ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๔. มธุรสูตร
ว่าด้วยพระเจ้ามธุระ
[๓๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ป่าคุนธาวัน เขตกรุงมธุรา พระเจ้า มธุระ อวันตีบุตรได้ทรงสดับว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ท่านสมณะนามว่า กัจจานะ อยู่ ณ ป่าคุนธาวัน เขตกรุงมธุรา ท่านพระมหากัจจานะนั้นมีกิตติศัพท์ อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำ สละสลวย มีปฏิภาณดี เป็นผู้ใหญ่ และเป็นพระอรหันต์ การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เช่นนั้น เป็นความดีอย่างแท้จริง” ลำดับนั้น พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตรรับสั่งให้จัดยานพาหนะคันงามๆ หลายคัน ทรงขึ้นยานพาหนะคันงาม เสด็จออกจากกรุงมธุราพร้อมกับยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จด้วยราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อทรงเยี่ยมท่านพระมหากัจจานะ เสด็จไป จนสุดทางที่ยานพาหนะจะไปได้ จึงเสด็จลงจากยาน เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น ที่ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้รับสั่งว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

“พระคุณเจ้ากัจจานะ พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐ ที่สุด คือวรรณะพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือวรรณะพราหมณ์ เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์ เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพรหม เกิดจากพรหม เป็นผู้ที่พรหม สร้างขึ้น เป็นทายาทของพรหม’ เรื่องนี้พระคุณเจ้ากัจจานะจะกล่าวอย่างไร” ท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรว่า “มหาบพิตร วาทะที่พวกพราหมณ์ กล่าวว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือวรรณะพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะ ที่ขาวคือวรรณะพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่ พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพรหม เกิดจากพรหม (เป็นผู้ที่พรหมสร้างขึ้น) เป็นทายาทของพรหม’ นั่นเป็นเพียงคำโฆษณา ในโลกเท่านั้น มหาบพิตร โดยปริยายนี้ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า วาทะที่พวกพราหมณ์ กล่าวว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาท ของพรหม’ นั่นเป็นเพียงคำโฆษณาในโลกเท่านั้น” [๓๑๘] ท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรง เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าแม้กษัตริย์จะพึงทำให้ความต้องการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองสำเร็จได้ แม้กษัตริย์(อื่น)ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อกษัตริย์พระองค์นั้นใช่ไหม แม้พราหมณ์ ฯลฯ แม้แพศย์ ฯลฯ แม้ศูทรก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อกษัตริย์พระองค์นั้นใช่ไหม” พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตร ตรัสว่า “พระคุณเจ้ากัจจานะ ถ้าแม้กษัตริย์จะพึง ทำให้ความต้องการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองสำเร็จได้ แม้กษัตริย์(อื่น) ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อกษัตริย์ พระองค์นั้น แม้พราหมณ์ ฯลฯ แม้แพศย์ ฯลฯ แม้ศูทรก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อกษัตริย์พระองค์นั้น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

“มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าแม้พราหมณ์ จะพึงทำให้ความต้องการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองสำเร็จได้ แม้พราหมณ์(อื่น) ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อพราหมณ์นั้น ใช่ไหม แม้แพศย์ ฯลฯ แม้ศูทร ฯลฯ แม้กษัตริย์ ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อพราหมณ์นั้นใช่ไหม” “พระคุณเจ้ากัจจานะ ถ้าแม้พราหมณ์จะพึงทำให้ความต้องการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองสำเร็จได้ แม้พราหมณ์(อื่น) ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อพราหมณ์นั้น แม้แพศย์ ฯลฯ แม้ศูทร ฯลฯ แม้กษัตริย์ ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อพราหมณ์นั้น” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าแม้แพศย์จะพึง ทำให้ความต้องการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองสำเร็จได้ แม้แพศย์(อื่น) ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อแพศย์นั้น ใช่ไหม แม้ศูทร ฯลฯ แม้กษัตริย์ ฯลฯ แม้พราหมณ์ ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อแพศย์นั้นใช่ไหม” “พระคุณเจ้ากัจจานะ ถ้าแม้แพศย์จะพึงทำให้ความต้องการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองสำเร็จได้ แม้แพศย์(อื่น)ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อแพศย์นั้น แม้ศูทร ฯลฯ แม้กษัตริย์ ฯลฯ แม้พราหมณ์ ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อแพศย์นั้น” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าแม้ศูทรจะพึง ทำให้ความต้องการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองสำเร็จได้ แม้ศูทร(อื่น)ก็จะพึง ลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อศูทรนั้นใช่ไหม แม้กษัตริย์ ฯลฯ แม้พรหมณ์ ฯลฯ แม้แพศย์ ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อศูทรนั้นใช่ไหม” “พระคุณเจ้ากัจจานะ ถ้าแม้ศูทรจะพึงทำให้ความต้องการทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองสำเร็จได้ แม้ศูทร(อื่น)ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อศูทรนั้น แม้กษัตริย์ ฯลฯ แม้พราหมณ์ ฯลฯ แม้แพศย์ ก็จะพึงลุกขึ้นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ปฏิบัติให้ถูกใจ พูดไพเราะต่อศูทรนั้น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

“มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะทั้ง ๔ จำพวกนี้ย่อมเป็นผู้เสมอกัน ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัยใน วรรณะ ๔ จำพวกนี้ว่าอย่างไร” “พระคุณเจ้ากัจจานะ เมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ก็เสมอกันหมด แน่นอน ในวรรณะทั้ง ๔ จำพวกนี้ โยมไม่เห็นความแตกต่างอะไรกันเลย” “มหาบพิตร โดยปริยายนี้ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า วาทะที่พวกพราหมณ์ กล่าวว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาท ของพรหม’ นั่นเป็นคำโฆษณาในโลกนี้เท่านั้น” [๓๑๙] ท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรง เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร กษัตริย์ในโลกนี้พึงฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด ในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของ ของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑- ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเรื่องนี้ว่าอย่างไร” พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตร ตรัสว่า “พระคุณเจ้ากัจจานะ อันที่จริงถึงจะเป็น กษัตริย์เมื่อฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากสวรรคตแล้วพึงไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โยมมีความคิดเห็น ในเรื่องนี้อย่างนี้ อนึ่ง โยมเองก็ได้ฟังมาจากพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนั้น” “ดีละ ดีละ มหาบพิตร เป็นความดีที่พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนี้ อย่างนั้น และเป็นสิ่งที่ดีที่พระองค์ได้ทรงสดับความข้อนี้มาจากพระอรหันต์ทั้งหลาย พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ ฯลฯ แพศย์ ในโลกนี้ ฯลฯ ศูทรในโลกนี้ เมื่อฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิต @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๕ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

พยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเรื่องนี้ว่าอย่างไร” “พระคุณเจ้ากัจจานะ อันที่จริงถึงจะเป็นศูทร เมื่อฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติ ผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ สิ่งของของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โยมมีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้ อนึ่ง โยมเองก็ได้ฟังมา จากพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนั้น” “ดีละ ดีละ มหาบพิตร เป็นความดีที่พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนี้ อย่างนั้น และเป็นสิ่งที่ดีที่พระองค์ได้ทรงสดับความข้อนี้มาจากพระอรหันต์ทั้งหลาย พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะทั้ง ๔ จำพวกนี้ย่อมเป็นผู้เสมอกัน ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัยในวรรณะทั้ง ๔ จำพวกนี้ว่าอย่างไร” “พระคุณเจ้ากัจจานะ เมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ก็เสมอกันหมด แน่นอน ในวรรณะ ๔ จำพวกนี้ โยมไม่เห็นความแตกต่างอะไรกันเลย” “มหาบพิตร โดยปริยายนี้ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า วาทะที่พวกพราหมณ์ กล่าวว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาท ของพรหม’ นั่นเป็นคำโฆษณาในโลกนี้เท่านั้น” [๓๒๐] ท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรง เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร กษัตริย์ในโลกนี้พึงเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาด จากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตาย แล้วพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเรื่องนี้ว่า อย่างไร” พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตร ตรัสว่า “พระคุณเจ้ากัจจานะ อันที่จริงถึงจะเป็น กษัตริย์ เมื่อเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการ ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ โยมมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้ อนึ่ง โยมเองก็ได้ฟังเรื่องนี้มาจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เช่นนั้น” “ดีละ ดีละ มหาบพิตร เป็นความดีที่พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างนั้น และเป็นสิ่งที่ดีที่พระองค์ได้ทรงสดับความข้อนี้มาจากพระอรหันต์ทั้งหลาย พระองค์ ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ ฯลฯ แพศย์ในโลกนี้ ฯลฯ ศูทรในโลกนี้ เมื่อเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการ ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเรื่องนี้ว่าอย่างไร” “ใช่ พระคุณเจ้ากัจจานะ อันที่จริงถึงจะเป็นพราหมณ์ ฯลฯ เป็นแพศย์ ฯลฯ เป็นศูทร เมื่อเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการ ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ โยมมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้ อนึ่ง โยมเองก็ได้ฟังเรื่องนี้มาจากพระอรหันต์ ทั้งหลายเช่นนั้น” “ดีละ ดีละ มหาบพิตร เป็นความดีที่พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างนั้น และเป็นสิ่งที่ดีที่พระองค์ได้ทรงสดับความข้อนี้มาจากพระอรหันต์ทั้งหลาย พระองค์ ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ย่อม เป็นผู้เสมอกัน ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัยในวรรณะ ๔ จำพวกนี้ว่า อย่างไร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

“พระคุณเจ้ากัจจานะ เมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ก็เสมอกันหมด แน่นอน ในวรรณะ ๔ จำพวกนี้ โยมไม่เห็นความแตกต่างอะไรกันเลย” “มหาบพิตร โดยปริยายนี้ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า วาทะที่พวกพราหมณ์ กล่าวว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาท ของพรหม’ นั่นเป็นคำโฆษณาในโลกนี้เท่านั้น” [๓๒๑] ท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรง เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร กษัตริย์ในโลกนี้พึงตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือน หลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ ถ้าราชบุรุษทั้งหลายจับเขาได้แล้ว พึงแสดงว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจรประพฤติผิดต่อพระองค์ พระองค์ทรงประสงค์จะลงพระราช อาชญาสถานใดแก่โจรนั้น ขอจงทรงโปรดให้ลงพระราชอาชญาสถานนั้นเถิด’ พระองค์ จะพึงโปรดให้ทำอย่างไรกับโจรนั้น” พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตร ตรัสว่า “พระคุณเจ้ากัจจานะ โยมก็ต้องให้ประหาร ให้ผ่าอก ให้เนรเทศ หรือทำตามสมควรแก่เหตุ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมญานาม ว่ากษัตริย์ของเขาเมื่อก่อนนั้นหายไปแล้ว(บัดนี้) เขาได้ชื่อว่า ‘เป็นโจรเท่านั้น “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ ฯลฯ แพศย์ในโลกนี้ ฯลฯ ศูทรในโลกนี้พึงตัดช่องย่องเบา ปล้นเรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ ถ้าราชบุรุษทั้งหลายจับเขาได้แล้ว พึงแสดงว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจรประพฤติผิดต่อพระองค์ พระองค์ทรงประสงค์จะลงพระราชอาชญาสถานใด แก่โจรนั้น ขอจงทรงโปรดให้ลงพระราชอาชญาสถานนั้นเถิด’ พระองค์จะพึงโปรดให้ ทำอย่างไรกับโจรนั้น” “พระคุณเจ้ากัจจานะ โยมก็ต้องให้ประหาร ให้ผ่าอก ให้เนรเทศ หรือทำตาม สมควรแก่เหตุ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมญานามว่าศูทรของเขาเมื่อก่อนนั้นหาย ไปแล้ว เขาได้ชื่อว่า ‘เป็นโจรเท่านั้น” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ ย่อมเป็นผู้เสมอกัน ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัย ในวรรณะ ๔ จำพวกนี้ว่าอย่างไร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

“พระคุณเจ้ากัจจานะ เมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ก็เสมอกันหมด แน่นอน ในวรรณะ ๔ จำพวกนี้ โยมไม่เห็นความแตกต่างอะไรกันเลย” “มหาบพิตร โดยปริยายนี้ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า วาทะที่พวกพราหมณ์ กล่าวว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว ฯลฯ เป็นทายาท ของพรหม’ นั่นเป็นคำโฆษณาในโลกนี้เท่านั้น” [๓๒๒] ท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรง เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร กษัตริย์ในโลกนี้พึงปลงพระเกศาและพระมัสสุ นุ่งห่ม ผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต ทรงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการพูดเท็จ ไม่บริโภคในราตรี ฉันภัตตาหาร มื้อเดียว เป็นพรหมจารี มีศีล มีกัลยาณธรรม พระองค์จะทรงทำอย่างไรกับราช- บรรพชิตนั้น” พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตร ตรัสว่า “พระคุณเจ้ากัจจานะ โยมต้องกราบไหว้ ลุกรับ เชื้อเชิญด้วยอาสนะ หรือเจาะจงนิมนต์ราชบรรพชิตนั้นด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๑- จัดการอารักขา คุ้มครอง ป้องกันท่าน ตามความเหมาะสม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมญานามว่ากษัตริย์ของท่านเมื่อ ก่อนนั้นหายไปแล้ว ท่านได้ชื่อว่า ‘สมณะเท่านั้น” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ ฯลฯ แพศย์ในโลกนี้ ฯลฯ ศูทรในโลกนี้โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ @เชิงอรรถ : @ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร คือ เภสัช ๕ ชนิด ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐, @สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓) @เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุผู้เจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือบริขารของชีวิต ดุจกำแพงล้อมพระนคร @เพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธที่จะบั่นรอนชีวิตได้ช่องเกิดขึ้น และเป็นสัมภาระของชีวิต คอยประคับ @ประคองชีวิตให้ดำรงอยู่นาน (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐-๔๑, ม.มู.อ. ๑/๑๙๑/๓๙๗, ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๓) @เป็นเครื่องป้องกันโรค บำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนา เนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป @(สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการพูดเท็จ ไม่บริโภคในราตรี ฉันภัตตาหารมื้อเดียว เป็นพรหมจารี มีศีล มีกัลยาณธรรม พระองค์จะทรงทำอย่างไรกับบรรพชิตนั้น” “พระคุณเจ้ากัจจานะ โยมต้องกราบไหว้ ลุกรับ เชื้อเชิญด้วยอาสนะ หรือเจาะ จงนิมนต์ท่านด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จัดการ อารักขา คุ้มครอง ป้องกันท่านตามความเหมาะสม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ สมญานามว่าศูทรของท่านเมื่อก่อนนั้นหายไปแล้ว ท่านได้ชื่อว่า ‘สมณะเท่านั้น” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ ย่อมเป็นผู้เสมอกัน ใช่หรือไม่ หรือพระองค์ทรงเข้าพระทัยใน วรรณะ ๔ จำพวกนี้ ว่าอย่างไร” “พระคุณเจ้ากัจจานะ เมื่อเป็นอย่างนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ ก็เสมอกันหมด แน่นอน ในวรรณะ ๔ จำพวกนี้ โยมไม่เห็นความแตกต่างอะไรกันเลย” “มหาบพิตร โดยปริยายนี้ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า วาทะที่พวกพราหมณ์ กล่าวว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาว คือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่ บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพรหม เกิดจาก พรหม เป็นผู้ที่พรหมสร้างขึ้น เป็นทายาทของพรหม’ นั่นเป็นคำโฆษณาในโลกนี้ เท่านั้น”
พระเจ้ามธุระแสดงตนเป็นอุบาสก
[๓๒๓] เมื่อท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตรได้ตรัสว่า “พระคุณเจ้ากัจจานะ ภาษิตของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระคุณเจ้ากัจจานะ ภาษิตของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระคุณเจ้ากัจจานะ ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

ตาดีจักเห็นรูปได้’ โยมขอถึงพระคุณเจ้ากัจจานะพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น สรณะ ขอพระคุณเจ้ากัจจานะจงจำโยมว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนตลอดชีวิต” ท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระองค์อย่าทรงถึง อาตมภาพเป็นสรณะเลย ขอจงทรงถึงพระผู้มีพระภาคผู้เป็นสรณะของอาตมภาพ เป็นสรณะเถิด” พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตร ตรัสถามว่า “พระคุณเจ้ากัจจานะ บัดนี้ พระผู้มี พระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน” ท่านพระมหากัจจานะถวายพระพรว่า “มหาบพิตร บัดนี้ พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว” พระเจ้ามธุระ อวันตีบุตร ตรัสว่า “พระคุณเจ้ากัจจานะ ถ้าพวกโยมได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นประทับอยู่ไกลถึง ๑๐ โยชน์ พวกโยมก็ต้องไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แม้สิ้นทาง ๑๐ โยชน์ ถ้าพวกโยมได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นประทับอยู่ไกลถึง ๒๐ โยชน์ ... ๓๐ โยชน์ ... ๔๐ โยชน์ ... ๕๐ โยชน์ พวกโยมก็ต้องไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แม้สิ้นทาง ๕๐ โยชน์ พระคุณเจ้ากัจจานะ ถ้าพวกโยมได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นประทับ อยู่ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ พวกโยมก็ต้องไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถึงแม้ว่าจะไกลสัก ๑๐๐ โยชน์ แต่เพราะเหตุที่ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว พวกโยมขอถึงพระผู้มี พระภาคแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้ากัจจานะจงจำโยมว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จน ตลอดชีวิต” ดังนี้แล
มธุรสูตรที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๑}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๘๒-๓๙๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=13&A=10750 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=34              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=7474&Z=7662&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=464              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]