ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

๒. สีหสูตร
ว่าด้วยสีหเสนาบดี๑-
[๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก นั่งประชุมกันใน สันถาคาร๒- กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญ พระสงฆ์โดยประการต่างๆ สมัยนั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ลำดับนั้น สีหเสนาบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นต้องเป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากเหล่านี้นั่งประชุมกันใน สันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าว สรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่างๆ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ต่อมา สีหเสนาบดีได้เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระสมณโคดม เจ้าข้า” นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้า พระสมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อม แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำสาวกตามแนวนั้น” ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค @เชิงอรรถ : @ สีหเสนาบดี หมายถึงสีหราชกุมาร ที่ได้นามว่า เสนาบดี เพราะได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็น @๑ ใน ๓ คนที่เป็นสาวกชั้นแนวหน้าของนิครนถ์ นาฏบุตร คือ อุบาลีคหบดีในเมืองนาลันทา เจ้าวัปปะ @ศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ และสีหเสนาบดีในกรุงเวสาลี (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๒/๒๓๑) และดู @วิ.ม. (แปล) ๕/๒๙๐-๒๙๔/๑๐๘-๑๑๖ @ สันถาคาร มีความหมาย ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับมหาชน @อาคารนี้ถูกสร้างขึ้นที่ใจกลางเมือง คนที่อยู่รอบๆ ทั้ง ๔ ทิศสามารถมองเห็นได้ คนที่มาจาก ๔ ทิศ จะพัก @ที่อาคารนี้ก่อนที่จะเข้าไปพักในที่สะดวกสำหรับตน นัยที่ ๒ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประชุมพิจารณา @ราชกิจสำหรับราชตระกูล ในที่นี้หมายถึงนัยที่ ๒ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๒/๒๒๙-๒๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

แม้ครั้งที่ ๒ เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ก็ได้นั่งประชุมกันใน สันถาคาร กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญ พระสงฆ์โดยประการต่างๆ แม้ครั้งที่ ๒ สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก เหล่านี้นั่งประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญ พระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่างๆ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ต่อมา สีหเสนาบดีได้เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระสมณโคดม เจ้าข้า” นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้าพระ สมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อมแสดง ธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น” แม้ครั้งที่ ๒ สีหเสนาบดีก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ก็ได้นั่งประชุมกันในสันถาคาร กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดย ประการต่างๆ แม้ครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก เหล่านี้ นั่งประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กล่าวสรรเสริญ พระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่างๆ ก็พวกนิครนถ์เหล่านี้ เราจะ บอกหรือไม่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทางที่ดี เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์แล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ครั้งนั้น สีหเสนาบดีเดินทางออกจากกรุงเวสาลีแต่หัววัน พร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน เดินทางไปด้วยยานพาหนะตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้ แล้วลงเดิน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

“พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการ ไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่านั้นจะชื่อว่า พูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าว ต่อๆ กันมา จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้๑- เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มี พระภาคเลย”
ข้อกล่าวหา ๘ ประการ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สีหะ ๑. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรม เพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ ๒. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดงธรรม เพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ ๓. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย แสดงธรรม เพื่อความให้ทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ ๔. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ แสดงธรรม เพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ มีมูลอยู่ ๕. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดงธรรม เพื่อการกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ ๖. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดง ธรรมเพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ @เชิงอรรถ : @ ดู วิ.ม. (แปล) ๕/๒๙๐/๑๐๘, ที.สี. (แปล) ๙/๓๘๒/๑๖๑, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๑/๗๔, @องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๕๘/๒๒๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

๗. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรม เพื่อความไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ ๘. ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนเบาใจ แสดงธรรมเพื่อ ความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
พระดำรัสแก้ข้อกล่าวหา
ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรม เพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงการไม่ ให้ทำบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดงธรรม เพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ เพราะเราสอนให้ทำกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ตลอดถึงการให้ ทำกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย แสดงธรรม เพื่อความให้ทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ และโมหะ ตลอดถึงให้ทำลายบาป อกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย แสดงธรรมเพื่อการให้ทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ แสดงธรรม เพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงรังเกียจ การประกอบบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๒๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

คนช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แล มีมูลอยู่ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดงธรรม เพื่อความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ และโมหะ ตลอดถึงแสดงธรรม เพื่อกำจัดบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็น คนช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อการกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมี มูลอยู่ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรม เพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ กายทุจริต วจีทุจริต และ มโนทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ เราเรียกคนที่ละบาปอกุศลธรรมที่ควรเผาผลาญ ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนช่างเผาผลาญ’ ตถาคตละบาปอกุศลธรรมที่ ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณ โคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อการเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตาม แนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดง ธรรมเพื่อความไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้น ตัดราก ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ ตถาคตละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ ได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๓๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็น คนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรมเพื่อการไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่ ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนเบาใจ แสดงธรรมเพื่อ ความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ เพราะเราเป็นคนเบาใจด้วยความเบาใจอย่างยิ่ง แสดงธรรมเพื่อความ เบาใจ และแนะนำเหล่าสาวกตามแนวนั้น ข้อที่บุคคลกล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดม เป็นคนเบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แล มีมูลอยู่” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้แล้ว สีหเสนาบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระ ภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ๑- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้น ไปจนตลอดชีวิต” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่ มีชื่อเสียงเช่นท่าน ต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี” สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจ อย่างยิ่ง เพราะพระดำรัสที่พระองค์ตรัสว่า ‘สีหะ ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน ต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี’ เพราะพวก อัญเดียรถีย์ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้ว ก็ป่าวประกาศไปทั่วกรุงเวสาลีว่า ‘สีห- เสนาบดีเป็นสาวกของพวกเรา’ แต่พระองค์กลับตรัสว่า ‘ท่านใคร่ครวญก่อนแล้ว จึงตัดสินใจเถิด คนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน ต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็น การดี’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้ง พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็น อุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตเถิด” @เชิงอรรถ : @ ดูความเต็มในข้อ ๑๑ (เวรัญชสูตร) หน้า ๒๒๕ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๓๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

ทรงสนับสนุนให้อุปถัมภ์ลัทธิที่เคยนับถือมาก่อน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับพวกนิครนถ์ มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไปตระกูล ต่อไปเถิด” สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจ อย่างยิ่งเพราะพระดำรัสที่พระองค์ตรัสว่า ‘สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับ พวกนิครนถ์มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไป ตระกูลต่อไปเถิด’ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ควรให้ ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่ศาสดาอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของศาสดาอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่ ศาสดาอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวก ของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก’ แต่พระผู้มีพระภาคกลับทรงชักชวนให้ข้าพระองค์ให้ทาน แก่พวกนิครนถ์ ข้าพระองค์จะรู้เวลาในเรื่องนี้เอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพีกถาแก่สีหเสนาบดี คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา (เรื่องทาน) ๒. สีลกถา (เรื่องศีล) ๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์) ๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑- ๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) @เชิงอรรถ : @ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สงฺกิเลสํ (องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๒/๑๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๓๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

เมื่อทรงทราบว่า สีหเสนาบดีมีจิตควรบรรลุธรรมสงบ อ่อน ปราศจาก นิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๑- ของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก มลทิน ได้เกิดแก่สีหเสนาบดีนั้นบนที่นั่งนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม ข้ามพ้นความสงสัย๒- ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ปราศจาก ความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย๓- ในศาสนาของพระศาสดา จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร ในวันพรุ่งนี้เถิด” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ สีหเสนาบดีนั้นทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป ลำดับนั้น สีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า “เธอไปหาซื้อเนื้อสดที่มีขายมา” เมื่อคืนนั้นผ่านไป ได้สั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตไว้ในนิเวศน์ @เชิงอรรถ : @ สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็นด้วย @สยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือ มิได้รับการแนะนำจากผู้อื่น ตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก @(วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗) @หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเองโดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา หรือ @ทูลถาม (ที.สี.อ. ๑/๒๙๘/๒๕๐) และดู วิ.ม. (แปล) ๔/๒๖/๓๒-๓๓, ที.สี. (แปล) ๙/๒๙๘/๑๐๙, ๓๕๕/๑๔๙ @ ความสงสัย ในที่นี้หมายถึงความสงสัย (วิจิกิจฉา) ๘ ประการ เป็นองค์ธรรมในสังโยชน์ ๑๐ ประการ @ดูรายละเอียดใน อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๐๐๘/๒๖๑ และความสงสัย ๑๖ ประการ ดู รายละเอียดใน @ม.มู. ๑๒/๑๘/๑๑, สํ.นิ. ๑๖/๒๐/๒๗ @ ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หรือไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยสนับสนุน @ให้เชื่อ เพราะเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง (ที.สี.อ. ๑/๒๙๙/๒๕๐, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖, @องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๑๖/๑๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๓๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๒. สีหสูตร

ของตนแล้ว จึงให้ไปกราบทูลภัตกาลว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร เสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของสีหเสนาบดีพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ที่ปูลาดไว้ สมัยนั้น พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก สามแยก ทั่วกรุงเวสาลีว่า “วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารเลี้ยง พระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง” ครั้งนั้นแล มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปหาสีหเสนาบดีแล้วกระซิบบอกว่า “ท่านครับ ได้โปรดทราบ พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก สามแยก ทั่วกรุงเวสาลีว่า ‘วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหาร เลี้ยงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง” สีหเสนาบดีตอบว่า “ช่างเถิด ท่านเหล่านั้นประสงค์จะตำหนิพระพุทธเจ้า ประสงค์จะตำหนิพระธรรม ประสงค์จะตำหนิพระสงฆ์มานานแล้ว และท่านเหล่านั้น ก็กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่ เปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องเท็จ ไม่เป็นจริง ส่วนพวกเราไม่จงใจฆ่าสัตว์แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต” จากนั้น สีหเสนาบดีได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประธานให้ทรงอิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์ จากบาตร สีหเสนาบดีจึงเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มี พระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก อาสนะเสด็จจากไป
สีหสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๓๔}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๒๖-๒๓๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=23&A=6193 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=85              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=3659&Z=3861&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=102              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23 https://84000.org/tipitaka/english/?index_23


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]