ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๔. ทีฆชาณุสูตร

๔. ทีฆชาณุสูตร
ว่าด้วยโกฬิยบุตรชื่อว่าทีฆชาณุ
[๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะชื่อว่า กักกรปัตตะ เขตกรุงโกฬิยะ ครั้งนั้น โกฬิยบุตรชื่อว่าทีฆชาณุได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ของชาวกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงิน๑- ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขในภพนี้และเพื่อเกื้อกูลในภพหน้าเพื่อสุขในภพหน้าแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พยัคฆปัชชะ๒- ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ เกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขในภพนี้แก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อุฏฐานสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น) ๒. อารักขสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการรักษา) ๓. กัลยาณมิตตตา (ความเป็นผู้มีมิตรดี) ๔. สมชีวิตา (ความเป็นอยู่เหมาะสม) อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีพด้วยการงานใด จะเป็นกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม เป็นช่างศร รับราชการ หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา @เชิงอรรถ : @ ดู ขุ.อุ. ๒๕/๕๒/๑๘๖ @ พยัคฆปัชชะ เป็นชื่อเรียกชาวโกฬิยะ เพราะบรรพบุรุษของชาวโกฬิกะนี้สร้างบ้านเรือนอยู่ในพยัคฆปัชช- @นคร (นครทางเสือผ่าน) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๔๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๔. ทีฆชาณุสูตร

อันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวม ด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม๑- ได้มาโดยธรรม๒- เขารักษา คุ้มครองโภคทรัพย์นั้นด้วยคิดว่า ‘ทำอย่างไร โภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา จึงจะไม่ถูก พระราชาริบ โจรไม่ลัก ไฟไม่ไหม้ น้ำไม่พัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักไม่ลักไป’ นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้วางตัวเหมาะสม เจรจา สนทนากับคนในหมู่บ้านหรือใน นิคมที่ตนอาศัยอยู่ จะเป็นคหบดี บุตรคหบดี คนหนุ่มผู้เคร่งศีล หรือคนแก่ผู้เคร่ง ศีลก็ตาม ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ และถึงพร้อม ด้วยปัญญา คอยศึกษาสัทธาสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาตามสมควร คอยศึกษาสีลสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศีลตามสมควร คอยศึกษาจาคสัมปทา ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะตามสมควร และคอยศึกษาปัญญาสัมปทาของท่านผู้ ถึงพร้อมด้วยปัญญาตามสมควร นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้ว เลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการ ใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ เปรียบเหมือนคนชั่งของ หรือลูกมือของคนชั่งของ ยกตราชั่งขึ้นดูก็รู้ได้ว่า ‘ต้อง ลดลงเท่านี้ หรือเพิ่มขึ้นเท่านี้’ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญแห่ง @เชิงอรรถ : @ ประกอบด้วยธรรม ในที่นี้หมายถึงมีกุศลธรรม ๑๐ ประการ (องฺ.ติก.ฏีกา. ๒/๑๔/๑๐๓) @ ได้มาโดยธรรม ในที่นี้หมายถึงโภคทรัพย์ที่บุคคลดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ แล้วได้มา @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๔๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๔. ทีฆชาณุสูตร

โภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับน้อย แต่เลี้ยงชีพอย่าง ฟุ่มเฟือย ก็จะมีผู้กล่าวหาเขาได้ว่า ‘กุลบุตรผู้นี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เหมือนคนกินผล มะเดื่อ‘๑- ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับมาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหา เขาได้ว่า ‘กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างไม่สมฐานะ’ แต่เพราะกุลบุตรนี้รู้ทางเจริญแห่ง โภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ‘ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ’ นี้เรียกว่า สมชีวิตา พยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ มีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ ๑. เป็นนักเลงหญิง ๒. เป็นนักเลงสุรา ๓. เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษ พึงปิดทางไหลเข้า เปิดทางไหลออกของสระน้ำนั้น และฝนก็มิได้ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อเป็นเช่นนี้ สระน้ำใหญ่นั้นก็เหือดแห้งไป ไม่เพิ่มปริมาณขึ้นเลย ฉันใด โภคทรัพย์ ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ ๑. เป็นนักเลงหญิง ๒. เป็นนักเลงสุรา ๓. เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว พยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ มีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ๑. ไม่เป็นนักเลงหญิง ๒. ไม่เป็นนักเลงสุรา ๓. ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษ พึงเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระน้ำนั้น และฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อ @เชิงอรรถ : @ หมายถึงคนที่ต้องการกินผลมะเดื่อ เขย่าต้นมะเดื่อให้ผลสุกๆ ร่วงลงมาจำนวนมาก แต่แล้วเขาก็กลับหยิบ @มากินเพียงบางผลเท่านั้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๔/๒๖๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๔๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๔. ทีฆชาณุสูตร

เป็นเช่นนี้ สระน้ำใหญ่นั้นก็เพิ่มปริมาณขึ้น ไม่เหือดแห้งไปเลย ฉันใด โภคทรัพย์ที่ เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ๑. ไม่เป็นนักเลงหญิง ๒. ไม่เป็นนักเลงสุรา ๓. ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๔. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขใน ภพนี้แก่กุลบุตร พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุขใน ภพหน้าแก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัทธาสัมปทา ๒. สีลสัมปทา ๓. จาคสัมปทา ๔. ปัญญาสัมปทา สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ๑- เป็นศาสดาของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา สีลสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒- เว้นขาดจากการเสพ ของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา จาคสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา @เชิงอรรถ : @ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๙ (ปฐมอิธโลกิกสูตร) หน้า ๓๒๖ ในเล่มนี้ @ ดูความเต็มและความพิสดารในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๑ (สังขิตตุโปสถสูตร) หน้า ๓๐๓-๓๐๔ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๔๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๑. โคตมีวรรค ๕. อุชชยสูตร

ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุข ในภพหน้าแก่กุลบุตร คนขยันหมั่นเพียรในการงาน ไม่ประมาท รู้วิธีการเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีในภพหน้าอยู่เป็นนิตย์ ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าสัจจะตรัสธรรม ๘ ประการดังกล่าวมานี้ เพื่อผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันเป็นเหตุนำสุขมาให้ในโลกทั้ง ๒ คือ ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า จาคะ บุญ๑- นี้ย่อมเจริญยิ่งขึ้น แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้”
ทีฆชาณุสูตรที่ ๔ จบ
๕. อุชชยสูตร
ว่าด้วยอุชชยพราหมณ์
[๕๕] ครั้งหนึ่ง อุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ บุญ ในที่นี้หมายถึงศรัทธา ศีล และปัญญา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๕๔/๒๖๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๔๔}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๔๐-๓๔๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=23&A=9476 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=127              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=5934&Z=6025&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=144              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23 https://84000.org/tipitaka/english/?index_23


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]