านึกสงสัยว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อ สายศากยบุตร ท่านร่วมอุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้” ต้องอาบัติ สังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
ไม่เห็น โจทว่าได้เห็นและได้ยิน
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้า เห็นและได้ยินว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสาย ศากยบุตร ท่านร่วมอุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ไม่เห็น โจทว่าได้เห็นและนึกสงสัย
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ เห็นและนึกสงสัยว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ฯลฯ” ต้องอาบัติ สังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
ไม่เห็น โจทว่าได้เห็น ได้ยิน และนึกสงสัย
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ เห็น ได้ยินและนึกสงสัยว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
ไม่ได้ยิน โจทว่าได้ยินและนึกสงสัย
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้ยินว่าภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยิน และนึกสงสัยว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท บทภาชนีย์

ไม่ได้ยิน โจทว่าได้ยินและได้เห็น
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้ยินว่าภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้า ได้ยินและได้เห็น ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ฯลฯ” ต้องอาบัติ สังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
ไม่ได้ยิน โจทว่าได้ยิน นึกสงสัย และได้เห็น
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้ยินว่าภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยิน นึกสงสัยและได้เห็น ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ฯลฯ” ต้องอาบัติ สังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
ไม่นึกสงสัย โจทว่านึกสงสัยและได้เห็น
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้านึกสงสัยและได้เห็น ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
ไม่นึกสงสัย โจทว่านึกสงสัยและได้ยิน
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้านึกสงสัยและได้ยินว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
ไม่นึกสงสัย โจทว่านึกสงสัย ได้เห็นและได้ยิน
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้านึกสงสัย ได้เห็นและได้ยินว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
ได้เห็น โจทว่าได้ยิน
ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยิน ว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท บทภาชนีย์

ได้เห็น โจทว่านึกสงสัย...ได้ยินและนึกสงสัย
ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้า นึกสงสัยว่าท่านต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ” ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยินและนึก สงสัยว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ได้ยิน โจทว่านึกสงสัย...ได้เห็น...นึกสงสัยและได้เห็น
ภิกษุผู้โจทก์ได้ยินว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้า นึกสงสัยว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้เห็น ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้านึกสงสัยและได้เห็น ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
นึกสงสัย โจทว่าได้เห็น...ได้ยิน...ได้เห็นและได้ยิน
ภิกษุผู้โจทก์นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้า ได้เห็นท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยินว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นและได้ยินว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร ท่านร่วม อุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ได้เห็น ไม่แนใจ
ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ไม่แน่ใจในเรื่องที่ได้เห็น คือ กำหนดสิ่งที่ได้เห็นไม่ได้ จำสิ่งที่ได้เห็นไม่ได้ ลืมสิ่งที่ได้เห็น ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นและได้ยิน ฯลฯ ข้าพเจ้าได้เห็นและนึกสงสัย ฯลฯ ข้าพเจ้าได้เห็น ได้ยินและนึกสงสัยว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ”
ได้ยิน ไม่แน่ใจ
ภิกษุผู้โจทก์ได้ยินว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่แน่ใจในเรื่องที่ได้ยิน คือ กำหนดเรื่องที่ได้ยินไม่ได้ จำเรื่องที่ได้ยินไม่ได้ ลืมเรื่องที่ได้ยิน ถ้าโจทภิกษุนั้นว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท บทภาชนีย์

“ข้าพเจ้าได้ยินและนึกสงสัย ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ยินและได้เห็น ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ยิน นึกสงสัยและได้เห็น ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ”
นึกสงสัย ไม่แน่ใจ
ภิกษุผู้โจทก์นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่แน่ใจในเรื่องที่นึกสงสัย คือกำหนดเรื่องที่นึกสงสัยไม่ได้ จำเรื่องที่นึกสงสัยไม่ได้ ลืมเรื่องที่นึกสงสัย ถ้า โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้านึกสงสัยและเห็น ฯลฯ ข้าพเจ้านึกสงสัยและได้ยิน ฯลฯ ข้าพเจ้านึกสงสัย ได้เห็นและได้ยินว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร ท่านร่วมอุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้” ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ไม่เห็น สั่งให้โจทว่าเห็น
[๓๘๘] ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากย บุตร ท่านร่วมอุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ไม่ได้ยิน สั่งให้โจทว่าได้ยิน
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้ยินว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยินว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ไม่ได้นึกสงสัย สั่งให้โจทว่าได้สงสัย
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าสั่งให้โจทภิกษุ นั้นว่า “ข้าพเจ้านึกสงสัยว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท บทภาชนีย์

ไม่ได้เห็น สั่งให้โจทว่าได้เห็น...
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้า ได้เห็น ได้ยิน ฯลฯ ข้าพเจ้าได้เห็น ได้นึกสงสัย ฯลฯ ข้าพเจ้าได้เห็น ได้ยิน ได้นึกสงสัยว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ไม่ได้ยิน สั่งให้โจทว่าได้ยิน...
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้ยินว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยิน ได้นึกสงสัย ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ยิน ได้เห็น ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ยิน ได้นึกสงสัย ได้เห็นว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ไม่นึกสงสัย สั่งให้โจทว่าได้นึกสงสัย...
ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าสั่งให้โจทภิกษุ นั้นว่า “ข้าพเจ้าได้นึกสงสัย ได้เห็น ฯลฯ ข้าพเจ้าได้นึกสงสัย ได้ยิน ฯลฯ ข้าพเจ้า ได้นึกสงสัย ได้เห็นได้ยินว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ได้เห็น สั่งให้โจทว่าได้ยิน...
ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้า ได้ยินว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าได้นึกสงสัยว่า ท่านต้องอาบัติ ปาราชิกแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ยิน ได้นึกสงสัยว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ได้ยิน สั่งให้โจทว่านึกสงสัย...
ภิกษุผู้โจทก์ได้ยินว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้นึกสงสัย ฯลฯ” ถ้าสั่งให้โจทว่า “ข้าพเจ้าได้เห็น ฯลฯ” ถ้าสั่งให้โจทว่า “ข้าพเจ้าได้นึกสงสัย ได้เห็น ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท บทภาชนีย์

นึกสงสัย สั่งให้โจทว่าได้เห็น...
ภิกษุผู้โจทก์นึกสงสัยว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้เห็น ท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้ยิน ฯลฯ” ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้เห็น ได้ยินว่า ท่านต้อง อาบัติปาราชิกแล้ว ฯลฯ” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ได้เห็น ไม่แน่ใจ สั่งให้โจท
ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ไม่แน่ใจในเรื่องที่ได้เห็น คือ กำหนดสิ่งที่ได้เห็นไม่ได้ จำสิ่งที่ได้เห็นไม่ได้ ลืมสิ่งที่ได้เห็น ฯลฯ
ได้ยิน ไม่แน่ใจ สั่งให้โจท
ภิกษุผู้โจทก์ไม่แน่ใจในเรื่องที่ได้ยิน คือ กำหนดเรื่องที่ได้ยินไม่ได้ จำเรื่องที่ ได้ยินไม่ได้ ลืมเรื่องที่ได้ยิน ฯลฯ
ไม่แน่ใจ นึกสงสัย สั่งให้โจท
ภิกษุผู้โจทก์ไม่แน่ใจในเรื่องที่นึกสงสัย คือ กำหนดเรื่องที่นึกสงสัยไม่ได้ จำ เรื่องที่นึกสงสัยไม่ได้ ลืมเรื่องที่นึกสงสัย ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้นึกสงสัย ได้เห็น ฯลฯ” ลืมเรื่องที่นึกสงสัย ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้นึกสงสัย ได้ยิน ฯลฯ” ลืมเรื่องที่นึกสงสัย ถ้าสั่งให้โจทภิกษุนั้นว่า “ข้าพเจ้าได้นึกสงสัย ได้เห็น ได้ ยินว่าท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร ท่าน ร่วมอุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้” ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด
ความเห็น ๔ อย่าง
[๓๘๙] จำเลยไม่บริสุทธิ์ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ๑ จำเลยบริสุทธิ์ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๑ จำเลยไม่บริสุทธิ์ โจทก์มีความเห็น ว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๑ จำเลยบริสุทธิ์ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ๑ ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะให้พ้นจาก พรหมจรรย์จึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท บทภาชนีย์

ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะให้พ้นจาก พรหมจรรย์จึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะด่าจึงโจท ภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะด่าจึงโจทภิกษุ นั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้โจทก์มี ความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะให้พ้นจากพรหม จรรย์จึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้โจทก์มี ความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะให้พ้นจากพรหม จรรย์จึงโจทภิกษุนั้น ไม่ต้องอาบัติ ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้โจทก์มี ความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะด่าจึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้โจทก์มี ความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะด่าจึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะให้พ้น จากพรหมจรรย์จึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท อนาปัตติวาร

ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะให้พ้นจาก พรหมจรรย์จึงโจทภิกษุนั้น ไม่ต้องอาบัติ ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะด่าจึง โจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้ โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะด่าจึงโจท ภิกษุนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้โจทก์ มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะให้พ้นจากพรหม จรรย์จึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้โจทก์ มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะให้พ้นจากพรหม จรรย์จึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้โจทก์ มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะด่าจึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏกับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าภิกษุผู้โจทก์ มีความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอโอกาสก่อน มีความประสงค์จะด่าจึงโจทภิกษุนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๘. ปฐมทุฎฐโทสสิกขาบท อนาปัตติวาร

[๓๙๐] ๑. ภิกษุจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๒. ภิกษุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๓. ภิกษุวิกลจริต ๔. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปฐมทุฏฐโทสสิกขาบทที่ ๘ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๒๙}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๑๒-๔๒๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=1&A=11586 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=51              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=17310&Z=17840&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=538              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1 https://84000.org/tipitaka/english/?index_1


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]