ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

ในเวลาเช้า แม้ท่านพระอุทายีก็ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยัง อาปณนิคม เที่ยวบิณฑบาตในอาปณนิคมแล้ว กลับจากบิณฑบาตภายหลังฉัน ภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปยังราวป่าเพื่อพักผ่อนกลางวัน ได้นั่งพักกลางวันที่โคนไม้ แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลาย ออกไปได้ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้ พระผู้มี พระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย” ครั้นเวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่หลีกเร้น๑- เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
มูลเหตุที่ทรงห้ามฉันในเวลาวิกาล
[๑๔๙] ท่านพระอุทายีนั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุข เป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดอกุศลธรรมเป็นอันมากของ เราทั้งหลายออกไปได้ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย’ ก็เมื่อก่อนข้าพระองค์เคยฉันได้ทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลาวิกาลกลางวัน(หลังเที่ยง) ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือน เธอทั้งหลายจงเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางวันเสียเถิด’ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๐๗ (จูฬราหุโลวาทสูตร) หน้า ๑๑๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๖๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ‘คหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธาจะ ถวายของควรเคี้ยว ของควรฉันอันประณีตแม้ใดแก่เราทั้งหลายในเวลาวิกาลกลางวัน พระผู้มีพระภาคผู้สุคตรับสั่งให้เราทั้งหลายเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางวันแม้นั้น เสียแล้ว’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเมื่อพิจารณาเห็นความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงยอมเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางวัน นั้นเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นจึงฉันในเวลาเย็นและเวลาเช้า ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือน เธอทั้งหลายจงเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางคืนเสียเถิด’ ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคผู้สุคตรับสั่ง ให้เราเลิกฉันโภชนะที่นับว่าประณีตกว่าบรรดาโภชนะทั้งสองนี้เสีย’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนหนึ่งได้ของที่ควรจะแกงมา ในเวลากลางวัน จึงบอกภรรยาอย่างนี้ว่า ‘เอาเถิด เธอจงเก็บสิ่งนี้ไว้ เราทั้งหมด จักบริโภคพร้อมกันในเวลาเย็น อะไรๆ ทั้งหมดที่จะปรุงกินย่อมมีรสอร่อยในเวลา กลางคืน เวลากลางวันมีรสไม่อร่อย’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงยอมเลิกฉันโภชนะในเวลาวิกาลกลางคืน นั้นเสีย เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวบิณฑบาตไปในเวลามืดค่ำ ย่อมเข้าไป ใกล้บ่อน้ำครำบ้าง ตกลงในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบแม่โค ที่กำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทำโจรกรรมบ้าง ผู้ยังไม่ได้ทำโจรกรรมบ้าง ถูกมาตุคาม ชักชวนให้เสพสมบ้าง เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตไปในเวลามืดค่ำ หญิงคนหนึ่ง กำลังล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์โดยแสงฟ้าแลบแล้วตกใจกลัวร้องเสียงหลงว่า ‘ว้าย ! ผีหลอก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๖๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

เมื่อหญิงนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์จึงพูดกับเธอว่า ‘ไม่ใช่ผีหรอก น้องหญิง เราเป็นภิกษุยืนบิณฑบาตอยู่’ หญิงนั้นกล่าวว่า ‘พ่อแม่ของภิกษุคงตายแล้วกระนั้นหรือ ภิกษุ ท่านเอา มีดคมๆ สำหรับเชือดโคมาเชือดท้องของดิฉันเสียยังดีกว่า การที่ท่านมาเที่ยว บิณฑบาตในเวลามืดค่ำอย่างนี้เพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่ดีเลย’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ จึงคิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลาย ออกไปได้ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้ พระผู้มี พระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย”
อุปมาด้วยนางนกมูลไถ
[๑๕๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุทายี อย่างนั้นเหมือนกัน โมฆบุรุษ บางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยนี้จะสำคัญอะไร พระสมณะรูปนี้ช่างเคร่งครัดนัก’ พวกเขาจึง ไม่ละความผิดนั้นทั้งที่ยังมีความยำเกรงในเราอยู่ อนึ่ง ความผิดเพียงเล็กน้อยของ ภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ย่อมเป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ เปรียบเหมือนนางนกมูลไถถูกผูกด้วยเถาหัวด้วน ย่อมรอ เวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด หรือความตายในที่นั้นเอง ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เครื่องดักคือเถาหัวด้วนที่เขาใช้ผูกนางนกมูลไถซึ่งรอเวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด หรือความตายในที่นั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่น’ ผู้นั้น เมื่อกล่าวอย่างนี้ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือไม่” ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า เครื่องดักคือเถาหัวด้วนที่เขา ใช้ผูกนางนกมูลไถ ซึ่งรอเวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด หรือความตายในที่นั้นแล เป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ พระ- พุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๖๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

“อุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยนี้จะสำคัญอะไร พระสมณะรูปนี้ช่างเคร่งครัดนัก’ พวกเขาจึงไม่ละความผิดนั้นทั้งที่ยังมีความยำเกรง ในเราอยู่ อนึ่ง ความผิดเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ย่อมเป็น เครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่
อุปมาด้วยช้างต้น
[๑๕๑] อุทายี ส่วนกุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละ ความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยที่ต้องละนี้จะสำคัญ อะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้เราทั้งหลายละ พระสุคตจึงตรัสสอนให้เรา ทั้งหลายสลัดทิ้ง’ พวกเขาละความผิดนั้นทั้งที่ไม่มีความยำเกรงในเรา อนึ่ง ภิกษุ ทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ละความผิดนั้นแล้ว ไม่มีความดิ้นรน ไม่หวาดกลัว ดำรง ชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจมฤคอยู่ ความผิดเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร เปรียบเหมือนช้างต้น มีงางอนงาม เป็นช้างทรง ที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว ควาญช้าง ล่ามโซ่ไว้อย่างมั่นคง พอมันสบัดกายเท่านั้น ก็จะทำให้โซ่ที่ล่ามไว้นั้นขาดแล้วหนีไป ตามใจปรารถนา ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ช้างต้นนั้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรง ที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว ควาญช้างล่ามโซ่ไว้อย่างมั่นคง พอมัน สบัดกายเท่านั้น ก็จะทำให้โซ่ที่ล่ามไว้นั้นขาดหนีไปตามใจปรารถนา โซ่นั้นจัดเป็น เครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่’ ผู้นั้นเมื่อ กล่าวอย่างนี้ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า เพราะช้างต้นนั้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรง ที่มีชาติ กำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว ควาญช้างล่ามโซ่ไว้อย่างมั่นคง พอมันสบัดกาย เท่านั้น ก็จะทำให้โซ่ที่ล่ามไว้นั้นขาดแล้วหนีไปตามใจปรารถนา เครื่องผูกช้างต้นนั้น จัดเป็นเครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง ฯลฯ ไม่มีแก่นสาร พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

“อุทายี กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยที่ต้องละนี้จะ สำคัญอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้เราทั้งหลายละ พระสุคตจึงตรัสสอนให้ เราทั้งหลายสลัดทิ้ง’ พวกเขาละความผิดนั้นทั้งที่ไม่มีความยำเกรงในเรา อนึ่ง ภิกษุ ทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ละความผิดนั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความดิ้นรน ไม่หวาดกลัว ดำรงชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจมฤคอยู่ ความผิดเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น จัดเป็นเครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร
อุปมาด้วยคนจน
[๑๕๒] อุทายี เปรียบเหมือนคนยากไร้ ไม่มีทรัพย์สินสิ่งไรเป็นของตน จัดเป็นคนจน ไม่ใช่คนมั่งคั่งเลย เขามีเรือนเล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีเครื่องมุงและ เครื่องประกอบอื่นๆ ผุพัง หลุดลุ่ย ต้องคอยไล่นกกา ไม่เป็นรูปบ้าน มีแคร่อันหนึ่ง ก็ผุพังแทบไม่เป็นแคร่ มีข้าวเปลือกและเมล็ดพืชสำหรับหว่านหม้อหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ พันธุ์ดี มีภรรยาคนหนึ่งก็ไม่สวย เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอารามมีมือและเท้าล้างสะอาด สะอ้าน ฉันโภชนะล้วนน่าอร่อย นั่งอยู่ในสถานที่ร่มรื่นเย็นสบาย เจริญธรรมฝึก สมาธิ เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ความเป็นสมณะน่าสุขสบายหนอ ความเป็น สมณะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บหนอ เราควรจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง’ แต่เขาไม่อาจสละเรือนหลังเล็กนั้นซึ่งมีเครื่องมุงบังและเครื่องประกอบอื่นๆ ผุพัง หลุดลุ่ย ต้องคอยไล่นกกา ไม่เป็นรูปบ้าน ไม่อาจละแคร่อันหนึ่งที่ผุพังแทบไม่ เป็นแคร่ ไม่อาจละข้าวเปลือกและเมล็ดพืชสำหรับหว่านหม้อหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ดี ไม่อาจละภรรยาคนหนึ่งซึ่งมีรูปไม่สวย แล้วโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ อุทายี ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เครื่องผูกที่ผูกบุรุษนั้น ผู้ไม่อาจละเรือนหลังเล็กๆ หลังหนึ่งซึ่งมีเครื่องมุงบังและเครื่องประกอบอื่นๆ ผุพัง หลุดลุ่ย ต้องคอยไล่นกกา ไม่เป็นรูปบ้าน ไม่อาจละแคร่อันหนึ่งที่ผุพังแทบไม่เป็นแคร่ ไม่อาจละข้าวเปลือกและ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๖๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

เมล็ดพืชสำหรับหว่านหม้อหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ดี ไม่อาจละภรรยาคนหนึ่งซึ่งมีรูป ไม่สวย แล้วโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต จัดเป็นเครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร’ ผู้นั้นเมื่อ กล่าวอย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า เพราะเครื่องผูกที่ผูกบุรุษนั้น ผู้ไม่อาจละได้แม้แต่เรือน หลังเล็กๆ หลังนั้น ซึ่งมีเครื่องมุงและเครื่องประกอบอื่นๆ ผุพัง หลุดลุ่ย ที่ต้อง คอยไล่นกกา ไม่เป็นรูปบ้าน ไม่อาจละแคร่อันหนึ่งที่ผุพังแทบไม่เป็นแคร่ ไม่อาจละ ข้าวเปลือกและเมล็ดพืชสำหรับหว่านหม้อหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ดี ไม่อาจละภรรยา คนหนึ่งซึ่งมีรูปไม่สวย แล้วโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตได้ จัดเป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็น เหมือนท่อนไม้ใหญ่” “อุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยนี้จะสำคัญอะไร พระสมณะรูปนี้ช่างเคร่งครัดนัก’ พวกเขาจึงไม่ละความผิดนั้นทั้งที่ยังมีความยำเกรง ในเรา อนึ่ง ความผิดเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น ย่อมเป็น เครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่
อุปมาด้วยคนมั่งมี
[๑๕๓] อุทายี เปรียบเหมือนคหบดีหรือบุตรคหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก สะสมทองไว้หลายร้อยแท่ง สะสมข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาสชาย ทาสหญิง ไว้เป็นอันมาก เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอารามมีมือและเท้าล้าง สะอาดสะอ้าน ฉันโภชนะล้วนน่าอร่อย นั่งอยู่ในสถานที่ร่มรื่นเย็นสบาย เจริญธรรม ฝึกสมาธิ เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ความเป็นสมณะน่าสุขสบายหนอ ความเป็น สมณะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บหนอ เราควรจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

เขาอาจจะละทองหลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาสชาย ทาสหญิง เป็นอันมากแล้วโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เครื่องผูกที่ผูกคหบดีหรือบุตรคหบดี ผู้อาจละทองหลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาสชาย ทาสหญิง เป็นอันมาก แล้วโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต จัดเป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อน ไม่ใหญ่’ ผู้นั้นเมื่อกล่าวอย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า เพราะเครื่องผูกที่ผูกคหบดีหรือบุตรคหบดี ผู้อาจละทอง หลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาสชาย ทาสหญิง เป็นอันมากแล้ว โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จัดเป็น เครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร พระพุทธเจ้าข้า” “อุทายี กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยที่ต้องละนี้ จะสำคัญอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้เราทั้งหลายละ พระสุคตจึงตรัสสอนให้ เราทั้งหลายสลัดทิ้ง’ พวกเขาจึงละความผิดนั้นทั้งที่ไม่มีความยำเกรงในเรา อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ละความผิดนั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความดิ้นรน ไม่หวาดกลัว ดำรงชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจมฤคอยู่ ความผิดเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น จัดเป็นเครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร
บุคคล ๔ จำพวก
[๑๕๔] อุทายี บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ๑- เพื่อสลัดทิ้งอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอัน ประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัด @เชิงอรรถ : @ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงอุปธิ ๔ อย่าง คือ ขันธ์ กิเลส อภิสังขาร และกามคุณ (ม.ม.อ. ๒/๑๕๔/๑๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

ทิ้งอุปธินั้นอยู่ ผู้นั้นยังรับความดำรินั้นไว้ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้ สิ้นสุด และไม่ทำให้หมดไป เราเรียกบุคคลนี้ว่า ‘ผู้ยังมีกิเลส ไม่ใช่ ผู้คลายกิเลส’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรารู้ความต่างแห่งอินทรีย์ในบุคคลนี้ ๒. เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัดทิ้งอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอัน ประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัด ทิ้งอุปธินั้นอยู่ ผู้นั้นไม่รับความดำริเหล่านั้นไว้ ละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ และทำให้หมดไป เราเรียกบุคคลนี้ว่า ‘ผู้ยังมีกิเลส ไม่ใช่ผู้คลายกิเลส’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรารู้ความต่างแห่งอินทรีย์ในบุคคลนี้ ๓. เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัดทิ้งอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอัน ประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัด ทิ้งอุปธินั้นอยู่ เพราะความหลงลืมสติในบางครั้งบางคราว สติเกิด ช้าไป ที่จริงเขาละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ และทำให้หมดไป ได้ฉับพลัน คนหยดน้ำ ๒ หยดหรือ ๓ หยดลงในกะทะเหล็ก ที่ร้อนอยู่ตลอดวัน หยดน้ำที่หยดลงอย่างช้าๆ ก็จะเหือดแห้งไป ฉับพลัน แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัดทิ้งอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอันประกอบ ด้วยอุปธิ ยังครอบงำบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสลัดทิ้งอุปธิ นั้นอยู่ เพราะความหลงลืมสติในบางครั้งบางคราว สติเกิดช้าไป ที่จริงเขาละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ และทำให้หมดไปได้โดย ฉับพลัน เราเรียกบุคคลนี้ว่า ‘ผู้ยังมีกิเลส ไม่ใช่ผู้คลายกิเลส’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรารู้ความต่างแห่งอินทรีย์ในบุคคลนี้ ๔. รู้ว่า ‘อุปธิ๑- เป็นเหตุแห่งทุกข์’ แล้วเป็นผู้ไม่มีอุปธิ น้อมจิตไปใน ธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ๒- เราเรียกบุคคลนี้ว่า ‘ผู้คลายกิเลสได้แล้ว มิใช่ ผู้มีกิเลส’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรารู้ความต่างแห่งอินทรีย์ในบุคคลนี้ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
กามคุณ ๕ ประการ
[๑๕๕] อุทายี กามคุณมี ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ... ๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ... ๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ... @เชิงอรรถ : @ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ ประการ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) (ม.ม.อ. ๒/๑๕๔/๑๒๖) @ ธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ หมายถึงนิพพานเป็นที่สิ้นตัณหา (ม.ม.อ. ๒/๑๕๔/๑๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวน ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด กามคุณมี ๕ ประการนี้แล อุทายี สุขโสมนัสที่อาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้เกิดขึ้น เราเรียกว่า ความสุข ที่เกิดจากกาม ความสุขไม่สะอาด ความสุขของปุถุชน ไม่ใช่ความสุขของพระอริยะ เรากล่าวว่า ‘ไม่ควรเสพ๑- ไม่ควรให้เจริญ ไม่ควรทำให้มาก ควรเกรงกลัวสุขชนิดนี้๒-’
รูปฌาน ๔
[๑๕๖] อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ ตติยฌาน ฯลฯ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน บรรลุ จตุตถฌาน ฯลฯ๓- อยู่ ฌานทั้ง ๔ นี้เราเรียกว่า ความสุขเกิดจากการออกจากกาม ความสุขเกิดจากความสงัด ความสุขเกิดจากความสงบ ความสุขเกิดจากการตรัสรู้ เรากล่าวว่า ‘ควรเสพ ควรให้เจริญ ควรทำให้มาก ไม่ควรเกรงกลัวสุขชนิดนี้’ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ ปฐมฌานนี้เรากล่าวว่า ยังหวั่นไหว ในปฐมฌานนั้นยังมีอะไรหวั่นไหว การที่วิตกวิจารในปฐมฌานนี้ยังไม่ดับ เป็นความหวั่นไหวในปฐมฌานนั้น @เชิงอรรถ : @ เสพ ในที่นี้หมายถึงการนึกหน่วง รู้ เห็น พิจารณา อธิฐานจิต น้อมใจเชื่อ ประคองความเพียร ตั้งสติไว้ @ตั้งจิตไว้ กำหนดรู้ด้วยปัญญา รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ละธรรมที่ควรละ @เจริญธรรมที่ควรเจริญ ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง (องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๓/๖๒) @ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๖/๔๔๑-๔๔๒ @ ดูเนื้อความเต็มข้อ ๑๓ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๖ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ แม้ทุติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ยังหวั่นไหว ในทุติยฌานนั้นยังมีอะไรหวั่นไหว การที่ปีติและสุขในทุติยฌานนี้ยังไม่ดับ เป็นความหวั่นไหวในทุติยฌานนั้น เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ แม้ตติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ยังหวั่นไหว ในตติยฌานนั้นยังมีอะไรหวั่นไหว การที่อุเบกขาและสุขในตติยฌานนี้ยังไม่ดับ เป็นความหวั่นไหวในตติยฌานนั้น เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ จตุตถฌานนี้เรากล่าวว่า ไม่หวั่นไหว
อรูปฌาน ๔
อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ ปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ ปฐมฌานนี้เรากล่าวว่า ‘ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลาย จงละ จงก้าวล่วง’ อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงปฐมฌานนั้น คือ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงปฐมฌานนั้น แม้ทุติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ‘ไม่ควรทำ ความอาลัย เธอทั้งหลายจงละ จงก้าวล่วง’ อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงทุติยฌานนั้น คือ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงทุติยฌานนั้น แม้ตติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ‘ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละ จงก้าวล่วง’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๖. ลฏุกิโกปมสูตร

อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงตติยฌานนั้น คือ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงตติยฌานนั้น แม้จตุตถฌานนี้เราก็กล่าวว่า ‘ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละ จงก้าวล่วง’ อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงจตุตถฌานนั้น คือ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการ ทั้งปวง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงจตุตถฌานนั้น แม้อากาสานัญจายตน- ฌานนี้เราก็กล่าวว่า ‘ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละ จงก้าวล่วง’ อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานนั้น คือ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ นี้เป็นธรรม เครื่องก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานนั้น แม้วิญญาณัญจายตนฌานนี้เราก็กล่าวว่า ‘ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละ จงก้าวล่วง’ อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานนั้น คือ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วง วิญญาณัญจายตนฌานนั้น แม้อากิญจัญญายตนฌานนี้เราก็กล่าวว่า ‘ไม่ควรทำ ความอาลัย เธอทั้งหลายจงละ จงก้าวล่วง’ อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานนั้น คือ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากิญจัญญายตน ฌานนั้น แม้เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้เราก็กล่าวว่า ‘ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละ จงก้าวล่วง’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น คือ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุในธรรมวินัย นี้บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้น เรากล่าวการละแม้เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ด้วยประการอย่างนี้ “อุทายี สังโยชน์ที่ละเอียดหรือหยาบนั้น ซึ่งเรายังมิได้กล่าวถึงการละ เธอเห็น หรือไม่” ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอุทายีมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
ลฏุกิโกปมสูตรที่ ๖ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๖๕-๑๗๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=4609&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=16              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=3253&Z=3507&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=175              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=175&items=11              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=175&items=11              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]