ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. ภูมิจาลวรรค ๑. อิจฉาสูตร

๒. ภูมิจาลวรรค
หมวดว่าด้วยเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวครั้งใหญ่
๑. อิจฉาสูตร
ว่าด้วยความอยากได้ลาภ
[๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้ มีปรากฏ อยู่ในโลก บุคคล ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด๑- แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง๒- ความอยากได้ลาภ๓- ย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอจึงเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้ อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่า เป็นผู้ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากสัทธรรม๔- ๒. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ ให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภ ก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอจึงมัวเมา ประมาท เลินเล่อ ภิกษุนี้ เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ มัวเมา ประมาท และเคลื่อนจาก สัทธรรม @เชิงอรรถ : @ สงัด ในที่นี้หมายถึงความสงัดทางกาย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓๖/๒๐๗/๒๒๙) @ ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง หมายถึงไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานให้ต่อเนื่องกันไป (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๑/๒๖๘) @ ลาภ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย ๔ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๑/๒๖๘) @ สัทธรรม ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๑/๒๖๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๕๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. ภูมิจาลวรรค ๑. อิจฉาสูตร

๓. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอจึงเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากสัทธรรม ๔. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่ พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอจึงมัวเมา ประมาท เลินเล่อ ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ มัวเมา ประมาท และเคลื่อนจากสัทธรรม ๕. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอก็ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียก ว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อ ว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ ไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจาก สัทธรรม ๖. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น เธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ ให้ได้ลาภ เมื่อเธอหมั่น พากเพียร พยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภก็ เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอก็ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ หมั่น พากเพียร พยายามเพื่อ ให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ได้ลาภ ไม่มัวเมา ไม่ประมาท และไม่ เคลื่อนจากสัทธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๓๕๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. ภูมิจาลวรรค ๒. อลังสูตร

๗. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ ได้ลาภ ลาภก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ลาภนั้น เธอก็ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่ได้ลาภ ไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจากสัทธรรม ๘. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่อย่างสงัด แต่ไม่ประพฤติให้ต่อเนื่อง ความอยากได้ลาภย่อมเกิดขึ้น แต่เธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่ พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เมื่อเธอไม่หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายาม เพื่อให้ได้ลาภ แต่ลาภก็เกิดขึ้น เพราะได้ลาภนั้น เธอไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้อยากได้ลาภอยู่ แต่ไม่ หมั่น ไม่พากเพียร ไม่พยายามเพื่อให้ได้ลาภ เธอชื่อว่าเป็นผู้ ได้ลาภ ไม่มัวเมา ไม่ประมาท และไม่เคลื่อนจากสัทธรรม ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
อิจฉาสูตรที่ ๑ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๕๕-๓๕๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=23&A=9900 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=134              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=6163&Z=6214&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=151              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23 https://84000.org/tipitaka/english/?index_23


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]