ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
ว่าด้วยสรภังคดาบสแก้ปัญหา
(อนุสิสสดาบสถือหม้อจะไปตักน้ำได้พบพระราชา ๓ พระองค์ จึงทูลถามว่า) [๕๐] ท่านทั้งหลายเป็นใครกันหนอ ประดับเครื่องอลังการ สวมใส่ต่างหู นุ่งห่มเรียบร้อย เหน็บพระขรรค์มีด้ามประดับ ด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วมุกดา ยืนอยู่บนรถอย่างองอาจ ในมนุษยโลกเขารู้จักพวกท่านว่าอย่างไร (ในพระราชาทั้ง ๓ องค์ พระเจ้าอัฏฐกะตรัสกับท่านอนุสิสสดาบสว่า) [๕๑] ข้าพเจ้าชื่ออัฏฐกะ ท่านผู้นี้คือพระเจ้าภีมรถ ส่วนท่านผู้นี้คือพระเจ้ากาลิงคะผู้มีพระเกียรติยศระบือไปทั่ว พวกข้าพเจ้ามา ณ ที่นี่เพื่อจะเยี่ยมฤๅษีทั้งหลาย ผู้มีความสำรวมเป็นอันดี และเพื่อที่จะถามปัญหา (อนุสิสสดาบสปฏิสันถารกับพระราชาแล้วกราบทูลท้าวสักกเทวราชผู้เสด็จมา เยี่ยมว่า) [๕๒] ท่านยืนอยู่กลางหาวราวกะพระจันทร์เพ็ญ ลอยเด่นอยู่ท่ามกลางเวหาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ท่านผู้มีคุณน่าบูชา ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีอานุภาพมากว่า ในมนุษยโลกเขารู้จักท่านว่าอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

(ท้าวสักกเทวราชสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า) [๕๓] ท่านผู้ใดในเทวโลกเขาเรียกกันว่า สุชัมบดี ท่านผู้นั้นในมนุษยโลกเขาเรียกกันว่า มัฆวาน ข้าพเจ้านั้นเป็นเทพราชามาถึงที่นี้ในวันนี้ เพื่อจะเยี่ยมฤๅษีทั้งหลายผู้มีความสำรวมเป็นอันดี (ท้าวสักกเทวราชเสด็จลงแล้วเข้าไปหาหมู่ฤๅษี ยืนประคองอัญชลีไหว้อยู่ ตรัสว่า) [๕๔] ฤๅษีของพวกเรามีฤทธิ์มาก ประกอบด้วยคุณคือฤทธิ์ ปรากฏในที่ไกล ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ขอนมัสการพระคุณเจ้าผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ (ต่อมาอนุสิสสดาบสเห็นท้าวสักกเทวราชประทับนั่งใต้ลมของหมู่ฤๅษี จึงกราบทูลว่า) [๕๕] กลิ่นของฤๅษีผู้ที่บวชมานานย่อมออกจากกายฟุ้งไปตามลม ขอถวายพระพร ท้าวสหัสสนัยน์เทวราช ขอมหาบพิตรเสด็จถอยไปจากที่นี่ เพราะกลิ่นของฤๅษีทั้งหลายไม่สะอาด (ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า) [๕๖] กลิ่นของฤๅษีผู้ที่บวชมานาน ขอจงออกจากกายฟุ้งไปตามลมเถิด พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายจำนงหวังกลิ่นนั้น ดุจพวงบุปผชาติอันวิจิตรมีกลิ่นหอม เพราะเทวดาทั้งหลายมิได้มีความสำคัญกลิ่นนี้ว่าปฏิกูล (อนุสิสสดาบสลุกจากอาสนะ ขอโอกาสกับหมู่ฤๅษี กล่าวว่า) [๕๗] ท้าวมัฆวาน สุชัมบดีเทวราช องค์ปุรินททะจอมเทพ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตพระองค์นั้น ทรงพระยศ ย่ำยีหมู่อสูร ทรงรอคอยโอกาสเพื่อจะตรัสถามปัญหา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

[๕๘] บรรดาฤๅษีเหล่านี้ผู้เป็นบัณฑิต ณ ที่นี่ ใครเล่าหนอถูกถามแล้วจักพยากรณ์ปัญหาอันละเอียดสุขุม ของพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ทั้ง ๓ พระองค์ และของท้าววาสวะจอมเทพได้ (หมู่ฤๅษีได้ฟังดังนั้นแล้วจึงกล่าวแนะนำว่า) [๕๙] ฤๅษีตนนี้ชื่อสรภังคะ มีตบะ เว้นจากเมถุนธรรมตั้งแต่เกิด เป็นบุตรของปุโรหิตาจารย์ ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอันดี ท่านจักพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายของพระราชาเหล่านั้นได้ (อนุสิสสดาบสยอมรับไหว้สรภังคดาบสแล้วเมื่อจะโอวาท จึงกล่าวว่า) [๖๐] ท่านโกณฑัญญะ นิมนต์ท่านพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายเถิด ฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดีขอร้องท่าน ท่านโกณฑัญญะ ภาระนี้ย่อมมาถึงท่านผู้เจริญด้วยปัญญา นี้เป็นธรรมดาในมนุษย์ทั้งหลาย (ต่อมาพระมหาบุรุษสรภังคดาบสเมื่อให้โอกาส จึงกล่าวว่า) [๖๑] มหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย อาตมาให้โอกาส ขอเชิญตรัสถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระทัยปรารถนาเถิด เพราะอาตมารู้จักทั้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง จักพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นๆ ถวายมหาบพิตร (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า) [๖๒] ลำดับนั้นแล ท้าวมัฆวานสักกเทวราช องค์ปุรินททะทรงเห็น ประโยชน์ได้ตรัสถามปัญหาข้อแรกตามที่พระทัยปรารถนาว่า [๖๓] ในกาลบางคราว บุคคลฆ่าอะไร จึงจะไม่เศร้าโศก ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญการละอะไร บุคคลควรอดทนคำหยาบคายที่ใครในโลกนี้กล่าว นิมนต์บอกเนื้อความข้อนั้นแก่โยมเถิด ท่านโกณฑัญญะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

(ต่อแต่นั้นพระมหาสัตว์สรภังคดาบสเมื่อจะตอบปัญหา จึงกล่าวว่า) [๖๔] ในกาลบางคราว บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้จึงไม่เศร้าโศก ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญการละความลบหลู่ บุคคลควรอดทนคำหยาบคายที่ทุกคนกล่าว สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนนั้นว่า ยอดเยี่ยม (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๖๕] คำของบุคคลทั้ง ๒ จำพวก คือ คนที่เสมอกัน ๑ คนที่ประเสริฐกว่า ๑ บุคคลอาจจะอดกลั้นได้ แต่บุคคลจะพึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าได้อย่างไรหนอ นิมนต์บอกเนื้อความข้อนั้นแก่โยมเถิด ท่านโกณฑัญญะ (สรภังคดาบสตอบว่า) [๖๖] แท้จริง บุคคลอดทนถ้อยคำของคนประเสริฐกว่าได้ เพราะความกลัว อดทนถ้อยคำของคนเสมอกันได้เพราะการแข่งขันเป็นเหตุ แต่ผู้ใดพึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าในโลกนี้ได้ ความอดทนนั้นของบุคคลนั้นสัตบุรุษกล่าวว่า ยอดเยี่ยม (ต่อมาพระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบท้าวสักกะแล้ว เมื่อจะประกาศสภาพที่ สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ประเสริฐเป็นต้นเป็นสภาพที่รู้ได้ยากด้วยอาการเพียงเห็นรูปร่าง เว้นแต่การอยู่ร่วมกัน จึงกล่าวคาถาว่า) [๖๗] สภาวะที่ปกปิดไว้ด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ บุคคลจะรู้ได้อย่างไรว่า ประเสริฐกว่า เสมอกัน หรือเลวกว่า เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายย่อมเที่ยวไปด้วยสภาวะที่ผิดรูป เพราะเหตุนั้น บุคคลควรอดทนถ้อยคำของคนทั้งปวง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

(เมื่อท้าวสักกะหมดความสงสัย พระมหาสัตว์สรภังคดาบสจึงกล่าวคาถาทูลว่า) [๖๘] สัตบุรุษผู้มีขันติพึงได้ประโยชน์อันใด ประโยชน์นั้นเสนาแม้หมู่ใหญ่พร้อมด้วยพระราชารบอยู่ก็ไม่พึงได้ เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับได้ด้วยกำลังแห่งขันติ (ต่อมาท้าวสักกเทวราชทรงทราบอัธยาศัยของพระราชาทั้งหลายแล้วจึงตรัสถาม ความสงสัยของพระราชาเหล่านั้นว่า) [๖๙] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกถึงคติของพระราชาทั้งหลาย ผู้กระทำบาปกรรมอันร้ายแรง คือ พระเจ้าทัณฑกี ๑ พระเจ้านาฬิกีระ ๑ พระเจ้าอัชชุนะ ๑ พระเจ้ากลาพุ ๑ พระราชาทั้งหลายเหล่านั้นเบียดเบียนฤๅษี พากันไปเกิด ณ ที่ไหน (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบปัญหาของท้าวสักกะว่า) [๗๐] ก็พระเจ้าทัณฑกีได้ลงโทษกีสวัจฉดาบส เป็นผู้ตัดมูลราก พร้อมทั้งอาณาประชาราษฏร์หมกไหม้อยู่ในนรกชื่อกุกกุฬะ ถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวเพลิงตกต้องกายของพระองค์ [๗๑] พระราชาพระองค์ใดได้ทรงเบียดเบียนบรรพชิตทั้งหลาย ผู้สำรวม ผู้กล่าวธรรม ผู้สงบ ไม่ประทุษร้าย พระราชาพระองค์นั้นทรงพระนามว่า พระเจ้านาฬิกีระ สุนัขทั้งหลายพากันรุมกัดกิน ทรงดิ้นรนอยู่ในปรโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

[๗๒] อนึ่ง พระเจ้าอัชชุนะทรงตกนรกชื่อสัตติสูละ ทรงมีพระเศียรห้อยลง พระบาทชี้ขึ้นเบื้องบน เพราะทรงเบียดเบียนพระอังคีรสโคตมฤๅษีผู้มีขันติ มีตบะ ประพฤติพรหมจรรย์มาช้านาน [๗๓] อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดได้ทรงตัดบรรพชิตผู้กล่าวขันติ ผู้สงบ ไม่ประทุษร้าย ขาดออกเป็นท่อนๆ พระราชาพระองค์นั้นทรงพระนามว่าพระเจ้ากลาพุ ตกอเวจีมหานรกซึ่งมีความร้อนร้ายแรง มีเวทนาเผ็ดร้อน น่าหวาดกลัว หมกไหม้อยู่ [๗๔] บัณฑิตได้ฟังเรื่องนรกเหล่านี้ และนรกเหล่าอื่นที่ชั่วช้ากว่านี้ ณ ที่นี่แล้ว พึงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้กระทำอย่างนี้ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ (ท้าวสักกะตรัสถามปัญหา ๔ ข้อที่เหลือว่า) [๗๕] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น บัณฑิตเรียกคนเช่นไรว่า มีศีล เรียกคนเช่นไรว่า มีปัญญา เรียกคนเช่นไรว่า สัตบุรุษ สิริย่อมไม่ละคนเช่นไรหนอ (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบปัญหาของท้าวสักกะว่า) [๗๖] บุคคลใดในโลกนี้ สำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ทำบาปกรรมอะไร ไม่พูดเหลาะแหละเพราะเหตุแห่งตน บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีศีล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

[๗๗] บุคคลใดคิดปัญหาที่ลึกซึ้งได้ด้วยใจ ไม่ทำกรรมอันหยาบช้าซึ่งหาประโยชน์เกื้อกูลมิได้ ไม่ตัดรอนประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสียไป บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีปัญญา [๗๘] บุคคลใดเป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นปราชญ์ มีกัลยาณมิตร และมีความภักดีมั่นคง ช่วยกระทำกิจของมิตรที่ตกยากด้วยความเต็มใจ บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า สัตบุรุษ [๗๙] บุคคลใดประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งปวงเหล่านี้ มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทานด้วยดี รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สิริย่อมไม่ละคนเช่นนั้น ผู้มีปกติสงเคราะห์ มีวาจาอ่อนหวาน สละสลวย (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๘๐] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น ศีล ๑ สิริ ๑ ธรรมของสัตบุรุษ ๑ ปัญญา ๑ บัณฑิตกล่าวข้อไหนว่า ประเสริฐกว่า (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบว่า) [๘๑] ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐที่สุด ดุจดวงจันทร์ราชาแห่งนักษัตรประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย ศีล สิริ และแม้ธรรมของสัตบุรุษย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญา (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๘๒] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น บุคคลในโลกนี้กระทำอย่างไร กระทำกรรมอะไร ประพฤติกรรมอะไร คบหาคนอย่างไร จึงจะได้ปัญญา บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกปฏิปทาแห่งปัญญาว่า บุคคลกระทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญา (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสกล่าวว่า) [๘๓] บุคคลควรคบหาท่านผู้เจริญด้วยปัญญา มีความรู้ละเอียดลออเป็นพหูสูต ควรศึกษาเล่าเรียน สอบถาม ฟังคำสุภาษิตโดยเคารพ บุคคลกระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญา [๘๔] ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นกามคุณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และโดยความเป็นโรค เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้ จึงละความพอใจในกามทั้งหลาย ซึ่งเป็นทุกข์เป็นภัยอันใหญ่หลวงเสียได้ [๘๕] เขาปราศจากราคะแล้ว พึงกำจัดโทสะได้ เจริญเมตตาจิตหาประมาณมิได้ วางอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก เป็นผู้ไม่ถูกนินทา เข้าถึงพรหมสถาน (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสทราบว่า พระราชาทั้ง ๓ พระองค์ละความกำหนัด ยินดีในเบญจกามคุณได้แล้ว จึงกล่าวคาถาด้วยอำนาจความร่าเริงของพระราชา เหล่านั้นว่า) [๘๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรอัฏฐกะ การเสด็จมาของพระองค์ ของพระเจ้าภีมรถ และของพระเจ้ากาลิงคะผู้มีพระยศระบือไปทั่ว ได้มีความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ทุกพระองค์ทรงละกามราคะได้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

(พระราชาทั้งหลายทรงชมเชยพระมหาสัตว์สรภังคดาบสว่า) [๘๗] พระคุณเจ้ารู้จิตของผู้อื่นว่า โยมทุกคนละกามราคะได้แล้ว ข้อนั้นเป็นจริงอย่างนั้นแหละ ขอพระคุณเจ้าจงกระทำโอกาสเพื่ออนุเคราะห์ โดยประการที่โยมทุกคนจะบรรลุถึงคติของพระคุณเจ้าเถิด (พระมหาสัตว์สรภังคดาบสให้โอกาสแก่พระราชาทั้ง ๓ พระองค์ว่า) [๘๘] อาตมาจะกระทำโอกาสเพื่ออนุเคราะห์ เพราะมหาบพิตรทั้งหลายทรงละกามราคะได้แล้วอย่างแท้จริง ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงแผ่ปีติที่ไพบูลย์ให้แผ่ซ่านไปทั่วพระวรกาย โดยประการที่จะบรรลุถึงคติของอาตมาเถิด (พระราชาเหล่านั้นเมื่อจะทรงยอมรับ จึงได้ตรัสว่า) [๘๙] ท่านผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน พระคุณเจ้าจะกล่าวคำใดใด โยมทั้งหลายจะกระทำตามคำพร่ำสอนของพระคุณเจ้านั้นทุกอย่าง จะแผ่ปีติที่ไพบูลย์ไปทั่วกาย โดยประการที่จะบรรลุถึงคติของพระคุณเจ้า (ลำดับนั้น พระมหาสัตว์สรภังคดาบสให้พระราชาเหล่านั้นพร้อมทั้งพลนิกาย บวช เมื่อจะส่งหมู่ฤๅษีไป จึงกล่าวว่า) [๙๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราทำการบูชา กีสวัจฉดาบสอย่างนี้แล้ว ขอฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดี จงไปยังที่อยู่ของตนเถิด ท่านทั้งหลายจงยินดีในฌาน มีจิตตั้งมั่นในกาลทุกเมื่อ ความยินดีนั้นเป็นคุณชาติประเสริฐสุดสำหรับบรรพชิต (พระศาสดาทรงทราบความนี้แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า) [๙๑] ครั้นได้สดับคาถาซึ่งประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ฤๅษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้ว เทวดาทั้งหลายผู้มียศเหล่านั้น เกิดปีติและโสมนัสอนุโมทนาอยู่ ได้พากันหลีกไปยังเทพบุรี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)

[๙๒] คาถาที่ฤๅษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้วเหล่านี้ มีอรรถและพยัญชนะอันดีงาม ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสดับคาถาเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ พึงได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ครั้นได้แล้ว พึงบรรลุสถานที่ที่พญามัจจุราชมองไม่เห็น (พระศาสดาครั้นทรงรวบยอดเทศนาด้วยพระอรหัตอย่างนี้แล้วประกาศ สัจจะทั้งหลาย ทรงประชุมชาดกว่า) [๙๓] สาลิสสรดาบสคือสารีบุตร เมณฑิสสรดาบสคือกัสสปะ ปัพพตดาบสคืออนุรุทธะ เทวิลดาบสคือกัจจายนะ [๙๔] อนุสิสสดาบสคืออานนท์ กีสวัจฉดาบสคือโกลิตะ นารทดาบสคืออุทายีเถระ บริษัททั้งหลายคือพุทธบริษัท ส่วนสรภังคโพธิสัตว์คือเราตถาคต เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้แล
สรภังคชาดกที่ ๒ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๖๐๒-๖๑๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=27&A=17165 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=522              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=10186&Z=10323&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2446              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_27 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27 https://84000.org/tipitaka/english/?index_27


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]