ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

สุภัททปริพาชก ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วแล เมื่อท่านสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่๑- ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ จึงเป็นอันว่าท่านสุภัททะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านได้เป็นสักขิสาวก๒- องค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค
ภาณวารที่ ๕ จบ
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต
[๒๑๖] ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ‘ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา’ ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอ ทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ภิกษุไม่ควรเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า ‘อาวุโส‘๓- เหมือนดังที่เรียกกันตอนนี้ ภิกษุผู้แก่กว่าพึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือตระกูล โดยวาทะว่า ‘อาวุโส’ ก็ได้ ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ‘ภันเต’ หรือ @เชิงอรรถ : @ อุทิศกายและใจอยู ในที่นี้หมายถึงมุ่งที่จะบรรลุอรหัตตผล โดยไม่ห่วงอาลัยต่อร่างกายและชีวิตของตน @(ที.ม.อ. ๒๐๔/๑๙๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๓) @ สักขิสาวก แปลว่า พระสาวกที่ทันเห็นองค์พระพุทธเจ้า มี ๓ พวก คือ (๑) ผู้บรรพชาอุปสมบท เรียน @กัมมัฏฐาน บรรลุอรหัตตผลเมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ (๒) ผู้ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อ @พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ต่อมาได้เรียนกัมมัฏฐานและบรรลุอรหัตตผล (๓) ผู้ได้เรียนกัมมัฏฐาน @เมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ พระสุภัททะจัดอยู่ในพวกที่ ๑ (ที.ม.อ. ๒๑๕/๑๙๘) ดูเทียบ @ที.สี. (แปล) ๙/๔๐๕/๑๗๔, ม.ม. ๑๓/๒๒๒/๑๙๕-๑๙๖, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๙๖/๒๘๑ @ อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าใช้เรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ @ภิกษุผู้อ่อนกว่า ใช้เรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. ๒๑๖/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

‘อายัสมา’ ก็ได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบท เล็กน้อย๑- เสียบ้างก็ถอนได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ ภิกษุฉันนะ” ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พรหมทัณฑ์ เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดได้ตามต้องการ แต่ภิกษุไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนพร่ำสอนเธอ” [๒๑๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) เธอทั้งหลายจงถามเถิด จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า ‘พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะ พระพักตร์” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายตรัสว่า ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะพระพักตร์” @เชิงอรรถ : @ สิกขาบทเล็กน้อย พระสังคีติกาจารย์ในที่ประชุมสังคายนาครั้งแรกมีความเห็นต่างกันเป็น ๕ พวก คือ @พวกที่ ๑ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย @พวกที่ ๒ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย @พวกที่ ๓ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท @อื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย @พวกที่ ๔ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ @สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย @พวกที่ ๕ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ @ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย @ในบรรดาความเห็นเหล่านี้ ไม่มีความเห็นใดได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ @ไม่ให้ถอน (วิ.จู. (แปล) ๗/๔๔๑/๓๘๒, ที.ม.อ. ๒๑๖/๒๐๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายไม่กล้าถามเพราะความเคารพในศาสดา ก็ขอให้ภิกษุผู้เป็นเพื่อนบอก (ความสงสัย) แก่ภิกษุผู้เป็นเพื่อนให้(ถาม) ก็ได้๑- เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย ปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มี ความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือใน ปฏิปทา” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส แต่ตถาคตมี ญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ดีว่า ในภิกษุสงฆ์นั้น แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัย หรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา ในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูป ภิกษุผู้มีคุณธรรมขั้นต่ำสุด เป็นพระโสดาบัน๒- ไม่มีทาง ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๓- [๒๑๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด๔-” นี้เป็นพระปัจฉิมวาจา ของพระตถาคต @เชิงอรรถ : @ อรรถกถากล่าวเสริมความให้เต็มว่า “เราจะกล่าวกับภิกษุเพียงรูปเดียว ภิกษุทั้งหมดได้ฟังแล้วก็จักหาย @สงสัย” (ที.ม.อ. ๒๑๗/๒๐๑) @ พระโสดาบัน ในที่นี้ทรงหมายถึงท่านพระอานนท์ (ที.ม.อ. ๒๑๗/๒๐๑) @ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๖/๑๒๑-๑๒๒ @ พระพุทธพจน์บทนี้ แสดงให้เห็นว่า ทรงย่อพระพุทโธวาทที่ทรงประกาศตลอดเวลา ๔๕ ปี ลงในบทว่า @ความไม่ประมาทเพียงบทเดียว (ที.ม.อ. ๒๑๘/๒๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

เรื่องพุทธปรินิพพาน

เรื่องพุทธปรินิพพาน๑-
[๒๑๙] ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้า จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทรงเข้าอากาสานัญจายตนสมาบัติ ออกจาก อากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญ- จายตนสมาบัติ ทรงเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ขณะนั้น ท่านพระอานนท์เรียนถามท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า “ท่านอนุรุทธะ ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือ” ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคยังไม่ ปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่” ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทรงเข้า เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้า อากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้าวิญญาณัญ- จายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าอากาสานัญจายตน- สมาบัติ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก จตุตถฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก ทุติยฌาน ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก ทุติยฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก จตุตถฌานแล้วได้เสด็จดับขันธปรินิพพานในลำดับถัดมา [๒๒๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหว อย่างรุนแรงน่ากลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้องขึ้นพร้อมกับการ เสด็จดับขันธปรินิพพาน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๖/๒๕๙-๒๖๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

เรื่องพุทธปรินิพพาน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวคาถานี้ ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “สรรพสัตว์จะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก พระศาสดาผู้หาใครเปรียบเทียบไม่ได้ในโลก ผู้เข้าถึงสภาวะตามความเป็นจริง ผู้บรรลุพลธรรม๑- ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเช่นนี้ ก็ยังปรินิพพาน” [๒๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสักกะจอมเทพ กล่าวคาถานี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข”๒- [๒๒๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอนุรุทธะ กล่าวคาถาเหล่านี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ของพระผู้มีพระภาคผู้มีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ ไม่มีแล้ว พระมุนีผู้ไม่หวั่นไหว ทรงมุ่งใฝ่สันติ ปรินิพพานเสียแล้ว พระองค์ผู้มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงอดกลั้นเวทนาได้ มีพระทัยหลุดพ้นแล้ว ดุจดวงประทีปที่เคยโชติช่วงดับไปฉะนั้น” @เชิงอรรถ : @ บรรลุพลธรรม หมายถึงมีพระกำลังอันเกิดจากญาณ ๑๐ ที่เรียกว่า ทสพลญาณ หรือตถาคตพละ @(ที.ม.อ. ๒๒๐/๒๐๒) @ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๖/๒๖๑, สํ.นิ. ๑๖/๑๔๓/๑๘๕, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๑๖๘/๕๓๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

เรื่องพุทธปรินิพพาน

[๒๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอานนท์ กล่าวคาถานี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระอาการอันล้ำเลิศทุกอย่าง๑- ปรินิพพานแล้ว ได้เกิดเหตุอัศจรรย์น่ากลัว ขนพองสยองเกล้า” [๒๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุเหล่านั้น พวกที่ยังมีราคะ พากันประคองแขนคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคน เท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว” ส่วนภิกษุผู้ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะ ก็อดกลั้น ได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้” [๒๒๕] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “อย่าเลย ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเคย ตรัสสอนไว้มิใช่หรือว่า ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่าง อื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนใน สังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไป ไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย’ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเทวดากำลังตำหนิอยู่” ท่านพระอานนท์ถามว่า “ท่านอนุรุทธะ พวกเทวดาเป็นอย่างไร ทำใจได้หรือ” ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านอานนท์ มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดิน ขึ้นบนอากาศ สยายผม ประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคต ด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว” @เชิงอรรถ : @ มีพระอาการอันล้ำเลิศทุกอย่าง หมายถึงทรงมีเหตุอันล้ำเลิศทุกอย่างมีศีลเป็นต้น @(ที.ม.อ. ๒๒๓/๒๐๓, ที.ม.ฏีกา ๒๒๓/๒๓๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

บูชาพระพุทธสรีระ

มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดิน สยายผม ประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมาเหมือนคนเท้าขาด ฯลฯ” ส่วนเทวดาที่ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะก็อดกลั้นได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่ เที่ยงหนอ เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้” ท่านพระอนุรุทธะกับท่านพระอานนท์ให้เวลาผ่านไปด้วยการแสดงธรรมีกถา ตลอดคืนยันรุ่ง [๒๒๖] ต่อมา ท่านพระอนุรุทธะสั่งท่านพระอานนท์ว่า “ไปเถิด อานนท์ผู้มี อายุ ท่านจงเข้าไปยังกรุงกุสินารา แจ้งแก่เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครองกรุงกุสินาราว่า ‘วาเสฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลา ที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ท่านพระอานนท์รับคำแล้ว ตอนเช้าจึงครองอันตรวาสกถือ บาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงกุสินาราเพียงผู้เดียว ขณะนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารากำลังประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคารเกี่ยว กับเรื่องปรินิพพาน ท่านพระอานนท์เข้าไปที่สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละแล้วถวาย พระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ขอท่านทั้งหลาย จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” พวกเจ้ามัลละ โอรส สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละ พอได้สดับ ข่าว(จาก)ท่านพระอานนท์อย่างนี้แล้ว ทรงโศกเสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัส บางพวกสยายพระเกศา ทรงประคองพระพาหา ทรงกันแสงคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือก ไปมา เหมือนคนเท้าขาด ทรงเพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคต ด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว”
บูชาพระพุทธสรีระ
[๒๒๗] ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารารับสั่งข้าราชบริพารว่า “พนาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงเตรียมของหอมระเบียบดอกไม้และเครื่องดนตรี ทุกอย่างที่มีในกรุงกุสินาราไว้ให้พร้อม” แล้วทรงถือเอาของหอมระเบียบดอกไม้ เครื่องดนตรีทุกอย่างและผ้า ๕๐๐ คู่ เสด็จเข้าไปยังสาลวันของพวกเจ้ามัลละซึ่งเป็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

บูชาพระพุทธสรีระ

ทางเข้าเมือง ตรงไปยังพระพุทธสรีระแล้ว ทรงสักการะ เคารพ นบนอบ บูชา พระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอก ไม้และของหอม ทรงดาดเพดานผ้า ตกแต่งมณฑลมาลาอาสน์ ให้วันนั้นหมด ไปด้วยกิจกรรมอย่างนี้ ต่อมา พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราทรงดำริว่า “วันนี้เย็นเกินไป ที่จะ ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาค พรุ่งนี้เราจึงค่อยถวายพระเพลิง” จากนั้นก็ทรงสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการ ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม ทรงดาดเพดานผ้า ตกแต่งมณฑลมาลาอาสน์ ให้เวลาวันที่ ๒ วันที่ ๓ วันที่ ๔ วันที่ ๕ วันที่ ๖ หมดไป พอถึงวันที่ ๗ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราทรงดำริว่า “เราสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม จะอัญเชิญ (พระสรีระ) ไปทางทิศใต้ ของเมือง เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคข้างนอกพระนคร ทางทิศใต้” [๒๒๘] ในวันนั้น ประมุขเจ้ามัลละ ๘ องค์ สรงสนานพระเศียรแล้วทรง พระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า “พวกเราจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคขึ้น” แต่ไม่อาจจะยกขึ้นได้ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราจึงตรัสถามท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านพระ อนุรุทธะ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ประมุขเจ้ามัลละ ๘ องค์นี้ ทรงสรงสนานพระเศียรแล้วทรงพระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า ‘พวกเราจะอัญเชิญ พระสรีระของพระผู้มีพระภาคขึ้น’ แต่ไม่อาจจะยกขึ้นได้” ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย มหาบพิตรมีพระประสงค์ อย่างหนึ่ง พวกเทวดามีความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

บูชาพระพุทธสรีระ

พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเทวดามีความประสงค์อย่างไร พระคุณเจ้า” ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “มหาบพิตรมีพระประสงค์ว่า เราจะสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม ดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม จะอัญเชิญ (พระสรีระ) ไปทางทิศใต้ของเมือง เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคข้างนอกพระนครทางทิศใต้ แต่พวกเทวดามีความประสงค์ว่า ‘พวกเราจะสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระ สรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้ และของหอมอันเป็นทิพย์ จะอัญเชิญ(พระสรีระ) ไปทางทิศเหนือของเมือง แล้วอัญเชิญ เข้าสู่เมืองทางประตูด้านทิศเหนือ อัญเชิญผ่านใจกลางเมืองแล้วออกทางประตูด้าน ทิศตะวันออก เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคที่มกุฏพันธน- เจดีย์๑- ของพวกเจ้ามัลละ ทางทิศตะวันออกของเมือง” พวกเจ้ามัลละตรัสว่า “ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด พระคุณเจ้า” [๒๒๙] ก็ในเวลานั้น ทั่วกรุงกุสินารากระทั่งซอกเรือน ท่อน้ำทิ้งและกองขยะ ดารดาษไปด้วยดอกมณฑารพ อย่างต่ำสูงถึงเข่า พวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละพา กันสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอมทั้งที่เป็นของทิพย์และที่เป็นของ มนุษย์ อัญเชิญ(พระสรีระ)ไปทางทิศเหนือของเมืองแล้วเข้าสู่เมืองทางประตูด้าน ทิศเหนือ อัญเชิญผ่านใจกลางเมืองไปออกทางประตูด้านทิศตะวันออก เสร็จแล้วจึง ประดิษฐาน พระสรีระของพระผู้มีพระภาค ณ มกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ทางทิศตะวันออกของเมือง [๒๓๐] จากนั้น พวกเจ้ามัลละได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “พวก ข้าพเจ้าจะพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของพระตถาคต อย่างไร พระคุณเจ้า” @เชิงอรรถ : @ มกุฏพันธนเจดีย์ เป็นชื่อเรียกศาลามงคลซึ่งเป็นสถานที่ประดับเครื่องทรงพระวรกายของพวกเจ้ามัลละ @ในพระราชพิธีราชาภิเษก ที่เรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่ควรเคารพยำเกรง (ที.ม.อ. ๒๒๘/๒๐๔, @ที.ม.ฏีกา ๒๒๘/๒๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

บูชาพระพุทธสรีระ

ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตรพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของ พระตถาคต เหมือนอย่างที่พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิ นั่นแหละ” พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้า จักรพรรดิอย่างไร พระคุณเจ้า” ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “พวกเขาใช้ผ้าใหม่ห่อพระบรมศพของ พระเจ้าจักรพรรดิเสร็จแล้ว จึงห่อด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วจึงห่อด้วยผ้าใหม่อีกชั้นหนึ่ง ทำโดยวิธีนี้ จนห่อพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าและสำลีได้ ๑,๐๐๐ ชั้น แล้วอัญเชิญพระบรมศพลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ใช้รางเหล็กอีกอันหนึ่ง ครอบแล้ว ทำจิตกาธานด้วยไม้หอมล้วน แล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้า จักรพรรดิ สร้างพระสถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง พวกท่านพึง ปฏิบัติต่อพระสรีระของพระตถาคต เหมือนอย่างที่พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพ ของพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างพระสถูปของพระตถาคตไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง ชนเหล่าใดจักยกระเบียบดอกไม้ ของหอม หรือจุรณ จักถวายอภิวาท หรือจักทำจิต เลื่อมใสในพระสถูปนั้น การกระทำนั้นจักเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ชนเหล่านั้น ตลอดกาลนาน” ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารารับสั่งข้าราชบริพารว่า “ท่าน ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงเตรียมสำลีบริสุทธิ์ไว้ให้พร้อม” จากนั้นทรงใช้ผ้า ใหม่ห่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาค เสร็จแล้วจึงห่อด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วจึงห่อ ด้วยผ้าใหม่อีกชั้นหนึ่ง ทำโดยวิธีดังนี้ จนห่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยผ้า และสำลีได้ ๑,๐๐๐ ชั้น แล้วอัญเชิญพระสรีระลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ใช้ราง เหล็กอีกอันหนึ่งครอบแล้ว ทำจิตกาธานด้วยไม้หอมล้วน แล้วอัญเชิญพระสรีระ ของพระผู้มีพระภาคขึ้นสู่จิตกาธาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

เรื่องพระมหากัสสปเถระ

เรื่องพระมหากัสสปเถระ๑-
[๒๓๑] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากกรุงปาวาไปยังกรุงกุสินารา ขณะที่ท่านพระมหากัสสปะ แวะลงข้างทางนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พอดีมีอาชีวกคนหนึ่งถือดอกมณฑารพจากกรุง กุสินารา เดินสวนทางจะไปกรุงปาวา ท่านพระมหากัสสปะเห็นอาชีวกนั้นกำลัง เดินมาแต่ไกล จึงถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านรู้ข่าวพระศาสดาของพวกเราบ้างไหม” เขาตอบว่า “เรารู้ข่าว ท่านพระสมณโคดมปรินิพพานได้ ๗ วันเข้าวันนี้ เราถือดอกมณฑารพดอกนี้มาจากที่ปรินิพพานนั้น” บรรดาภิกษุเหล่านั้น ผู้ที่ยังมีราคะ บางพวกประคองแขน คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วน ปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว” ส่วนภิกษุผู้ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะก็อดกลั้นได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้” [๒๓๒] สมัยนั้น มีภิกษุผู้บวชตอนแก่ชื่อสุภัททะ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น ได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ อย่าเศร้าโศก อย่า คร่ำครวญเลย พวกเรารอดพ้นแล้วจากมหาสมณะรูปนั้น ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา อยู่ว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ’ บัดนี้ เราปรารถนาสิ่งใด ก็จักทำสิ่งนั้น พวกเราไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่ทำสิ่งนั้น” ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะเรียกภิกษุทั้งหลายมาตักเตือนว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ อย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย พระผู้มีพระภาคตรัสสอนไว้ก่อน อย่างนี้ว่า ‘ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของ รักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่ เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะ ปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๔๓๗/๓๗๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
[๒๓๓] สมัยนั้น ประมุขเจ้ามัลละ ๔ องค์ ทรงสนานพระเศียรแล้วทรง พระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า “พวกเราจะจุดไฟที่จิตกาธานของพระผู้มีพระภาค” แต่ไม่อาจจะจุดไฟให้ติดได้ ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราตรัสถามท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านอนุรุทธะ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ประมุขเจ้ามัลละ ๔ องค์นี้ ผู้ทรงสนานพระเศียรแล้วทรงพระภูษาใหม่ด้วยตั้งพระทัยว่า ‘พวกเราจะ จุดไฟที่จิตกาธานของพระผู้มีพระภาค’ แต่ไม่อาจจะจุดไฟให้ติดได้เล่า” ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พวกเทวดามีความประสงค์ อีกอย่างหนึ่ง” พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเทวดามีความประสงค์อย่างไร พระคุณเจ้า” ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “พวกเทวดามีความประสงค์ว่า ‘ท่านพระ มหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากกรุง ปาวามายังกรุงกุสินารา จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคจะยังไม่ลุกโพลง ตราบเท่า ที่ท่านพระมหากัสสปะยังไม่ได้ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย เศียรเกล้า” พวกเจ้ามัลละตรัสว่า “ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด พระคุณเจ้า” [๒๓๔] ต่อมา ท่านพระมหากัสสปะเข้าไปยังมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ในกรุงกุสินารา ถึงจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค ห่มจีวรเฉวียงบ่าประนมมือกระทำ ประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบเปิดผ้าคลุมทางพระบาท ถวายอภิวาทพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นก็ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มี พระภาคด้วยเศียรเกล้า เมื่อท่านพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายอภิวาท เสร็จ จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคได้ติดไฟลุกโพลงขึ้นเอง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

[๒๓๕] เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของพระผู้มีพระภาค พระอวัยวะ คือ พระฉวี (ผิวนอก) พระจัมมะ(หนัง) พระมังสา(เนื้อ) พระนหารู(เอ็น) หรือพระลสิกา (ไขข้อหรือ ไขกระดูก) ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่าเลย คงเหลืออยู่แต่พระสรีระเท่านั้น เปรียบเหมือนเมื่อไฟไหม้เนยใสและน้ำมัน ก็ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่า ฉันใด เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของพระผู้มีพระภาค พระอวัยวะ คือ พระฉวี พระจัมมะ พระมังสา พระนหารู หรือพระลสิกา ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่า คงเหลืออยู่แต่ พระสรีระ๑- เท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน และบรรดาผ้า ๕๐๐ คู่นั้น มีเพียง ๒ ผืน เท่านั้นที่ถูกไฟไหม้ คือ ผืนในสุดกับผืนนอกสุด ก็เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของ พระผู้มีพระภาคแล้วแล ท่อน้ำไหลหลั่งมาจากอากาศดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค น้ำพุ่งขึ้นจากไม้สาละดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุง กุสินาราดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคด้วยน้ำหอมล้วนๆ ต่อจากนั้น เจ้ามัลละ ผู้ครองกรุงกุสินาราได้จัดกำลังพลหอกไว้รอบสัณฐาคารล้อมด้วยกำแพงธนู๒- (ป้องกัน พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาค) แล้วสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระ ของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และ ของหอมตลอด ๗ วัน @เชิงอรรถ : @ พระสรีระ ในที่นี้หมายถึงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า (ที.ม.อ. ๒๓๕/๒๑๒) @ ในการอารักขาพระบรมสารีริกธาตุซึ่งประดิษฐานบนสัณฐาคารนั้น พวกเจ้ามัลละได้ทรงจัดวางกำลัง @อารักขาไว้เป็นชั้นๆ โดยรอบ ดังนี้ @๑. ทรงจัดวางกำลังพลหอกที่เรียกว่า สัตติบัญชร ไว้รอบสัณฐานคารซึ่งจัดเป็นกองกำลังรอบในสุด @๒. ทรงจัดวางกำแพงธนูที่เรียกว่า ธนูปราการ ถัดออกมาจากกำลังพลหอก @ธนูปราการ (กำแพงธนู) ประกอบด้วย @๒.๑ พลช้าง (ให้ยืนแถวชิดกันจนกระพองจดกระพอง) @๒.๒ พลม้า (ให้ยืนแถวชิดกันจนคอจดคอ) @๒.๓ พลรถ (ให้จอดแถวชิดกันจนดุมจดดุม) @๒.๔ พลราบ (ให้ยืนแถวชิดกันจนแขนจดแขน) @๒.๕ พลธนู (ให้ยืนแถวถือธนูขัดกันและกัน) ซึ่งจัดเป็นกองกำลังอารักขารอบนอกสุด @(ที.ม.อ. ๒๓๕/๒๑๔, ที.ม.ฏีกา ๒๓๕/๒๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
[๒๓๖] พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้ทรง สดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้า มัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มีพระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรม สารีริกธาตุและทำการฉลอง” พวกเจ้าลิจฉวีผู้ครองกรุงเวสาลี ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระ บรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง” พวกเจ้าศากยะชาวกบิลพัสดุ์ ได้ทรงสดับว่า “พระผู้พระภาคปรินิพพานใน กรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี พระภาคทรงเป็นพระญาติผู้ประเสริฐที่สุดของพวกเรา พวกเราควรจะได้รับส่วนแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง” พวกเจ้าถูลีผู้ครองกรุงอัลลกัปปะ ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง” พวกเจ้าโกลิยะผู้ครองกรุงรามคาม ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง” พราหมณ์ผู้ครองกรุงเวฏฐทีปกะ ได้สดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ในกรุงกุสินารา” จึงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “แม้พระผู้มี พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ เราเป็นพราหมณ์ เราก็ควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงปาวา ได้ทรงสดับว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ในกรุงกุสินารา จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “แม้พระผู้มี พระภาคเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง” เมื่อทูตจากเมืองต่างๆ กราบทูลอย่างนี้ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารา ได้ตรัสตอบกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในเขตบ้าน เมืองของเรา พวกเราจะไม่ให้ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ” [๒๓๗] เมื่อพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราได้ตรัสอย่างนี้ โทณพราหมณ์ ได้กล่าวกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดฟังคำชี้แจงของข้าพเจ้าหน่อยหนึ่งเถิด พระพุทธเจ้าของพวกเราทรงถือหลักขันติธรรม ไม่ควรที่จะประหัตประหารกัน เพราะส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุคคล ขอให้ทุกฝ่ายพร้อมใจกัน แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน พระสถูปจะได้แพร่กระจายไปยังทิศต่างๆ มีประชาชนจำนวนมาก ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ” [๒๓๘] หมู่คณะทูตเหล่านั้นตอบว่า “ท่านพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั่นแหละ จงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กันให้เรียบร้อย” โทณพราหมณ์รับคำแล้ว แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ให้เรียบร้อยแล้ว จึงได้กล่าวกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดให้ทะนานนี้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะสร้างพระสถูปบรรจุทะนาน(ตุมพะ)และทำ การฉลอง” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป

พวกเขาจึงได้มอบทะนานให้โทณพราหมณ์ พวกเจ้าโมริยะผู้ครองกรุงปิปผลิวันได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง” พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราตอบว่า “(บัดนี้) ไม่มีส่วนแบ่งพระบรม สารีริกธาตุ พระบรมสารีริกธาตุได้แบ่งกันหมดแล้ว พวกท่านจงนำเอาพระอังคาร (เถ้า)ไปจากที่นี้เถิด” พวกทูตเหล่านั้น จึงนำเอาพระอังคารไปจากที่นั้น
บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป
[๒๓๙] เวลานั้น พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงราชคฤห์ พวก เจ้าลิจฉวีผู้ครองกรุงเวสาลี ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ ฉลองในกรุงเวสาลี พวกเจ้าศากยะชาวกบิลพัสดุ์ ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรม สารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงกบิลพัสดุ์ พวกเจ้าถูลีผู้ครองกรุงอัลลกัปปะ ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงอัลลกัปปะ พวกเจ้า โกลิยะผู้ครองกรุงรามคาม ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ ฉลองในกรุงรามคาม พราหมณ์ผู้ครองกรุงเวฏฐทีปกะ สร้างพระสถูปบรรจุพระ บรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงเวฏฐทีปกะ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงปาวา ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงปาวา พวกเจ้า มัลละผู้ครองกรุงกุสินารา ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ ฉลองในกรุงกุสินารา แม้โทณพราหมณ์ก็สร้างพระสถูปบรรจุทะนานและทำการฉลอง พวกเจ้าโมริยะผู้ครองกรุงปิปผลิวัน ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระอังคารและทำการฉลอง ในกรุงปิปผลิวัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป

รวมเป็นพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง พระสถูปที่บรรจุทะนาน เป็นแห่งที่ ๙ และพระสถูปที่บรรจุพระอังคารเป็นแห่งที่ ๑๐ การแบ่งพระบรม สารีริกธาตุและการสร้างพระสถูปเคยมีมาแล้วอย่างนี้ [๒๔๐] พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระจักษุ ซึ่งเป็นบุคคลประเสริฐสุดมี ๘ ทะนาน ประชาชนบูชากันอยู่ในชมพูทวีป ๗ ทะนาน พระราชาเผ่านาคบูชาอยู่ในรามคาม ๑ ทะนาน เทพชั้นดาวดึงส์บูชาพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง ส่วนพระเขี้ยวแก้วอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในคันธารบุรี อีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีกองค์หนึ่ง พระราชาเผ่านาคบูชาอยู่ ด้วยพระเดชแห่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น แผ่นดินใหญ่นี้ประดับด้วยนักพรตผู้ประเสริฐ พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระจักษุนี้ ชื่อว่าอันสาธุชนสักการะกันดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพ จอมนาค และจอมคนบูชาแล้ว อันจอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ท่านทั้งหลายจงประนมมือไหว้พระบรมสารีริกธาตุองค์นั้นๆ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นบุคคลหาได้ยาก โดยใช้เวลาถึง ๑๐๐ กัป พระทนต์ ๔๐ องค์ พระเกศา และพระโลมาทั้งหมด เหล่าเทพนำไปองค์ละองค์(บูชา)สืบๆ กันไปในจักรวาล
มหาปรินิพพานสูตรที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๘๐}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๖๔-๑๘๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=4800&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=10&siri=3              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1888&Z=3915&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=10&item=67&items=96              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=10&item=67&items=96              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]