ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร

๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยอนาถบิณฑิกเทพบุตร
[๑๐๑] อนาถบิณฑิกเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า พระเชตวันนี้นั้นมีหมู่ฤาษีพำนักอยู่ พระผู้เป็นธรรมราชาก็ประทับอยู่ เป็นสถานที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ การงาน ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันสูงสุด ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ ประการนี้ หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ คนฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายเถิด เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น พระสารีบุตรเท่านั้นเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ถึงฝั่ง ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ๑- อนาถบิณฑิกเทพบุตรได้กราบทูลดังนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้เทพบุตรองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เมื่อราตรี ผ่านไป เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของเราว่า พระเชตวันนี้นั้นมีหมู่ฤาษีพำนักอยู่ พระผู้เป็นธรรมราชาก็ประทับอยู่ เป็นสถานที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบคาถาข้อ ๔๘ หน้า ๖๑-๖๒ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๐๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๒. อนาถปิณฑิกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

การงาน ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันสูงสุด ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ ประการนี้ หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ คนฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายเถิด เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น พระสารีบุตรเท่านั้นเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ถึงฝั่ง ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ ภิกษุทั้งหลาย เทพบุตรนั้นได้กล่าวดังนี้ อภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้ว หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทพบุตรนั้นเห็นจะเป็นอนาถบิณฑิก- เทพบุตรแน่นอน อนาถบิณฑิกคหบดีได้เลื่อมใสยิ่งนักในท่านพระสารีบุตร” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ เธอคิดถูกแล้ว เทพบุตรนั้น คืออนาถบิณฑิกเศรษฐีนั่นเอง”
อนาถปิณฑิกสูตรที่ ๑๐ จบ
อนาถปิณฑิกวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จันทิมสสูตร ๒. เวณฑุสูตร ๓. ทีฆลัฏฐิสูตร ๔. นันทนสูตร ๕. จันทนสูตร ๖. วาสุทัตตสูตร ๗. สุพรหมสูตร ๘. กกุธสูตร ๙. อุตตรสูตร ๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๐๘}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๐๗-๑๐๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=15&A=2810 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=15&siri=101              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=1741&Z=1788&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=275              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_15 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15 https://84000.org/tipitaka/english/?index_15


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]