ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๖. ทุกขวรรค ๑๐. นิทานสูตร

๑๐. นิทานสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นต้นเหตุ
[๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสทัมมะ แคว้นกุรุ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับว่าเป็นธรรมง่ายๆ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ อย่าพูดอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง สุดจะคาดคะเนได้ ก็เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่บรรลุธรรมนี้ หมู่สัตว์จึงยุ่ง เหมือนขอดด้ายของช่างหูก เป็นปมนุงนังเหมือน กระจุกด้าย เหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ข้ามพ้นอบาย๑- ทุคติ วินิบาต สงสาร เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่ง อุปาทาน ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ขยายไปรอบๆ รากทั้งหมดนั้น ดูดอาหารขึ้นไปข้างบน เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้นได้อาหารอย่างนั้น ได้สารอย่างนั้น พึงยืนต้นอยู่ได้ตลอดกาลนาน อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุพิจารณา เห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ @เชิงอรรถ : @ อบาย ในที่นี้หมายถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปตวิสัย และอสุรกายซึ่งเป็นสถานที่ไม่มีความเจริญ @(สํ.นิ.อ. ๒/๑๖/๖๐/๑๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๑๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๖. ทุกขวรรค ๑๐. นิทานสูตร

เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ (ยืนต้นอยู่อย่างนั้น) ทีนั้นบุรุษถือจอบและตะกร้าเดินมา ตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว ก็ถอนรากใหญ่น้อยโดยที่สุด แม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้นพึงตัดต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่ ครั้นตัดต้นไม้นั้น เป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วพึงผ่า ครั้นผ่าแล้ว ทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วเกลี่ย ผึ่งลม ผึ่งแดด ครั้นผึ่งลม ผึ่งแดดแล้ว เอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว ทำให้เป็น เขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรง หรือลอยในแม่น้ำที่มีกระแสเชี่ยว เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้นถูกตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน ตัณหา ย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้”
นิทานสูตรที่ ๑๐ จบ
ทุกขวรรคที่ ๖ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปริวีมังสนสูตร ๒. อุปาทานสูตร ๓. สังโยชนสูตร ๔. ทุติยสังโยชนสูตร ๕. มหารุกขสูตร ๖. ทุติยมหารุกขสูตร ๗. ตรุณรุกขสูตร ๘. นามรูปสูตร ๙. วิญญาณสูตร ๑๐. นิทานสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๑๔}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๑๑๓-๑๑๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=16&A=3119 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=16&siri=56              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=2468&Z=2518&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=224              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_16 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16 https://84000.org/tipitaka/english/?index_16


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]