ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๓. ปาริจฉัตตวรรค ๖. ทัททัลลวิมาน

๖. ทัททัลลวิมาน
ว่าด้วยวิมานอันรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ถวายสังฆทาน
(ภัทราเทพธิดาผู้พี่สาวถามสุภัทราเทพธิดาซึ่งเป็นน้องสาวว่า) [๖๑๙] เธอรุ่งเรืองด้วยรัศมี มีเกียรติยศบริวารยศ มีรัศมีรุ่งโรจน์เหนือเทพชั้นชาวดาวดึงส์ทั้งปวง [๖๒๐] ฉันไม่เคยเห็นเธอ นี้เป็นการเห็นครั้งแรก เธอมาจากเทวโลกชั้นไหนจึงมาเรียกชื่อของฉันได้ถูก (สุภัทราเทพธิดาตอบว่า) [๖๒๑] พี่ภัทรา ดิฉันชื่อสุภัทรา เมื่อชาติก่อนครั้งเป็นมนุษย์ได้เป็นน้องสาวของพี่ และยังเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกันกับพี่ [๖๒๒] ดิฉันละร่างจุติจากมนุษยโลกนั้นแล้ว มาเกิดร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี (ภัทราเทพธิดาถามต่อไปอีกว่า) [๖๒๓] น้องสุภัทรา ขอเธอได้บอกถึงการเกิดของตน ในหมู่เทพชั้นนิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ที่สัตว์ผู้กระทำความดีไว้มากแล้วมาเกิด [๖๒๔] เธอถูกสอนมาอย่างไรด้วยเรื่องอะไร หรือว่าใครสั่งสอน เธอมีบริวารยศได้ด้วยทานและวัตรอันดีงามเช่นไร [๖๒๕] เธอได้รับเกียรติยศเช่นนี้ ได้รับสุขไพบูลย์วิเศษเช่นนี้ น้องเทพธิดา พี่ถามแล้ว ขอเธอจงบอก นี้เป็นผลของกรรมอันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๓. ปาริจฉัตตวรรค ๖. ทัททัลลวิมาน

(สุภัทราเทพธิดาตอบว่า) [๖๒๖] ชาติก่อนดิฉันเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาต ๘ ที่ เป็นสังฆทานแด่พระสงฆ์ ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลด้วยมือทั้งสองของตน [๖๒๗-๖๒๘] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ (ภัทราเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า) [๖๒๙] พี่เลื่อมใสได้ถวายข้าวน้ำด้วยมือของตน เลี้ยงดูภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์สม่ำเสมอ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าของเธอให้อิ่มหนำ [๖๓๐] พี่ถวายทานมากกว่าเธอ แต่กลับอุบัติในหมู่เทพชั้นต่ำกว่า ส่วนน้องถวายทานน้อยกว่า แต่ทำไมจึงได้รับสุขไพบูลย์วิเศษเล่า เทพธิดา พี่ถามแล้ว ขอเธอจงบอก นี้เป็นผลของกรรมอันใดเล่า (สุภัทราเทพธิดาตอบว่า) [๖๓๑] ชาติก่อนดิฉันได้พบภิกษุรูปหนึ่ง น่าเจริญใจ จึงได้นิมนต์ภิกษุรูปนั้น คือพระเรวตะ เป็นรูปที่ ๘ ให้ฉันภัตตาหาร [๖๓๒] พระเรวตเถระนั้นมุ่งจะอนุเคราะห์ให้เกิดประโยชน์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันให้ถวายสงฆ์ ดิฉันได้ทำตามคำแนะนำของท่าน [๖๓๓] ทักษิณาของดิฉันนั้นถวายเป็นสังฆทาน มีผลประมาณมิได้ ส่วนทานของพี่ที่ถวายเป็นรายบุคคลนั้นมีผลไม่มาก (ภัทราเทพธิดาเมื่อจะรับรองความข้อนั้นจึงกล่าวว่า) [๖๓๔] พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เอง ทานที่ถวายเป็นสังฆทานนี้มีผลมาก พี่นั้น(หาก)ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก จักรู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ไม่ประมาท ถวายสังฆทานบ่อยๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๓. ปาริจฉัตตวรรค ๖. ทัททัลลวิมาน

(เมื่อสนทนากันแล้ว สุภัทราเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพยวิมานของตนบนสวรรค์ ชั้นนิมมานรดี ท้าวสักกเทวราชได้สดับการสนทนานั้น เมื่อสุภัทราเทพธิดากลับไป แล้วจึงตรัสถามภัทราเทพธิดาว่า) [๖๓๕] ภัทรา เทพธิดาผู้มาสนทนาอยู่กับเธอนั้นเป็นใคร ช่างมีรัศมีรุ่งโรจน์เหนือเหล่าเทพชั้นชาวดาวดึงส์ทั้งหมด (ภัทราเทพธิดาเมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานที่น้องสาวถวายว่ามีผลมากจึงทูลว่า) [๖๓๖] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดานั้น เมื่อชาติก่อน ครั้งเป็นมนุษย์อยู่ในภพมนุษย์ ได้เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกันด้วย เธอทำบุญถวายสังฆทานแล้วจึงรุ่งเรือง (ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทานว่ามีผลมากจึงตรัสว่า) [๖๓๗] ภัทรา น้องสาวของเธอรุ่งเรืองกว่าเธอ เพราะเหตุที่นางได้ถวายสังฆทาน ซึ่งมีผลประมาณมิได้ไว้ในชาติก่อน (ภัทราเทพธิดาได้ตอบท้าวสักกะว่า) [๖๓๘] อันที่จริง ดิฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งการแจกจ่ายทานว่า ทานที่ให้ในเนื้อนาบุญใดจึงมีผลมาก [๖๓๙] มนุษย์ทั้งหลายผู้หวังบุญให้ทานอยู่ ทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ให้ทานในเนื้อนาบุญใด จึงมีผลมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๓. ปาริจฉัตตวรรค ๖. ทัททัลลวิมาน

[๖๔๐] พระพุทธเจ้าผู้ทรงทราบว่า สัตว์ทั้งหลายมีผลกรรมเป็นของของตน ได้ทรงอธิบายให้ดิฉันฟังอย่างชัดเจน ถึงผลแห่งการแจกจ่ายทานในเนื้อนาบุญ ที่บุคคลให้แล้วจะได้รับผลมากนั้นว่า [๖๔๑] พระอริยบุคคลผู้บรรลุอริยมรรค ๔ และผู้ดำรงอยู่ในอริยผล ๔ นี้คือพระสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในศีล สมาธิ และปัญญา [๖๔๒] มนุษย์ทั้งหลายผู้หวังบุญให้ทานอยู่ ทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด จึงถวายทานแก่สงฆ์ซึ่งมีผลมาก [๖๔๓] ด้วยว่า พระสงฆ์นี้มีคุณยิ่งใหญ่ ไพบูลย์ หาประมาณมิได้ ดุจทะเลเปี่ยมด้วยน้ำ พระอริยบุคคลเหล่านี้แลเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียร เป็นผู้ให้แสงสว่างคือปัญญาแก่ชาวโลก ย่อมยกธรรมกถาขึ้นแสดง [๖๔๔] ทานที่บุคคลถวายเจาะจงสงฆ์นั้น ชื่อว่าเป็นทานที่ถวายดีแล้ว บูชาสักการะอย่างดีแล้ว ทักษิณาที่ถวายสงฆ์นั้นมีผลมาก ทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงรู้แจ้งโลกก็ทรงสรรเสริญแล้ว [๖๔๕] เหล่าชนมาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้เกิดปีติโสมนัส กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งมูลเหตุได้ ท่องเที่ยวไปในโลก ไม่ถูกบัณฑิตติเตียน จึงเข้าถึงแดนสวรรค์ได้
ทัททัลลวิมานที่ ๖ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๗๑}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๖๘-๗๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=26&A=1898 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=34              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=1171&Z=1252&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=34              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26 https://84000.org/tipitaka/english/?index_26


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]