ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส๑-
ว่าด้วยปัญหาของภัทราวุธมาณพ
[๗๐] (ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้) ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์ ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้ ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว ละการกำหนด มีพระปัญญาดี ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว จึงจักกลับไปจากที่นี้ (๑) คำว่า ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ในคำว่า ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้ ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว อธิบายว่า ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย๒- และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไป ตั้งมั่นถือมั่นนอนเนื่องในรูปธาตุ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอัน เป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นนอนเนื่องในเวทนาธาตุ ฯลฯ ในสัญญาธาตุ ฯลฯ ในสังขารธาตุ ฯลฯ ในวิญญาณธาตุ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ คำว่า ตัดตัณหาได้ อธิบายว่า คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ตัณหานั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตัดแล้ว คือ @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๐๘-๑๑๑๑/๕๔๖ @ อุบาย ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฎฐิ (ขุ.จู.อ. ๗๐/๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

ตัดขาดแล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าตัดตัณหาได้ คำว่า ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า เหตุให้ หวั่นไหว ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑- ตัณหาเหตุให้หวั่นไหวนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว คือ ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว เพราะ เป็นผู้ละตัณหาเหตุให้หวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว พระผู้มี- พระภาค ไม่ทรงหวั่นไหว คือ ไม่ทรงสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะได้สุข เพราะทุกข์บ้าง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มี ตัณหาเหตุให้หวั่นไหว รวมความว่า ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้ ไม่ มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง คำว่า ภัทราวุธ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๒- รวมความว่า ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้ คำว่า ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลิน ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ความเพลิดเพลินคือตัณหานั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว คือ ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไป แล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่า ละความเพลิดเพลินได้ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑ @ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า ข้ามห้วงกิเลสได้ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นแล้วซึ่งกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทั้งปวง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ พระองค์ไม่มี การเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว คำว่า หลุดพ้นแล้ว อธิบายว่า จิตของพระผู้มีพระภาคพ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้ว หลุดพ้นไปด้วยดีแล้วจากราคะ จิตของพระผู้พระภาคพ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้ว หลุดพ้นไปด้วยดีแล้วจากโทสะ จิตของพระผู้มีพระภาคพ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้ว หลุดพ้นไปด้วยดีแล้วจากโมหะ จิตของพระผู้มีพระภาคพ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้ว หลุดพ้นไปด้วยดีแล้วจากโกธะ อุปนาหะ ฯลฯ จากอกุสลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า ละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนา ... ละการกำหนด มีพระปัญญาดี อธิบายว่า คำว่า การกำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนด ด้วยอำนาจตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการกำหนด ด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทรงละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าละการกำหนด คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนา ได้แก่ ทูลขอ ทูลอาราธนา คือ อัญเชิญ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย พอใจ มุ่งหวัง คำว่า มีพระปัญญาดี อธิบายว่า ปัญญาตรัสเรียกว่า เมธา (ปัญญาเครื่อง ทำลายกิเลส) ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความ เลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑- @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยปัญญาเครื่องทำลายกิเลสนี้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่ามีพระปัญญาดี รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนา ... ละการกำหนด มีพระปัญญญาดี คำว่า ผู้นาคะ๑- ในคำว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้ นาคะแล้ว จึงจักกลับไปจากที่นี้ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงทำความชั่ว พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงถึง พระผู้มี พระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา ฯลฯ พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา เป็นอย่างนี้ คำว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้วจึงจักกลับ ไปจากที่นี้๒- อธิบายว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟัง คือ ครั้นได้สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดแล้วซึ่งพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำ พร่ำสอนของพระองค์ จึงจักกลับ คือ ดำเนินไป จากไป ไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่จากที่นี้ รวมความว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้วจึงจักกลับไป จากที่นี้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า (ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้) ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์ ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้ ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ทรงละความเพลิดเพลินได้ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว ละการกำหนด มีพระปัญญาดี ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว จึงจักกลับไปจากที่นี้ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๗/๑๔๕-๑๔๖ @ จากที่นี้ ในที่นี้หมายถึง จากปาสาณกเจดีย์ (ขุ.จู.อ. ๗๐/๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

[๗๑] (ท่านภัทราวุธทูลถามว่า) ข้าแต่พระวีระ ชนต่างๆ จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง) พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา) แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๒) คำว่า ชนต่างๆ ในคำว่า ชนต่างๆ จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน (ในที่นี้) ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา และมนุษย์ คำว่า จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) อธิบายว่า จากแคว้นอังคะ มคธ กลิงคะ กาสี โกศล วัชชี มัลละ วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี โยนะ(คันธาระ) และกัมโพชะ คำว่า มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) อธิบายว่า มาชุมนุมกัน คือ มาพร้อมกัน มารวมกัน มาประชุมกัน (ในที่นี้) รวมความว่า ชนต่างๆ จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน (ในที่นี้)
ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าวีระ
คำว่า ข้าแต่พระวีระ ในคำว่า ข้าแต่พระวีระ ... หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะ ได้ฟัง)พระดำรัสของพระองค์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้วีระ มีพระวิริยะ จึงชื่อว่าวีระ พระผู้มีพระภาคทรงองอาจ จึงชื่อว่าวีระ พระผู้มีพระภาคทรงให้ผู้อื่นพากเพียร จึงชื่อว่าวีระ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ จึงชื่อว่าวีระ พระผู้มีพระภาคทรงหมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าวีระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

พระผู้มีพระภาคทรงเว้นขาดจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้ ก้าวล่วงทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร ทรงมีความเพียร มีความมุ่งมั่น แกล้วกล้า มั่นคง เรียกได้ว่า ทรงเป็นอย่างนั้น คำว่า ข้าแต่พระวีระ...หวังเป็นอย่างยิ่ง (ที่จะได้ฟัง) พระดำรัสของ พระองค์ ได้แก่ พระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำพร่ำสอน คำว่า หวังเป็นอย่างยิ่ง อธิบายว่า หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง) คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า ข้าแต่พระวีระ ... หวังเป็นอย่างยิ่ง (ที่จะได้ฟัง) พระดำรัสของพระองค์ คำว่า แก่ชนเหล่านั้น ในคำว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)แก่ชน เหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า แก่ชนเหล่านั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์ คำว่า พระองค์ เป็นคำที่พราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค คำว่า โปรดพยากรณ์(ปัญหา) ... ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า ขอ พระองค์โปรดตรัสบอก คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด รวมความว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)แก่ชน เหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด คำว่า เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะว่า พระองค์ทรงทราบแล้ว คือ ทรงรู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้ กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว รวมความว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา) แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่งแจ้งด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระวีระ ชนต่างๆ จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง) พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา) แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

[๗๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ) นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใดๆ ในโลก มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล (๓) คำว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง อธิบายว่า รูปตัณหา ตรัส เรียกว่า เครื่องยึดมั่น คำว่า เครื่องยึดมั่น อธิบายว่า รูปตัณหา ท่านเรียกว่าเครื่องยึดมั่น เพราะเหตุไร เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูปด้วยตัณหานั้น ฯลฯ ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ เพราะเหตุนั้น รูปตัณหาเป็นต้นนั้น ท่านจึงเรียกว่า เครื่องยึดมั่น คำว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง อธิบายว่า นรชนควรทำลาย คือ พึงขจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งเครื่องยึดมั่นทั้งหมด รวมความว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง คำว่า ภัทราวุธ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ เป็นคำที่ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ คำว่า ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง อธิบายว่า อนาคต ตรัสเรียกว่าชั้นสูง อดีต ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ ปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง กุศลธรรม ตรัสเรียกว่าชั้นสูง อกุศลธรรม ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ อัพยากตธรรม ตรัสเรียกว่าชั้นกลาง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

เทวโลก ตรัสเรียกว่าชั้นสูง อบายโลก ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ มนุษยโลก ตรัส เรียกว่าชั้นกลาง สุขเวทนา ตรัสเรียกว่าชั้นสูง ทุกขเวทนา ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ อทุกขมสุขเวทนา ตรัสเรียกว่าชั้นกลาง อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่าชั้นสูง กามธาตุ ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ รูปธาตุ ตรัส เรียกว่าชั้นกลาง เบื้องสูงจากฝ่าเท้าขึ้นไป ตรัสเรียกว่าชั้นสูง เบื้องต่ำจากปลายผมลงมา ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ ตรงกลาง ตรัสเรียกว่าชั้นกลาง รวมความว่า ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง คำว่า เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใดๆ ในโลก อธิบายว่า เพราะ สัตว์ทั้งหลายยึดถือ เข้าไปยึดถือ คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใดๆ คำว่า ในโลก อธิบายว่า ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๑- รวมความว่า เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใดๆ ในโลก คำว่า มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล อธิบายว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปบัติมาร ปฏิสนธิมาร ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร อันมีในปฏิสนธิ ย่อมติดตาม คือ ไปตาม เป็นผู้ติดตามไปด้วยอำนาจ กัมมาภิสังขารนั้นนั่นเอง คำว่า สัตว์ ได้แก่ ผู้ข้อง ชน นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ รวมความว่า มารย่อมติดตามสัตว์เพราะ สิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ) นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใดๆ ในโลก มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล [๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดเพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้ ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราชว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น ควรเป็นผู้มีสติ ไม่พึงเข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง (๔) คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด... ไม่พึงเข้าไป ยึดถือ อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น ภิกษุเมื่อมองเห็นโทษแห่งตัณหาเครื่องยึดมั่นนี้ รวมความว่า เพราะฉะนั้น คำว่า เมื่อรู้ชัด อธิบายว่า รู้อยู่ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอยู่ ได้แก่ รู้อยู่ รู้ชัด รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” คำว่า ไม่พึงเข้าไปยึดถือ อธิบายว่า ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ไม่พึงถือ ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่นรูป ฯลฯ ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ไม่พึงถือ ไม่ พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ รวมความว่า เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด ... ไม่พึงเข้าไปยึดถือ คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ ... เครื่องกังวลในโลก ทั้งปวง ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นเสขะ คำว่า ควรเป็นผู้มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ รวมความว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

คำว่า เครื่องกังวล ได้แก่ ขันธ์ที่เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณไรๆ คำว่า ในโลกทั้งปวง ได้แก่ ในอบายโลกทั้งปวง ในมนุษยโลกทั้งปวง ในเทวโลกทั้งปวง ในขันธโลกทั้งปวง ในธาตุโลกทั้งปวง ในอายตนโลกทั้งปวง รวมความว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ ... เครื่องกังวล ในโลกทั้งปวง คำว่า เพ่งพิจารณา ... ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น อธิบายว่า ชนเหล่าใดยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ฯลฯ ได้แก่ ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า ผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น คำว่า ว่า เป็นคำสนธิ ฯลฯ คำว่า ว่า นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลัง เข้าด้วยกัน คำว่า เพ่งพิจารณา ได้แก่ เพ่งพิจารณา แลเห็น มองเห็น เห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณา รวมความว่า เพ่งพิจารณา ... ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า หมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช เป็นชื่อของ สัตว์ คำว่า บ่วงแห่งมัจจุราช อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร เรียกว่า บ่วงแห่งมัจจุราช หมู่สัตว์ ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในบ่วงแห่งมัจจุราช คือ บ่วงแห่งมาร บ่วงแห่งมรณะ อธิบายว่า สิ่งของที่ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน ติดตรึงอยู่ที่ตะปูข้างฝา หรือที่เครื่องแขวนทำด้วยงาช้าง ฉันใด หมู่สัตว์ ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในบ่วงแห่งมัจจุราช คือบ่วงแห่งมาร บ่วงแห่งมรณะ ฉันนั้น รวมความว่า หมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช ด้วย เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส

เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดเพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้ ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราชว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น ควรเป็นผู้มีสติ ไม่พึงเข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ ภัทราวุธมาณพ ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒๖๗}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๒๕๗-๒๖๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=30&A=7429 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=30&siri=31              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=3783&Z=3982&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=413              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]