ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๙. พาลปัณฑิตสูตร
ว่าด้วยคนพาลและบัณฑิต
[๒๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย ลักษณะของคนพาล๑- เครื่องหมายของคนพาล ความ ประพฤติไม่ขาดสายของคนพาล ๓ ประการนี้ ลักษณะของคนพาล ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ คนพาลในโลกนี้ ๑. ชอบคิดแต่เรื่องชั่ว๒- ๒. ชอบพูดแต่เรื่องชั่ว๓- ๓. ชอบทำแต่กรรมชั่ว๔- ถ้าคนพาลไม่ชอบคิดเรื่องชั่ว ไม่ชอบพูดเรื่องชั่ว ไม่ชอบทำกรรมชั่วเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายจะพึงรู้จักเขาด้วยเหตุไรว่า ‘ผู้นี้เป็นคนพาล ไม่ใช่คนดี’ แต่เพราะ คนพาลชอบคิดแต่เรื่องชั่ว ชอบพูดแต่เรื่องชั่ว และชอบทำแต่กรรมชั่ว ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงรู้จักเขาว่า ‘ผู้นี้เป็นคนพาล ไม่ใช่คนดี‘๕- คนพาลนั้นย่อมเสวยทุกขโทมนัส ๓ ประการในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ในตรอกก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี ถ้าชนในที่นั้น พูดถ้อยคำที่สมควรแก่ธรรมนั้นแก่เขา ถ้าคนพาลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นผู้ลักทรัพย์ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม เป็นผู้พูดเท็จ เป็นผู้เสพของมึนเมาคือ สุราและเมรัย๖- อันเป็นเหตุแห่งความประมาท ในเรื่องนั้น คนพาลจะมีความรู้สึก @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓/๑๔๑ @ ชอบคิดแต่เรื่องชั่ว หมายถึงประกอบมโนทุจริต ๓ คือ (๑) อภิชฌา(เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) @(๒) พยาบาท(ความคิดปองร้าย) (๓) มิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิด) (ม.อุ.อ. ๓/๒๔๖/๑๕๒, @องฺ.ติก.อ. ๒/๓/๗๙) @ ชอบพูดแต่เรื่องชั่ว หมายถึงประกอบวจีทุจริต ๔ คือ (๑) มุสาวาท(พูดเท็จ) (๒) ปิสุณาวาจา @(พูดส่อเสียด) (๓) ผรุสวาจา(พูดคำหยาบ) (๔) สัมผัปปลาปะ(พูดเพ้อเจ้อ) (ม.อุ.อ. ๓/๒๔๖/๑๕๒, @องฺ.ติก.อ. ๒/๓/๗๙) @ ชอบทำแต่กรรมชั่ว หมายถึงประกอบกายทุจริต ๓ คือ (๑) ปาณาติบาต(ฆ่าสัตว์) (๒) อทินนาทาน @(ลักทรัพย์) (๓) กาเมสุมิจฉาจาร(ประพฤติผิดในกาม) (ม.อุ.อ. ๓/๒๔๖/๑๕๒, องฺ.ติก.อ. ๒/๓/๗๙) @ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓/๑๔๑-๑๔๒ @ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๒/๒๑๒-๒๑๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

อย่างนี้ว่า ‘ข้อที่ชนพูดถ้อยคำที่สมควรแก่ธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้น’ ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสประการที่ ๑ นี้ในปัจจุบัน [๒๔๗] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง คนพาลเห็นพระราชารับสั่งให้จับโจร ผู้ประพฤติผิดมาแล้ว ลงอาญาโดยประการต่างๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้ เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและ เท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบน ศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหล เหมือนปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟ ต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลก หนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่นๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็น ออกเหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบ ให้ติดดินแล้วจับเขาหมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้ แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัด กินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุแห่งกรรมเช่นไร พระราชาทั้งหลายจึงรับสั่งให้จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้วลงอาญาโดยประการต่างๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง ก็ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้น ถ้าแม้พระราชาทั้งหลายพึงรู้จักเรา ก็จะรับสั่งให้ จับเราแล้วลงอาญาโดยประการต่างๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ให้นอน บนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง๑- ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสประการที่ ๒ นี้ในปัจจุบัน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๕/๑๘๗-๑๘๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

[๒๔๘] อีกประการหนึ่ง ในสมัยนั้น บาปกรรมที่คนพาลทำ คือ การ ประพฤติกายทุจริต การประพฤติวจีทุจริต การประพฤติมโนทุจริตไว้ในกาลก่อน ย่อมหน่วงเหนี่ยวบดบัง ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง บนเตียง หรือนอนบนพื้น เปรียบเหมือนเงาของยอดภูเขาใหญ่ ย่อมกั้น บดบัง ครอบคลุมแผ่นดินใหญ่ ในเวลาเย็น แม้ฉันใด ในสมัยนั้น บาปกรรมที่คนพาลทำ คือ การประพฤติกายทุจริต การประพฤติวจีทุจริต การประพฤติมโนทุจริตไว้ในกาลก่อน ย่อมหน่วงเหนี่ยวบดบัง ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง บนเตียง หรือนอนบนพื้น ฉันนั้นเหมือนกัน ในเรื่องนั้น คนพาลมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรายังไม่ได้ทำความดีไว้หนอ ยัง ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรม หยาบช้า ทำแต่กรรมเศร้าหมอง เราตายแล้ว จะไปสู่คติของผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรมหยาบช้า ทำแต่กรรมเศร้าหมองนั้น’ เขาย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงไหล ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสประการที่ ๓ นี้ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นยังประพฤติกายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละว่า ‘เป็นสถานที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยส่วนเดียว’ ทุกข์นี้กับทุกข์ในนรกเปรียบเทียบกันไม่ได้” [๒๔๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จะทรงอุปมาได้อีกหรือไม่” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “เปรียบเหมือนราชบุรุษ ทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติผิดได้แล้ว จึงแสดงแก่พระราชาว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจร ประพฤติผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงพระอาญาตามที่ทรงพระราชประสงค์ แก่โจรผู้นี้เถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

พระราชามีพระกระแสรับสั่งว่า ‘ท่านทั้งหลายจงไปช่วยกันประหารบุรุษนี้ด้วย หอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า’ ราชบุรุษทั้งหลายก็ช่วยกันประหารบุรุษคนนั้นด้วย หอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า ต่อมาในเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามราชบุรุษทั้งหลายว่า ‘ท่านทั้งหลาย บุรุษนั้นเป็นอย่างไรบ้าง’ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า ‘เขายังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า’ พระราชาจึงมีพระกระแสรับสั่งว่า ‘ท่านทั้งหลายจงไปช่วยกันประหารบุรุษคน นั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเที่ยงวัน’ ราชบุรุษทั้งหลายก็ช่วยกันประหารบุรุษ คนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเที่ยงวัน ต่อมาในเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามราชบุรุษทั้งหลายอีกว่า ‘ท่านทั้งหลาย บุรุษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง’ ‘เขายังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า’ ‘ท่านทั้งหลายจงไปช่วยกันประหารบุรุษคนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเย็น’ ราชบุรุษทั้งหลายจึงช่วยกันประหารบุรุษคนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นถูกประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม พึงเสวยทุกขโทมนัสเพราะ การประหารนั้นเป็นเหตุบ้างไหม” “บุรุษนั้นแม้ถูกประหารด้วยหอก ๑ เล่ม ยังได้เสวยทุกขโทมนัสซึ่งมี การประหารนั้นเป็นเหตุ ไม่จำต้องกล่าวถึงการที่บุรุษนั้นถูกประหารด้วยหอกตั้ง ๓๐๐ เล่ม พระพุทธเจ้าข้า” [๒๕๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่ามือ ขึ้นมา แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ก้อนหินขนาด ย่อมๆ เท่าฝ่ามือที่เราถืออยู่นี้กับขุนเขาหิมพานต์ อย่างไหนใหญ่กว่ากัน” “ก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่าพระหัตถ์ที่พระองค์ทรงถืออยู่นี้ มีประมาณ น้อยนัก เปรียบเทียบกับขุนเขาหิมพานต์แล้ว ไม่ถึงแม้การนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่ง เสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ทุกขโทมนัสเพราะการประหารนั้นเป็นเหตุ ที่บุรุษถูกประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม เสวยอยู่นั้น เปรียบเทียบกับทุกข์แห่ง นรกแล้ว ไม่ถึงแม้การนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ นายนิรยบาลทั้งหลายทำกรรมกรณ์ชื่อเครื่องพันธนาการ ๕ อย่าง คือ ตอกตะปูเหล็กร้อนแดงที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง และที่กลางอก คนพาลนั้น เสวยทุกขเวทนากล้า อย่างหนัก เผ็ดร้อน ในที่นั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่ บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลฉุดลากเขาไป เอาขวานถาก คนพาลนั้นเสวยทุกขเวทนากล้า ฯลฯ ตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจับเขาเอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง เอามีดเฉือน คนพาลนั้นเสวยทุกขเวทนากล้า ฯลฯ ตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจับเขาเทียมรถแล่นกลับไปกลับมาบนพื้นอันร้อนลุกเป็นเปลวโชติช่วง คนพาลนั้นเสวยทุกขเวทนากล้า อย่างหนัก เผ็ดร้อน ในที่นั้น ฯลฯ ตราบเท่าที่ บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลบังคับเขาให้ขึ้นลงภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่ไฟ ลุกโชนโชติช่วง คนพาลนั้นเสวยทุกขเวทนากล้า อย่างหนัก เผ็ดร้อนอยู่ บนภูเขา ถ่านเพลิงนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจับเขา เอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง ทุ่มลงในโลหกุมภี(หม้อทองแดง) อันร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟ คนพาลนั้นถูกต้มเดือดจนตัวพองในโลหกุมภีนั้น เขาเมื่อถูกต้มเดือดจนตัวพองใน โลหกุมภีนั้น บางครั้งลอยขึ้น บางครั้งจมลง บางครั้งลอยขวาง เขาเสวยทุกขเวทนา กล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในโลหกุมภีอันร้อนแดงนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่ บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจึงทุ่มเขาลงในมหานรก ก็มหานรกนั้น มี ๔ มุม ๔ ประตู แบ่งออกเป็นส่วน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบด้วยฝาเหล็ก มหานรกนั้น มีพื้นเป็นเหล็ก ลุกโชนโชติช่วง แผ่ไปไกลด้านละ ๑๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ๑- ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้กับทุกข์ในนรกเปรียบเทียบกันด้วยการบอกไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๖/๑๙๔, ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๗๐-๗๑/๑๗๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๐/๔๘๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

[๒๕๑] ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นอาหารมีอยู่ สัตว์ ดิรัจฉานเหล่านั้นใช้ฟันเล็มหญ้าสดบ้าง หญ้าแห้งบ้าง สัตว์ดิรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นอาหาร พวกไหนบ้าง คือ ช้าง ม้า โค ลา แพะ มฤค หรือสัตว์ดิรัจฉานจำพวกอื่นบางพวกที่มี หญ้าเป็นอาหาร ในเบื้องต้น คนพาลในโลกนี้นั่น ติดใจในรส ทำบาปกรรมไว้ในโลกนี้ หลัง จากตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับสัตว์จำพวกที่มีหญ้าเป็นอาหารเหล่านั้น สัตว์ดิรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นอาหารมีอยู่ สัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ ที่ไกลแล้ว ย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า ‘จักกินตรงนี้ จักกินตรงนี้’ เปรียบเหมือนพราหมณ์เดินไปตามกลิ่นเครื่องบูชาด้วยหมายใจว่า ‘จักกิน ตรงนี้ จักกินตรงนี้’ แม้ฉันใด สัตว์ดิรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นอาหารเหล่านั้น ฉัน นั้นเหมือนกัน ได้กลิ่นคูถแต่ที่ไกลแล้ว ย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า ‘จักกินตรงนี้ จักกิน ตรงนี้’ สัตว์ดิรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นอาหาร พวกไหนบ้าง คือ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขป่า หรือสัตว์ดิรัจฉานจำพวกอื่นบางพวกที่มีคูถ เป็นอาหาร ในเบื้องต้น คนพาลในโลกนี้นั่น ติดใจในรส ทำบาปกรรมไว้ในโลกนี้ หลัง จากตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับสัตว์จำพวกที่มีคูถเป็นอาหารเหล่านั้น สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในที่มืด แก่ในที่มืด ตายในที่มืด มีอยู่ สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในที่มืด แก่ในที่มืด ตายในที่มืด พวกไหนบ้าง คือ แมลง มอด ไส้เดือน หรือสัตว์ดิรัจฉานจำพวกอื่นบางพวกที่เกิดในที่มืด แก่ในที่มืด ตายในที่มืด ในเบื้องต้น คนพาลในโลกนี้นั่น ติดใจในรส ทำบาปกรรมไว้ในโลกนี้ หลัง จากตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับสัตว์จำพวกที่เกิดในที่มืด แก่ในที่มืด ตายในที่มืดเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในน้ำ แก่ในน้ำ ตายในน้ำ มีอยู่ สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในน้ำ แก่ในน้ำ ตายในน้ำ พวกไหนบ้าง คือ ปลา เต่า จระเข้ หรือสัตว์ดิรัจฉานจำพวกอื่นบางพวกที่เกิดในน้ำ แก่ในน้ำ ตายในน้ำ ในเบื้องต้น คนพาลในโลกนี้นั่น ติดใจในรส ทำบาปกรรมไว้ในโลกนี้ หลัง จากตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับสัตว์จำพวกที่เกิดในน้ำ แก่ในน้ำ ตายในน้ำเหล่านั้น สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในที่โสโครก แก่ในที่โสโครก ตายในที่โสโครก มีอยู่ สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในที่โสโครก แก่ในที่โสโครก ตายในที่โสโครก พวกไหนบ้าง คือ สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในปลาเน่า แก่ในปลาเน่า หรือตายในปลาเน่า สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในศพเน่า ... สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในขนมกุมมาสที่ บูด ... สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในน้ำครำ ... สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่เกิดในหลุม โสโครก ... สัตว์ดิรัจฉานจำพวกอื่นที่เกิดในที่โสโครก แก่ในที่โสโครก ตายในที่ โสโครก ในเบื้องต้น คนพาลในโลกนี้นั่น ติดใจในรส ทำบาปกรรมไว้ในโลกนี้ หลัง จากตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับสัตว์จำพวกที่เกิดในที่โสโครก แก่ในที่ โสโครก ตายในที่โสโครกเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้กับทุกข์ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเปรียบเทียบกันด้วยการ บอกไม่ได้ [๒๕๒] ภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงโยนแอกที่มีรูเดียวลงไปในมหาสมุทร ลมทาง ทิศตะวันออกพัดแอกนั้นไปทางทิศตะวันตก ลมทางทิศตะวันตกพัดแอกนั้นไปทาง ทิศตะวันออก ลมทางทิศเหนือพัดแอกนั้นไปทางทิศใต้ ลมทางทิศใต้พัดแอกนั้นไป ทางทิศเหนือ ในมหาสมุทรนั้น มีเต่าตาบอดอยู่ตัวหนึ่ง ผ่านไป ๑๐๐ ปี มันจะ โผล่ขึ้นมาครั้งหนึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ เต่าตาบอดนั้นพึงสอดคอเข้าไปในแอกที่มีรูเดียวโน้นได้บ้างไหม” “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า แต่ถ้าเวลาล่วงเลยไปนานๆ บางครั้งบางคราวมัน ก็จะสอดเข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดนั้นพึงสอดคอเข้าไปใน แอกที่มีรูเดียวโน้นยังเร็วกว่า เรากล่าวว่าการที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาตคราวเดียวจะ พึงได้เป็นมนุษย์อีกยากกว่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะในวินิบาตนั้น ไม่มีการประพฤติธรรม ไม่มีการประพฤติชอบ ไม่มี การทำกุศล ไม่มีการทำบุญ ในวินิบาตนั้น มีแต่สัตว์ผู้เคี้ยวกินกันเอง เคี้ยวกิน สัตว์ผู้มีกำลังน้อยกว่า๑- คนพาลนั้น เพราะเวลาล่วงเลยมานาน ในบางครั้งบางคราวถ้ามาเกิดเป็น มนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลคนจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูล ช่างสาน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนขนขยะเช่นนั้น ที่เป็นตระกูลยากจน มีข้าว น้ำ และสิ่งของเครื่องใช้น้อยเป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกินและเครื่องนุ่งห่ม ได้ยาก และคนพาลนั้นมีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป เขายังประพฤติ กายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน อบาย ทุคติ วินิบาต นรก๒- ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนักเลงการพนัน เพราะความพ่ายแพ้ครั้งแรกเท่านั้น จึงเสียลูก เสียเมีย เสียทรัพย์สมบัติทุกอย่าง และถึงการจองจำ ที่เป็นการ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๑๑๗-๑๑๑๘/๖๓๐-๖๓๑ @ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๘๕/๑๒๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

สูญเสียอย่างยิ่ง ความพ่ายแพ้ ของนักเลงการพนันผู้เสียลูก เสียเมีย เสียทรัพย์ สมบัติทุกอย่าง และถึงการจองจำเพราะความพ่ายแพ้ครั้งแรกนั้น เป็นเพียงเล็กน้อย แม้ฉันใด ความพ่ายแพ้ของคนพาลผู้ประพฤติกายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต ประพฤติ มโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉันนั้น เหมือนกัน นี้เป็นภูมิของคนพาลที่คนพาลบำเพ็ญไว้ทั้งสิ้น [๒๕๓] ภิกษุทั้งหลาย ลักษณะของบัณฑิต เครื่องหมายของบัณฑิต ความ ประพฤติไม่ขาดสายของบัณฑิต ๓ ประการนี้ ลักษณะของบัณฑิต ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ บัณฑิตในโลกนี้ ๑. ชอบคิดแต่เรื่องดี ๒. ชอบพูดแต่เรื่องดี ๓. ชอบทำแต่กรรมดี ถ้าบัณฑิตไม่ชอบคิดเรื่องดี ไม่ชอบพูดเรื่องดี และไม่ชอบทำกรรมดีเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายจะพึงรู้จักเขาด้วยเหตุไรว่า ‘ผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นคนดี’ แต่เพราะ บัณฑิตชอบคิดแต่เรื่องดี ชอบพูดแต่เรื่องดี และชอบทำแต่กรรมดี ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงรู้จักเขาว่า ‘ผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นคนดี’๑- บัณฑิตนั้นย่อมเสวยสุขโสมนัส ๓ ประการในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบัณฑิตนั่งในสภาก็ดี ในตรอกก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี ถ้าชนในที่นั้นพูดถ้อยคำที่สมควรแก่ธรรมนั้นแก่เขา ถ้าบัณฑิตเป็นผู้เว้นขาดจาก การฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดใน กาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุรา @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓/๑๔๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๙๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

และเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ในเรื่องนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ‘ข้อที่ชนพูดถ้อยคำที่สมควรแก่ธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเรา ก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้น’ ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสประการที่ ๑ นี้ในปัจจุบัน [๒๕๔] อีกประการหนึ่ง บัณฑิตเห็นพระราชาทั้งหลายรับสั่งให้จับโจรผู้ ประพฤติผิดมาลงอาญาด้วยประการต่างๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยน ด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือน ปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึง บั้นเอว ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่า แล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่นๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็นออก เหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบให้ติดดินแล้ว จับเขาหมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือน ตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่ กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง ในขณะที่เห็นนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุแห่งบาปกรรม เช่นไร พระราชาทั้งหลายจึงรับสั่งให้จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้วลงอาญาด้วยประการ ต่างๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบ หูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาว เหมือนสังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือนปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราด น้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้า ให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดู {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

เหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่นๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็น ออกเหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้ หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบให้ติดดินแล้วจับเขาหมุนได้รอบบ้าง ทุบ กระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัว ด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอน บนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง ก็ธรรมเหล่านั้นไม่มีในเรา และ เราก็ไม่ปรากฏในธรรมเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสประการที่ ๒ นี้ในปัจจุบัน [๒๕๕] อีกประการหนึ่ง ในสมัยนั้น กรรมดีที่บัณฑิตทำ คือ การประพฤติ กายสุจริต การประพฤติวจีสุจริต การประพฤติมโนสุจริตไว้ในกาลก่อน ย่อม คุ้มครอง ป้องกันบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง บนเตียง หรือนอนบนพื้น เปรียบเหมือนเงาของยอดภูเขาใหญ่ ย่อมบดบัง ครอบคลุมแผ่นดินใหญ่ ในเวลาเย็น แม้ฉันใด กรรมดีที่บัณฑิตทำ คือ การประพฤติกายสุจริต การ ประพฤติวจีสุจริต การประพฤติมโนสุจริตไว้ในกาลก่อน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม คุ้มครอง ป้องกันบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง บนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น ในเรื่องนั้น บัณฑิตมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราไม่ได้ทำความชั่วไว้หนอ ไม่ได้ ทำกรรมหยาบช้าไว้ ไม่ได้ทำกรรมเศร้าหมองไว้ เราทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่ที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ เราตายแล้วจะไปสู่คติของผู้ไม่ได้ทำความชั่วไว้ ไม่ได้ ทำกรรมหยาบช้าไว้ ไม่ได้ทำกรรมเศร้าหมองไว้ ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่ ที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้’ เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงไหล ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสประการที่ ๓ นี้ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นยังประพฤติกายสุจริต ประพฤติวจีสุจริต ประพฤติ มโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

ถูกต้อง พึงกล่าวถึงสวรรค์นั่นแหละว่า ‘เป็นสถานที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ โดยส่วนเดียว’ ภิกษุทั้งหลาย แม้การเปรียบเทียบว่าสวรรค์เป็นสุขก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย” [๒๕๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงอุปมาได้อีกหรือไม่” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “เปรียบเหมือนพระเจ้า จักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์(ความสำเร็จ) ๔ ประการ เพราะความสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการนั้นเป็นเหตุ พระเจ้าจักรพรรดินั้นจึงเสวยสุขโสมนัส พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นอย่างไร คือ จักรแก้วอันเป็นทิพย์มีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และส่วนประกอบ ครบทุกอย่าง ย่อมปรากฏแก่กษัตราธิราชในโลกนี้ผู้ทรงได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรง สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบน ปราสาทหลังงาม กษัตราธิราชผู้ทรงได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ครั้นทอดพระเนตรแล้ว ได้มีพระราชดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้มาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์มีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และส่วนประกอบครบทุกอย่าง ย่อมปรากฏแก่กษัตราธิราชพระองค์ใดผู้ทรง ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม กษัตราธิราชพระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิกระมัง’ ลำดับนั้น กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วทรงลุกจากที่ประทับ พระหัตถ์ เบื้องซ้ายทรงจับพระภิงคาร(พระน้ำเต้า) พระหัตถ์เบื้องขวาทรงชูจักรแก้ว ขึ้นตรัสว่า ‘จักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไป จงได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้นจักรแก้วนั้นก็ หมุนไปทางทิศตะวันออก พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ก็เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วหยุดอยู่ พระราชา ทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกพากันเสด็จมาเฝ้า แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์ ราชสมบัติ ของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลายไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึง ลักทรัพย์ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และท่าน ทั้งหลายจงครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศ ตะวันออกเหล่านั้น ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว [๒๕๗] ภิกษุทั้งหลาย จากนั้น จักรแก้วก็หมุนไปจรดมหาสมุทรด้านทิศ ตะวันออก แล้วหมุนกลับไปด้านทิศใต้ ฯลฯ หมุนไปจรดมหาสมุทรด้านทิศใต้ แล้วหมุนกลับไปด้านทิศตะวันตก ฯลฯ หมุนไปจรดมหาสมุทรด้านทิศตะวันตก แล้วหมุนกลับไปด้านทิศเหนือ เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ในประเทศ ที่จักรแก้วหยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือพากันเสด็จมาเฝ้า แล้วกราบทูล อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติ ของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลายไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงลักทรัพย์ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงปก ครองบ้านเมืองไปตามเดิมเถิด’ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้น ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว ๑. ครั้งนั้น จักรแก้วนั้นได้ปราบปรามแผ่นดิน มีมหาสมุทรเป็นขอบ เขตอย่างราบคาบ เสร็จแล้วหมุนกลับราชธานีนั้น ประดิษฐานอยู่ เสมือนลิ่มสลักที่พระทวารภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ ทำพระทวารภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิให้สว่างไสว ภิกษุทั้งหลาย จักรแก้วเห็นปานนี้ ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

[๒๕๘] ๒. อีกประการหนึ่ง ช้างแก้ว ซึ่งเป็นช้างเผือก เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาสได้ เป็นพญาช้างตระกูลอุโบสถ ย่อม ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิครั้นทอดพระเนตร เห็นช้างนั้น จึงมีพระทัยโปรดปรานว่า “ท่านผู้เจริญ พาหนะคือ ช้างนี้ถ้าได้นำไปฝึก ก็จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้” จากนั้น ช้างแก้วนั้นจึงได้รับการฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยตัวเจริญซึ่งได้รับ การฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดสอบช้างแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า แล้วเสด็จเลียบไป ตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต แล้วเสด็จกลับมา ราชธานีนั้นดังเดิม ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ช้างแก้วเห็นปาน นี้ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ ๓. อีกประการหนึ่ง ม้าแก้ว ซึ่งเป็นม้าขาว ศีรษะดำ มีขนปกดุจ หญ้าปล้อง มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้ ชื่อพญาม้าวลาหก ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิครั้นทอด พระเนตรเห็นม้าแก้วนั้น จึงมีพระทัยโปรดปรานว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือม้านี้ถ้าได้นำไปฝึกก็จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้’ จาก นั้น ม้าแก้วนั้นจึงได้รับการฝึกหัดเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญซึ่งได้ รับการฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดสอบม้าแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า แล้วเสด็จเลียบไป ตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต แล้วเสด็จกลับมา ราชธานีนั้นดังเดิม ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ม้าแก้วเห็นปานนี้ ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

๔. อีกประการหนึ่ง มณีแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือมณีแก้ว นั้นเป็นแก้วไพฑูรย์ งามบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ สุกใสเป็นประกาย ได้สัดส่วน มีแปดเหลี่ยม เจียระไนไว้ดีแล้ว รัศมีแห่งมณีแก้วนั้น แผ่ซ่านออกไปรอบๆ ประมาณ ๑ โยชน์ ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดสอบมณีแก้วนั้น ทรงให้หมู่จตุรงคินีเสนาผูกสอดเกราะแล้วทรง ยกมณีแก้วนั้นเป็นยอดธง เสด็จไปประทับยืนในที่มืดยามราตรี เพราะแสงสว่างนั้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบสำคัญว่าเป็นเวลา กลางวัน จึงพากันประกอบการงาน มณีแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่ พระเจ้าจักรพรรดิ ๕. อีกประการหนึ่ง นางแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือนางแก้วนั้น เป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ไม่ สูงเกินไป ไม่เตี้ยเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่ขาวเกินไป งดงามเกินผิวพรรณของหญิงมนุษย์ แต่ไม่ถึง ผิวพรรณทิพย์ กายของนางแก้วนั้นมีสัมผัสอ่อนนุ่มดุจปุยนุ่นหรือ ปุยฝ้าย มีร่างกายอบอุ่นในฤดูหนาว เย็นในฤดูร้อน มีกลิ่น จันทน์หอมฟุ้งออกจากกาย กลิ่นดอกอุบลฟุ้งออกจากปากของนาง นางแก้วนั้นมีปกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังว่าจะรับสั่งให้ทำอะไร ประพฤติต้องพระทัย ทูลแต่คำไพเราะต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และ นางแก้วนั้นจะไม่ประพฤตินอกพระทัยพระเจ้าจักรพรรดิ ไฉนเล่า จะประพฤติล่วงเกินทางกายได้ นางแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่พระ เจ้าจักรพรรดิ ๖. อีกประการหนึ่ง คหบดีแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือ คหบดีแก้วนั้นเป็นผู้มีตาทิพย์ อันเกิดแต่ผลกรรม ซึ่งสามารถเห็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

ขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ เขาเข้าเฝ้าพระเจ้า จักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ ขอพระองค์โปรดทรง เป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักทำหน้าที่การคลังให้ พระองค์’ ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรง ทดสอบคหบดีแก้วนั้น จึงเสด็จลงเรือลัดกระแสน้ำไปกลางแม่น้ำ คงคา แล้วได้รับสั่งกับคหบดีแก้วว่า ‘คหบดี ฉันต้องการเงิน และทอง’ คหบดีแก้วจึงกราบทูลว่า ‘ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น โปรดให้เทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิด’ พระเจ้าจักรพรรดิ ตรัสว่า ‘คหบดี ฉันต้องการเงินและทองตรงนี้แหละ’ ทันใดนั้น คหบดี แก้วนั้นจึงเอามือทั้งสองหย่อนลงในน้ำ ยกหม้อที่เต็มด้วยเงินและ ทองขึ้นมา แล้วกราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิว่า ‘เท่านี้พอหรือยัง มหาราช เท่านี้ใช้ได้หรือยัง มหาราช เท่านี้พอบูชาแล้วหรือยัง มหาราช’ พระเจ้าจักรพรรดิจึงตรัสอย่างนี้ว่า ‘คหบดี เท่านี้พอแล้ว เท่านี้ใช้ได้แล้ว เท่านี้ชื่อว่าบูชาแล้ว’ คหบดีแก้วเห็นปานนี้ปรากฏ แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ๗. อีกประการหนึ่ง ปริณายกแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ คือ ปริณายกแก้วนั้นเป็นบัณฑิต มีปรีชาสามารถถวายข้อแนะนำให้ พระเจ้าจักรพรรดิทรงบำรุงผู้ที่ควรบำรุง ถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้ง เข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูล อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ ขอพระองค์โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักถวายคำปรึกษา’ ปริณายกแก้วเห็นปานนี้ปรากฏแก่ พระเจ้าจักรพรรดิ ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการนี้ [๒๕๙] พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ เป็นอย่างไร คือ พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ มีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวี ผุดผ่องยิ่งนักเกินกว่ามนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิมีพระชนมายุยืน ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ นานเกินกว่ามนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็น ประการที่ ๒ อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิมีพระโรคาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เกินกว่า มนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ ๓ อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ ของ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เปรียบเหมือนบิดาเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของบุตร แม้ฉันใด พระจักรพรรดิก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายเป็นที่โปรดปราน เป็นที่พอพระทัยแม้ ของพระเจ้าจักรพรรดิ เปรียบเหมือนบุตรเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของบิดา แม้ฉันใด พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ก็เป็นที่โปรดปราน เป็นที่พอพระ ทัยแม้ของพระเจ้าจักรพรรดิ ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีพากันเข้าเฝ้าพระเจ้า จักรพรรดิ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าด่วน เสด็จไป โปรดเสด็จโดยอาการที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ชมพระบารมีนานๆ เถิด’ แม้พระเจ้าจักรพรรดิได้รับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘แน่ะพ่อสารถี ท่านจง ค่อยๆ ขับไปโดยอาการที่ฉันจะพึงเยี่ยมพราหมณ์และคหบดีได้นานๆ เถิด’ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ ๔ ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการนี้ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการนี้ พึงเสวยสุขโสมนัสอันมีความสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการนั้นเป็นเหตุบ้างไหม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๙. พาลปัณฑิตสูตร

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็น ผู้สมบูรณ์ด้วยแก้วแม้ประการเดียว ยังเสวยสุขโสมนัสที่เกิดเพราะแก้วแม้ประการ เดียวนั้นเป็นเหตุได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการเลย พระพุทธเจ้าข้า” [๒๖๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่า พระหัตถ์ขึ้นมาแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจ ความข้อนั้นว่าอย่างไร คือก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่ามือที่เราถืออยู่นี้กับขุนเขา หิมพานต์ อย่างไหนใหญ่กว่ากัน” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก้อนหินขนาดย่อมๆ เท่าฝ่าพระหัตถ์ที่พระองค์ทรง ถืออยู่นี้ มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบกับขุนเขาหิมพานต์แล้ว ไม่ถึงการนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบกันได้เลย พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สุขโสมนัสที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และฤทธิ์ ๔ ประการ ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมี ความสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการและฤทธิ์ ๔ ประการนั้นเป็นเหตุ เปรียบเทียบ กับสุขที่เป็นทิพย์แล้ว ไม่ถึงการนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบ กันได้เลย บัณฑิตนั้น เพราะเวลาล่วงเลยมานาน ในบางครั้งบางคราวถ้ามาเกิดเป็น มนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล๑- ตระกูลพราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เห็นปานนั้น อันเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี โภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และธัญชาติมาก และบัณฑิตนั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีปกติ ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง ประทีป เขาจึงประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จึงไป เกิดในสุคติโลกสวรรค์ @เชิงอรรถ : @ มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก คือ ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ @พราหมณมหาศาลมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒/๒๑๐/๑๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนักเลงการพนัน ได้รับโภคสมบัติมากมาย ความชนะของนักเลงการพนันผู้ได้รับโภคสมบัติมากเพราะความชนะครั้งแรกนั้น เป็นเพียงเล็กน้อย โดยที่แท้ ความชนะของบัณฑิตผู้ประพฤติกายสุจริต ประพฤติ วจีสุจริต ประพฤติมโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็น ความชนะที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นี้เป็นภูมิของบัณฑิตที่บัณฑิตบำเพ็ญไว้ทั้งสิ้น” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
พาลปัณฑิตสูตรที่ ๙ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๙๐-๓๐๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=8535 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=29              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=6312&Z=6749&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=467              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]