ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

๔. โปตลิยสูตร
ว่าด้วยคหบดีชื่อโปตลิยะ
[๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคุตตราปะชื่ออาปณะ แคว้นอังคุตตราปะ ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร และจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอาปณนิคม ทรงเที่ยวบิณฑบาตในอาปณนิคมแล้ว เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงเข้าไปยังราวป่า แห่งหนึ่งเพื่อพักผ่อนกลางวัน แล้วประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง แม้โปตลิยคหบดีเองก็เช่นกัน นุ่งห่มเรียบร้อยกางร่มสวมรองเท้า เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปยังราวป่านั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับโปตลิยคหบดีว่า “คหบดี ที่นั่งมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็เชิญนั่งเถิด” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเชิญอย่างนี้แล้ว โปตลิยคหบดีโกรธ น้อยใจว่า “พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคำว่า ‘คหบดี’ จึงทำเฉยเสีย แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรียกโปตลิยคหบดีว่า “คหบดี ที่นั่งมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็เชิญนั่งเถิด” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเชิญอย่างนี้แล้ว โปตลิยคหบดีโกรธ น้อยใจว่า “พระสมณโคดมตรัสเรียกเราด้วยคำว่า ‘คหบดี’ จึงทำเฉยเสีย แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรียกโปตลิยคหบดีว่า “คหบดี ที่นั่งมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็เชิญนั่งเถิด” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเชิญอย่างนี้แล้ว โปตลิยคหบดีโกรธ น้อยใจว่า “พระสมณโคดม ตรัสเรียกเราด้วยคำว่า ‘คหบดี' แล้วจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า “ท่านพระโคดม พระดำรัสที่พระองค์ตรัสเรียกข้าพระองค์ด้วยคำว่า ‘คหบดี’ นั้น ไม่เหมาะ ไม่ควรเลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี กิริยาของท่าน ท่าทางของท่าน ลักษณะ ของท่านเหล่านั้น บ่งว่าเป็นกิริยา ท่าทาง ลักษณะของคหบดีอยู่” “ใช่แล้ว ท่านพระโคดม แต่ข้าพระองค์ละทิ้งการงานทุกอย่างแล้ว ตัดขาด โวหารทุกอย่างแล้ว” “คหบดี ท่านละทิ้งการงานทุกอย่าง ตัดขาดโวหารทุกอย่าง อย่างไรเล่า” “ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาส ทรัพย์ก็ดี ธัญชาติก็ดี เงินก็ดี ทองก็ดี ที่มีอยู่ทั้งหมด ข้าพระองค์มอบให้เป็นมรดกแก่บุตรทั้งหลาย ข้าพระองค์ไม่ต้อง แนะนำ ไม่ต้องตักเตือนพวกเขาในสิ่งนั้นๆ ข้าพระองค์มีเพียงอาหารและเครื่องนุ่งห่ม ก็พอแล้ว ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ละทิ้งการงานทุกอย่าง ตัดขาดโวหารทุกอย่าง อย่างนี้แล” “คหบดี การตัดขาดโวหารที่ท่านพูดมา เป็นอย่างหนึ่ง แต่การตัดขาดโวหาร ในอริยวินัย เป็นอีกอย่างหนึ่ง” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การตัดขาดโวหารในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม คือการตัดขาดโวหารใน อริยวินัย แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด” “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” โปตลิยคหบดีทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

การตัดโวหาร ๘ ประการ
[๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ธรรม ๘ ประการนี้ เป็นไปเพื่อการ ตัดขาดโวหาร๑- ในอริยวินัย ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บุคคลพึงละการฆ่าสัตว์ได้ เพราะอาศัยการไม่ฆ่าสัตว์ ๒. บุคคลพึงละการลักทรัพย์ได้ เพราะอาศัยการไม่ลักทรัพย์ ๓. บุคคลพึงละการพูดเท็จได้ เพราะอาศัยการพูดจริง ๔. บุคคลพึงละการพูดส่อเสียดได้ เพราะอาศัยการไม่พูดส่อเสียด ๕. บุคคลพึงละความโลภคือความกำหนัดยินดีได้ เพราะอาศัยความไม่โลภ คือความไม่กำหนัดยินดี ๖. บุคคลพึงละการนินทาและการประทุษร้ายได้ เพราะอาศัยการไม่นินทา และการไม่ประทุษร้าย ๗. บุคคลพึงละความโกรธแค้นได้ เพราะอาศัยความไม่โกรธแค้น ๘. บุคคลพึงละความดูหมิ่นได้ เพราะอาศัยความไม่ดูหมิ่น คหบดี ธรรม ๘ ประการนี้แล เรากล่าวโดยย่อ มิได้จำแนกให้พิสดาร ย่อม เป็นไปเพื่อการตัดขาดโวหารในอริยวินัย” โปตลิยคหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๘ ประการนี้ พระผู้มี พระภาคตรัสไว้โดยย่อ มิได้จำแนกให้พิสดาร ย่อมเป็นไปเพื่อการตัดขาดโวหาร ในอริยวินัย ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอนุเคราะห์จำแนกธรรม ๘ ประการนี้ให้พิสดารแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ โวหาร มีความหมายหลายนัย คือ การเรียกชื่อ การบัญญัติ คำพูด และเจตนา ในที่นี้หมายถึงเจตนา- @โวหาร (ม.ม.อ. ๒/๓๒/๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” โปตลิยคหบดีทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า [๓๓] “เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละการฆ่าสัตว์ได้ เพราะ อาศัยการไม่ฆ่าสัตว์’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ฆ่าสัตว์เพราะ เหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้นเสีย อนึ่ง เราเป็นผู้ฆ่าสัตว์ แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนได้๑- เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย หลังจากตายแล้วทุคติเป็น อันหวังได้เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย’ การฆ่าสัตว์นั่นเองเป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณ์๒- อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ การฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เมื่อบุคคลเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์แล้ว อาสวะและความเร่าร้อน ที่ทำความคับแค้น๓- เหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละการฆ่าสัตว์ได้ เพราะอาศัยการไม่ฆ่าสัตว์’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๔] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละการลักทรัพย์ได้เพราะ อาศัยการไม่ลักทรัพย์’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ลักทรัพย์เพราะ เหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้นเสีย @เชิงอรรถ : @ ติเตียนได้ หมายถึงตนเองติเตียนตนเองได้ว่า ‘เราบวชในศาสนาของผู้ไม่ปลงชีวิตสัตว์แม้แต่มดดำ @มดแดง ยังไม่อาจงดเว้นแม้เพียงปาณาติบาตได้ จะบวชไปทำไมกัน’ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนได้ว่า @‘เขาบวชในศาสนาเห็นปานนี้แล้ว ยังไม่อาจงดเว้นแม้เพียงปาณาติบาตได้ เขาจะบวชไปทำไม’ @(ม.ม.อ. ๒/๓๓/๓๑) @ เป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณ์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสังโยชน์ ๑๐ ประการ หรือนิวรณ์ ๕ ประการ แต่หมายถึง @ธรรมเป็นเครื่องปิดกั้น ๘ ประการข้างต้น ตรัสไว้ด้วยอำนาจเทศนา (ม.ม.อ. ๒/๓๓/๓๑) @ อาสวะและความเร่าร้อนที่กระทำความคับแค้น มีอธิบายว่า คำว่า อาสวะ หมายถึงอวิชชาสวะซึ่งเกิด @เพราะปาณาติบาตเป็นต้นเหตุ @ความคับแค้น หมายถึงทุกข์เพราะกิเลส และทุกข์ที่เป็นวิบาก @ความเร่าร้อน หมายถึงความเร่าร้อนเพราะกิเลส และความเร่าร้อนที่เป็นวิบาก (ม.ม.อ. ๒/๓๓/๓๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

อนึ่ง เราเป็นผู้ลักทรัพย์ แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้เพราะการลักทรัพย์เป็น ปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะการลักทรัพย์เป็นปัจจัย หลังจากตาย แล้วทุคติเป็นอันหวังได้เพราะการลักทรัพย์เป็นปัจจัย’ การลักทรัพย์นั่นเองเป็น สังโยชน์ เป็นนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ การลักทรัพย์เป็นปัจจัย เมื่อบุคคลเว้นขาดจากการลักทรัพย์แล้ว อาสวะและความ เร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละการ ลักทรัพย์ได้ เพราะอาศัยการไม่ลักทรัพย์’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๕] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละการพูดเท็จได้ เพราะอาศัย การพูดจริง’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้พูดเท็จเพราะ เหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้นเสีย อนึ่ง เราเป็นผู้พูดเท็จ แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้เพราะการพูดเท็จเป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะการพูดเท็จเป็นปัจจัย หลังจากตายแล้วทุคติ เป็นอันหวังได้เพราะการพูดเท็จเป็นปัจจัย’ การพูดเท็จนั่นเองเป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ การพูดเท็จเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลเว้นขาดจากการพูดเท็จแล้ว อาสวะและความ เร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละการ พูดเท็จได้ เพราะอาศัยการพูดจริง’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๖] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละการพูดส่อเสียดได้ เพราะ อาศัยการไม่พูดส่อเสียด’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้พูดส่อเสียด เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้นเสีย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

อนึ่ง เราเป็นผู้พูดส่อเสียด แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้เพราะการพูดส่อเสียด เป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะการพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย หลังจาก ตายแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้เพราะการพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย’ การพูดส่อเสียด นั่นเองเป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ การพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลเว้นขาดจากการพูดส่อเสียดแล้ว อาสวะและ ความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละการ พูดส่อเสียดได้ เพราะอาศัยการไม่พูดส่อเสียด’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๗] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละความโลภคือความกำหนัด ยินดีได้ เพราะอาศัยความไม่โลภคือความไม่กำหนัดยินดี’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีความโลภคือ ความกำหนัดยินดีเพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัด สังโยชน์เหล่านั้นเสีย อนึ่ง เราเป็นผู้มีความโลภคือความกำหนัดยินดี แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้ เพราะความโลภคือความกำหนัดยินดีเป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้ เพราะความโลภคือความกำหนัดยินดีเป็นปัจจัย หลังจากตายแล้วทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความโลภคือความกำหนัดยินดีเป็นปัจจัย’ ความโลภคือความกำหนัดยินดี นั่นเองเป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ ความโลภคือความกำหนัดยินดีเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลเว้นขาดจากความโลภคือความ กำหนัดยินดี อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรา กล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละความโลภคือความกำหนัดยินดีได้ เพราะอาศัยความไม่โลภ คือความไม่กำหนัดยินดี’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

[๓๘] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละการนินทาและการประทุษ- ร้ายได้ เพราะอาศัยการไม่นินทาและการไม่ประทุษร้าย’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีการนินทาและ การประทุษร้ายเพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์ เหล่านั้นเสีย อนึ่ง เราเป็นผู้มีการนินทาและการประทุษร้าย แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้ เพราะการนินทาและการประทุษร้ายเป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะ การนินทาและการประทุษร้ายเป็นปัจจัย หลังจากตายแล้วทุคติเป็นอันหวังได้เพราะ การนินทาและการประทุษร้ายเป็นปัจจัย’ การนินทาและการประทุษร้ายนั่นเองเป็น สังโยชน์ เป็นนิวรณ์ อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้น เพราะการนินทาและการประทุษร้ายเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่มีการนินทาและการ ประทุษร้าย อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรา กล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละการนินทาและการประทุษร้ายได้ เพราะอาศัยการไม่นินทา และการไม่ประทุษร้าย’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๓๙] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละความโกรธแค้นได้ เพราะอาศัยความไม่โกรธแค้น’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีความ โกรธแค้น เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์ เหล่านั้นเสีย อนึ่ง เราเป็นผู้มีความโกรธแค้น แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้เพราะความโกรธ แค้นเป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะความโกรธแค้นเป็นปัจจัย หลังจาก ตายแล้วทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความโกรธแค้นเป็นปัจจัย’ ความโกรธแค้น นั่นเองเป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ ความโกรธแค้นเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่มีความโกรธแค้น อาสวะและความเร่าร้อน ที่ทำความโกรธแค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละความโกรธแค้นได้ เพราะอาศัยความไม่โกรธแค้น’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๔๐] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละความดูหมิ่นได้ เพราะ อาศัยความไม่ดูหมิ่น’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ดูหมิ่นเพราะ เหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์เหล่านั้นเสีย อนึ่ง เราเป็นผู้ดูหมิ่น แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้เพราะความดูหมิ่นเป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะความดูหมิ่นเป็นปัจจัย หลังจากตายแล้วทุคติ เป็นอันหวังได้เพราะความดูหมิ่นเป็นปัจจัย’ ความดูหมิ่นนั่นเองเป็นสังโยชน์ เป็น นิวรณ์ อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้นเพราะ ความดูหมิ่นเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่ดูหมิ่น อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับ แค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละความดูหมิ่นได้ เพราะอาศัย ความไม่ดูหมิ่น’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ [๔๑] คหบดี ธรรม ๘ ประการที่เป็นไปเพื่อละ เพื่อตัดขาดโวหารในอริยวินัย เรากล่าวไว้โดยย่อ จำแนกไว้แล้วโดยพิสดาร แต่เพียงเท่านี้ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตัด ขาดโวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวงในอริยวินัย” โปตลิยคหบดีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อย่างไรเล่า จึงจะชื่อว่า เป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้น ได้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวงในอริยวินัย ขอประทาน วโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่จะตัดขาด โวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวงในอริยวินัยด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” โปตลิยคหบดีทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

โทษแห่งกาม ๗ ประการ
[๔๒] “คหบดี เปรียบเหมือนสุนัขที่กำลังหิวโซ ยืนอยู่ใกล้เขียงของคนฆ่าโค คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ โยนโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออก หมดแล้ว แต่มีเลือดติดอยู่บ้างไปให้มัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สุนัขตัวนั้น เมื่อแทะโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออกหมดแล้ว แต่มีเลือดติดอยู่บ้างนั้น จะบรรเทาความหิวได้บ้างไหม” “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะโครงกระดูกที่เชือดชำแหละเนื้อออกหมดแล้วนั้น แม้จะมีเลือดติด อยู่บ้าง สุนัขนั้นก็จะพึงมีความเหน็ดเหนื่อยและความหิวมากขึ้นอีก พระพุทธเจ้าข้า” “คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้น มาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว จึงเว้นอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างกัน ที่อิงอาศัยอารมณ์ ต่างกัน แล้วเจริญอุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว๑- ที่อิงอาศัยอารมณ์เดียว ซึ่งเป็นที่ดับไม่ เหลือแห่งความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง [๔๓] คหบดี เปรียบเหมือนนกแร้ง นกตะกรุม หรือนกเหยี่ยว คาบชิ้นเนื้อ บินไป ฝูงนกแร้งก็ดี ฝูงนกตะกรุมก็ดี ฝูงนกเหยี่ยวก็ดี พากันโผเข้าไปรุมจิกทึ้ง ชิ้นเนื้อนั้น ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้านกแร้ง นกตะกรุม หรือนกเหยี่ยวนั้น ไม่รีบปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันอาจถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย เพราะชิ้นเนื้อนั้น เป็นเหตุใช่ไหม” “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ อุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว หมายถึงอุเบกขาในฌานที่ ๔ (ม.ม.อ. ๒/๔๒/๓๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

“คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษแห่งกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วย ปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว จึงเว้นอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างกัน ที่อิงอาศัยอารมณ์ ต่างกัน แล้วเจริญอุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว ที่อิงอาศัยอารมณ์เดียว ซึ่งเป็นที่ดับ ไม่เหลือแห่งความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง [๔๔] คหบดี เปรียบเหมือนบุรุษถือคบหญ้าที่ไฟติดลุกโชนเดินทวนลมไป ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้าบุรุษนั้นไม่รีบปล่อยคบหญ้า ที่มีไฟติดลุกโชน นั้นเสีย คบหญ้าที่มีไฟติดลุกโชนนั้นก็จะพึงไหม้มือ ไหม้แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่ ส่วนใดส่วนหนึ่งของเขา เขาอาจถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย เพราะคบเพลิงนั้น เป็นเหตุใช่ไหม” “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” “คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยคบเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษของกามนี้ตามความเป็นจริง ด้วย ปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ฯลฯ เจริญอุเบกขา ... [๔๕] คหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงมีความลึกกว่า ๑ ชั่วบุรุษ เต็ม ด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้หนึ่งเป็นคนรักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์มาถึงเข้า มีชาย ๒ คนเป็นคนแข็งแรงช่วยกัน จับแขนเขาข้างละคนฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คนผู้นั้นจะพึงน้อมกายเข้าไปอย่างนั้น ใช่ไหม” “ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะบุรุษผู้นั้นรู้ว่า ‘ถ้าเราจักตกลงไปยังหลุมถ่านเพลิงนี้ อาจถึงตายหรือ ได้รับทุกข์ปางตาย เพราะหลุมถ่านเพลิงนั้นเป็นเหตุ’ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

“คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก มีความ คับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษของกามนี้ตามความ เป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ฯลฯ เจริญอุเบกขา... [๔๖] คหบดี คนฝันเห็นสวน ป่า สถานที่ สระโบกขรณี ที่น่ารื่นรมย์ เขาตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นอะไรเลย แม้ฉันใด อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง ฯลฯ เจริญอุเบกขา... [๔๗] คหบดี เปรียบเหมือนคนยืมทรัพย์สมบัติคือแก้วมณีและกุณฑลอย่างดี (ของบุคคลอื่น) นั่งยานพาหนะไป เขาสวมใส่ทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมาไว้รอบตัว เดินไประหว่างร้านค้าในตลาด ประชาชนเห็นเขาแล้วก็ซุบซิบกันอย่างนี้ว่า ‘คนนี้ รวยจริง พวกคนรวยเขาใช้สอยสมบัติกันอย่างนี้เอง’ พวกเจ้าของพบเขา ณ ที่ใด ที่หนึ่งเข้า ก็จะพึงนำเอาของของตนคืนไปในที่นั้นๆ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมควรไหมกับการที่คนผู้นั้นไม่แสดงอาการหวงแหนในทรัพย์สมบัติ” “สมควร พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะเจ้าของ(มีสิทธิ์) จะนำของของตนคืนไป พระพุทธเจ้าข้า” “คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มี พระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยของขอยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ฯลฯ เจริญอุเบกขา... [๔๘] คหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ไม่ไกลจากหมู่บ้านหรือนิคม ต้นไม้ ในราวป่านั้นมีผลดกดาษดื่น แต่ยังไม่หล่นลงมาเลยสักผลเดียว ชายคนหนึ่งผู้ ต้องการผลไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขามาถึงราวป่านั้น เห็นต้นไม้ที่มีผลดก ดาษดื่นนั้น เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘ต้นไม้นี้มีผลดกดาษดื่น แต่ไม่มีผลหล่นลงมาสัก ผลเดียว แต่เรารู้วิธีปีนขึ้นต้นไม้ ทางที่ดี เราควรปีนขึ้นต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และ ใส่พกให้เต็ม’ เขาจึงปีนขึ้นต้นไม้นั้นแล้วกินพออิ่มและใส่พกให้เต็ม ต่อมา ชายคนที่ ๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

ต้องการผลไม้ถือขวานที่คมกริบเที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขามาถึงราวป่านั้น เห็น ต้นไม้มีผลดกดาษดื่น เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘ต้นไม้นี้มีผลดกดาษดื่น แต่ไม่มีผลหล่น ลงมาสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้วิธีปีนขึ้นต้นไม้ ทางที่ดี เราควรจะตัดต้นไม้นี้ที่โคนต้น แล้วกินพออิ่มและใส่พกให้เต็ม’ เขาจึงตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้น ท่านเข้าใจความข้อนั้น ว่าอย่างไร ชายคนแรกโน้นที่ปีนขึ้นต้นไม้ก่อน ถ้าไม่รีบลงมา ต้นไม้ก็ล้มทับมือเท้า หรืออวัยวะน้อยใหญ่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเขาหักได้ เขาอาจถึงตายหรือได้รับทุกข์ ปางตาย เพราะต้นไม้นั้นเป็นเหตุใช่ไหม” “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี อริยสาวกก็อย่างนั้นเหมือนกัน เห็นประจักษ์ ชัดดังนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสกามทั้งหลายว่า มีอุปมาด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มากยิ่ง’ ครั้นเห็นโทษของกามนี้ตาม ความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว จึงเว้นอุเบกขาที่มีอารมณ์ต่างกัน ที่อิงอาศัยอารมณ์ต่างกันแล้ว เจริญอุเบกขาที่มีอารมณ์เดียว ที่อิงอาศัยอารมณ์เดียว ซึ่งเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งความถือมั่นโลกามิสโดยประการทั้งปวง
วิชชา ๓
[๔๙] คหบดี อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยจตุตถฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะ อุเบกขาอันยอดเยี่ยมนี้ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ๑- เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยจตุตถฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอันยอดเยี่ยมนี้ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ เกิดไม่ดี ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ ดูเนื้อความเต็มข้อ ๑๔ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๔. โปตลิยสูตร

อริยสาวกนี้นั้นแล อาศัยจตุตถฌานที่มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอันยอดเยี่ยมนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน คหบดี เพียงเท่านี้แล ชื่อว่าเป็นการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วนโดยประการ ทั้งปวงในอริยวินัย
โปตลิยคหบดีประกาศตนเป็นอุบาสก
[๕๐] คหบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นการตัดขาด โวหารเห็นปานนี้ในตน เหมือนการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวง ในอริยวินัย กระนั้นหรือ” โปตลิยคหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พิจารณาเห็นเช่นนั้น กระไรได้ ซ้ำข้าพระองค์ยังกลับเป็นผู้ไกลจากการตัดขาดโวหารทั้งสิ้นได้ครบถ้วน โดย ประการทั้งปวงในอริยวินัยเสียอีก เพราะเมื่อก่อนข้าพระองค์เข้าใจผิดพวกอัญเดียรถีย์ ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงว่า ‘เป็นผู้รู้ทั่วถึง’ ได้คบหาพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึง ว่า ‘คบหาบุคคลผู้รู้ทั่วถึง’ ได้ยกย่องพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะ แห่งบุคคลผู้รู้ทั่วถึง แต่กลับเข้าใจภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงว่า ‘เป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง’ ได้คบหา ภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงว่า ‘คบหาบุคคลผู้ไม่รู้ทั่วถึง’ ได้ตั้งภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงไว้ใน ฐานะแห่งบุคคลผู้ไม่รู้ทั่วถึง แต่บัดนี้ ข้าพระองค์รู้จักพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ ทั่วถึงว่า ‘เป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง’ คบหาพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงว่า ‘คบหา บุคคลผู้ไม่รู้ทั่วถึง’ ตั้งพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะแห่งบุคคลผู้ ไม่รู้ทั่วถึง แต่รู้จักภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงว่า ‘เป็นผู้รู้ทั่วถึง’ คบหาภิกษุทั้งหลายผู้รู้ ทั่วถึงว่า ‘คบหาบุคคลผู้รู้ทั่วถึง’ ตั้งภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะแห่งบุคคลผู้รู้ ทั่วถึง พระผู้มีพระภาคทรงทำความรักสมณะให้เกิดในหมู่สมณะ ทรงทำความเลื่อมใส สมณะให้เกิดในหมู่สมณะ ทรงทำความเคารพสมณะให้เกิดในหมู่สมณะ แก่ข้าพระองค์ แล้วหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๕. ชีวกสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
โปตลิยสูตรที่ ๔ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๕-๔๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=972&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=4              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=660&Z=949&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=36              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=36&items=20              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=36&items=20              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]