ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๙. มหาปุณณมสูตร

๙. มหาปุณณมสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาในคืนดวงจันทร์เต็มดวง สูตรใหญ่
[๘๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ใน บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนดวงจันทร์ เต็มดวง พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่แจ้ง ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทูลถามเหตุอย่างหนึ่งกับพระองค์ ถ้า พระผู้มีพระภาคทรงประทานวโรกาส ที่จะตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงนั่งบนอาสนะของตน แล้วถามปัญหาที่เธอต้องการจะถามเถิด”
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ
[๘๖] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นนั่งบนอาสนะของตนแล้วได้ทูลถามปัญหากับ พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ใช่ไหม คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) ๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา) ๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) ๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร) ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ ๒. เวทนูปาทานขันธ์ ๓. สัญญูปาทานขันธ์ ๔. สังขารูปาทานขันธ์ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๙๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๙. มหาปุณณมสูตร

มูลเหตุแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ มีอะไรเป็นมูลเหตุ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ มีฉันทะ เป็นมูลเหตุ”๑- “อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนั้นเป็นอย่างเดียวกัน หรืออุปาทาน เป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนั้นเป็นอย่างเดียวกันก็มิใช่ ทั้งอุปาทานขันธ์เป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการก็มิใช่ แต่ฉันทราคะใน อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนั้น เป็นตัวอุปาทาน” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะต่างๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ จะพึงมีได้หรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีได้ ภิกษุ” แล้วได้ตรัสต่อไปว่า “ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ในอนาคต ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้’ ภิกษุ ฉันทราคะต่างๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ พึงมีได้ ด้วยอาการ อย่างนี้”
เหตุที่ชื่อว่าขันธ์
ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรขันธ์จึงชื่อ ว่าขันธ์” @เชิงอรรถ : @ มีฉันทะเป็นมูลเหตุ ในที่นี้หมายถึงมีตัณหาเป็นมูลเหตุ (ม.อุ.อ. ๓/๘๖/๕๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๙๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๙. มหาปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปใน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม นี้ เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์”
เหตุที่ทำให้ขันธ์ปรากฏ
ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้รูปขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ มหาภูต ๔ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ รูปขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ”
เหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
[๘๗] ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้ อย่างไร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๙๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๙. มหาปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ปุถุชน๑- ในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็น พระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของ สัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีเวทนา พิจารณาเห็นเวทนาในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในเวทนา พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสัญญา พิจารณาเห็นสัญญาในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในสัญญา พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสังขาร พิจารณาเห็นสังขารในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในสังขาร พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ ภิกษุ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างนี้”
เหตุที่ทำให้สักกายทิฏฐิไม่มี
ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีไม่ได้อย่างไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับ ได้เห็น พระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป ไม่พิจารณา เห็นรูปในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูป @เชิงอรรถ : @ ปุถุชน หมายถึงคนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนา @นานัปการ ปุถุชนมี ๒ ประเภท คือ (๑) อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต @(๒) กัลยาณปุถุชน คนที่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒, ที.สี.อ. ๑/๗/๕๘-๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๙๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๙. มหาปุณณมสูตร

ไม่พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีเวทนา ไม่พิจารณาเห็นเวทนาในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในเวทนา ไม่พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสัญญา ไม่พิจารณาเห็นสัญญาในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในสัญญา ไม่พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสังขาร ไม่พิจารณาเห็นสังขารในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในสังขาร ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ ภิกษุ สักกายทิฏฐิมีไม่ได้อย่างนี้”
คุณ โทษ และการสลัดออกจากอุปาทานขันธ์
[๘๘] ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็น โทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากรูป อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็น เครื่องสลัดออกจากเวทนา อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก จากสัญญา อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากสังขาร อะไร เป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากวิญญาณ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยรูปเกิดขึ้น นี้ เป็นคุณในรูป๑- สภาพที่รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็น โทษในรูป๒- ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในรูป นี้เป็นเครื่อง สลัดออกจากรูป๓- @เชิงอรรถ : @ คุณในรูป ตรัสหมายถึงปริญญาปฏิเวธ(การแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้) และทุกขสัจ (ม.อุ.อ. ๓/๘๘/๕๓) @ โทษในรูป ตรัสหมายถึงปหานปฏิเวธ(การแทงตลอดด้วยการละ) และสมุทัยสัจ (ม.อุ.อ. ๓/๘๘/๕๓) @ เครื่องสลัดออกจากรูป ตรัสหมายถึงสัจฉิกิริยาปฏิเวธ(การแทงตลอดด้วยการทำให้แจ้ง) และนิโรธสัจ @(ม.อุ.อ. ๓/๘๘/๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๐๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๙. มหาปุณณมสูตร

สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในเวทนา สภาพที่เวทนา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในเวทนา ธรรมเป็นที่ กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในเวทนา นี้เป็นเครื่องสลัดออกจากเวทนา สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยสัญญาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในสัญญา สภาพที่สัญญา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในสัญญา ธรรมเป็นที่ กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในสัญญา นี้เป็นเครื่องสลัดออกจากสัญญา สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยสังขารเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในสังขาร สภาพที่สังขารไม่ เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในสังขาร ธรรมเป็นที่ กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในสังขาร นี้เป็นเครื่องสลัดออกจากสังขาร สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในวิญญาณ สภาพที่ วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในวิญญาณ ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นเครื่องสลัด ออกจากวิญญาณ”
ความไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
[๘๙] ภิกษุนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย๑- ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอัน ชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... @เชิงอรรถ : @ อหังการ หมายถึงทิฏฐิ มมังการ หมายถึงตัณหา มานานุสัย หมายถึงมานะ (ม.ม.อ. ๒/๑๘๙/๑๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๐๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๙. มหาปุณณมสูตร

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปใน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตในภายนอก” [๙๐] ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของภิกษุรูปนั้นด้วยพระทัย แล้ว ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่โมฆบุรุษ บางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหา ครอบงำ จึงเข้าใจคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่าด้วยความคิดคำนึงว่า ‘ท่านผู้ เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร’ ภิกษุทั้งหลาย เราจะย้อนถาม เราได้แนะนำเธอ ทั้งหลายในธรรมเหล่านั้นๆ ไว้แล้ว๑- ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือรูปเที่ยงหรือไม่ เที่ยง” ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ข. (แปล) ๑๗/๘๒/๑๓๔-๑๓๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๐๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๙. มหาปุณณมสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือภายนอก หยาบหรือ ละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ภิกษุพึงพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วย ปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่น ไม่ใช่อัตตาของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปใน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ภิกษุพึง พิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั่นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๐๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๑๐. จูฬปุณณมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน สังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่า ‘หลุด พ้นแล้ว’ อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควร ทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”๑- พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล
มหาปุณณมสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. จูฬปุณณมสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาในคืนดวงจันทร์เต็มดวง สูตรเล็ก
[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ใน บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนดวงจันทร์ เต็มดวง พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่แจ้ง ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงรับสั่ง เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษพึงรู้จักอสัตบุรุษหรือว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ’ ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ไม่รู้ พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้ที่อสัตบุรุษพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ‘ผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ’ อนึ่ง อสัตบุรุษพึงรู้จักสัตบุรุษหรือว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ” “ไม่รู้ พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๒๑-๒๓/๒๘-๓๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๐๔}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๙๖-๑๐๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=2850&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=9              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=1980&Z=2186&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=120              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=120&items=10              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=120&items=10              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]