ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต ๑๖. เอกธัมมบาลี ๒. ทุติยวรรค

๑๖. เอกธัมมบาลี
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
[๒๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่าง หนึ่งที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อ ความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนมิจฉาทิฏฐิ๑- (ความเห็นผิด)นี้ เมื่อเป็นมิจฉาทิฏฐิ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ยิ่งขึ้น (๑) [๒๙๙] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนสัมมาทิฏฐิ๒- (ความเห็นชอบ)นี้ เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิด ขึ้นแล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น (๒) [๓๐๐] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้ เมื่อเป็นมิจฉาทิฏฐิ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป (๓) [๓๐๑] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเหมือนสัมมาทิฏฐินี้ เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป (๔) [๓๐๒] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้นเหมือนอโยนิโสมนสิการ เมื่อมนสิการโดยไม่ แยบคาย มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น (๕) @เชิงอรรถ : @ มิจฉาทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๙๘/๔๒๒, ดูเรื่องทิฏฐิ ๖๒ ประการใน @ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค แปล เล่มที่ ๙ ข้อ ๒๘-๙๘ หน้า ๑๑-๓๘) @ สัมมาทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิ ๕ ประการ คือ (๑) กัมมัสสกตาทิฏฐิ (๒) ฌานสัมมาทิฏฐิ @(๓) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (๔) มัคคสัมมาทิฏฐิ (๕) ผลสัมมาทิฏฐิ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๗๕/๗๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๓๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต ๑๖. เอกธัมมบาลี ๒. ทุติยวรรค

[๓๐๓] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้นเหมือนโยนิโสมนสิการ เมื่อมนสิการโดย แยบคาย สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น (๖) [๓๐๔] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้เหล่าสัตว์ หลังจากตาย แล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนมิจฉาทิฏฐินี้ เหล่าสัตว์ที่ประกอบ ด้วยมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก (๗) [๓๐๕] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้เหล่าสัตว์ หลังจากตาย แล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เหมือนสัมมาทิฏฐินี้ เหล่าสัตว์ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ (๘) [๓๐๖] กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ วจีกรรมที่ถือ ปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ มโนกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควร แก่ทิฏฐิ เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารทั้งหลาย ของบุคคลผู้เป็น มิจฉาทิฏฐิ ธรรมทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่า พอใจ ไม่เกื้อกูล เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นเลวทราม กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นเลวทราม เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดา เมล็ดบวบขม หรือเมล็ดน้ำ เต้าขมที่บุคคลเพาะไว้ในดินชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซับเอาไว้ทั้งหมด ย่อม เป็นไปเพื่อความเป็นของขม เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเมล็ด สะเดาเป็นต้นนั้นเลว ฉะนั้น (๙) [๓๐๗] กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ วจีกรรมที่ถือ ปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ มโนกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควร แก่ทิฏฐิ เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารทั้งหลายของบุคคลผู้เป็น สัมมาทิฏฐิ ธรรมทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เกื้อกูล เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๓๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต ๑๖. เอกธัมมบาลี ๓. ตติยวรรค

กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นดี เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อย พันธุ์ข้าวสาลีหรือเมล็ดจันทน์ที่บุคคล เพาะไว้ในดินชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซับเอาไว้ทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อความ เป็นของหวาน น่าอร่อย น่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพันธุ์อ้อยเป็นต้นนั้นดี ฉะนั้น (๑๐)
ทุติยวรรค จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๓๘-๔๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=20&A=1002 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=20&siri=25              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=884&Z=949&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=181              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_20 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20 https://84000.org/tipitaka/english/?index_20


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]