ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๕. สคารวสูตร

๕. สคารวสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ
[๑๑๗] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่ สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นฝั่งนี้๑- อะไรเป็นฝั่งโน้น๒-” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พราหมณ์ ๑. มิจฉาทิฏฐิเป็นฝั่งนี้ สัมมาทิฏฐิเป็นฝั่งโน้น ๒. มิจฉาสังกัปปะเป็นฝั่งนี้ สัมมาสังกัปปะเป็นฝั่งโน้น ๓. มิจฉาวาจาเป็นฝั่งนี้ สัมมาวาจาเป็นฝั่งโน้น ๔. มิจฉากัมมันตะเป็นฝั่งนี้ สัมมากัมมันตะเป็นฝั่งโน้น ๕. มิจฉาอาชีวะเป็นฝั่งนี้ สัมมาอาชีวะเป็นฝั่งโน้น ๖. มิจฉาวายามะเป็นฝั่งนี้ สัมมาวายามะเป็นฝั่งโน้น ๗. มิจฉาสติเป็นฝั่งนี้ สัมมาสติเป็นฝั่งโน้น ๘. มิจฉาสมาธิเป็นฝั่งนี้ สัมมาสมาธิเป็นฝั่งโน้น ๙. มิจฉาญาณะเป็นฝั่งนี้ สัมมาญาณะเป็นฝั่งโน้น ๑๐. มิจฉาวิมุตติเป็นฝั่งนี้ สัมมาวิมุตติเป็นฝั่งโน้น พราหมณ์ นี้แลเป็นฝั่งนี้ นี้แลเป็นฝั่งโน้น ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้น๓- มีจำนวนน้อย ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้๔- ทั้งนั้น @เชิงอรรถ : @ ฝั่งนี้ ในที่นี้หมายถึงโลกิยธรรม (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕) @ ฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรธรรม (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕) @ ฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕) @ ฝั่งนี้ ในที่นี้หมายถึงสักกายทิฏฐิ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๒๖๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๕. สคารวสูตร

ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ๑- ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ๒- อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก จักถึงฝั่งโน้น บัณฑิตละธรรมดำ แล้วพึงเจริญธรรมขาว๓- ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ๔- ละกามทั้งหลายแล้วเป็นผู้หมดความกังวล พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก๕- ที่ยินดีได้ยากยิ่ง บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก๖-
สคารวสูตรที่ ๕ จบ
@เชิงอรรถ : @ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ @(องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕) @ วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะ ๓ คือ (๑) กิเลสวัฏฏ์ วงจรกิเลสประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน @(๒) กัมมวัฏฏ์ วงจรกรรมประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ (๓) วิปากวัฏฏ์ วงจรวิบาก ประกอบด้วย @วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งแสดงออกในรูปอุปปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น @(องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕) @ ธรรมดำ หมายถึงอกุศลธรรม ได้แก่ กายทุจริต เป็นต้น ธรรมขาว หมายถึงกุศลธรรม ได้แก่ กายสุจริต @เป็นต้น (สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๓๔/๑๙๖, ขุ.ธ.อ. ๔/๕๑-๕๒) @ วิวัฏฏะ หมายถึงนิพพาน (สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๓๔/๑๙๖, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕) @ วิเวก หมายถึงกายวิเวก(ความสงัดกาย) จิตตวิเวก(ความสงัดจิต) และอุปธิวิเวก(ความสงัดจากกิเลส) @(องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕) @ ดู สํ.ม. ๑๙/๓๔/๑๙, ขุ.ธ. ๒๕/๘๕-๘๙/๓๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๒๗๐}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๒๖๙-๒๗๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=24&A=7711 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=24&siri=115              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=5423&Z=5448&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=117              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24 https://84000.org/tipitaka/english/?index_24


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]