ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ว่าด้วยเมณฑกคหบดีถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง
[๒๙๖] สมัยนั้น เมณฑกคหบดีอยู่ในเมืองภัททิยะ ท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตก จากอากาศเต็มฉาง @เชิงอรรถ : @ กัปปิยภูมิ ๔ เป็นชื่อเรียกสถานที่เก็บโภชนาหารสำหรับภิกษุสงฆ์ มีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้ @๑. อุสสาวนันติกา แปลว่า กัปปิยภูมิที่ประกาศให้ได้ยินกัน ได้แก่ กุฎีที่ภิกษุทั้งหลายตั้งใจจะให้เป็น @กัปปิยกุฎี เป็นเรือนที่ใช้เป็นห้องครัวมาตั้งแต่แรก คือ เมื่อขณะทำ ก็ช่วยกันทำโดยประกาศให้ได้ยินทั่วกัน @๓ ครั้งว่า “กปฺปิยกุฏึ กโรม” แปลว่า “เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี” @๒. โคนิสาทิกา แปลว่า กัปปิยภูมิเหมือนกับที่โคจ่อม ได้แก่ สถานที่ไม่มีรั้วล้อม แบ่งออกเป็น ๒ @ประเภท คือ วัดที่ไม่มีรั้วล้อม เรียกว่า อารามโคนิสาทิกา กุฎีที่ไม่มีรั้วล้อม เรียกว่า วิหารโคนิสาทิกา @โดยความก็คือ เรือนครัวเล็กๆ ที่ไม่ลงหลักปักฐานมั่นคง สามารถเคลื่อนย้ายได้ @๓. คหปติกา เรือนของคหบดี ได้แก่ เรือนของพวกชาวบ้าน เขาถวายให้ภิกษุสงฆ์เพื่อใช้เป็นกัปปิยกุฎี @สถานที่นั้นอาจเคยเป็นที่อยู่ของภิกษุมาก่อน โดยสวดประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า @จะใช้ที่แห่งนี้เป็นกัปปิยกุฎีหรือกัปปิยภูมิ @๔. สัมมติกา แปลว่า กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ สถานที่หรือกุฎีที่ภิกษุทั้งหลายตกลงกันเลือก @ใช้เป็นกัปปิยกุฎี สถานที่นั้นอาจเคยเป็นที่อยู่ของภิกษุมาก่อน โดยสวดประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ @ทุติยกรรมวาจาว่า จะใช้ที่แห่งนี้เป็นกัปปิยกุฎีหรือเป็นกัปปิยภูมิ (วิ.อ. ๓/๒๙๕/๑๘๒-๑๘๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ

ภรรยาของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑ อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกง ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่ทาสและ กรรมกรได้ ภัตตาหารนั้นย่อมไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น บุตรของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ ถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียวแล้ว แจกค่าจ้างกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่ ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้ของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้กระบุงที่จุข้าว ๔ ทะนานเพียง ใบเดียวแล้วแจกภัตตาหารกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ภัตตาหารไม่หมดสิ้นไป ตลอดเวลาที่เธอยังไม่ลุกขึ้น ทาสของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถ ถึง ๗ รอย พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงสดับข่าวว่า “เมณฑกคหบดีอยู่ใน เมืองภัททิยะ เขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่ นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง ภรรยาของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑ อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกง ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่ทาสและ กรรมกรได้ ภัตตาหารนั้นย่อมไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น บุตรของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ ถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียว แล้วแจกค่าจ้างกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลา ที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้ของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้กระบุงที่จุข้าว ๔ ทะนานเพียงใบ เดียวแล้วแจกภัตตาหารกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ภัตตาหารนั้นไม่หมดสิ้นไป ตลอดเวลาที่เธอยังไม่ลุกขึ้น ทาสของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถ ถึง ๗ รอย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ

ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ตรัสเรียกมหาอมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจ มารับสั่งว่า “ท่าน เมณฑกคหบดีอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของเรา เขามีฤทธานุภาพ อย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหล ตกจากอากาศเต็มฉาง ภรรยาของเขา ฯลฯ บุตรของเขา ฯลฯ สะใภ้ของเขา ฯลฯ ทาสของเขา มีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย ท่าน จงไปสืบดูให้รู้เห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นด้วยตนเอง” [๒๙๗] มหาอมาตย์รับสนองพระราชดำรัสแล้ว ออกเดินทางพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่าไปยังเมืองภัททิยะ เข้าไปหาเมณฑกคหบดีถึงที่พำนัก ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าว กับเมณฑกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี พระราชารับสั่งข้าพเจ้ามาว่า ‘ทราบว่าเมณฑก คหบดีอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของเรา เขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้ กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง ภรรยา ของเขา ฯลฯ บุตรของเขา ฯลฯ สะใภ้ของเขา ฯลฯ ทาสของเขา มีฤทธานุภาพ อย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย ท่านจงไปสืบดูให้ รู้เห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นด้วยตนเอง’ คหบดี พวกเราจะดูฤทธานุภาพของท่าน” ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าวนั่งอยู่นอกประตู สาย ธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของท่านแล้ว ขอชมฤทธานุ- ภาพของภรรยาท่าน” ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งภรรยาว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงเลี้ยงอาหารแก่เสนา ทั้ง ๔ เหล่า” ภรรยาของท่านนั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑ อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกงอีก ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ภัตตาหารนั้น ไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของภรรยาท่านแล้ว ขอชม ฤทธานุภาพของบุตรท่าน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ

ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งบุตรว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงแจกค่าจ้างกลางปี แก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า” บุตรของเมณฑกคหบดีถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียว แล้วแจกค่าจ้าง กลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ ในมือของเขา มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของบุตรท่านแล้ว ขอชม ฤทธานุภาพของสะใภ้ท่าน” ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งสะใภ้ว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงแจกภัตตาหาร กลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า” สะใภ้ของเมณฑกคหบดีนั่งใกล้กระบุงที่จุข้าวได้ ๔ ทะนานเพียงใบเดียว แล้ว แจกภัตตาหารกลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ภัตตาหารนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลา ที่นางยังไม่ลุกขึ้น มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของสะใภ้ท่านแล้ว ขอชม ฤทธานุภาพของทาสท่าน” ท่านเมณฑกคหบดีกล่าวว่า “นาย ท่านต้องไปชมฤทธานุภาพของทาสข้าพเจ้า ที่นา ขอรับ” มหาอมาตย์กล่าวว่า “ไม่ต้องละ ข้าพเจ้าได้เห็นฤทธานุภาพของทาสท่านแล้ว” ครั้นเสร็จราชการนั้น มหาอมาตย์จึงเดินทางกลับถึงกรุงราชคฤห์พร้อมกับเสนา ๔ เหล่า ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วกราบ ทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ [๒๙๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางเมืองภัททิยะพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑,๒๕๐ รูป พระผู้มี พระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมืองภัททิยะ ทราบว่า พระผู้มีพระภาค ประทับ อยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ในเมืองภัททิยะนั้น เมณฑกคหบดีได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวช จากศากยตระกูล เสด็จถึงเมืองภัททิยะ ประทับอยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ท่านพระโคดม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ

ผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็น ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”๑- พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้ อื่นรู้ตามทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง” ครั้งนั้น เมณฑกคหบดี ให้จัดแจงยานพาหนะคันงาม ขึ้นยานพาหนะคันงาม มียานพาหนะคันงามหลายคันเดินทางออกจากเมืองภัททิยะเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เดียรถีย์จำนวนมากเห็นเมณฑกคหบดีมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับเมณฑก คหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านจะไปไหน” เมณฑกคหบดีกล่าวว่า “จะไปเฝ้าพระสมณโคดม เจ้าข้า” พวกเดียรถีย์กล่าวว่า “ท่านเป็นพวกสอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปหาพระสมณโคดม ผู้สอนไม่ให้ทำเล่า เพราะพระสมณโคดม เป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อ การไม่ให้ทำทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น” ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคจะต้องเป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ ดังนั้นพวกเดียรถีย์จึงพากันริษยา” แล้วออกเดินทาง ไปด้วยยานตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้ แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ @เชิงอรรถ : @ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑/๑-๒ (เชิงอรรถ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ

๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เมณฑกคหบดี ผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร เมื่อทรงทราบว่าเมณฑกคหบดีนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่เมณฑก คหบดีนั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวงย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้ แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย ประการต่างๆ เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้ หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูป’ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้น ไปจนตลอดชีวิต และขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารของ ข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุก จากอาสนะถวายบังคม ทำประทักษิณแล้วกลับไป โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้นได้จัด เตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระ ภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ

ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปที่นิเวศน์ของเมณฑกคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ครั้งนั้นภรรยา บุตร สะใภ้ และทาสของคหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา ๒. สีลกถา ๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา ๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่คนเหล่านั้น เมื่อทรงทราบว่าคนเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่คนเหล่านั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับ ไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็น อย่างดี ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่ง ลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้ว กล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตาม ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักมองเห็นรูป’ พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า พระองค์ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้าม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา

ภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ตลอดเวลาที่พระองค์ยังประทับอยู่ในเมืองภัททิยะ ข้าพระ องค์ขอถวายภัตตาหารเป็นประจำแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยาก รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี กถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตปัญจโครสเป็นต้น
[๒๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองภัททิยะตามพระอัธยาศัย แล้ว ไม่ทรงบอกเมณฑกคหบดี เสด็จจาริกไปทางอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกคหบดีได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่อังคุตตราปะพร้อม กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ลำดับนั้น จึงสั่งทาสและกรรมกรไปว่า “ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มากๆ พวกคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงต้อนแม่โค ๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจะเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ที่ยังอุ่นในที่ที่เราได้ เฝ้าพระผู้มีพระภาค” ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาคระหว่างทางกันดาร จึงเข้าไป เฝ้าถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา

ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุก จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป โดยล่วงไป แห่งราตรีนั้นเขาให้จัดเตรียมโภชนาหารอันประณีตแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มี พระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปที่จัดเลี้ยง ของคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ คหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนไปว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงช่วยกัน จับแม่โคนมคนละตัวแล้วยืนใกล้ภิกษุรูปละคนๆ เราจะเลี้ยงพระด้วยนมสดรีดใหม่ ที่ยังอุ่น” แล้วนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีดด้วยตนเอง ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเองกระทั่งอิ่มหนำ ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัส ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด” ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีด ด้วยมือตนเอง ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่ง พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึง ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ในหนทางกันดาร อัตคัดน้ำอัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไปต้องลำบาก ขอประทานวโรกาส เถิด พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุด้วยเถิด พระพุทธ- เจ้าข้า” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยากรับ ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ ชนิด คือ นมสด นมเปรี้ยว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

เปรียง เนยข้น และเนยใส ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัด อาหารมีอยู่ ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไป ต้องลำบาก เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ผู้ต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ผู้ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว ผู้ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ผู้ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ผู้ ต้องการน้ำอ้อยงบพึงแสวงหาน้ำอ้อยงบ ผู้ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ผู้ ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ศรัทธาเลื่อมใส มอบเงินและทองไว้แก่กัปปิยการกกล่าวว่า ‘สิ่งใดควรแก่พระคุณเจ้า จงถวายสิ่งนั้น จากกัปปิยภัณฑ์นี้’ ดังนี้ก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดควรจากกัปปิยภัณฑ์นั้น เรา อนุญาตให้ยินดีสิ่งนั้นได้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงิน ไม่ว่ากรณีใดๆ”

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๒๐-๑๒๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=5&A=3205 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=23              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=2169&Z=2363&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=83              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5 https://84000.org/tipitaka/english/?index_5


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]