ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

๖. เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ๗. เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ (ความสละ) เพราะเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุ ที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่ อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเรา ผู้ปฏิบัติตามเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสัมมาทิฏฐิ ๒. เจริญสัมมาสังกัปปะ ๓. เจริญสัมมาวาจา ๔. เจริญสัมมากัมมันตะ ๕. เจริญสัมมาอาชีวะ ๖. เจริญสัมมาวายามะ ๗. เจริญสัมมาสติ ๘. เจริญสัมมาสมาธิ เพราะเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุ ที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่ [๒๔๘] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตาม เจริญวิโมกข์(ธรรมเครื่องหลุดพ้น) ๘ ประการ๑- คือ ๑. สาวกผู้มีรูปเห็นรูปทั้งหลาย นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๑ ๒. สาวกผู้มีอรูปสัญญาภายในเห็นรูปทั้งหลายภายนอก นี้เป็นวิโมกข์ ประการที่ ๒ ๓. สาวกน้อมใจไปว่า ‘งาม’ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๓ ๔. สาวกบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุด มิได้’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต- สัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๔ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๗๔/๑๒๒, ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๐, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-๓๖๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๙๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

๕. สาวกล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ วิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๕ ๖. สาวกล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์ ประการที่ ๖ ๗. สาวกล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๗ ๘. สาวกล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ สัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๘ เพราะเจริญวิโมกข์ ๘ ประการนั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุที่สุด แห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่ [๒๔๙] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตาม เจริญอภิภายตนะ๑- ๘ ประการ คือ ๑. สาวกผู้หนึ่งมีรูปสัญญาภายใน๒- เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดเล็ก มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๑ ๒. สาวกผู้หนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดใหญ่ มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๒ @เชิงอรรถ : @ อภิภายตนะ หมายถึงเหตุครอบงำ เหตุที่มีอิทธิพล ได้แก่ญาณหรือฌานที่เป็นเหตุครอบงำนิวรณ์ ๕ และ @อารมณ์ทั้งหลาย คำนี้มาจาก อภิภู+อายตนะ ที่ชื่อว่า อภิภู เพราะครอบงำอารมณ์ และชื่อว่า อายตนะ @เพราะเป็นที่เกิดความสุขอันวิเศษแก่พระโยคีทั้งหลาย เพราะเป็นมนายตนะและธัมมายตนะ @(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/๒๗๐, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๖๑-๖๕/๓๐๒, ที.ม.อ. ๒/๑๗๓/๑๖๔, ม.ม.อ. ๒/๒๔๙/๑๘๗) @ มีรูปสัญญาภายใน หมายถึงจำได้หมายรู้รูปภายในโดยการบริกรรมรูปภายในที่ยังไม่ถึงอัปปนา @(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/๒๗๐, ม.ม.อ. ๒/๒๔๙/๑๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๙๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

๓. สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน๑- เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดเล็ก มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๓ ๔. สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดใหญ่ มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๔ ๕. สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ดอกผักตบที่เขียว มีสี เขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม หรือผ้าเมืองพาราณสีอัน มีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน ที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม แม้ฉันใด สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน ก็ฉันนั้น เหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วย ของเขียว มีสีเขียวเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๕ ๖. สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ดอกกรรณิการ์ที่ เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม หรือผ้า เมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน ที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม แม้ฉันใด สาวกผู้หนึ่งมี อรูปสัญญาภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่ เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ครอบงำ รูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะ ประการที่ ๖ @เชิงอรรถ : @ มีอรูปสัญญาภายใน หมายถึงปราศจากการบริกรรมในรูปภายใน เพราะไม่ให้รูปสัญญาเกิดขึ้น @(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/๒๗๑, ม.ม.อ. ๒/๒๔๙/๑๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๙๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

๗. สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่แดง มีสี แดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ดอกชบาที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง และมีสีแดงเข้ม หรือผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อ ละเอียดทั้ง ๒ ด้าน ที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม แม้ฉันใด สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูป ทั้งหลายภายนอกที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็น อภิภายตนะประการที่ ๗ ๘. สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกสีขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ดาวประกายพรึกที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว และมีสีขาวเข้ม หรือผ้าเมืองพาราณสี อันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน ที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม แม้ฉันใด สาวกผู้หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน ก็ฉันนั้น เหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วย ของขาว มีสีขาวเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๘ เพราะเจริญอภิภายตนะ ๘ ประการนั้นแล๑- สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้ บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมี๒- อยู่ [๒๕๐] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวก ทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติตามเจริญกสิณายตนะ๓- (บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์) ๑๐ ประการ คือ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๙/๗๑-๗๓, ที.ปา. ๑๑/๓๔๖/๒๓๗-๒๓๘ @ บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมี ในที่นี้หมายถึงเหล่าสาวกเจริญธรรมในสติปัฏฐานเป็นต้น @ก่อน จากนั้นจึงบรรลุอรหัตตผล หรือเป็นผู้อบรมวสีในอภิภายตนะ ๘ ประการนี้ (ม.ม.อ. ๒/๒๔๙/๑๘๙) @ กสิณายตนะ หมายถึงที่เกิดหรือที่เป็นไปแห่งธรรมทั้งหลายโดยบริกรรมกสิณเป็นอารมณ์ คำว่า กสิณ @หมายถึงวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงใจให้เป็นสมาธิทั้งหมดหรือสิ้นเชิง กล่าวคือวัตถุสำหรับแผ่ไปไม่เหลือ ให้ @ปักใจอยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานเพียงอารมณ์เดียว (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๕/๓๓๓, องฺ.ทสก.ฏีกา ๒/๒๕/๓๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๙๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

๑. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดปฐวีกสิณ(กสิณคือดิน) เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ ๒. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดอาโปกสิณ(กสิณคือน้ำ) ฯลฯ ๓. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดเตโชกสิณ(กสิณคือไฟ) ฯลฯ ๔. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดวาโยกสิณ(กสิณคือลม) ฯลฯ ๕. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดนีลกสิณ(กสิณคือสีเขียว) ฯลฯ ๖. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดปีตกสิณ(กสิณคือสีเหลือง) ฯลฯ ๗. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดโลหิตกสิณ(กสิณคือสีแดง) ฯลฯ ๘. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดโอทาตกสิณ(กสิณคือสีขาว) ฯลฯ ๙. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดอากาสกสิณ(กสิณคือที่ว่างเปล่า) ฯลฯ ๑๐. สาวกผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดวิญญาณกสิณ(กสิณคือวิญญาณ) เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ เพราะเจริญกสิณายตนะ ๑๐ ประการนั้นแล๑- สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้ บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่
ฌาน ๔
[๒๕๑] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตาม เจริญฌาน ๔ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกรู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของ ร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง พนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสัมฤทธิ์ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๙/๗๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๙๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

แล้วเอาน้ำประพรมให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็นก้อนถูตัวที่ยางซึมไปจับ ก็ติดกันหมด ไม่กระจายออก แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึก ซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก จะไม่ถูกต้อง ๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ เธอ ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิรู้สึก ซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ จะไม่ถูกต้อง ห้วงน้ำลึก เป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหล เข้าได้ ทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และด้านใต้ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแสน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำ ห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ เนืองนองไปด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหน ของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ด้วยปีติและสุขอันเกิดจาก สมาธิรู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิด จากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ๓. เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกายบรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ ด้วยสุขอันไม่มีปีติรู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุข อันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง ในกอบัวเขียว(อุบล) กอบัวหลวง(ปทุม) หรือกอบัวขาว(บุณฑริก) ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวงหรือดอกบัว ขาวบางเหล่าที่เกิด เจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำ หล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็นตั้ง แต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนของดอกบัวเขียวดอกบัวหลวง หรือ ดอกบัวขาวทั่วทุกดอก ที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ด้วยสุขอันไม่มีปีติรู้สึก ซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๙๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไป ทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ ถูกต้อง บุรุษนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของร่าง กายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจ อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย ที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วเจริญฌาน ๔ ประการนั้นแล สาวก ของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่
วิชชา ๘ ประการ
๑. วิปัสสนาญาณ
[๒๕๒] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตามรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่างประกอบขึ้นจาก มหาภูตรูป ๔ เกิดจากมารดาบิดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเรา อาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’ แก้วไพฑูรย์อันงดงาม ตามธรรมชาติมีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า ‘แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใส เป็น ประกายได้สัดส่วนมีด้ายสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’ ได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บอก ข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติตามย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากมารดาบิดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตก กระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’ เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วรู้ชัดอย่างนี้นั้นแล สาวกของเราเป็น อันมากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

๒. มโนมยิทธิญาณ
[๒๕๓] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตามเนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เปรียบเหมือนคนชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้คือหญ้าปล้อง นี้คือไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ไส้ถูก ชักออกมาจากหญ้าปล้องนั่นเอง’ คนชักดาบออกจากฝัก เขาเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้คือดาบ นี้คือฝัก ดาบเป็น อย่างหนึ่ง ฝักก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ดาบถูกชักออกมาจากฝักนั่นเอง’ หรือคนดึงงูออกจากคราบ เขาเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้คืองู นี้คือคราบ งูเป็นอย่างหนึ่ง คราบก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่งูถูกดึงออกจากคราบนั่นเอง’ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้น เหมือนกัน ได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วย่อมเนรมิตกายอื่นจากกายนี้ได้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะ ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วเนรมิตกายนั้นแล สาวกทั้งหลายของ เราเป็นอันมากจึงบรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่
๓. อิทธิวิธญาณ
[๒๕๔] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตาม แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง (และ)ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือน ไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะ ไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์ มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ เปรียบเหมือน ช่างหม้อหรือลูกมือช่างหม้อผู้ชำนาญ เมื่อนวดดินเหนียวดีแล้วพึงทำภาชนะที่ต้องการ ให้สำเร็จได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

ช่างงาหรือลูกมือช่างงาผู้ชำนาญ เมื่อแต่งงาดีแล้ว พึงทำเครื่องงาชนิดที่ ต้องการให้สำเร็จได้ ช่างทองหรือลูกมือช่างทองผู้ชำนาญ เมื่อหลอมทองดีแล้ว พึงทำทอง รูปพรรณชนิดที่ต้องการให้สำเร็จได้ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บอกข้อ ปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้ว ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดง เป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง (และ)ภูเขาไป ได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศ เหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพ มากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วแสดงฤทธิ์นั้นแล สาวกของเราเป็น อันมากจึงบรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่
๔. ทิพพโสตธาตุญาณ
[๒๕๕] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตามได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์ (๒) เสียงมนุษย์ ทั้งที่ อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ คนเป่าสังข์ที่แข็งแรง จะพึงยังคน ให้รู้ตลอดทิศทั้ง ๔ โดยไม่ยาก แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บอกข้อปฏิบัติ แก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วย่อม ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์ (๒) เสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วได้ยินเสียง ๒ ชนิดนั้นแล สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

๕. เจโตปริยญาณ
[๒๕๖] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตาม กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมีโทสะก็รู้ว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะก็รู้ว่า ‘จิตมีโมหะ’ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’ จิตหดหู่ก็รู้ว่า ‘จิตหดหู่’ หรือจิตฟุ่งซ่านก็รู้ว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’ จิตเป็นมหัคคตะ๑- ก็รู้ว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่า ‘จิตไม่ เป็นมหัคคตะ’ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’ หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’ จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า ‘จิตหลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’ ชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกใสสะอาด หรือในภาชนะน้ำใส หน้ามีไฝฝ้าก็รู้ว่า มีไฝฝ้า หรือไม่มีไฝฝ้าก็รู้ว่า ไม่มีไฝฝ้า แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วย่อมกำหนดรู้จิตของสัตว์ และคนอื่นด้วย จิตของตน คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมีโทสะก็รู้ว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะ ... หรือจิตปราศจากโมหะ ... จิตหดหู่ ... หรือจิตฟุ้งซ่าน ... @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๐ (อัฏฐกนาครสูตร) หน้า ๒๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

จิตเป็นมหัคคตะ ... หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะ ... จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ... หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ... จิตเป็นสมาธิ ... หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ... จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า ‘จิตหลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’ เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วรู้จิตผู้อื่นนั้นแล สาวกของเราเป็นอัน มากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
[๒๕๗] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตาม ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป และวิวัฏฏกัป๑- เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี อายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ คนจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจาก บ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก เขาจากบ้านนั้นกลับมายังบ้านเดิมของตนระลึกได้อย่างนี้ว่า ‘เราได้จากบ้านตนไปบ้านอื่น ในบ้านนั้น เราได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้นๆ เราได้จากแม้บ้านนั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉย @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

อย่างนั้นๆ แล้วกลับจากบ้านนั้นมายังบ้านเดิมของตน’ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้น เหมือนกัน ได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติ บ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ อย่างนี้ เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วระลึกชาติได้นั้นแล สาวกของเราเป็น อันมากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่
๗. ทิพพจักขุญาณ
[๒๕๘] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตาม เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้ เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขา หลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และ ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดใน สุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น ไปตามกรรมอย่างนี้แล เรือน ๒ หลังที่ใช้ประตูร่วมกัน คนตาดียืนอยู่ระหว่าง เรือน ๒ หลังนั้น เห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง ออกจากเรือนบ้าง เดินรอบๆ บ้าง แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ของเราผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๗. มหาสกุลุทายิสูตร

ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ มนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ๑- เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วเห็นสัตว์กำลังจุติ กำลังเกิดนั้นแล สาวก ทั้งหลายของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่
๘. อาสวักขยญาณ
[๒๕๙] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวก ทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติตาม ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน สระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่น มัวบนยอดภูเขา คนมีตาดียืนที่ขอบสระนั้น เห็นหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหิน หรือฝูงปลา กำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ก็คิด อย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหิน หรือฝูงปลา เหล่านี้กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มี ในสระนั้น’ แม้ฉันใด๒- เราก็ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติ ตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วย่อมทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วรู้แจ้งวิมุตตินั้นแล สาวกของเราเป็น อันมากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่ นี้แล เป็นธรรมประการที่ ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา นอกจากสักการะ เคารพแล้วก็ยังอาศัยเราอยู่ อุทายี ธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา นอกจากสักการะ เคารพแล้วก็ยังอาศัยเราอยู่” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว สกุลุทายีปริพาชกมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาสกุลุทายีสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูเนื้อความเต็มข้อ ๑๕ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๗-๑๘ ในเล่มนี้ @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๒๖-๒๔๙/๗๕-๘๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๐๖}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๙๔-๓๐๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=8267&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=27              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=5498&Z=6022&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=314              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=314&items=42              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=314&items=42              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]