ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๙๒. อาปัตติปฏิกัมมวิธี

๙๒. อาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขอาบัติ
เรื่องภิกษุต้องอาบัติในวันอุโบสถ
[๑๖๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติในวันอุโบสถนั้น ภิกษุนั้นได้มี ความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงทำ อุโบสถ ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุ ต้องอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ผมต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น ขอรับ ภิกษุผู้รับพึงถามว่า “ท่านเห็นหรือ” ภิกษุผู้แสดงพึงตอบว่า “ขอรับ ผมเห็น” ภิกษุผู้รับพึงถามว่า “ท่านพึงสำรวมต่อไป”
ไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุมีความไม่แน่ใจ ในอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่งประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจในอาบัติมีชื่อนี้ ขอรับ เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจ จักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วทำอุโบสถ ฟังปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
เรื่องแสดงสภาคาบัติ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แสดงสภาคาบัติ๑- ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ @เชิงอรรถ : @ สภาคาบัติ แปลว่า อาบัติที่มีวัตถุเสมอกัน เช่นภิกษุ ๒ รูปต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนาหารในเวลา @วิกาลเหมือนกัน อาบัติที่ภิกษุต้องเพราะความผิดเดียวกันอย่างนี้ เรียกว่า สภาคาบัติ (วิ.อ. ๓/๑๖๗/๑๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๕๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๙๓. อาปัตติอาวิกรณวิธิ

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงแสดงสภาคาบัติ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รับการแสดงสภาคาบัติ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงรับการแสดงสภาคาบัติ รูปใด รับ ต้องอาบัติทุกกฏ”
๙๓. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
ว่าด้วยวิธีเปิดเผยอาบัติ
เรื่องระลึกอาบัติได้เมื่อจะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
[๑๗๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งระลึกอาบัติได้ เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุนั้นมีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่ พึงทำอุโบสถ ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ ขึ้นแสดง ภิกษุระลึกอาบัติได้ ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า ผมต้อง อาบัติชื่อนี้ ขอรับ ผมลุกจากที่นี้แล้วจักทำคืนอาบัตินั้น แล้วทำอุโบสถ ฟัง ปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีความไม่แน่ใจในอาบัติ เมื่อกำลังยก ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียง๑- อย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจใน อาบัติมีชื่อนี้ ขอรับ เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจจักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วทำอุโบสถ ฟังปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย @เชิงอรรถ : @ ภิกษุใกล้เคียง หมายถึงภิกษุที่ชอบพอกัน (วิ.อ. ๓/๑๗๐/๑๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๕๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ

๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขสภาคาบัติ
เรื่องสงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ
[๑๗๑] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์ทั้งหมดต้อง สภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่พึงแสดงสภาคาบัติ ไม่พึงรับการแสดงสภาคาบัติ ก็สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้อง สภาคาบัติแล้ว พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี พระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยัง อาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัติ นั้นมาเถิด พวกเราจักทำคืนอาบัติในสำนักของท่าน” ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้องสภาคาบัติแล้ว เมื่อพบ ภิกษุรูปอื่นผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ ก็จักทำคืนอาบัตินั้นในสำนักของภิกษุรูปนั้นดังนี้ แล้วทำอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะ ข้อนั้นเป็นปัจจัย
สงฆ์ทั้งหมดไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์ ทั้งหมดไม่แน่ใจในสภาคาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๕๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ

ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้มีความไม่แน่ใจในสภาคาบัติ เมื่อหมดความไม่แน่ใจ ก็จักทำคืนอาบัตินั้น ดังนี้ แล้วทำอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์ ขึ้นแสดง แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สงฆ์เข้าจำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่งต้อง สภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทัน ในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัตินั้นมาเถิด พวกเราจักทำคืนอาบัติ นั้นในสำนักของท่าน ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงส่งภิกษุรูปหนึ่ง ไปชั่ว เวลา ๗ วัน ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัตินั้นมาเถิด พวกเรา จักทำคืน อาบัตินั้นในสำนักของท่าน”
เรื่องไม่รู้จักชื่อและโคตรอาบัติ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จัก ชื่อและโคตร๑- ของอาบัตินั้น ภิกษุรูปอื่นเป็นพหูสูต ชำนาญปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัด ระวัง ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุพหูสูตรูปนั้นเรียน ถามว่า “ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ” ภิกษุพหูสูตตอบว่า “ท่าน ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้อง อาบัติชื่อนี้ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย” ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “มิใช่แต่ผมรูปเดียวเท่านั้นที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ สงฆ์หมู่นี้ทั้งหมดต้องอาบัตินี้” ภิกษุพหูสูตนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปอื่นต้องอาบัติก็ตาม ไม่ต้อง อาบัติก็ตาม จะช่วยอะไรท่านได้ ท่านจงออกจากอาบัติของตนเถิด” @เชิงอรรถ : @ หมายถึงกลุ่มหรือหมวดของอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๕๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธี

ต่อมา ภิกษุนั้นก็ได้ทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุพหูสูตรูปนั้น แล้วเข้าไป หาภิกษุเหล่านั้นเรียนชี้แจงว่า “ท่านทั้งหลาย ทราบมาว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้ และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านทั้งหลายต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอรับ จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย” ภิกษุเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุรูปนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จักชื่อและโคตรของอาบัตินั้น ภิกษุรูป อื่นเป็นพหูสูต ชำนาญในปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุพหูสูตรูปนั้นเรียนถามว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ” ภิกษุพหูสูตกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูป นั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย” ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “มิใช่แต่ผมรูปเดียวเท่านั้นที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ สงฆ์หมู่นี้ ทั้งหมดต้องอาบัตินี้” ภิกษุพหูสูตนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปอื่นต้องอาบัติก็ตาม ไม่ต้อง อาบัติก็ตาม จะช่วยอะไรท่านได้ ท่านจงออกจากอาบัติของตนเถิด” ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรูปนั้นได้ทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุพหูสูตรูปนั้น แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเรียนชี้แจงว่า “ท่านทั้งหลาย ทราบมาว่า ภิกษุรูปใด ทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านทั้งหลายต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอรับ จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย” ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นจะพึงทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทำคืน ภิกษุรูปนั้น ไม่พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นผู้ไม่ ปรารถนาจะทำคืน
โจทนาวัตถุภาณวาร จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๖๐}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๕๖-๒๖๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=4&A=7152 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=4&siri=63              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=4937&Z=5033&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=186              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]